Skip to main content
sharethis







การเมือง


 


ศาลฎีกาตั้ง 9 องค์คณะลุยคดีเลือกตั้ง แจกใบเหลือง-แดง แช่แข็งเงินซื้อเสียง


 


ที่ศาลฎีกา นายสมจิตร ทองศรี เลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งในการพิจารณาคดีเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังทยอยมีเรื่องฟ้องร้องเข้าสู่ศาลว่า ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้ตั้งองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาไว้ 9 องค์คณะ ๆ ละ 3 คน ซึ่งจะใช้ห้องพิจารณาคดีศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา นอกจากนี้ได้จัดเตรียมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไว้รองรับการไต่สวนพยานจากศาลจังหวัดต่าง ๆ แบบเปิดเผย ทั้งนี้ศาลจะเปิดโอกาสให้คู่ความ 2 ฝ่ายมีโอกาสคัดค้าน แต่ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาคดีโดยไม่มีเหตุผล ศาลจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ หรือถ้าผู้ถูกร้องไม่ทำคำคัดค้านภายใน 7 วันถือว่าไม่ติดใจคัดค้าน ศาลจะพิจารณาคดีฝ่ายเดียว


 


เลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งฯ กล่าวต่อว่า คดีที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของแผนกคดีเลือกตั้งฯ นั้นมีอยู่ 3 ประเภท คือ 1.คดีเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและสัดส่วน ที่ผู้สมัครถูก ผอ.กต.เลือกตั้งหรือ กกต. ประกาศไม่รับสมัคร ขณะนี้ทราบว่ามีผู้ยื่นคำร้องเข้ามาแล้ว 2 ราย โดยศาลจะส่งคำร้องไปให้ผู้ถูกร้องทำคัดค้านและนัดพิจารณาคดีได้ประมาณสัปดาห์หน้า


 คดีประเภทที่ 2 เป็นคดีที่ กกต. ขอให้จัดการเลือกตั้งใหม่และเพิกถอนสิทธิผู้สมัคร โดย กตต. จะประกาศรับรองผู้สมัครไปก่อน ต่อมาภายหลังเกิดมีผู้มาร้องเรียนและตรวจสอบพบว่าการเลือกตั้งในเขตนั้นไม่สุจริต จึงมายื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนเพื่อมีคำสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่หรือแจกใบเหลือง หรือหาก กกต. มีหลักฐานว่าผู้สมัครรายใดกระทำผิดกฎหมายอาจยื่นคำร้องให้ศาลตัดสิทธิรับสมัครเลือกตั้งหรือแจกใบแดง


 


คดีประเภทที่ 3 เป็นเรื่องใหม่ คือคดี ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 13 ที่ กกต. มีอำนาจสั่งให้บุคคลใดระงับการใช้ทรัพย์สินหรือดำเนินการธุรกรรมทางการเงิน ผลิตหรือจัดเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจ หรือใช้ทรัพย์สินหรืออิทธิพลคุกคามเพื่อให้คุณให้โทษกับผู้สมัครรายใดได้ไม่เกิน 60 วัน ซึ่งผู้ที่ถูกระงับการกระทำนั้นสามารถยื่นคำร้องให้ศาลเพิกถอนคำสั่ง กกต. หรือไม่ก็ได้


 


เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 22 พ.ย. 2550


 


กกต.ตัดสิทธิ 37 ผู้สมัคร ส.ส.สัดส่วน


นายประวิง คชาชีวะ รองเลขาธิการ กกต. ด้านกิจการบริหารการเลือกตั้งแถลงถึงการตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส. แบบสัดส่วน โดย กกต. ได้พิจารณาแล้วมีมติให้ตัดสิทธิผู้สมัครของพรรคการเมืองทั้งสิ้น 37 คน จาก 16 พรรคการเมือง โดยผู้ที่ทาง กกต. ประกาศสามารถไปร้องต่อศาลฎีกาได้ภายใน 7 วัน สำหรับเหตุที่ กกต. ไม่ประกาศเป็นผู้สมัครเนื่องจากเป็นสมาชิกมากกว่าหนึ่งพรรคการเมือง ตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งมาตรา 20 จำนวน 33 คนประกอบด้วย


 



 พรรคเพื่อแผ่นดิน 2 คนคือ นายสิทธิ ชัย โควสุรัตน์ (กลุ่ม 4) และ นายพินิจ ศาสตร์สาระ (กลุ่ม 7 )



 พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 6 คน ได้แก่ พล.อ.อนันต์ อมรัชกุล (กลุ่ม 1) นายฤทธิ์ ศรีประเสริฐ (กลุ่ม 3) นายอาทิตย์ ยุทธเสรี (กลุ่ม 4)น.ส.กาญจนา ประเสริฐ (กลุ่ม 7) นายอำนวย พุมมา (กลุ่ม 7 )นายสำราญ สินธ์ทอง(กลุ่ม 8)


