Skip to main content
sharethis


ประทีป ไชยวงษ์แก้ว


 



 


เมื่อวันที่ 19 -20 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมแสนตอง โรงแรมปางสวนแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ (เอดส์เน็ท) ได้จัดเสวนา 10 ปีที่สำเร็จและท้าทายเผยแพร่ผลงานและทบทวนการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต เพื่อรับมือกับสภาพปัญหาที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อไปสู่การนำเสนอสู่นโยบายภาครัฐ


 


ปธ.เอดส์เนท ย้ำสื่อมวลชนกระตุ้นเตือนคนของรัฐ โดยเฉพาะ ผวจ.ให้พูดถึง เอชไอวี


นายเอนก สิทธิประศาสตร์ ประธานมูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ (เอดส์เน็ท) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา เอดส์เน็ท ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาเอดส์ของประเทศ ด้วยความเชื่อที่ว่า ไม่มีชุมชนใดชุมชนหนึ่งจัดการกับปัญหาเอดส์ได้เพียงลำพัง เราเชื่อว่าทุกชุมชนต้องร่วมมือกัน จึงมุ่งสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือ ภาครับและเอกชน


 


"อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เป็นผลกระทบจากการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ มีการเปลี่ยนเปลงอยู่อย่างต่อเนื่อง ตามสภาพสังคมเศรษฐกิจ วิถีชีวิต พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนับวันจะมีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ทำให้มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเช่นกัน ให้สอดคล้องกันสถานการณ์ในปัจจุบันและในอนาคตต่อไป"


 


นอกจากนี้ นายอเนกยังพูดผ่านสื่อมวลชน ว่าฝากให้สื่อมวลชนช่วยกระตุ้นเตือนในระดับจังหวัด คนของรัฐไม่ค่อยจะพูดถึง เอชไอวี อย่างเช่นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ฯ ไม่ค่อยพูดเรื่องนี้ ทั้งที่มีโอกาส มีการต้อนรับแขกบ่อย ๆ แต่ไม่พูดถึงรวมทั้งในระดับอำเภอด้วย


 


ตัวแทนผู้ติดเชื้อ ย้ำองค์กรทำงานต้องไม่มุ่งเน้นงบประมาณและการครอบงำ


ต้องเน้นเรื่องใจและการรักษาสุขภาพแบบองค์รวม


ในขณะที่ คุณสำราญ ทะกัน จาก "บ้านสีม่วง" กล่าวว่า บ้านสีม่วง เน้นในประเด็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย(MSM) ทำงานเน้นการป้องกัน และแสดงให้เห็นศักยภาพของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ  เริ่มต้นจาก"อยู่ในห้องมืด" ไม่เปิดเผยตัว ต้องใส่หมวก ใส่แว่นไปรับยาสมุนไพร


 


"แต่ก็มีผู้ติดเชื้อผู้กล้าหาญคนหนึ่งเปิดเผยตัว มีผู้ป่วย 8-9 ราย ซึ่งทาง NAPAC (องค์กรที่ก่อนจะมาเป็นเอดส์เน็ท) ก็ให้เงินสนับสนุน รวมถึงด้านจิตใจ อาหารไปดูงานบ้านธารชีวิต มีชมรมแม่ม่ายดอยสะเก็ด พระพงษ์เทพ รวมทั้ง ศูนย์เพื่อนชีวิตใหม่ บทสรุปก็คือการทำงานร่วมกับชุมชนและโรงเรียนโดยเอาศิลปะเข้าไปใช้ เช่นเมื่อมีงานปอยหลวงก็จะเข้าไปทำกิจกรรมด้วย"


 


คุณพิมพ์ใจ อินทะมูล จากศูนย์สุขภาพชุมชน ได้พูดถึงการทำงานอย่างมีส่วนร่วมว่า การทำงานด้วยจิตศรัทธาและมีส่วนร่วมโดยไม่แบ่งแยกชนชั้นวรรณะ และวุฒิการศึกษา ทำให้เกิดการทำงานที่เกิดความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง


 


"องค์กรที่ทำงานด้านนี้ต้องไม่มุ่งเน้นการให้แต่งบประมาณโดยมีกรอบและมีการครอบงำ เพราะนั่นเป็นการเสียงบประมาณ ที่ไม่ได้สนองตอบต่อปัญหาที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ หากแต่การให้และการสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้หรืองบประมาณ ต้องมองว่ามันสนองตอบต่อปัญหาที่ชุมชนเผชิญอยู่หรือไม่และต้องให้ชุมชนนั้นหรือองค์กรนั้น เป็นผู้ประเมินปัญหาด้วยกลุ่มคนที่อยู่ในชุมชนนั้น ๆ ร่วมกันค้นหาปัญหาและทรัพยากรของชุมชนตนเอง และเน้นการทำงานแบบพี่ ๆ น้อง ๆ การเป็นผู้ให้กับผู้รับควรจะเดินเคียงข้างกันไป ไม่ใช่ว่าพอให้งบประมาณ 1-2 ปี ก็ลงมาดูพื้นที่ครั้งหนึ่ง และการลงพื้นไม่ใช่เป็นการลงเพื่อตรวจความผิดพลาดในการทำงานขององค์กรนั้นๆ แต่ควรเป็นการลงไปช่วยกันแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนงบประมาณและองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อหาทางออกร่วมกันโดยสันติวิธี"


