Skip to main content
sharethis


 



 


14 ม.ค.51 เมื่อเวลาประมาณ  23.45 น. สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ได้แทรกรายการข่าวอย่างกะทันหันในรายการทไวไลท์ ทูเดย์ เพื่อแจ้งผู้ชมว่าหลัง 24.00 น. ของวันที่ 15 ธ.ค. ทางสถานีจะต้องงดออกอากาศเนื่องจากได้รับคำสั่งจากกรมประชาสัมพันธ์ ที่ 25/2551 เรื่อง ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบ ยู เอช เอฟ ปฏิบัติตาม พรบ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ลงนามโดย นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ให้ยุติการแพร่ภาพออกอากาศ หลังจากที่ พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ได้ใช้บังคับในวันที่ 15 ม.ค.นี้


 


โดยหลังเวลาเที่ยงคืนนอกจากจะมีการนำสารคดีเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มาออกอากาศแทนแล้ว ยังมีข้อความประกาศที่หน้าจอเป็นระยะว่า


 


"เนื่องจากพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว จึงต้องโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ คลื่นความถี่ของสถานีโทรทัศน์ TITV ไปเป็นองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยและเพื่อให้เป็นวัตถุประสงค์ขององค์การฯ ดังต่อไปนี้


 


1.ดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ที่จะสนับสนุนการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพและคุณธรรม บนพื้นฐานของความเป็นไทย โดยผ่านทางบริหารข่าวสารที่เที่ยงตรงรอบด้าน สมดุล และซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ 2.ผลิตรายการทางด้านข่าวสาร สาระประโยชน์ทางด้านการศึกษาและสาระบันเทิง ที่มีสัดส่วนอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพสูง เน้นความหลากหลายในมิติต่างๆ โดยมุ่งดำเนินการอย่างปราศจากอคติทางการเมือง และผลประโยชน์เชิงพาณิชย์และยึดถือผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ 3.ส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชนให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อประโยชน์ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นผ่านทางการให้บริการข่าวสารและสาระประโยชน์อื่น 4.ส่งเสริมเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนได้รับข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน 5.สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อมในการกำหนดทิศทางการให้บริการขององค์การเพื่อประโยชน์สาธารณะ 6.สนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์อื่น"


 


ก่อนหน้านี้นายปราโมชให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า คำสั่งยุติการแพร่ภาพออกอากาศดังกล่าวเป็นไปเพื่อแปลงสภาพสู่ทีวีสาธารณะตามกฎหมาย โดยจะต้องยุติผังรายการเดิมของทีไอทีวีทั้งหมด แต่จะไม่มีช่วงจอมืดในช่วงเปลี่ยนถ่าย ซึ่งจะนำเอารายการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 มาออกรายการแทนตั้งแต่เวลาหลังเที่ยงคืน เป็นต้นไป จนกว่าคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว 5 คน ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้ง จะเข้ามาดูแลต่อไป


 


อย่างไรก็ตาม ผู้ประกาศข่าวทีไอทีวีได้อ่านข่าวออกอากาศว่า กลุ่มพนักงานทีไอทีวีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการดำเนินการนอกเหนืออำนาจของกรมประชาสัมพันธ์ โดยที่ทางสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ไม่ได้มีคำสั่งให้ทางสถานียุติการออกอากาศแต่อย่างใด อีกทั้งก่อนหน้านี้ศาลปกครองก็ได้ให้การคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีดำเนินการเพื่อให้บริการแก่สาธารณะต่อไปในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่สถานีโทรทัศน์สาธารณะ ซึ่งทางกลุ่มพนักงานทีไอทีวีก็เห็นด้วยกับการมีสถานีโทรทัศน์สาธารณะและยินดีปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ต้องการความมั่นใจว่าการดำเนินการจะไม่มีผลประโยชน์ หรือตกอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง


 


ทั้งนี้ ทางกลุ่มพนักงานได้ส่งตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่ออธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว และในวันรุ่งขึ้นจะเข้ายื่นคำร้องขอความคุ้มครองฉุกเฉินต่อศาลปกครอง เนื่องจากคำสั่งของกรมประชาสัมพันธ์นี้ได้แจ้งอย่างกะทันหันในเวลา 19.30 น. เพื่อให้ยุติการออกอากาศหลังเที่ยงคืน โดยไม่ได้ชี้แจงและแจ้งล่วงหน้า ซึ่งนับเป็นการปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารของประชาชน นอกจากนี้ยังไม่มีการระบุด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไรกับพนักงานของสถานีกว่า 850 คน โดยบรรยากาศในคืนสุดท้ายภายในสถานีเป็นไปด้วยความโศกเศร้า


นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว ทีไอทีวี เปิดเผยว่า หลังจากประกาศใช้กฎหมายสื่อสาธารณะ ในทางกฎหมายจะมีผลให้ทีไอทีวีเปลี่ยนสู่ทีวีสาธารณะ ภายใต้การดูแลบริหารขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท. หรือทีพีบีเอส)  แต่ในทางปฏิบัติสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีจะต้องรอการแต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายชั่วคราว ที่จะมากำหนดนโยบายการบริหารงาน ซึ่งน่าจะใช้เวลาระยะหนึ่ง ดังนั้นในช่วงนี้พนักงานทีไอทีวีทุกคน จะปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม โดยมีการแพร่ภาพทั้งรายการและโฆษณาตามปกติ  เนื่องจากมีสัญญาและภารกิจร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ในการขับเคลื่อนสถานีทีวีให้ดำเนินการแพร่ภาพต่อไป


"อยากให้คณะกรรมการดังกล่าวทำงานโปร่งใส เป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซง และทำงานอย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาพนักงานทีไอทีวีบางส่วนคัดค้านไม่เห็นด้วยกับทีวีสาธารณะ แต่ทุกคนก็ยอมรับการเปลี่ยนผ่านไปเป็นทีวีสาธารณะในครั้งนี้ เพื่อทำหน้าที่สื่อมวลชน นำเสนอข่าวสาร สาระ ข้อเท็จจริงต่อประชาชนต่อไป" นายอัชฌา กล่าว


อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนรายงานว่า คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงก่อนหน้านี้ว่า คณะรัฐมนตรีจะแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว 5 คน  มาทำหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย  โดยคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว 5 คนนี้จะแต่งตั้งผู้อำนวยการชั่วคราวอีก 1 คน มาร่วมบริหาร เพื่อแปลงสภาพสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี สู่ทีวีสาธารณะ ตามมาตรา 57 ซึ่งจะต้องเป็นช่องที่ไม่มีโฆษณาทันที  ตามกฎหมายสื่อสาธารณะ และหลังจากตั้งคณะกรรมการ 5 คนแล้ว สปน. จะทำงานแบบคู่ขนานดำเนินการสรรหาคณะกรรมการนโยบาย 9 คน ภายใน 180 วัน หลังจากนั้นคณะกรรมการจะสรรหาผู้อำนวยการสถานีภายใน 120 วัน เมื่อได้คณะกรรมการและผู้อำนวยการแล้ว ภาพสมบูรณ์แบบของทีวีสาธารณะจะชัดเจน


 


แหล่งข่าวกล่าวว่า เดิมรายชื่อคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว 5 คน ที่คุณหญิงทิพาวดี จะนำเสนอให้ ครม.แต่งตั้ง ประกอบด้วย นายไชยา ยิ้มวิไล โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายขวัญสรวง อติโพธิ อาจารย์พิเศษประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายอภิชาติ ทองอยู่ นักวิชาการอิสระด้านกฎหมาย แต่ล่าสุด รศ.ดร.เอื้อจิต ได้ขอถอนตัว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net