Skip to main content
sharethis

ม.เที่ยงคืนวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ พร้อมออกแถลงการณ์เสนอ 3 ข้อ 1.แก้ไขรธน.50 เพื่อยกร่าง รธน.ใหม่ 2.ทบทวนกฎหมายที่มุ่งเพิ่มอำนาจกองทัพ 3.สนับสนุนนโยบายสวัสดิการสังคม...ต่อด้วยการเสวนาเผ็ดร้อนว่าด้วย รธน.ไทยหลังการเลือกตั้ง ไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ที่มาของภาพ: ปกป้อง พงศาสนองกุล

 

วานนี้ (10 ธ.ค.) กลุ่มนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดกิจกรรมเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ โดยในช่วงเช้าได้ร่วมวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ของ ปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในคณะราษฎรผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองและรัฐธรรมนูญฉบับแรกมาสู่สังคมไทย ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

ในช่วงบ่าย ม.เที่ยงคืนร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนา 10 ปีทวงคืนรัฐธรรมนูญของประชาชน ภายใต้หัวข้อ "รัฐธรรมนูญไทยภายหลังการเลือกตั้ง ไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" พร้อมประกาศแถลงการณ์ของม.เที่ยงคืนต่อการเลือกตั้งที่จะถึงนี้

 

แถลงการณ์ระบุข้อเสนอ 3 ข้อต่อการเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตยที่มั่นคง ได้แก่ 1.ความไร้ประสิทธิภาพของระบบการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ 2550 การจะปฏิรูประบบการเมืองไทยได้จำเป็นต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ซึ่งสามารถกระทำได้โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550  เพื่อกำหนดให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นภายหลังจากการเลือกตั้งครั้งนี้

2.ทบทวนกฎหมายที่มุ่งเพิ่มอำนาจให้กับกองทัพ เช่น กฎอัยการศึก ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อนำไปสู่การบัญญัติกฎหมายความมั่นคงที่มีความชัดเจน เปิดให้มีการตรวจสอบ ตามกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย

3. สนับสนุนนโยบายสังคมสวัสดิการ อันหมายถึงการสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรม มีหลักประกันพื้นฐานของชีวิตในด้านความเป็นอยู่ การศึกษา สาธารณสุข และความเท่าเทียมกันด้วยการใช้นโยบายต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคมไทยลง เช่น การใช้นโยบายภาษีก้าวหน้า ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก เป็นต้น มิใช่เป็นเพียงการใช้นโยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองแทบทุกพรรคกำลังเสนอกันอยู่ในปัจจุบัน

 

สมเกียรติ ตั้งนโม

 

สมเกียรติ ตั้งนโม หนึ่งในนักวิชาการ ม.เที่ยงคืน กล่าวว่าที่ผ่านมา คมช.กำจัดฝ่ายตรงข้ามโดยใช้วิธีการทางการทหารอย่างรุนแรง ปิดกั้นสื่อ ปิดกั้นพื้นที่ สกัดเสบียง จำกัดอำนาจพรรค เป็นวิธีการที่หยาบคาย และปัจจุบันวิธีการต่อสู้นี้ถูกบัญญัติในกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงกฎหมายความมั่นที่ขยายอุ้งเล็บในการทำร้ายคู่ต่อสู้ได้มากขึ้น ม.เที่ยงคืนจึงเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการร่างใหม่ทั้งฉบับ เพราะเราไม่สามารถแกะความซับซ้อนภายใต้ฉบับนี้ได้ และที่มาของมันไม่ชอบธรรม

 

ในประเด็นสังคมสวัสดิการและการเสนอให้เก็บภาษีอัตราก้าวหน้านั้น สมเกียรติระบุว่า ควรเริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป และทำความเข้าใจให้ชนชั้นกลางซึ่งเป็นชนชั้นที่มีพลังทางสังคมได้เข้าใจถึงความจำเป็นในการเกลี่ยความเป็นธรรมให้ทั่วถึง เพื่อเป็นทางออกแท้จริงในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางชนชั้นที่ส่อเค้ารุนแรงขึ้น

