Skip to main content
sharethis

คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์การลงประชามติ “3 ไม่รับ” ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ไม่รับคำถามพ่วงและไม่รับกระบวนการจัดทำร่างรธน.แบบอำนาจนิยม ขณะเดียวกันถูกคณบดีเบรคแถลงข่าวจึงเปลี่ยนเป็นแจกอย่างเดียว

 
1 ส.ค. 2559 คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง การลงประชามติ “3 ไม่รับ” โดยเป็นการแสดงจุดยืนต่อการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยชู “3 ไม่รับ” ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ไม่รับคำถามพ่วง (หรือประเด็นเพิ่มเติม) และไม่รับกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแบบอำนาจนิยม
 
"ขอแสดงความเห็นทางวิชาการโดยสุจริตใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้รวมทั้งคำถามพ่วงและกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรได้รับความเห็นชอบจากมติมหาชน อย่างไรก็ตาม การลงประชามติเป็นสิทธิของปัจเจกบุคคลที่สามารถตัดสินใจได้อย่างเสรี จึงขอให้คนไทยทุกคนโปรดใช้สติปัญญาในการพิจารณาด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและรอบคอบ ก่อนที่จะไปลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้" มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ระบุในแถลงการณ์
 
ทั้งนี้ ตามกำหนดการเติม มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะมีการแถลงด้ววาจา แต่เนื่องจากได้รับคำสั่งห้ามด้วยว่าจากจากคณบดีคณะนิติศาสตร์ ในวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ด้วยอ้างอิงถุงคำสั่งจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติขณะนี้นั้น คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงเปลี่ยนเป็นการแจกแถลงการณ์ โดยไม่มีการแถลงข่าวแทน
 
โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง การลงประชามติ “3 ไม่รับ”

การลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอแสดงจุดยืนต่อการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยการประกาศ “3 ไม่รับ” ดังนี้
 
“ไม่รับ 1” คือ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย
เป็นที่ชัดเจนว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ออกแบบโครงสร้างสถาบันทางการเมืองที่มีความแตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก ด้วยการสถาปนาระบอบการปกครองที่มี “อภิชนเป็นใหญ่” ดังจะพบว่าแม้ในรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็เปิดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการสรรหาโดยมีความสัมพันธ์กับประชาชนอย่างเบาบาง นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรอิสระอย่างไพศาลในการเข้ามาทำหน้าที่กำกับและตัดสินความขัดแย้งต่างๆ ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่านับตั้งแต่ความขัดแย้งทางการเมืองทวีความเข้มข้นมากขึ้น องค์กรต่างๆ เหล่านี้ไม่อาจทำหน้าที่เกื้อหนุนให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคมการเมืองไทย เป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย กลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเสียเอง นอกจากนี้ การที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้องค์กรอิสระมาจากการสรรหาโดยไม่ยึดโยงกับประชาชน ย่อมทำให้ขาดความชอบธรรมและขาดการยอมรับจากทุกภาคส่วน การทำหน้าที่ขององค์กรอิสระเหล่านี้จึงมีแต่จะทำให้สังคมไทยต้องเผชิญกับความยุ่งยากมากขึ้น การร่างรัฐธรรมนูญที่ออกแบบให้สถาบันการเมืองที่ไม่ได้สัมพันธ์กับประชาชนมีอำนาจเหนือกว่าสถาบันการเมืองที่สัมพันธ์กับประชาชน เช่น รัฐสภาและรัฐบาล ในลักษณะเช่นนี้ จึงไม่เอื้อให้สังคมไทยจัดการกับความขัดแย้งและเดินหน้าได้อย่างสันติ หากแต่จะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม
 
“ไม่รับ 2” คือไม่รับคำถามพ่วง (หรือประเด็นเพิ่มเติม)
การกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลให้รัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น หากพิจารณาควบคู่ไปกับอำนาจในการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกในระยะแรกเริ่มซึ่งเป็นอำนาจของ คสช. เป็นหลัก ก็ย่อมทำให้เห็นได้ชัดว่าบทบัญญัติดังกล่าวนี้เปิดช่องให้กับ “นายกฯ คนนอก” นั่นเอง เพราะวุฒิสมาชิกจะกลายเป็นกลุ่มการเมืองขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการให้ความเห็นชอบแก่ผู้ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
 
“ไม่รับ 3” คือไม่รับกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแบบอำนาจนิยม
นับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญถึง 2 ครั้ง ซึ่งทำให้สังคมไทยต้องสูญเสียทั้งเวลา ทรัพยากร งบประมาณ (อย่างน้อย 3,000 ล้านบาท) แต่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของระบอบประชาธิปไตย และไม่สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงอันไพศาลที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ที่สำคัญคือกระบวนการร่างที่มีการผูกขาดอำนาจและใช้อำนาจในการออกแบบและกำหนดบทบัญญัติทั้งหลายในรัฐธรรมนูญ โดยไม่ให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายและการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่เปิดโอกาสแก่การถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเสรี ไม่ใส่ใจในความรู้และบทเรียนของคนแต่ละกลุ่มในสังคม ไม่เห็นคุณค่าของสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย อาจกล่าวได้ว่าอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกอยู่ในกำมือของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจทางการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลมาจากมุมมองและเป้าหมายทางการเมืองของคนจำนวนเพียงหยิบมือเดียว แทนที่จะเกิดจาก “วิสัยทัศน์ร่วม” ของคนทั้งหมดในสังคมซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีกระบวนการที่เปิดกว้างและเสรีเฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นในการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอแสดงความเห็นทางวิชาการโดยสุจริตใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้รวมทั้งคำถามพ่วงและกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรได้รับความเห็นชอบจากมติมหาชน อย่างไรก็ตาม การลงประชามติเป็นสิทธิของปัจเจกบุคคลที่สามารถตัดสินใจได้อย่างเสรี จึงขอให้คนไทยทุกคนโปรดใช้สติปัญญาในการพิจารณาด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและรอบคอบ ก่อนที่จะไปลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้
 
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
1 สิงหาคม 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net