Skip to main content
sharethis

ประชาไท - กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ออกจดหมายแจ้งไปยังสื่อมวลชนและประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมการยับยั้งกฏหมาย "พระราชกฤษฏีกาเงินประจำตำแหน่งขององคมนตรีและรัฐบุรุษ พ.ศ. 2551" โดยกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์จะทำการยื่นหนังสือถึงประธานศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 28 มกราคม 2551 เวลา 11:00 น. เพื่อขอให้ศาลมีมติเพิกถอน พ.ร.ฎ.ดังกล่าว


 


นายภูมิวัฒน์ นุกิจ ผู้ประสานงานกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ชี้แจงในจดหมายว่า เรื่องที่ต้องการให้ประธานศาลปกครองสูงสุดพิจารณา มี 2 ประเด็นด้วยกัน คือ (1) ขอให้พิจารณาวินิจฉัยเพิกถอน "พระราชกฤษฏีกาเงินประจำตำแหน่งขององคมนตรีและรัฐบุรุษ พ.ศ. 2551" เนื่องจากเป็น พ.ร.ฎ.ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคณะรัฐมนตรีที่มีมติเห็นชอบกับเรื่องดังกล่าวเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจและไม่ได้มาจากวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย


 


และ (2) ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่


 


เนื่องจาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลและผู้ถืออำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหาร เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทางอ้อมกับพระราชกฤษฏีกาฉบับดังกล่าว ซึ่งมีแนวโน้มที่ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้แก่คณะองคมนตรีอย่างชัดเจน เพราะมีการเพิ่มเงินประจำตำแหน่งให้กับองคมนตรีและรัฐบุรุษด้วย


 


ด้วยเหตุนี้ นายภูมิวัฒน์ ได้เตรียมการที่จะส่งคำฟ้องไปยังศาลปกครอง ในฐานะ "ประชาชนชาวไทยที่เสียภาษีให้แก่รัฐ" และไม่เห็นพ้องด้วยกับ พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว


 


อย่างไรก็ตาม "พระราชกฤษฏีกาเงินประจำตำแหน่งขององคมนตรีและรัฐบุรุษ พ.ศ. 2551" ได้ถูกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.2551 เป็นต้นมา


 


 






 


คำฟ้อง


 


วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551


 


 


กราบเรียน         ประธานศาลปกครองสูงสุด


 


เรื่อง                  1.ขอให้พิจารณาวินิจฉัยเพิกถอน "พระราชกฤษฏีกาเงินประจำตำแหน่งขององคมนตรี


และรัฐบุรุษ พ.ศ. 2551"


2.ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์


นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่


 


ข้าพเจ้า นายภูมิวัฒน์ นุกิจ (ผู้ประสานงานกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์) อยู่บ้านเลขที่ ... ผู้ฟ้องคดี ขอยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด ดังมีรายละเอียดและข้อเท็จจริงต่อไปนี้


 


สืบเนื่องด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ กำหนดให้มี "พระราชกฤษฏีกาเงินประจำตำแหน่งขององคมนตรีและรัฐบุรุษ พ.ศ. 2551" ซึ่งพระราชกฤษฏีกาฉบับดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2551 ซึ่งพระราชกฤษฏีกาฉบับดังกล่าว ข้าพเจ้าผู้ฟ้องคดีในฐานะประชาชนชาวไทยที่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ ยังไม่อาจเห็นพ้องด้วย เนื่องจากเป็นกฎหมายของฝ่ายบริหาร ที่ได้ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งทางด้านหลักการและเหตุผล กล่าวคือ


 


(1) หลักความชอบธรรมในการออกพระราชกฤษฏีกา สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ซึ่งมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเป็นหัวหน้ารัฐบาล และเป็นผู้ถืออำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหาร ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ได้รับการแต่งตั้งจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดยไม่ได้มาจากวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ดังนั้นลักษณะของการดำรงตำแหน่ง จึงมีลักษณะเป็นการรักษาการชั่วคราวเพื่อดำเนินการเฉพาะกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กิจการที่สำคัญของประเทศบางอย่างสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี และป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงแก่รัฐหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนเท่านั้น 


 


ดังนั้นการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติและเห็นชอบกำหนดให้มีพระราชกฤษฏีกาฉบับดังกล่าว จึงถือเป็นกรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักการและอยู่นอกขอบข่ายแห่งวัตถุประสงค์ของการดำรงตำแหน่ง และมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยส่วนรวม หรือเป็นการป้องกันความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชนแต่ประการใด กรณีจึงถือได้ว่าการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีในการออกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ขัดกับหลักความชอบธรรมในการบริหารประเทศ มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมอย่างแท้จริง


 


(2) หลักการมีส่วนได้เสียกับ "พระราชกฤษฏีกาเงินประจำตำแหน่งขององคมนตรีและรัฐบุรุษ พ.ศ. 2551" แม้ปัจจุบัน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี จะลาออกจากตำแหน่งองคมนตรีแล้วก็ตาม แต่โดยพฤตินัยก็ถือได้ว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลและเป็นผู้ถืออำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหาร เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทางอ้อมกับพระราชกฤษฏีกาฉบับดังกล่าว ซึ่งมีแนวโน้มที่ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้แก่คณะองคมนตรีอย่างชัดเจน และการออกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวข้างต้น ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามหลักการพิจารณาทางปกครอง ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการตามกฎหมายปกครอง


 


(3) หลักความชอบด้วยเหตุผลในการออกพระราชกฤษฏีกา สืบเนื่องจากประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ซึ่งทั้งสามอำนาจต่างก็เป็นอิสระต่างหากจากกัน โดยในส่วนของผู้ถืออำนาจสูงสุดของ แต่ละอำนาจดังกล่าว อันได้แก่ นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานศาลฏีกา ตามลำดับ ซึ่งในสัดส่วนของค่าตอบแทนในหมวดของเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง เมื่อรวมกันแล้วจะมีประมาณท่านละหนึ่งแสนบาทเท่านั้น ดังนั้นการที่มีพระราชกฎษฎีกาฉบับดังกล่าวออกใช้บังคับ ย่อมมีผลทำให้เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของประธานองคมนตรี องคมนตรี และรัฐบุรุษสูงกว่าผู้ถืออำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ


 


กล่าวคือตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ได้กำหนดให้ประธานองคมนตรีรับเงินเดือนประจำตำแหน่งเดือนละ 121,990 บาท จากเดิมที่เคยได้รับเดือนละ 114,000 บาท ส่วนองคมนตรีได้รับเดือนละ 112,250 บาท จากเดิมที่เคยได้รับเดือนละ 104,500 บาท ส่วนรัฐบุรุษได้รับเงินประจำตำแหน่งเป็นรายเดือน เดือนละ 121,990 บาท จากเดิมที่เคยได้รับเดือนละ 100,000 บาท ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่น่าจะถูกต้องตามหลักนิติธรรมและหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย


 


ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้ฟ้องคดีจึงเห็นว่า "พระราชกฤษฏีกาเงินประจำตำแหน่งขององคมนตรีและรัฐบุรุษ พ.ศ.2551" ได้ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อหลักการและเหตุผลในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอน "พระราชกฤษฏีกาเงินประจำตำแหน่งขององคมนตรีและรัฐบุรุษ พ.ศ.2551" ฉบับดังกล่าวนั้นเสีย


 


ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด


                                                                       (นายภูมิวัฒน์ นุกิจ)


           


ผู้ฟ้องคดี


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net