 

นอกจากนี้ทางกลุ่มต้องให้พรรคการเมืองต่างๆ แสดงท่าทีต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวให้ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนใช้พิจารณาในการเลือก และหากพรรคการเมืองเพิกเฉย อาจจะมีการรณรงค์ให้โหวตโนในการเลือกตั้งครั้งนี้ต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่นั้น สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาเสนอว่า ควรเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาแล้วแก้ไขในบางมาตราที่บกพร่องดีกว่าการยกร่างใหม่ เนื่องจากสังคมไทยมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่หลายฉบับแล้ว อีกทั้งการรื้อฟื้นรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นการปฏิเสธความชอบธรรมของรัฐประหารได้มากกว่า ขณะที่อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เห็นว่า การยกร่างฉบับ 2540 มีการประนีประนอมหลายเรื่อง วันนี้สังคมไทยกำลังคิดกันใหม่ โดยต้องร่างกันอย่างมีส่วนร่วมกว้างขวางกว่าการร่างฉบับ 2540 เพราะผ่านมา 10 ปีมีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม เกิดขึ้นอย่างมหาศาล

 

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

 

สำหรับเนื้อหาในวงเสวนานั้น สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ วิเคราะห์ว่า หลังการเลือกตั้งสังคมไทยก็ยังต้องเผชิญกับปัญหามาก ซึ่งโดยแนวโน้มแล้วจะได้รัฐบาลได้ใน 3 รูปแบบ 1.รัฐบาลคนบาปที่มาจากแรงส่งของรากหญ้า ฐานที่สำคัญมาจากคนจนเมืองและคนจนชนบท คำว่า "คนบาป" นี้เป็นทัศนะจากสังคมส่วนใหญ่ที่มองเข้าไปว่าเป็นกลุ่มคนที่ทำความผิดทางการเมืองไว้แล้วยังกลับมามีบทบาทได้ 

 

2. รัฐบาลเทวดาของเหล่าอำมาตย์และคนเมืองที่อยากได้รัฐบาลที่นำโดยพรรคการเมืองบางพรรคซึ่งรู้สึกว่าจะมาในช่วงเปลี่ยนผ่านได้ แต่เป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะที่ผ่านมาพรรคนี้ได้พิสูจน์ตัวเองมายาวนานว่าทำอะไรไม่ได้มาก ยกเว้นจะเกิดสวิงโหวต หรือพรรคอื่นๆ ถูกกดดันไม่ให้ร่วมกับพรรคคนบาปแม้ว่าจะได้เสียงข้างมาก 3.รัฐบาลสมานฉันท์ รัฐบาลแห่งชาติ ข้อเสนอประเภทนี้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันยังเป็นไปได้ต่ำ แต่มีความเป็นไปได้ถ้ามีเงื่อนไขพิเศษทางการเมืองบางอย่างที่เรียกร้องความปรองดองในชาติ

 

สมชายระบุว่า ปัญหาที่สังคมไทยต้องเผชิญจนทำให้การเมืองไทยไม่ขยับไปไหน ไม่ว่าจะได้รัฐบาลแบบใด มี 3 ปัจจัยคือ  1.การเมืองไทยขณะนี้มีความตึงเครียดสูง โดยมีกลุ่มคนที่มีความแตกต่างที่เป็นฐานเสียงของทั้ง 2 ฝ่ายในจำนวนที่มากเหมือนกัน คนในสังคมยังเลือกยืนคนละฝั่งอยู่มาก จนถึงวันนี้ความตึงเครียดนี้ยังไม่หายไปไหน สิ่งที่ต้องตระหนักคือ ความแตกต่างในระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องปกติ และการรัฐประหารที่คิดว่าจะจัดการกับความขัดแย้งทางการเมืองนั้นไม่ได้ช่วยอะไร นี่เป็นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำเพราะจะนำเงื่อนไขความแตกแยกมารัฐประหารอีกหลังเลือกตั้งไม่ได้ สิ่งที่ต้องคิดคือ ทำอย่างไรให้คนที่เห็นต่างเข้าสู่เวทีแล้วต่อรองกันได้ ที่ผ่านมากลุ่มคนรากหญ้าไม่สามารถเข้าสู่เวทีต่อรองได้

