Skip to main content
sharethis

วันที่ 21 พ.ย.50 เวลา 13.30 น. เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงานข้ามชาติกว่า 20 คนจาก 10 องค์กรพร้อมใจกันเข้าพบตามคำเชิญของนายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการและตัวแทนผู้ประกอบการ เพื่อหารือให้ทบทวน-ยกลิกจดหมายขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในพื้นที่ให้ควบคุมแรงงานข้ามชาติและไม่สนับสนุนกิจกรรมตามประเพณีวัฒนธรรมเพราะอาจเกิดปัญหาความมั่นคง


ผู้แทนองค์กรสิทธิมนุษยชนและแรงงานข้ามชาติได้แสดงความห่วงใยว่าการไม่สนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติทำกิจกรรมตามประเพณีวัฒนธรรมนั้นขัดต่อหลักความเป็นจริงและวิถีชีวิตของชาวไทยและพม่าเชื้อสายมอญที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นร้อยปีและอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน การปรามดังกล่าวทำให้ประเพณีที่ดีงามนี้เสี่ยงต่อการสูญหาย ส่งผลให้เกิดการแบ่งเขาแบ่งเราในชุมชนได้ ทางผู้ว่าฯได้ชี้แจงว่า แรงงานข้ามชาติยังจัดและเข้าร่วมงานประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ได้ ยกเว้นแต่งานที่แสดงความเป็นปฎิปักษ์ที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น


ต่อกรณีแนวนโยบายของ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ในการส่งหญิงตั้งครรภ์กลับไปคลอดลูกที่ประเทศต้นทางดังข่าวที่เสนอออกไปก่อนหน้านั้น ส่งผลให้ในจังหวัดสมุทรสาคร หญิงต่างด้าวเกิดความหวาดกลัว มีการทำแท้งและคลอดลูกในชุมชน และบางรายเด็กก็เสียชีวิต ทางองค์กรสิทธิมนุษยชนและแรงงานข้ามชาติมีข้อกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าแนวนโยบายนี้ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิอนามัยเจริญพันธ์ และส่งผลต่อการทำงานของฝ่ายสาธารณสุขในการส่งเสริมป้องกันโรค จึงเสนอว่าควรส่งเสริมรณรงค์การคุมกำเนิดและออกหนังสือราชการชี้แจงที่ชัดเจนในเรื่องนี้เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน ข้อเสนอดังกล่าวทางผู้ว่าฯ เห็นแนวทางสอดคล้องกัน และได้ย้ำว่าจังหวัดไม่ต้องการส่งกลับเพราะตระหนักดีว่าประเทศต้นทางอาจไม่รับ จึงน่าจะนำแนวนโยบายนี้เป็นโอกาส โดยณรงค์ให้หญิงต่างด้าวมีการคุมกำเนิดอย่างแท้จริง


ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบในเรื่องการแก้ปัญหาร่วมกันทั้งระบบ จึงเห็นพ้องว่าจะตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดที่มีภาครัฐ-เอกชนมีส่วนร่วมเพื่อพิจารณาและกำหนดแนวทางการจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติที่เหมาะสมในจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีแนวทางดำเนินการร่วมกัน 4 ข้อ ดังนี้


1. ให้แรงงานข้ามชาติทั้งหมดเข้ามาอยู่ในระบบและทำงานอย่างถูกกฏหมาย


2. ปราบปรามธุรกิจและขบวนการลักลอบใช้แรงงานผิดกฎหมาย โดยมีระบบรับแจ้งเหตุ เช่น สายด่วนช่วยเหลือแรงงานที่ถูกละเมิด


3. ดูแลเรื่องอนามัยเจริญพันธ์ โดยเฉพาะการรณรงค์เรื่องคุมกำเนิดกับแรงงานข้ามชาติ


4. ไม่ห้ามในการจัดหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นการรักษาวัฒนธรรมประเพณีของแรงงานข้ามชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net