 



 พรรคพลังประชาชน 1 คน นายเรืองเดช เหลืองบริบูรณ์(กลุ่ม 2)


 



 พรรคมัชฌิมาธิปไตย 3 คน ได้แก่ นายภัทรมงคล อภิรัฐพงษ์ (กลุ่ม 3) นายอัมรินทร์ คอมันตร์ ( ลำดับที่สองของกลุ่ม 6) และ น.พ.ธีรยุทธ นิ่มสกุล (ลำดับที่สาม กลุ่ม 6)


 



 พรรคประชาราช 1 คนได้แก่ น.ส.อรอนงค์ ภูริกันตานนท์ (กลุ่ม 3)


 



 พรรคพลังแผ่นดิน 5 คน ได้แก่ นายแก้วตา ทินนิกร(กลุ่ม 2) นางทิพวรรณ์ วรปัสสุ (กลุ่ม 2) นายแสวง โรจน์หิรัญกุล(กลุ่ม 2)นางชมชื่น ปานศรี(กลุ่ม 2) และนายปัญญา ทับทิมใส (กลุ่ม 7)


 



 พลังเกษตรกร 2 คน ได้แก่ นางพยอม เพียซ้าย (กลุ่ม 5) และน.ส.ศศิกาญจน์ พรวรกรณ์ (กลุ่ม 6)


 



 พรรครักเมืองไทย 1 คน ได้แก่ นายฉลาด ราโชติ (กลุ่ม 6)


 



 พรรคนิติศาสตร์ไทย 1 คน นายพรสมเด็จ ทวีลาภ (กลุ่ม 6)


 



 พรรคพัฒนาประชาธิปไตย 2 คน ได้แก่ นายสมัย ยอดพรหม(กลุ่ม 4) และนายนเอกชัญญา หลักคำ (กลุ่ม 4)


 



 พรรคชาติสามัคคี 2 คนได้แก่นายประวิทย์ กิลี (กลุ่ม 3)และนายจำนง สอนวงษ์(กลุ่ม 3)


 



 พรรคประชากรไทย 1 คน นายวินัย ขอเจริญ (กลุ่ม 5)


 



 พรรคราษฎรรักไทย จำนวน 3 คน นายดอแม็ง โต๊ะเต๊ะ (กลุ่ม 8) นายมูฮำหมัดอามีน สาและ (กลุ่ม 8) และนายรังสรรค์ แบเลาะ (กลุ่ม 8)


 



 พรรคไทยร่ำรวย จำนวน 3 คน ได้แก่ นายสิทธิพงษ์ ทวีพงษ์ (กลุ่ม 4)นายประสาร พิลายนต์ (กลุ่ม 4) และนายธนรัตน์ สุขภาคกิจ(กลุ่ม 5)


 



สำหรับผู้สมัครที่กกต. ไม่ประกาศให้เป็นผู้สมัครเนื่องจากเป็นผู้สมัคร ส.ส. สัดส่วน ซ้ำซ้อนสองพรรคการเมือง มี 1 คน คือนายประสงค์ ทรงศิริศิลป์ (กลุ่ม 6) ซึ่งลงสมัครครั้งแรกในนามพรรคไทเป็นไท และมาสมัครภายหลังในนามพรรคพลังแผ่นดินไท นอกจากนี้ยังมีเหตุผลเรื่องการสมัครซ้ำซ้อนทั้งแบบสัดส่วนและแบบแบ่งเขต โดยมี 2 คน ได้แก่ นางนุชชรี ท้อเพิ่มผล (กลุ่ม 1) จากพรรคไทยร่ำรวย และนายไพรวัลย์ ปัตย์ถาทุมภ์ (กลุ่ม 4)จากพรรคพลังแผ่นดิน อย่างไรก็ตามยังมีผู้ขนาดคุณสมบัติตามมาตรา 101 (4)ของรัฐธรรมนูญคือไม่มีภูมิลำเนาในกลุ่มจังหวัดที่สมัครจำนวน 1 คน คือนายณพล ชัยธานี (กลุ่ม6) จากพรรคนำวิถี


 



นายประวิง กล่าวว่า กกต.ได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบถี่ถ้วนแล้ว โดยพิจารณาเป็นรายบุคคลนอกจากนี้ กกต. ยังสั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายและฝ่ายพรรคการเมืองไปศึกษากฎหมายเพื่อที่จะดำนเนิการททางคดีกับบุคคลที่ขาดคุณสมบัติ โดยเฉพาะในกรณีที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติ แต่ยังมาสมัคร ซึ่งอาจจะมีโทษทั้งตัวบุคคลและพรรคการเมือง โดยมีโทษทางอาญาตามกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 139 คือจำคุก 1-10 ปีปรับสองหมื่นถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี สำหรับผู้ที่สมัครทั้งแบบสัดส่วนและแบ่งเขตก็ต้องถูกตัดสิทธิทั้งสองแบบ บทลงโทษเป็นไปตามเจตนาของผู้สมัคร