 

2.รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเผชิญกับ รัฐอำนาจนิยม ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นและเพิ่มระดับขึ้นหลังการรัฐประหาร ถ้า พ.ร.บ.ความมั่นคงผ่าน จะเป็นการสร้างระบอบรัฐอำนาจนิยมไปซุกอยู่ใต้ระบอบเสรีประชาธิปไตย การมีรัฐอำนาจนิยมหรือรัฐที่อำนาจกองทัพเพิ่มจะเกิดปัญหากับรัฐบาลแน่นอน การริเริ่มแก้ไขปัญหาในแนวทางอื่นๆ จะเป็นไปไม่ได้ เช่น การแก้ปัญหาภาคใต้โดยการใช้สันติวิธีจะเป็นไปได้ยาก

 

3.รัฐธรรมนูญ 2550 พยายามดึงสังคมไทยไปสู่ความสัมพันธ์ทางอำนาจประมาณทศวรรษ 2520 ทั้งที่สังคมเปลี่ยนไปมาก รัฐธรรมนูญนี้ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ 1. หันพึ่งระบบราชการมากขึ้น ระบบราชการเป็นผู้ตอบปัญหาต่างๆ ของสังคม เมื่อราชการมีบทบาทมาก รัฐบาลจะไม่สามารถสร้างนโยบายใหม่ๆ ได้ เมื่อปราศจากฐานเสียงที่กว้างขวาง การริเริ่มนโยบายใหม่ๆ เป็นไปได้ยาก

 

สมชายระบุด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร ซึ่งการรัฐประหารได้ทำให้เกิดโครงสร้างอำนาจทางการเมืองแบบใหม่ไปแล้ว และยิ่งจะทำให้การเลือกตั้งไม่มีน้ำยามากขึ้น และการเลือกตั้งนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านในการถ่ายอำนาจจากทหารและพันธมิตรของทหารเข้ามาสู่นักการเมือง แต่จะยังไม่ทำให้สังคมไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยได้

 

"ถ้าจะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ต้อง 1. ปรับอำนาจโครงสร้างทางการเมืองใหม่ ต้องคิดถึงการแก้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อปรับอำนาจทางการเมือง 2. จัดการกับอำนาจของรัฐแบบอำนาจนิยมที่เกิดจาการขยายอำนาจของกองทัพ ถ้าไม่คิดถึง 2 เรื่องนี้การเลือกตั้งมันก็จะเป็นพิธีกรรมทางการเมืองที่ทำให้เราสบายใจได้ชั่วครู่ยาม แล้วกลับมาป่วยหนักเหมือนเดิม" สมชายกล่าว

 

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

 

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญว่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปี 2475 ที่เริ่มมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกนั้น รัฐธรรมนูญมีความหมายมากสำหรับสังคมไทยมากไม่เหมือนกับในปัจจุบันที่ฉีกทิ้งกันได้ง่ายๆ เพราะ 1. การมีรัฐธรรมนูญครั้งแรกในสยาม หมายถึงการมีการปกครองแบบนิติรัฐ ไม่ใช่พระราชโองการเหมือนระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ ซึ่งไม่ใช่สัญญาประชาคม 2. การมีรัฐธรรมนูญหมายถึง รัฐบาลใหม่ต้องมีหลักในการบริหารประเทศ มีนโยบายประกาศให้ประชาชนรู้ ในขณะนั้นคือหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากในการบริหารประเทศ เพราะที่ผ่านมาการบริหารเป็นเอกสิทธิ์ส่วนพระองค์ เป็นการปกครองตามน้ำพระทัย 3. รัฐธรรมนูญเป็นที่มาแห่งการประกันแห่งสิทธิ เสรีภาพของราษฎร เช่น สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในทางการเมือง สิทธิส่วนบุคคล 4. เป็นหลักประกันว่ากษัตริย์ต้องถูกจำกัดอำนาจ 5. รัฐธรรมนูญถือเป็นมิ่งขวัญประชาชน  

