Skip to main content
sharethis


สุริยันต์ ทองหนูเอียด

ผู้ปฏิบัติงานภาคสนามกลุ่มเพื่อนประชาชน


 


 


 


ชัยชนะ 233 เสียงของพรรคพลังประชาชนในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ย่อมสะท้อนถึงความซับซ้อนของโครงสร้างทางการเมืองและให้บทเรียนแก่สังคมไทยในหลายประการ เช่น


1.ความขัดแย้งทางการเมืองแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมทุจริตคอรัปชั่นเชิงซ้อน การผูกขาดหรือการแทรกแซงกลไกสถาบันหลักทางการเมืองทั้งหลายของคณะรัฐบาลทุนนิยมแบบใหม่ ภายใต้ระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งไม่อาจแก้ไขด้วยการยึดอำนาจได้อีกต่อไป ดังเช่นความล้มเหลวของ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ คปค. โดยคณะทหาร ตำรวจและพลเรือน ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า เมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นอุทาหรณ์ ว่าสังคมต้องจัดการแก้ไขให้เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยและอำนาจของประชาชนเท่านั้น


2.ชัยชนะของพรรคพลังประชาชน ซึ่งเกิดจากการรวมกันของกลุ่มพรรคไทยรักไทยเก่าที่ผสมผสานกันระหว่างกลุ่มทุนนิยมสมัยใหม่กับกลุ่มทุนนักการเมืองตระกูลเก่า อันมี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นสัญลักษณ์ โดยมีกลุ่มคนเดือนตุลาเป็นผู้ปฏิบัติงานหลัก และการชูอดีตฝ่ายขวาอย่างนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรคย่อมสะท้อนถึงการสลายขั้วเชิงจารีตอุดมการณ์แบบซ้ายขวาในอดีตออกจากกันโดยสิ้นเชิง


3.การปรับของทุนนิยม ในระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ผ่านรูปแบบ "ประชานิยม" ที่ผ่านการเลือกตั้ง 2-3 ครั้งที่ผ่านมา ได้เข้ามาแทนที่การเมืองเชิงจารีตประเพณีแบบเก่า และท้าทายกลุ่มประชาสังคมที่เสนอประชาธิปไตยทางตรงแบบเข้มข้น ซึ่งไม่จำกัดอยู่เฉพาะการไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งแต่เคลื่อนไหวให้รัฐเคารพสิทธิมนุษยชน ความหลากหลายและการมีส่วนร่วมไม่ใช่แค่พลเมืองภายใต้การถูกปกครองเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่ารัฐบาลใหม่จะมีเสถียรภาพในบริหารประเทศ หรือแก้ไขวิกฤติที่เป็นอยู่ได้อย่างราบรื่นนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งที่ฝังลึกในกลุ่มชนทางอำนาจต่างๆ ประเด็นหลักที่พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรจะกลับประเทศเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็อาจต้องเผชิญกับปัจจัยต่างๆ หลายประการ


แต่สำคัญยิ่งกว่านั้น อยู่ที่ว่า การเมืองภาคประชาชนจะเดินต่อไปอย่างไร ในรัฐบาลใหม่ท่ามกลางความขัดแย้งทางประชาธิปไตยบนเขาควายที่แหลมคมและพร้อมจะไล่ขวิดใคร เพื่อ "นาย" ได้ก็พอ


1.เราจะสร้าง หรือปรับปรุง ขบวนการ หรือเครือข่ายองค์กรภายในอย่างไร ที่ทำให้ประชาชนฐานหลักของเราเข้าใจและเชื่อมั่น ในทิศทางการเมืองภาคประชาชน อันหมายรวมถึงการคลี่คลายความขัดแย้งในหมู่องค์กรประชาชนที่ดำรงอยู่ ทั้งเชิงวิธีคิด วิธีการ ท่วงทำนอง ท่าทีในการทำงานและการคิดใหม่ทำใหม่


2.เราจะเคลื่อนไหวเพื่อสร้างดุลอำนาจต่อรองกับรัฐราชการให้ยอมรับได้อย่างไร เพราะนโยบายหลักของรัฐบาลทักษิณเก่า ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะนำมาปรับใช้กับรัฐบาลใหม่ ก็คือ ระบบขายตรง ที่ไม่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มสังคมอื่นนอกจากสมาชิกพรรคหรือลูกค้าหลักเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแต่อย่างใด


3.อะไรคือข้อเสนอภาคประชาชนที่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมการเมืองสิ่งแวดล้อม ได้อย่างแท้จริง


ประเด็นที่กล่าวมา คงยังไม่เพียงพอต่อการสถาปนาอำนาจการเมืองภาคประชาชนได้อย่างทรงพลัง ทั้งนี้เพราะท่ามกลางความขัดแย้งของกลุ่มพลังประชาธิปไตยต่างๆ เสมือนอำนาจบนเขาควายที่จะขวิดใครก็ได้ การเมืองภาคประชาชนจำเป็นต้องแสดงพลังสิทธิทางการเมือง ด้วยการสร้างอำนาจประชาธิปไตยแบบอ่อนๆ คู่ขนานกับการเมืองกระแสหลักอย่างใกล้ชิด ซึ่งย่อมไม่ใช่อำนาจประชาชนแบบอ่อนแออย่างแน่นอน