 


 ที่มา: http://www.dailynews.co.th


 


 







ต่างประเทศ


สหรัฐเข็นเจรจาตั้งรัฐปาเลสไตน์


กรุงเทพฯ--22 พ.ย. ไทยโพสต์ --วอชิงตัน o สหรัฐประกาศเมื่อวันอังคาร จะเป็นเจ้าภาพการประชุมสันติภาพตะวันออกกลางในวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่เมืองแอนแนโพลิส รัฐแมริแลนด์ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐหวังจะเจรจาอย่างเป็นทางการในการก่อตั้งประเทศปาเลสไตน์


 


กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเผยว่า นอกจากอิสราเอลและปาเลสไตน์แล้ว สหรัฐยังได้เชิญอีก 40 ประเทศเข้าร่วมประชุม ซึ่งรวมถึงประเทศกลุ่มอาหรับ ซีเรีย และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งประเทศพวกนี้ไม่มีความสัมพันธ์ด้านการทูตกับอิสราเอลเลย


 


กลุ่มนักรบอิสลามฮามาสซึ่งมีอำนาจควบคุมกาซาและเป็นกลุ่มก่อการร้ายในสายตาของรัฐบาลสหรัฐจะถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมการประชุมนี้


 


ในการประชุมนี้ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช พยายามเป็นอย่างมากที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ได้มีขึ้นมากว่า 60 ปี และจะเผชิญหน้ากับอุปสรรคทั้งหลาย ซึ่งรวมถึงจุดอ่อนทางการเมืองของทั้งรัฐบาลปาเลสไตน์และอิสราเอล โดยที่มาห์มูด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ ดิ้นรนที่จะรักษาอำนาจควบคุมเวสต์แบงก์ต่อต้านอำนาจของกลุ่มนักรบอิสลามฮามาส และเอฮุด โอลเมิร์ต นายกรัฐมนตรีอิสราเอล


 


ฌอน แม็กคอร์แม็ก โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเผยว่า การประชุมที่เมืองแอนแนโพลิสนี้จะส่งสัญญาณอย่างกว้างขวางต่อการสนับสนุนนานาชาติให้กับความกล้าหาญของผู้นำปาเลสไตน์และอิสราเอล และจะเป็นประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การเจรจาในการสถาปนาประเทศปาเลสไตน์


 


อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการประชุมจะดำเนินไปอย่างไรเพื่อรับมือกับหัวข้อปัญหาสำคัญ เช่น พรมแดน ความมั่นคง สถานภาพของเยรูซาเล็ม และชะตาชีวิตของพวกลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ ซึ่งความพยายามในการที่จะยุติความขัดแย้งได้ล้มเหลวมาก่อนหน้านี้


 


กอร์ดอน จอห์นดรอ โฆษกรัฐบาลสหรัฐ เผยว่าก่อนการประกาศการประชุมนี้ บุชได้หาได้แรงสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบียเพื่อให้ประเทศกลุ่มอาหรับอยู่เบื้องหลังความพยายามสร้างความสันติภาพของสหรัฐในการเข้าร่วมการประชุมของซาอุดีอาระเบียสามารถช่วยอับบาสประนีประนอม ในขณะเดียวกันก็ช่วยโอลเมิร์ตขยายสันติภาพออกไปกับโลกอาหรับในภายภาคหน้า


 


ดาวิด วิลช์ รมช.ต่างประเทศสหรัฐเผยว่า เขาหวังว่าประเทศกลุ่มอาหรับจะมาเข้าร่วมประชุม แต่รัฐบาลสหรัฐยังไม่ได้รับการตอบรับอย่างเป็นทางการ ในขณะที่โอลเมิร์ตและอับบาสได้รับการเชิญแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนที่เหลือได้ส่งคำเชิญไปในคืนวันอังคาร


 


ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์


 


สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติกังวลปัญหาสิทธิมนุษยชนเกาหลีเหนือ


ที่ประชุมด้านสิทธิมนุษยชนของสมัชชาสหประชาชาติ ผ่านมติเพื่อแสดงความกังวลอย่างจริงจัง ในรายงานที่ระบุพบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในเกาหลีเหนืออย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ แพร่หลาย จนสร้างความเสียหายในเชิงลึกต่อกิจการพลเรือน การเมือง สังคม และ วัฒนธรรม โดยการพิจารณาจากการทรมาน และ การกระทำทารุณต่อมนุษยชาติ ไร้ความปราณี หรือ การปฏิบัติอย่างเลวทราม หรือการลงโทษรวมถึงการจองจำในสภาพที่โหดร้าย การประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณะ ระบบศาลเตี้ย และ การจองจำโดยไม่มีการพิจารณคดี ซึ่งที่ประชุมด้านสิทธิมนุษยชนได้ลงมติรับรอง 97 เสียง คัดค้าน 23 เสียงคัดค้านอีก 60 เสียง แต่คาดว่าสมาชิกทั้ง 192 ประเทศในที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจะลงมติรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์ในการประชุมที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า