 

สุธาชัยตั้งข้อสังเกตว่า อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ไม่ว่าคณะทหารจะทำอย่างไร ก็ยังต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ฉะนั้น การมีรัฐธรรมนูญจึงสำคัญ แม้ความเป็นมิ่งขวัญจะถูกทำลายไปตั้งแต่ปี 2490 แต่ที่คงอยู่คือ วัฒนธรรมการเมืองที่ยังไงก็ต้องมีรัฐธรรมนูญ

 

สุธาชัย ยังกล่าวถึงปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่ามีที่มาอันแปดเปื้อนและโสโครก ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ถือว่ามีพัฒนาการมากที่สุดในปัจจุบัน และระบุถึงข้อสรุปที่ทุกคนได้ คือ 1.การรัฐประหารไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย ปัญหาจำนวนมากเป็นปัญหาที่สร้างใหม่หลังรัฐประหาร เรื่องทักษิณนั้นจบไปแล้ว 2. บทเรียนที่สำคัญมากคือ รัฐประหารพระราชทานไม่ใช่ทางออกของปัญหา พวกนี้ทำงานไม่เป็น ระบบราชการที่เคยเป็นแกนหลักในการทำงานสมัยเผด็จการก่อนหน้านี้ ถึงตอนนี้แก้ปัญหาไม่ได้ นักการเมืองแม้มีปัญหาจริยธรรม แต่ก็มีฝีมือมากกว่าในการแก้ปัญหารูปธรรม

 

ประเด็นสุดท้าย รัฐประหารแก้ปัญหาไม่ได้ แม้ในเรื่องการทำลายคุณทักษิณ ถึงวันนี้ในหมู่ชาวบ้านทักษิณยิ่งเป็นฮีโร่ และมีแนวโน้มที่น่าสนใจหลายอย่างเพราะการต่อสู้ทางการเมืองขณะนี้ข้างหนึ่งคือทักษิณ พลังประชาชน แต่อีกข้างหนึ่งเป็นเทวดาที่สูงกว่าประชาธิปัตย์ เราเริ่มเห็นแนวโน้มการประนีประนอมอย่างชัดเจน โดยสามารถดูจากพระราชดำรัสเมื่อ 4 ธันวาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นดัชนีชี้ทิศทางการเมืองไทย พระองค์ทรงตรัสเรื่องความสามัคคี แม้แต่นายทุนทุกกลุ่มก็เห็นร่วมกันว่าขัดแย้งแบบนี้จะพาไปสู่หายนะ ภาวะเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องนี้ ทำให้ทุนต้องสามัคคีเพื่อความอยู่รอดของพวกเขา

 

"ดังนั้น ชนชั้นกลางทั้งหลายก็คงจะถูกหักหลังเหมือนเช่นเคย พันธมิตรทั้งหลายก็คงต้องไปบวชเหมือนคุณสนธิ ลิ้มทองกุล"สุธาชัยกล่าว

 

ในช่วงท้าย สุธาชัย ยังระบุถึงความจำเป็นที่ภาคประชาชนต้องมีข้อเรียกร้องในการตั้งกรรมการขึ้นมาสะสางกฎหมายที่ออกโดย สนช. ซึ่งเป็นสภาที่ไม่มีมารยาทมากที่สุดชุดหนึ่งในประวัตศาสตร์ สนช. ควรสำนึกว่าเป็นสภาชั่วคราวในช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่ควรพิจารณากฎหมายสำคัญที่กระทบกับประชาชนขนาดนี้ เรียกได้ว่า เป็นความอัปยศที่ทำอย่างนี้