คุณพิมพ์ใจ ยังได้เรียกร้องอีกว่า การทำงานด้านนี้ ต้องทำงาน "ด้วยใจ" การทำงานเกิดความยั่งยืนได้ต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ต้องมาจากกาย ใจ จิตวิญญาณ สิ่งแวดล้อม และสังคม ซึ่งในช่วง2 ปีที่ผ่านมา คุณพิมพ์ใจปฏิเสธการรับทุน ไม่ได้ขอทุนองค์กรใด แต่ก็ยังทำงานอยู่ และไม่ได้ใช้ยาต้านไวรัส เน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ดูแลจิตใจให้ดี ออกกำลังกาย กินอาหารที่เหมาะสม และใช้หลักธรรมะ เธอว่าเอดส์เป็นไวรัสตัวหนึ่งที่เหมือนเราเป็นหวัด เมื่อร่างกายจิตใจเราแข็งแรงขึ้นเราก็ไม่เป็นอะไร เธอเป็นเอดส์มา 19 ปี


เธอยังบอกเล่าอีกว่า เคยเดินเท้าไปพม่า แต่ไม่สามารถบอกคนพม่าว่าเป็นผู้ติดเชื้อได้ เพราะกลัวถูกยิงทิ้ง เธอสรุปว่า ปัจจุบันผู้ติดเชื้อพึ่งยามากเกินไป อยากให้หันมาดูเรื่องใจและสุขภาพแบบองค์รวม ตอนนี้คนไข้เอดส์หันมาพึ่งยาแล้วไม่สนใจเรื่องจิตใจ


 


ในขณะที่ คุณกมล อุปแก้ว  จากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ บอกว่า รู้จักเอดส์ หลังจากทราบผลเลือดจากการตรวจเลือดเพื่อสมัครงาน ในสมัยนั้นไม่มีระบบการให้คำปรึกษาก่อนตรวจเลือดมารองรับ พอรู้ว่าติดเชื้อก็ต้องหลบซ่อน ผู้คนต่างกลัวแต่ก็ไม่ตระหนัก แม้การตั้งชมรมก็ต้องเลี่ยงไปใช้ชื่อที่ไม่มีคำว่าเอดส์ เพื่อแสวงหาพื้นที่และเพื่อน หาคนร้องไห้และยิ้มด้วยกัน แต่ตอนนั้นคนตายเยอะ เข้ามาเป็นเพื่อนก็จากไป ตอนนั้นก็มีคนได้กินยาต้าน แต่บางคนก็ไม่ได้กิน ยุคแรกเราแค่มารวมกันก่อนเท่านั้น


 


"ผมมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับเอดส์เน็ทเมื่อสมัยที่ยังทำงาน"เครือข่ายพันธมิตรชีวิตใหม่อีสาน"จุดแข็งของเอดส์เน็ทคือ มีความเข้าใจลักษณะการทำงานของกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ และองค์กรชุมชน เป็นการทำงานร่วมกัน แต่ปัจจุบันช่องว่างของการทำงานภาคประชาสังคมอันเนื่องมาจากการมุ่งเน้นประเด็นเฉพาะมากขึ้น หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้มองไม่เห็นการขับเคลื่อนในภาพรวม อยากให้มีภาพการร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างแข็งขันเหมือนแต่ก่อน"


 


ด้าน ดร.สก็อตต์ แบมเบอร์ จากองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย เสนอทิศทางว่า ความสำคัญกับจุดเริ่มแรกของการทำงานที่ตั้งไว้ คือการให้องค์กรชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ทำอย่างไรให้คนที่ด้อยโอกาสได้ทำงาน และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาเอดส์ ซึ่งจะแตกต่างจากภาครัฐที่ทำงานในภาพกว้าง จากประสบการณ์และจุดแข็งของการทำงานที่ผ่านมาเอดส์เน็ทน่าจะมีบทบาทในการให้โอกาสและเข้าถึงกลุ่มคนที่เข้าถึงยากและด้อยโอกาส เอดส์เน็ทน่าจะเป็นส่วนที่ช่วยเสริมศักยภาพให้คนอื่นได้ทำงาน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่เข้าใจยุทธศาสตร์ รูปแบบการทำงานและสนับสนุนเปิดโอกาสให้คนได้ทำงานต่อไป 


