Skip to main content
sharethis

เพลงถือเป็นแรงขับดันทางวัฒนธรรมส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ด้วยอุดมการณ์ และในอีกแง่หนึ่งก็เป็นเครื่องมือสะท้อนภาพชีวิตของคนในสังคม กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยในภาคเหนือ จึงได้ร่วมกันจัดค่าย คนกับเพลง ขึ้น เพื่อการศึกษาเรียนรู้ความเป็นมา รวมถึงการทำความเข้าใจกับสังคมผ่านบทเพลง เมื่อวันที่ 16-18 .. 2550 โดยมีผู้เข้าร่วมจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร


 


หลักการและเหตุผลสำหรับค่ายนี้มีอยู่ว่า บทเพลงเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ในอดีตบทเพลงได้มีบทบาทในการนำเสนอแนวความคิด อุดมการณ์และยังสะท้อนสภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิตและปัญหาของสังคมในอดีต ดั่งจะเห็นได้จากเหตุการณ์และปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น เหตุการณ์ทางการเมือง ปัญหาความยากจน สิ่งแวดล้อม บทเพลงต่างๆ มากมายก็ได้ถูกเรียงร้อยขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับคนในยุคปัจจุบัน บทเพลงเหล่านี้กลับมีจำนวนลดน้อยลงและมีเป้าหมายในเชิงธุรกิจมากขึ้น


 


ดังนั้นทางกลุ่มจึงเห็นว่าการที่เยาวชนเข้ามาศึกษาบทเพลงในอดีต เพื่อที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจสังคม ผ่านความหมายของบทเพลงและบริบทต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต จะช่วยสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งการศึกษาบทเพลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโดยการคิดวิเคราะห์ผ่านมุมมองที่หลากหลาย จะกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจปัญหาสังคมและมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบันได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นผ่านบทเพลง อันจะเป็นพื้นฐานซึ่งนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างยั่งยืน


 


การจัดค่ายในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเผยแพร่แลกเปลี่ยนทัศนคติและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ความหมาย ผ่านบทเพลง เพื่อพัฒนาทักษะการถ่ายทอดแนวคิดผ่านบทเพลง เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม และขยายผลสู่เยาวชนกลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างมุมมองการเรียนรู้ที่หลากหลายทั้งจากตัวบทเพลง และการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ประสบการณ์ ระหว่างเยาวชน เพื่อสร้างความตระหนักและจิตสำนึก ความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม เพื่อกระตุ้นให้เยาวชน สร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมบนพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจ และรู้เท่าทันสังคมที่เกิดการเปลี่ยนแปลง


 


ในวันที่สองของค่าย ได้มีการสนทนาในหัวข้อ "มองเพลงในสังคมปัจจุบัน" โดย นายวิทยากร บุญเรือง คอลัมนิสต์ประชาไท ได้นำเสนอมุมมองว่าด้วยรสนิยมเพลงและประเด็นการเหยียดชนชั้นในหมู่วัยรุ่น


 


วิทยากรกล่าวว่า ปัจจุบันเรียกได้ว่ากระแสของเพลงที่ครอบงำคนในสังคมนั้น นอกจากความเป็นศิลปะเพียวๆ แล้ว เรื่องการขายและการค้าก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยชี้ให้เห็นว่ารสนิยมวัยรุ่นปัจจุบันถูกแบ่งออกเป็นสองชนิดคือ รสนิยมแนวตลาด กับรสนิยมทวนกระแส


 


เพลงตลาดก็ดังที่เราประณามกันทั่วไป ที่เห็นในทีวีฟังในวิทยุ เป็นเพลงจากค่ายใหญ่ๆ อาร์เอส แกรมมี่


 


ส่วนอีกแนวก็คือมีความพยายามทวนกระแสกับแนวเพลงตลาดแล้วแปะยี่ห้ออินดี้ให้แก่ตัวเอง โดยนายวิทยากรกล่าวว่า คำว่าอินดี้หรืออินดีเพนเด้นท์ (Independent) ไม่ใช่แนวเพลงอย่างที่เราเรียกป๊อบ ร๊อค หมอลำ แต่หากเป็นวิธีการสร้างสรรค์งานที่ไม่สนใจต่อระบบการขาย หรือไม่มีอะไรมาบงการนอกจากความต้องการทางศิลปะของกลุ่มตน


 


แต่ในปัจจุบันคำนี้ถูกเรียกมั่วๆ แปะไปกับค่ายเพลงที่อกหักในการต่อสู้กับค่ายใหญ่ๆ แล้วมาสร้างสรรค์เพลงเพื่อจับกลุ่มวัยรุ่นตลาดบนที่มีกำลังซื้อมากกว่า