 

"ส่วนคำถามว่าจะเลือกใครดีหรือจะโนโหวตนั้น โดยส่วนตัวไม่ได้ตั้งธงว่าจะเลือกใคร แต่ตั้งธงว่าจะไม่เลือกใคร นั่นคือ พรรคไหนก็ตามที่เสนอมาตรา 7 สนับสนุนการรัฐประหาร ผมคิดว่าเราเลือกไม่ได้ และขอเสนอภาคประชาชนด้วยว่าไม่ควรเลือกพรรคนี้ เราอาจจะขัดแย้งกับทักษิณ แต่ไม่ควรพึ่งอำนาจนอกระบบ ควรต้องเรียนรู้การแก้ปัญหาในระบบประชาธิปไตย ปัญหาชมพู่เน่าไม่ใช่ปัญหาหลักเท่ากับการปฏิเสธรัฐประหาร ผมไม่ชูธงต้าน พลังประชาชน ถ้าประชาชนส่วนมากในประเทศนี้เลือก และเราเคารพระบอบประชาธิปไตย มันก็ควรจะต้องเป็นไปตามนั้น" สุธาชัยกล่าว

 

อรรถจักร สัตยานุรักษ์

 

อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวในการเสวนาว่า ทางเดินการเมืองไทยถูกบีบให้คอดกิ่วจนหาทางออกไม่ได้ ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารแล้ว โดยสิ่งสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนั้นคือ การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงอันไพศาลที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของ ภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ หรือ informal sector ที่ขยายตัวอย่างมาก และซื้อนโยบายประชานิยม หรือการตื่นตัวของท้องถิ่นทั่วประเทศที่ต้องการจัดสรรทรัพยากรของตนเอง แต่ผู้ปกครองยังคงหวงอำนาจไว้กับตัวเอง โดยคิดว่าจะเหนี่ยวรั้งความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ สะท้อนผ่านรัฐธรรมนูญ 2550

 

"เราต้องพูดถึงการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ ซึ่งจะดูดซับความขัดแย้งแปรเป็นข้อถกเถียง ซึ่งกระทำได้ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้จะมีปัญหาหนักหน่วง กระทบกระทั่งกัน หรือเกิดความรุนแรงในทุกอณู และเราต้องทำให้การเลือกตั้งเป็นของประชาชนให้มากที่สุด" อรรถจักรกล่าว 

 

ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การเมืองหลังจากนี้จะกลับไปสู่ประชาธิปไตยค่อนใบ  โดยมีการประนีประนอมทางอำนาจของส่วนต่างๆ มากขึ้น อำนาจทหาร ราชการกลับมาอย่างซับซ้อนมากขึ้น ผ่านกฎหมายสำคัญหลายฉบับที่สร้างขึ้นมา และฉบับหนึ่งคนไม่ค่อยได้พูดถึงคือ พ.ร.บ.ผู้ใหญ่บ้านกำนัน

 

อย่างไรก็ตาม ประภาส เห็นว่า กิจกรรมการปิดสภาที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ เพื่อหยุดการพิจารณากฎหมายจำนวนมากของ สนช.นั้นอาจมีความหมายมากกว่าไปเลือกตั้ง เพราะการผ่านกฎหมายหลายฉบับเป็นเรื่องสำคัญมาก จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลายด้าน "เรามาช่วยกันเขียนรัฐธรรมนูญด้วยตีนเหมือนสมัชชาคนจนดีกว่า"

 

"กฎหมายสำคัญในต่างประเทศต้องให้ประชาชนลงประชามติ แต่เมืองไทยเป็นประชาธิปไตยแบบฉี่ไม่สุด กลัวชาวบ้านเป็นเหยื่อทักษิณตลอดเวลา ไปให้อำนาจรัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจในการริเริ่มประชามติ ถ้าพูดถึงการเมืองภาคประชาชน การถ่ายโอนอำนาจสู่ประชาชนต้องผลักดันกันอีกเยอะ" ประภาสกล่าว