กลุ่มชาติพันธุ์ เผยความไร้สัญชาติ กระทบต่อการรักษา                                                                                             เสนอให้มีบัตรหลักประกันสำหรับคนไร้สัญชาติ                                                                                                   นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) ตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กับปัญหาเอดส์ ว่า รัฐแยกส่วนและไม่ตั้งใจแก้ปัญหาจริง ถึงแม้ผู้คนจะรู้เรื่องสิทธิ แต่การเข้าถึงยังไม่มีในแง่ของการเข้าถึงการบริการตามที่รัฐจัดให้ คนเหล่านี้เมื่อไปถึงโรงพยาบาลก็ได้รับดูแลยังไม่ทัดเทียม เรื่องนโยบายที่มองข้ามไม่ได้คือสัญชาติ ซึ่งมีผลมากต่อการดูแลรักษาสุขภาพ การเลือกปฏิบัติ


"ในส่วนของกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พบว่ามีอุปสรรคภายในที่เข้าไม่ถึงเช่น จารีตวัฒนธรรมหรือข้อห้ามของชนเผ่า การพูดการเขียน การสื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่สามารถพึ่งพาได้ ไม่มีการอธิบายว่าเรามีสิทธิอะไรบ้างก็คือการเข้าถึงข้อมูลน้อย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งอคติทางชาติพันธุ์ การต่อรองกับหน่วยงานรัฐมีน้อย ซึ่งหากไม่มีการขับเคลื่อนระดับชุมชนแล้ว การเข้าถึงรัฐอาจจะยาก เพราะแม้แต่คนไทยเองยังเข้าไม่ถึงเลย"


ด้านนายศักดา แสนหมี่ ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ ได้มีข้อเสนอต่อนโยบายของรัฐ ว่าโรงพยาบาลควรทำข้อมูลที่เอื้อกับชุมชนมากขึ้น อาจจะเป็นการพูดคุยหรืออบรม ควรลดอคติ การดูถูก การใช้ท่าทางวาจา กิริยา การเข้าถึงข้อมูล ชุมชน ชาวบ้านไม่กล้าเปิดเผยเพราะความไม่ไว้วางใจ ความเชื่อมั่นน้อย ทำอย่างไรให้มีการขยายเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลแก่ผู้ติดเชื้อในชุมชน


               


ตัวแทนชาติพันธุ์ยังบอกอีกว่า การใช้สื่อในการณรงค์ยังไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชนเผ่าและวัฒนธรรมของชนเผ่า ถ้ารัฐจะจัดทำสื่อเพื่อรณรงค์เสนอให้มีการผลิตที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชนเผ่า นอกจากนั้น รัฐควรมีนโยบายจัดทำบัตรหลักประกันสำหรับคนไร้สัญชาติ เพราะที่ผ่านมา การบริการรักษาไม่เข้าถึงผู้ติดเชื้อที่เป็นชนเผ่า และในส่วนของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐควรลดอคติทางชาติพันธุ์ 


 


ตัวแทนชาติพันธุ์ ยังเสนอให้องค์กรที่ทำงานด้านชนเผ่าควรเปิดพื้นที่เพื่อให้เข้าถึงมากขึ้น รวมถึงการสร้างเครือข่ายโดยเฉพาะคนมีบัตรประชาชนแล้ว มีการรวบรวมข้อมูล เสนอให้องค์กรชนเผ่าที่ทำงานด้านสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างเร่งด่วน


 



 


ตัวแทน สปป.ลาว เข้าร่วมงาน 10 ปี เอดส์เนท


 


ตัวแทน สปป.ลาว เผยแรงงานอพยพลาว ติดเชื้อในไทย ไปตายในลาว


สาเหตุส่วนหนึ่ง มาจากการจดทะเบียนแรงงานปลอมอื้อ


ดร.รัดสะหมี ตัวแทนจาก สปป.ลาว กล่าวว่า แรงงานอพยพจากชายแดนมีมากมายที่เข้ามาแบบไม่ถูกต้อง ส่วนใหญ่แรงงานที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องเพราะการจดทะเบียนถูกต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก และเสียค่าอื่น ๆ ในระหว่างทำงานด้วย แรงงานเหล่านี้จะเป็นแรงงานราคาถูก มีการศึกษาน้อย และมีโอกาสเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศลาว มาขายแรงงานแล้วกลับไปตายที่บ้าน อย่างไร้คุณค่า โดยการเข้ามาเป็นแรงงานในไทย เด็ก ๆ ลาว มักจะปลอมตัวมาบอกว่าอายุ 18 ปีแล้ว ทั้งที่อายุแค่ 14-15 ปีเท่านั้นเอง ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าถ้ารับเด็กอายุไม่ถึง 18 ปี ก็จะมีปัญหา           