อำนาจประชาธิปไตยแบบอ่อนๆ ย่อมหมายถึง การสร้างกระบวนการรณรงค์เพื่อนำไปสู่การรับรู้ยอมรับของสังคมสาธารณะที่สามารถทำให้ผู้อื่นหรือกลุ่มพลังประชาชนกลุ่มอื่นๆ เห็นด้วยในประเด็นเดียวกับที่เราต้องการอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้เพื่อจะนำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจร่วมพลังอย่างเอาการเอางาน ซึ่งจะต้องใช้เครื่องมือการสื่อสารในโลกยุคสมัยทุกช่องทาง ทั้งอินเตอร์เน็ต วิทยุชุมชน ทีวีสาธารณะเป็นต้น


ประการสำคัญ การสร้างอำนาจประชาธิปไตยแบบอ่อนๆ ขบวนการประชาชนจักต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรภาคีต่างๆ เพื่อสร้างความเห็นพ้องต้องกัน ทั้งในเชิงคุณภาพและกระบวนการ รวมทั้งเชิงระบบคิดคุณค่าในหลักการชุดเดียวกันอย่างเป็นระบบ การจัดตั้งประชาชนในมติอำนาจประชาธิปไตยแบบอ่อนๆ ข้ามข่ายประเด็นปัญหา ข้ามองค์กร ข้ามข่ายความคิดอุดมการณ์แบบนี้ เคยปรากฏมาแล้วหลายครั้ง


เช่น กรณีเครือข่ายประชาชนต่อต้านข้อตกลงเขตการค้าเสรีและการแปรรูปประเทศไทย 11 องค์กร อันประกอบด้วยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, เครือข่ายป่าไม้-ที่ดิน 4 ภาค, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, เครือข่ายสลัมสี่ภาคสภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์, สมัชชาคนจน, สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศและกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ซึ่งเคยชุมนุมต่อต้านการเจรจาเอฟทีเอไทย-อเมริกาที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8-11 มกราคม 2549 ที่ผ่านมา


รวมทั้งการเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ -เมษายน 2549 ทั้งที่กรุงเทพฯ และการจัดเวทีชุมนุมในแต่ละจังหวัด เพื่อตรวจสอบรัฐบาลทักษิณ เป็นต้น


และไม่ว่าเราจะมีรัฐบาลใหม่เป็นใคร หรือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะให้สิทธิเสรีภาพแค่ไหน ความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองก็คงดำรงอยู่ในหมู่ประชาชนเหมือนเดิม เช่น การกีดกันไม่ให้ชุมชนมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติดินน้ำป่า ปัญหาการค้าเสรี ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ปัญหาโครงการรัฐขนาดใหญ่ที่กระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ทั้งการสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้าหรือโครงการอื่นๆ


ด้านหนึ่งคืออุปสรรคที่เราต้องเผชิญปัญหาการต่อสู้เคลื่อนไหวคัดค้านต่อไป


หากแต่ด้านหนึ่งมันก็เป็นทุนการต่อสู้เดิมที่เรามีอยู่แล้วและต้องต่อยอดกระบวนการต่อไป


ทั้งนี้ ในระยะยาว ภาคประชาชนจำเป็นจะต้องต่อยอดอำนาจประชาธิปไตยแบบอ่อนๆ แบบนี้ ไปสู่การสถาปนาอำนาจประชาธิปไตยภาคประชาชนที่เข้มแข็งและมีอำนาจการต่อรองได้อย่างแท้จริงต่อไป ทั้งในเชิงการสร้างองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติระดับท้องถิ่น การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม การศึกษาทางเลือก สื่อทางเลือก การแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างเครื่องมือในการเคลื่อนไหวสร้างเครือข่ายระดับฐานชุมชนและเชื่อมโยงเข้าสู่โครงสร้างส่วนบนในระบบรัฐสภา รวมไปถึงการขยายประเด็นการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ ปัญหาความปลอดภัยและอนามัยอาชีวะในสถานประกอบการ ปัญหาค่าจ้างขั้นต่ำ ปัญหาแรงงานภาคการเกษตร แรงงานข้ามชาติ ปัญหาชนเผ่า ชาวเล เป็นต้น


ทั้งนี้ หากเราสามารถสร้างขบวนการประชาชนให้เข้มแข็งได้แล้ว คงไม่ยากอะไร ถ้าเราจะจัดตั้ง "พรรคการเมืองภาคประชาชน" ที่เครือข่ายองค์กรประชาชนและพันธมิตรเป็นเจ้าของและสร้างกระบวนมีส่วนร่วมเชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์จากระดับล่างเข้าสู่ระดับบนได้อย่างจริงแท้ต่อไป.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net