 


ในรายงานที่นำเสนอในที่ประชุมสิทธิมนุษยชน ยังได้เปิดเผยสถานการณ์ และการลงโทษอย่างทารุณชาวเกาหลีเหนือที่ลี้ภัยหรือลักลอบเข้าเมืองที่ถูกส่งกลับ รวมถึงการแจ้งว่าทางการเกาหลีเหนือยังปฏิเสธการให้ความร่วมมือกับผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ เพราะยังไม่เคยให้ผู้แทนของสหประชาชาติเดินทางเข้าประเทศแม้แต่ครั้งเดียว แม้แต่ในช่วงที่เกิดอุทกภัยร้ายแรงเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วที่มีผู้เสียชีวิตและสูญหายมากกว่า 600 คน


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนที่แล้ว ศาตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ ในปัญหาสิทธิมนุษยชนเกาหลีเหนือ ได้รายงานว่าแนวโน้มสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือมีท่าทีที่ดีขึ้น โดยการก่ออาชญากรรมต่อสตรีลดลง และให้สิทธิ์แก่เด็กมากขึ้น แต่ก็ขอให้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับชาวญี่ปุ่นและคนอื่นที่ลักพาตัวไป


 


ทั้งนี้ศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ เป็นศาสตราจารย์จากภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษเพื่อตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงของสหประชาชาติประจำเกาหลีเหนือ เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการทำทารุณกรรม การประหารชีวิตบุคคลในที่สาธารณะ การกักขังหน่วงเหนี่ยวบุคคลโดยไม่ตั้งข้อหาหรือพิจารณาคดีในค่ายกักกัน และการบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส โดยถือเป็นผู้แทนพิเศษของยูเอ็นรายแรกประจำเกาหลีเหนือ โดยศาสตราจารย์วิทิตเคยทำหน้าที่ผู้แทนพิเศษของคณะกรรมการแห่งนี้มาแล้วครั้งหนึ่งระหว่างปี 2533-2537 ในตำแหน่งผู้แทนพิเศษว่าด้วยปัญหาโสเภณีเด็กของสหประชาชาติ


 


ที่มา: เว็บไซต์ศูนย์ข่าวแปซิฟิก


 


 


ผู้นำ"เอเชีย"เซ็นข้อตกลงสู้โลกร้อน เพิ่มปลูกป่า-หนุนใช้พลังนิวเคลียร์


กรุงเทพฯ--21 พ.ย.—ผู้จัดการรายวัน เอเอฟพี/รอยเตอร์ - บรรดาผู้นำของ 16 ชาติอเอเชีย รวมทั้งจีน อินเดีย และญี่ปุ่น ร่วมกันลงนามในข้อตกลงหลวมๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อวานนี้(21) เป็นการให้คำมั่นที่จะลงมือทำงานเพื่อต่อสู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ อีกทั้งจะส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์ด้วย ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้นำเหล่านี้ก็พยายามไม่พูดถึงความเห็นอันไม่ลงรอยกัน เกี่ยวกับเรื่องการปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยของรัฐบาลทหารพม่า


 


ด้วยการลงนามในข้อตกลงที่มีชื่อว่า "ปฏิญญาสิงคโปร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ, พลังงาน, และสิ่งแวดล้อม" บรรดาผู้นำของทั้ง 16 ประเทศที่เข้าร่วม "การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก" (East Asia Summit หรือ EAS) ที่สิงคโปร์คราวนี้ ก็ได้แสดงการสนับสนุนถือเอาแผนการของสหประชาชาติ เป็น "กลไกหลัก" สำหรับการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน


 


ผู้นำเหล่านี้ให้คำมั่นที่จะทำงานหนักยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือก ตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งจะทำให้ใช้เชื้อเพลิงซากฟอสซิล (เช่น น้ำมัน, แก๊สธรรมชาติ, ถ่านหิน) ได้อย่างสะอาดมากขึ้น รวมทั้งจะปรับปรุงด้านประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน และการประหยัดพลังงาน


 


ปฏิญญาฉบับนี้ ซึ่งลงนามโดยผู้นำของ 10 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน บวกกับผู้นำจากจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์ ถือได้ว่ามีส่วนช่วยวางพื้นฐานให้แก่การเจรจาระดับนานาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศของโลก ซึ่งจะจัดขึ้นที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียในเดือนหน้า โดยมีสหประชาชาติเป็นผู้อุปถัมภ์


 