 

แถลงการณ์ ข้อเสนอ ๓ ประการ
ต่อการเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตยที่มั่นคง




การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ ๒๓ ธันวาคมนี้ ได้ถูกคาดหวังว่าจะเป็นกระบวนการสำคัญในการนำพาสังคมไทยกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย  ภายหลังจากที่ต้องอยู่ภายใต้การรัฐประหารมานับตั้งแต่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ อย่างไรก็ตาม ลำพังการเลือกไม่อาจเป็นหลักประกันว่า การก้าวเดินสู่สังคมประชาธิปไตยจะบังเกิดขึ้นติดตามมา แม้มีรัฐสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม

เป็นที่คาดหมายได้ว่ารัฐบาลภายหลังจากการเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลที่ปราศจากเสถียรภาพทางการเมือง อันเนื่องมาจากการออกแบบไว้โดยรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐  รัฐบาลที่ปราศจากการสนับสนุนอย่างกว้างขวางย่อมไม่อาจผลักดันนโยบายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องตกอยู่ภายใต้การกำกับของระบบอำมาตยาธิปไตย

ยิ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับความพยายามในการสถาปนารัฐอำนาจนิยม ด้วยการเพิ่มอำนาจและบทบาทของกองทัพขึ้นในระบบราชการ ผ่านกฎหมายต่างๆ ทั้งที่มีอยู่และที่กำลังร่างขึ้นใหม่ ความคิดริเริ่มในการแก้ไขปัญหาก็ยังคงมีแนวโน้มจะอยู่ภายใต้บทบาทของกองทัพอยู่ต่อไป

ดังที่ประจักษ์ชัดกันว่า ในหลายปัญหาสำคัญก็ยังคงดำเนินต่อมา เช่น ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้
และก็จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของประชาชนจำนวนมากที่อาจต้องถูกจำกัดภายใต้การใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง อันทำให้กระบวนการแสดงความคิดเห็น การผลักดันความคิดทางการเมืองของกลุ่มองค์กรต่างๆ ต้องยุติลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประชาชนในระดับล่างซึ่งได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากการดำเนินนโยบายของรัฐในด้านต่างๆ

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีข้อเสนอต่อสังคมไทยในการเลือกตั้งที่จะบังเกิดขึ้น ดังนี้

ประการแรก ความไร้ประสิทธิภาพของระบบการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ การจะปฏิรูประบบการเมืองไทย ได้จำเป็นต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ซึ่งสามารถกระทำได้โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐  เพื่อกำหนดให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นภายหลังจากการเลือกตั้งครั้งนี้

ประการที่สอง ทบทวนกฎหมายที่มุ่งเพิ่มอำนาจให้กับกองทัพ เช่น กฎอัยการศึก ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อนำไปสู่การบัญญัติกฎหมายความมั่นคงที่มีความชัดเจน เปิดให้มีการตรวจสอบ ตามกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย

ประการที่สาม สนับสนุนนโยบายสังคมสวัสดิการ อันหมายถึง การสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรม มีหลักประกันพื้นฐานของชีวิตในด้านความเป็นอยู่ การศึกษา สาธารณสุข และความเท่าเทียมกันด้วยการใช้นโยบายต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคมไทยลง เช่น การใช้นโยบายภาษีก้าวหน้า ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก เป็นต้น มิใช่เป็นเพียงการใช้นโยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองแทบทุกพรรคกำลังเสนอกันอยู่ในปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเรียกร้องให้สังคมร่วมกันผลักดันให้พรรคการเมืองต่างๆ แสดงท่าทีต่อประเด็นทั้ง ๓ นี้ให้ชัดเจน และร่วมกันสนับสนุนพรรคการเมืองให้พันธะสัญญาต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่จะนำสังคมไทยกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง มากกว่าเป็นพิธีกรรมทางการเมืองที่ไร้ความหมายดังเช่นที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๐ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net