Skip to main content
sharethis



ภัควดี วีระภาสพงษ์ และ อ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์


 


 


5 ..50    ที่ร้านเล่า จ.เชียงใหม่ "ประชาไท" จัดเสวนาในหัวข้อ "มองวิกฤตเวเนซุเอลาแล้วหันมาดูบ้านเรา" โดยมีวิทยากรคือ ภัควดี วีระภาสพงษ์ คอลัมนิสต์ นักแปลอิสระ และ อ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


ชาเวซแพ้ฉิวเฉียด แต่อาจทำให้รอบคอบขึ้นในอนาคต และโต้ข้อหาเผด็จการ


ภัควดี วีระภาสพงษ์ ได้เล่าถึงบริบทการเมืองของประเทศเวเนซุเอลา ก่อนการลงประชามติครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 .. ที่ผ่านมา (ดูข่าว: ผลการลงประชามติที่เวเนซุเอลา รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขไม่ผ่าน และลิงค์ท้ายข่าว) ว่าประธานาธิบดีอูโก้ ชาเวซ (Hugo Chavez) ขึ้นสู่อำนาจได้อย่างไร? และเขากำลังกุมทิศทางให้ประเทศเวเนซุเอลาไปทางไหน?


 


ภัควดีระบุว่า การขึ้นมาของชาเวซนั้นอาศัยฐานเสียงของคนยากไร้และแรงงานนอกระบบในเวเนซุเอลา โดยเขามีการจัดตั้งพรรคการเมือง และทำงานด้านมวลชนตั้งแต่ที่เขายังมีตำแหน่งอยู่ในกองทัพ และหลังจากชนะการเลือกตั้งชาเวซก็ได้นำพาประเทศหันเหไปสู่แนวทางสังคมนิยม


 


โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถือว่าเป็นการเสนอข้อเสนอแนวสังคมนิยมที่ถึงรากถึงโคน (radical) ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในสังคมเวเนซุเอลา


 


ภัควดีได้อธิบายว่าการจัดให้มีการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ได้แบ่งออกเป็น 2 บล็อก โดยบล็อก A เป็นข้อเสนอของประธานาธิบดีอูโก้ ชาเวซ (Hugo Chavez) และบล็อก B เป็นข้อเสนอของสมัชชาแห่งชาติ ซึ่ง บล็อก A นั้น แพ้ประชามติไป 49.3% ต่อ 50.7% ส่วนบล็อก B แพ้ไป 49% ต่อ 51%


 


โดยชาเวซเองได้บอกว่าในตอนแรกเขาก็สองจิตสองใจ ว่าจะประกาศผลยอมแพ้ก่อนเลย หรือดูผลประชามติอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้เขาเองก็รู้สึกโล่งอกที่ผลนับคะแนนออกมาเป็นเด็ดขาด ดีกว่าผลการนับคะแนนประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งล่าสุดที่มีปัญหา และเขาก็ยังได้แสดงความยินดีกับฝ่ายตรงข้ามของเขา แต่ก็เตือนให้ฝ่ายตรงข้ามรู้จักบริหารชัยชนะให้ดี เพราะไม่อย่างนั้นมันจะไม่คุ้มกับชัยชนะที่ได้มา


 


การพ่ายแพ้ของชาเวซครั้งนี้ ภัควดีมองว่าในหลายๆ ประเด็นนั้น ชาเวซไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็สามารถทำได้เลย รวมถึงการเร่งรีบมากเกินไป ซึ่งประเด็นนี้ทำให้เขาถูกโจมตีเป็นอย่างมาก


 


นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากปัจจัยภายในของผู้สนับสนุนเขาและภายในประเทศเวเนซุเอลาเอง ไม่ว่าจะเป็นการแตกคอกับราอูล บาดูเอล (Raul Baduel) การพยายามปรับโครงสร้างกองทัพ ซึ่งทำให้ทหารบางส่วนไม่พอใจ, การสูญเสียอำนาจของผู้ว่า ข้าราชการ และฝ่ายปกครอง หากการแก้ไขผ่าน เป็นต้น


 


นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกที่เป็นตัวหนุนเสริม เช่นกลุ่มศาสนา เหล่าบิชอปที่ออกมาต่อต้านการมีคำว่า "สังคมนิยม" ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงการที่ CIA ให้เงินสนับสนุนถึง 8 ล้านดอลลาร์ผ่านทาง usiad เพื่อทำปฏิบัติการทางจิตวิทยา การปล่อยข่าวลือให้ประชาชนสับสน


 


แต่ข้อดีของการพ่ายแพ้ครั้งนี้ของชาเวซ ภัควดีเห็นว่าอาจทำให้ชาเวซรอบคอบขึ้นกว่านี้ ในการนำประเทศสู่แนวสังคมนิยมต่อไป รวมถึงได้พิสูจน์ให้สื่อตะวันตกที่มีอคติต่อเขาว่าข้อหาเผด็จการนั้นไม่เป็นความจริง


 


"การที่สื่อตะวันตก.. สื่อสหรัฐบอกว่าเวเนซุเอลาเป็นเผด็จการ นี่ไม่จริงเลย เพราะเห็นได้ว่าชาเวซก็แพ้ได้ แพ้การลงประชามติได้ ถ้าชาเวซเป็นเผด็จการอย่างที่สื่อตะวันตกพูดจริง การลงประชามติครั้งนี้มันก็ต้องชนะอย่างแน่นอน" --- ภัควดีกล่าว


 


แรงงานนอกระบบและพลังทางการเมือง


ในประเด็นประเทศไทย ความคล้ายคลึงอย่างหนึ่งก็คือ การเน้นความสนใจไปที่กลุ่มสนับสนุนทางการเมืองลงไปที่แรงงานนอกระบบ ซึ่ง รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กล่าวว่ามันเป็นปรากฏการณ์ทั้งในละตินอเมริกากับไทยและภูมิภาคใกล้เคียง


 


โดยการขยายตัวของ informal sector (ภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ) เริ่มกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในโลก นับตั้งแต่การพัฒนาในทศวรรษที่ 1950 เกิดชนชั้นกรรมาชีพใหม่ เป็นชนชั้นกรรมาชีพที่มีความหมายดังเช่นเป็นผู้ผลิตรายเล็กมาก เป็นต้น ซึ่งมีในหลายภูมิภาคในโลกรวมทั้งไทยและเวเนซุเอลา


 


โดยเมื่อเราพูดถึงรัฐในแถบละตินอเมริกา เราจะพบว่ารัฐมักจะควบคุมประชาชน (control) มากกว่าบริการประชาชน (service) ซึ่งเมื่อมีการขยายตัวของ informal sector มันจะทำให้แรงงานทั้งหลายที่เคยอยู่ในภาคการเกษตร คนพื้นเมือง ถูกผลักให้มาเป็นแรงงานนอกระบบในสลัมข้างเมืองใหญ่ ซึ่งพวกเขามักที่จะถูกละเลยโดยรัฐเสมอมา และเป็นแรงงานไร้ฝีมือที่ไม่สามารถขยับขึ้นไปเป็นแรงงานของบรรษัทข้ามชาติต่างๆ ได้


 


และโอกาสของคนเหล่านี้ก็คือการอาศัยงบประมาณ หรืออาศัยการจ้างงานของรัฐเป็นระยะๆ ซึ่งเราจะพบว่าประชานิยมทั้งหลายก็คือการโยนเงินไปก่อให้เกิดโครงการต่างๆ และเกิดการจ้างงานขึ้น ส่วนประชานิยมแบบมักง่ายก็คือการโยนเงินลงไปเฉยๆ เป็นระยะๆ


 


ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าพลังของแรงงานนอกระบบนั้นมีมหาศาล ไม่ว่าที่บราซิล หรือชาเวซเองก็ต้องอิงเสียงสนับสนุนทางการเมืองกับคนพวกนี้ -- และก็เป็นปรากฏการณ์เดียวกันกับบ้านเราและภูมิภาคใกล้เคียง




 


……………………………..


*ประชาไทจะนำรายละเอียดการพูดคุยทั้งหมดมานำเสนอเร็วๆ นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net