หลังจากยูเอ็นเตือนว่าการลักลอบตัดไม้ผิดกฎหมายกำลังสร้างความพินาศให้แก่ป่าฝนเมืองร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อตกลงที่ผู้นำเหล่านี้ร่วมกันลงนามก็มีการกำหนดเป้าหมาย ที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้อย่างน้อย 15 ล้านเฮกตาร์ (ราว 93 ล้านไร่) ภายในปี 2020


 


นอกจากนั้น พวกเขายังตกลงกันที่จะร่วมมือประสานงานเพื่อ "การพัฒนาและการใช้พลังงานนิวเคลียร์พลเรือน" โดยคำแถลงร่วมของผู้นำเหล่านี้บอกว่า เนื่องจากเป็นห่วงว่าราคาน้ำมันซึ่งกำลังทะยานลิ่ว อาจสร้างความเสียหายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคแถบนี้


 


แต่ผู้นำเหล่านี้ย้ำเน้นด้วยว่า การใช้พลังงานนิวเคลียร์จะต้องดำเนินไปใน "ลักษณะที่รับประกันเรื่องความปลอดภัยทางนิวเคลียร์, ความมั่นคง, และการไม่แพร่กระจาย" โดยจะต้องมีการประยุกต์ใช้มาตรการป้องกันต่างๆ ภายในกรอบของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(ไอเออีเอ) อันเป็นหน่วยงานชำนัญพิเศษของยูเอ็น


 


นอกจากตัวเลขเรื่องการปลูกป่าแล้ว คำปฏิญญานี้ไม่ได้ให้เป้าหมายเป็นรูปธรรมในเรื่องอื่นใดอีก เมื่อถูกผู้สื่อข่าวสอบถามระหว่างการแถลงข่าวภายหลังการประชุมอีเอเอส นายกรัฐมนตรี ลีเซียนลุง แห่งสิงคโปร์ผู้เป็นเจ้าภาพ ก็ตอบว่า "นี่เป็นปฏิญญาเพื่อแสดงเจตนารมณ์ ไม่ใช่สนธิสัญญาอันผ่านการเจรจากัน เพื่อบอกถึงสิ่งที่เรากำลังจะจำกัดตัวเราเอง"


 


อนึ่ง ทางด้านนายกรัฐมนตรี ยาสึโอะ ฟุคุดะ ของญี่ปุ่น ยังได้เปิดเผยแผนการมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ชาติกำลังพัฒนาในเอเชีย ในการรับมือกับภาวะโลกร้อน ขณะที่ต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโตขยายตัวไปด้วย แผนการนี้มีทั้งโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการฝึกอบรมต่างๆ เพื่อปรับปรุงกระบวนการกำจัดของเสีย และต่อสู้มลพิษทั้งทางอากาศ, น้ำ, และอื่นๆ


 


ปินส์"บีบ"หม่อง"ปล่อย"ซูจี"เดี๋ยวนี้


ในขณะที่บรรดาผู้นำชาติที่เข้าร่วมการประชุมอีสต์เอเชียซัมมิตพยายามมุ่งให้ความสำคัญที่ปัญหาโลกร้อนและการค้า ทว่า ประเด็นที่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้พม่าปฏิรูปกระบวนการประชาธิปไตยนั้น ก็กลายเป็นประเด็นอันก่อความให้เกิดความขัดแย้งทั้งอย่างลึกๆ และอย่างเปิดเผย


 


ฟิลิปปินส์ถึงขั้นแสดงการแตกแถวจากสมาชิกอาเชียนชาติอื่นๆ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน โดยทันที


 


"เรารู้สึกเสียใจและรับไม่ได้อย่างยิ่งต่อการปฏิบัติต่อนางอองซาน ซูจี เธอต้องได้รับการปล่อยตัวเดี๋ยวนี้" ประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย แห่งฟิลิปปินส์ ระบุในคำแถลง


 


ก่อนหน้านี้ เมื่อวันจันทร์(19) อาร์โรโยขู่ว่า หากพม่าไม่ยอมรับประชาธิปไตยและปล่อยตัวนางซูจี รัฐสภาฟิลิปปินส์อาจจะไม่ให้สัตยาบันต่อกฎบัตรอาเซียน ทั้งนี้ สมาชิกอาเซียนทุกชาติต้องให้สัตยาบัน กฎบัตรจึงจะมีผลบังคับใช้


 


นอกจากนี้ ในเวทีการประชุมอีสต์เอเชียซัมมิต หลายชาติสมาชิกอาเซียน ยังกล่าวว่ามาตรการคว่ำบาตรที่ชาติตะวันตกใช้ลงโทษพม่าจะยิ่งทำให้พม่าโดดเดี่ยวตัวเองจากโลกภายนอกมากขึ้น หรือก็ไม่ทำให้กระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตยคืบหน้าแม้แต่น้อย


 