 


ในขณะที่ ดร.ลาวัน ตัวแทนจาก สปป.ลาว ก็ได้มีข้อเสนอว่า เอดส์เนท ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานระหว่างทั้ง 2 ประเทศ มีความพยามเพื่อให้เกิดการสืบต่อการประสานงานระดับจังหวัดอุบลราชธานีกับแขวงจำปาสัก มีการควบคุมความร่วมมือการเฝ้าระวังโรคเอดส์ มี 3 เมืองติดกับ จ.อุบลราชธานี ซึ่งทุกวันนี้ พบว่ามีเคลื่อนย้ายแรงงานลาวเข้าไทยทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ประมาณ 100,000 คน ต่อวัน


                        


ทั้งนี้ มีรายงานว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากแรงงานอพยพมาที่เข้ามาทำงานที่จ.อุบลราชธานี ส่วนมากจะเป็นสาวลาว จะมีอายุ 14-20 ปี กรณีผู้ป่วยเมื่อติดเชื้อในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะกลับไปตายที่บ้านในประเทศลาว ดังนั้น ปัญหาการควบคุมเรื่องโรคชายแดน จึงเป็นปัญหาพิเศษ ซึ่งจำเป็นต้องมีความคิดในการควบคุมโรค โดยเริ่มจากโรคเอดส์ เนื่องจากถือว่าเป็นอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ทั้ง 2 ฝ่าย ที่อยู่ในระดับจังหวัด/แขวง ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการระดับประเทศ ที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน


                      


คุณค่า ความหวัง ชีวิตผู้ติดเชื้อหลังยาต้านไวรัส


ปัจจุบัน มีผู้ใช้ยาต้านไวรัสมาก การเลือกใช้ยาต้านไวรัสหรือไม่อยู่กับตัวผู้ป่วย เพราะยาต้านไวรัสมีผลข้างเคียงอยู่มาก และต้องใช้อย่างต่อเนื่องอย่างมีวินัยมาก ซึ่งในที่ประชุม กลุ่มผู้ใช้ยาต้าน มีการสรุปกันว่า อยากให้มียาสักตัวที่กินแล้วหาย ไม่ต้องกินกันเรื่อย ๆ และยาวนานเช่นนี้ และไม่ว่าหญิง  ชาย หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีหรือผู้ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี ต่างมีความคาดหวังของชีวิตที่ไม่แตกต่างกัน ต่างก็ต้องการอยู่กับครอบครัวที่อบอุ่น อยากมีชีวิตที่ยืนยาวสุขภาพแข็งแรง ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม แต่เมื่อมีเชื้อเอชไอวีเงื่อนไขในชีวิตก็เปลี่ยนไป ซึ่งกลุ่มผู้ติดเชื้อยังต้องการทัศนคติของสังคม ถึงเรื่องการปฏิบัติที่ไม่ต่างออกไป ไม่มีการแบ่งแยก ตีกรอบ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ติดเชื้อมีความหวังที่จะสามารถยืนอยู่บนสังคมได้


 


สำหรับผู้มีเชื้อเอชไอวี ที่ต้องกินยาต้านไวรัสในการยับยั้งเชื้อเอชไอวีทุกวัน(ตรงเวลา เช้า เย็น) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงสามารถยับยั้งเชื้อได้ แต่ยานั้นก็ทำให้รบกวนชีวิต เกิดผลข้างเคียงของยา รูปร่างเปลี่ยนไป แก้มตอบ มีหน้าท้องใหญ่ และที่สำคัญต้องกินยาตรงเวลาทุกวัน ผู้ติดเชื้อจึงมีความหวังว่าจะมียาที่ฆ่าเชื้อเอชไอวีได้เลย ไม่ต้องกินยาทุกวัน


 


อย่างไรก็ตาม หากกลุ่มผู้ติดเชื้อมีความภาคภูมิใจ มองเห็นคุณค่าของตัวเอง เขาจะก้าวผ่านความทุกข์ได้ ถ้ามีคนรอบข้างที่เข้าใจ ต้องการก้าวผ่านความทุกข์ของตนเองและครอบครัวไปพร้อมกัน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทำให้อยู่ได้ก็คือ การเข้ามาช่วยเหลือเพื่อน และได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคม ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า


 


เพราะพวกเขาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากมีคนรัก อยากแต่งงาน อยากมีครอบครัว ต้องการชีวิตที่ปกติ ดำเนินชีวิตเหมือนคนอื่น ๆ แม้เชื้อเอชไอวีอาจจะเคยทำลายชีวิตที่ผ่านมาก็ตาม 


 


 

 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net