"เรามีอิทธิพลต่อพม่าน้อย เราก็ทำการค้ากับพม่าน้อย" ลีกล่าว พร้อมกับชี้ว่า ในบรรดาชาติอาเซียนนั้น มีเพียงประเทศไทยที่ทำการค้ากับพม่าอย่างมาก ในรูปของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก


 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กล่าวว่าความหัวแข็งดื้อรั้นของพม่าถือเป็นหนึ่งในความเจ็บปวดที่เพิ่มมากขึ้นและเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่อาเซียนต้องเผชิญ ในฐานะที่เป็นหนึ่งองค์การที่กำลังเติบโต


คลอด"กม.ป่าชุมชน" ป่าไม้-อุทยานเร่งหาแผนที่ดาวเทียมพิสูจน์สิทธิชาวบ้าน


 


ที่มา: ผู้จัดการรายวัน


 







สิ่งแวดล้อม - คุณภาพชีวิต


 


ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน


ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ....แล้ว หลังใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง อภิปรายในมาตรา 25 และ 34 หลังจากเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกยนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา มีมติ 14 ต่อ 11 เกี่ยวกับหมวดที่ 5 ว่าด้วยการขอจัดตั้งป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ ซึ่งคณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยขอสงวนความเห็น โดยมาตรา 25 อนุญาตให้ตั้งป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ได้เฉพาะกรณีที่ตั้งมาก่อนประกาศเขตอนุรักษ์ และดูแลพื้นที่มาไม่น้อยกว่า 10 ปีก่อนวันที่ พ.ร.บ.ป่าชุมชนบังคับใช้ และยังดูแลต่อเนื่องกระทั่งวันที่ขอจัดตั้งป่าชุมชน และไม่อนุญาตให้ตั้งป่าชุมชนนอกเขตอนุรักษ์ ส่วนมาตรา 34 ห้ามทำไม้ในบริเวณเพื่อการอนุรักษ์ในเขตป่าชุมชน


 


นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา สภาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ระบุถึงเหตุผลการไม่อนุญาตจัดตั้งป่าชุมชนนอกเขตอนุรักษ์ว่า ต้องตัดสินใจด้วยเหตุผลว่าการขยายสิทธิ์เหล่านี้จะสิ้นสุดหรือไม่ เพราะจากประสบการณ์ทำงานไม่เคยเห็นว่าคณะกรรมการต่างๆ จะทนความกดดันของประชาชนได้ เราต้องตัดสินใจว่าพื้นที่จะสงวนหวงห้ามเด็ดขาด หรือให้สิทธิ์คนอยู่ได้ ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดปัญหาการตีความ จึงต้องพิจารณากันให้ดี และอาจมีลู่ทางอื่นที่ให้คนนอกเขตป่าอนุรักษ์มีสิทธิ์จัดการ เช่น รัฐเห็นว่าที่เหล่านั้นไม่ควรหวงห้ามต่อไป ก็ให้กันพื้นที่ออกไปให้ชาวบ้านจัดป่าชุมชนได้


 


ด้าน นายชลธิศ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ก็ถกเถียงกันตลอดใน 2 มาตรา เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความเห็นต่างกัน แต่ที่สุดก็ออกกฎหมายป่าชุมชนได้ สำหรับการเตรียมความพร้อมหลัง สนช.รับ พ.ร.บ.ป่าชุมชน เบื้องต้นได้หารือกับนายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งต้องรับบทหนักและต้องเตรียมตั้งรับให้ดี โดยเฉพาะการพิสูจน์สิทธิ์ตามเงื่อนไขมาตรา 25 เรื่องการจัดตั้งป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ ที่ต้องอยู่มาก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์ 10 ปี และต้องเข้าทำประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่ามีพื้นที่ราว 28-30 ล้านไร่ที่มีการเข้าทำประโยชน์ ทั้งนี้กรมอุทยานฯ คงต้องเตรียมแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมเอาไว้ก่อน ส่วนกรมป่าไม้การพิสูจน์นอกเขตอนุรักษ์ตามมาตรา 18 คงไม่ยุ่งยากเท่ากับป่าชุมชนในเขตอุทยานฯ


 


โดยภายในสัปดาห์นี้จะทำหนังสือเสนอนายวิชัย แหลมวิไล อธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อเตรียมตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมรองรับพ.ร.บ.ป่าชุมชน เพราะต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงาน รวมทั้งเตรียมทำความเข้าใจกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ในฐานะเลขาคณะกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัด และตัวชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ล่อแหลมที่อาจต้องกวดขันเป็นพิเศษ ทั้งยังต้องเตรียมออกกฎกระทรวง รวมทั้งตั้งคณะกรรมการสรรหาและผู้ทรงคุณวุฒิ หลังกฎหมายได้รับการลงพระปรมาภิไธยภายใน 60 วัน แต่น่าเป็นห่วงว่าขณะนี้เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล หากรัฐมนตรี ทส.คนใหม่จากรัฐบาลใหม่มีแนวคิดซ้ายหรือขวาจัด เกรงว่าการประกาศกฎกระทรวงก็จะออกมาแบบเอนเอียงไป


 


ส่วน นายมนู ทองศรี ผู้อำนวยกองนิติการ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์รวม 105 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 107แห่งรวม 34 ล้านไร่ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า 57 แห่ง 22 ล้านไร่ และอยู่ในขั้นตอนการเตรียมประกาศอีก 14 ล้านไร่ และในจำนวนนี้ยังมี


 พื้นที่ ที่ทับซ้อนกันอยู่ประมาณ 50 ล้านไร่ และอีก 32 ล้านไร่นอกพื้นที่อนุรักษ์ รวมทั้งยังพื้นที่ผ่อนผันการถือครอง 1.4 แสนรายรวมพื้นที่ป่า 1.9 ล้านไร่ ตามมติครม. 1 มิ.ย.41 ผ่อนผันให้อยู่


 


 


ไต่สวนแปรรูป ปตท.30พ.ย.ราชบุรีฯถอนฟ้องไม่ผ่านประมูลไอพีพี


นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า วันที่ 30 พฤศจิกายน นี้ ศาลปกครองได้นัดไต่สวนผู้ฟ้อง คือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและผู้ถูกฟ้อง คือ รมว.พลังงานและผู้เกี่ยวข้อง ในคดีแปรรูป บมจ.ปตท.เป็นครั้งแรก ถ้าคำตัดสินยังไม่เสร็จสิ้นหลังร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานมีผลบังคับใช้ ก็อาจทำให้คำร้องของผู้ฟ้องตกไป เพราะอำนาจสิทธิประโยชน์ของ ปตท.เรื่องกิจการก๊าซธรรมชาติ ทั้งเรื่องราคา แผนการลงทุน การรอนสิทธิ์แนวท่อก๊าซฯ และคุณภาพการให้บริการเป็นอำนาจของคณะกรรมการภายใต้กฎหมายใหม่ทั้งหมด ไม่ได้เป็นอำนาจของ ปตท.แต่อย่างใด


 


ก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุด ได้รับคำฟ้องที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องรมว.พลังงานและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้เพิกถอน พ.ร.ฎ.กำหนดอำนาจสิทธิประโยชน์ของ บมจ.ปตท. พ.ศ.2544 และ พ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 ซึ่งผู้ฟ้องเห็นว่าการแปรรุป ปตท.ทำให้อำนาจรัฐตกไปอยู่กับเอกชน ถ้าผู้ฟ้องชนะอาจทำให้ ปตท.สูญสิ้นสภาพการเป็นบริษัทจดทะเบียนและเป็นรัฐวิสาหกิจในสภาพเดิม


 


รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า ส่วนกรณี บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จะฟ้องศาลปกครองเพราะไม่ผ่านการคัดเลือกการประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่(ไอพีพี) ล่าสุดทราบว่าทางบริษัทจะถอนฟ้องและจะอุทธรณ์มายังตน ถ้าอุทธรณ์มาก็คงส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าที่สำนักงานประกันสังคมเข้ามาถือหุ้น ทำให้ฐานะของบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็จะนำกลับมาพิจารณาว่าสามารถแข่งขันในการประมูลไอพีพีได้ แต่ถ้าใช่บริษัทก็ต้องไปจัดการเพื่อให้เข้าประมูลไอพีพีรอบต่อไป โดยอาจให้กองทุนประกันสังคมขายหุ้น หรือย้ายหุ้นไปอยู่ในเอ็นดีวีอาร์ ทั้งนี้ถ้า บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง เป็นรัฐวิสาหกิจ ก็คงต้องแก้ปัญหาตามมาอีก เช่น คณะกรรมการต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมาย ป.ป.ช.


 


ที่มา: http://www.naewna.com


 


หญิงไทยดื่มเหล้ายอดพุ่ง เหตุปัญหาสามี-แม่ผัว


ปริมาณจำหน่าย-นำเข้าสุราในไทยเพิ่มขึ้น 47% ในช่วง 10 ปี เตือนนักดื่มเสี่ยงติดเอดส์ หลังพบผู้ป่วยโรคเอดส์วัดพระบาทน้ำพุ กว่า 70% ติดเชื้อเพราะเมา ขณะที่งานวิจัยชี้ชัดต้นเหตุหญิงไทยติดเหล้าเพราะปัญหาครอบครัวกับสามี-แม่ผัว


 


เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 3 เรื่อง "สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา" ระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน จัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีนักวิชาการ นักวิจัย และผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 200 คน ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องช่วยดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งต้องทำทั้งด้านการรณรงค์และให้การศึกษาแก่เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป และผู้ดื่มต้องมีจิตสำนึกดื่มหรือดื่มให้น้อย หรือดื่มแล้วไม่ไปมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งชุมชนต้องร่วมมือกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการลดละเลิกการดื่ม และมาตรการทางกฎหมายที่จะควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ไม่สามารถมอมเมามาก ขายมาก ราคาถูกได้ง่ายเกินไป


 


นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สัดส่วนผู้ที่ดื่มนานๆ ครั้งลดลง ขณะที่นักดื่มประจำเพิ่มขึ้นจาก 16.4% ในปี 2539 เป็น 18.5% ในปี 2549 หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 13% โดยคนจนหรือผู้มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือน เป็นกลุ่มที่ดื่มมากที่สุดถึง 66% ที่น่าห่วงคือเยาวชนอายุ 15-19 ปี มีสัดส่วนของการเพิ่มขึ้นของนักดื่มประจำถึง 45% อายุ 20-24 ปี มีนักดื่มประจำเพิ่มขึ้น 30% และกลุ่มผู้หญิงมีสัดส่วนนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 30 % นอกจากนี้ สถิติข้อมูลการจำหน่ายสุราที่ผลิตในประเทศไทยและปริมาณการนำเข้าสุราจากต่างประเทศของกรมสรรพสามิต พบว่า ปริมาณการจำหน่ายและนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มจาก 1,650 ล้านลิตรในปี 2540 เป็น 2,424 ล้านลิตรในปี 2549 คิดเป็น 47%


 


ด้าน นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า สัดส่วนของการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนประสบอุบัติเหตุจราจรทางบกแบบรุนแรงจนต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือถึงขั้นเสียชีวิตสูงถึง 40-60% สำหรับครอบครัวที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีแนวโน้มของการเกิดความรุนแรงในครอบครัวสูงเป็น 4 เท่า เมื่อเทียบกับครอบครัวที่ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการวิจัยของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ปี 2549 พบว่า 55.9% ของคดีที่เกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ผู้กระทำความผิดก่อคดีขณะอยู่ในอาการเมาสุรา นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังมีผลต่อการติดโรคเอดส์ โดยกว่า 70% ของผู้ป่วยโรคเอดส์ในวัดพระบาทน้ำพุ มีสาเหตุมาจากการดื่มเหล้า


 


นพ.บัณฑิต กล่าวอีกว่า การดำเนินการพัฒนามาตรการเพื่อควบคุมปัญหาสุราที่เห็นชัดเจนที่สุดในปี 2550 คือการผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ... ที่มีสาระในการจำกัดการเข้าถึง โดยกลไกการกำหนดพื้นที่ห้ามจำหน่าย/ดื่ม เวลาห้ามจำหน่ายและอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะซื้อ และการควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการขยาย ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วนที่จะดำเนินการในปี 2551-2552 เป็นมาตรการทางภาษีโดยปรับระบบภาษีเป็นวิธีคิดภาษีผสมทั้งสองวิธี คือ คิดภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์บวกด้วยวิธีคิดภาษีตามมูลค่าราคาขายและให้อัตราภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ปรับตามเงินเฟ้อทุกปี


 


ในงานเดียวกัน มีการนำเสนอผลงานวิจัย ผลการศึกษาและผลงานทางวิชาการประมาณ 60 เรื่อง หนึ่งในผลงานที่น่าสนใจ ได้แก่ เรื่อง "บริบททางสังคมและวัฒนธรรม กับพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์" ของพันตรีหญิง ดร.กุนนที พุ่มสงวน อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลกองทัพ ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อศึกษาบริบทแบบแผนของวิถีชีวิตของผู้หญิงที่อยู่ภายใต้บริบททางสังคมและวัฒนธรรมในเขตชานเมือง กรุงเทพมหานคร ที่ส่งผลให้ผู้หญิงมีความคิด ความเชื่อ และมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยใช้วิธีการใช้แบบสอบถาม การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและการสังเกตแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม


 


ผลการศึกษาพบว่า ผู้หญิงทุกคนทราบถึงอันตรายและผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีต่อสุขภาพ การเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มสูบบุหรี่ เล่นการพนัน และส่งผลให้เกิดภาระหนี้สินตามมา ที่สำคัญพบด้วยว่า บริบททางสังคม ส่งผลโดยตรงให้ผู้หญิงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจุดเริ่มต้นที่แท้จริงที่ทำให้ผู้หญิงดื่ม คือ ปัญหาภายในครอบครัว ระหว่างผู้หญิงกับสามีหรือแม่สามี เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงถูกนำมาใช้เพื่อคลายความขัดแย้ง ความทุกข์ที่เกิดจากความล้มเหลวในชีวิตสมรส ส่วนบริบททางวัฒนธรรมโดยเฉพาะวัฒนธรรมบริโภคนิยม ส่งผลทางอ้อมที่เอื้อให้ผู้หญิงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างคนในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามี ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการแก้ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้หญิงไทย


 


ที่มา: http://www.komchadluek.net

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net