 


ดังนั้นคำว่าอินดี้ในความหมายของวัยรุ่นไทยปัจจุบัน มันไม่ได้มีอุดมการณ์ต้านระบบทุนนิยมอะไรทั้งสิ้น เป็นเพียงภาพฉาบให้ตัวเองมีรสนิยมเหนือกว่าวัยรุ่นที่นิยมเพลงตลาด


 


ส่วนหนึ่ง เมื่อคุณฟังอะไรที่คุณว่าเป็นอินดี้ โมเดิร์นด็อก อพาร์ทเม้นท์คุณป้า หลายคนมักจะเหยียดวัฒนธรรมของกลุ่มที่ฟังแนวตลาด คุณมักจะบอกว่าโลโซมันเสี่ยว เพลงค่ายอาร์เอสมันเสี่ยว..."


 


วิทยากรกล่าวต่อไปว่า ตนเองไม่ได้แคร์ว่าใครจะชอบแนวเพลงอะไร แต่ความพยายามเป็นขบถโดยใช้เพลงเป็นองค์ประกอบให้ตนเองเหนือกว่าคนอื่นนั้น มันไม่ได้ขบถต่ออะไรเลย หนำซ้ำยังกลับกลายเป็นทาสระบบทุนที่พยายามแบ่งกลุ่มตลาดเป็นระดับๆ


 


"..อย่าคิดว่าคุณคือขบถ แค่คุณได้แต่ดูถูกเหยื่อของเพลงแนวตลาด ในทางกลับกัน อะไรๆ ที่คุณเรียกมันว่าอินดี้ มันยิ่งมีเนื้อหาทำให้คุณไม่สนใจสังคมมากกว่าการฟังเพลงหมอลำ ลูกทุ่ง หรือโลโซด้วยซ้ำ.."


 


จะฟังหรือจะสมาทานรสนิยมอะไรก็ตามให้แก่ตัวเองก็โปรดอย่าดูถูกกลุ่มนอกเหนือจากเรา มันอันตรายมากสำหรับแนวคิดเหยียดกันทางชนชั้น..." นายวิทยากร ปิดท้าย


 


ในส่วนของนายภฤศ ปฐมทัศน์ คอลัมนิสต์ดนตรีในประชาไท ซึ่งเป็นวิทยากรอีกผู้หนึ่ง ได้มาพูดถึงดนตรีในแง่ของศิลปวัฒนธรรมที่จะโยงกับสังคมในบริบทของยุคต่างๆ โดยเริ่มต้นย้อนไปถึงยุค 60's ว่าขบวนการของฮิปปี้หรือบุปผาชนนั้นจริงๆ แล้วมันเหมือนกับเด็กขบถต่อพ่อแม่อยู่กลายๆ เพราะว่าคนในขบวนการของฮิปปี้ส่วนใหญ่ก็เป็นวัยรุ่นที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางหรือครอบครัวที่มีฐานะ ขณะเดียวกันก็เป็นฐานวัฒนธรรมที่เข็มแข็งในการต่อต้านทุนนิยมและสงครามในสมัยนั้น แต่สุดท้ายกระบวนการบุปผาชนก็ค่อยๆ อ่อนแรงลงไปเพราะไม่มีฐานการต่อสู้ที่เข้มแข็งพอ


 


"...เคยมีคนบอกว่า ฮิปปี้เป็นเหมือนพวกวัยรุ่นที่มีความปรารถนาดี มีอุดมการณ์ แต่ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่เรียนรู้การต่อสู้จากยุคก่อนๆ แล้วนำมาปรับใช้ ต่อมาฮิปปี้เลยค่อยๆ สลายไป บางส่วนกลายมาเป็นสิ่งที่พวกเขาเคยต่อต้าน กลายมาเป็นคนรับใช้รัฐ เป็นนายทุนเสียเอง..."


 


เขายังได้กล่าวต่อถึงกระบวนการของพังค์ในยุคต่อมา ว่าพังค์มันมีต้นกำเนิดมาจากชนชั้นล่าง มาจากชนชั้นล่างในอังกฤษ ทำเพลงดิบๆ คอร์ดง่ายๆ โดยมีแยกย่อยออกไปเป็นหลายๆ สาย มีบางส่วนที่ยึดถือวัฒนธรรมแบบ DIY ที่เน้นการทำเองขายเองไม่พึ่งค่ายเพลงใหญ่ เกิดการแลกเปลี่ยนกันในหมู่วัฒนธรรมย่อย แต่ถึงแม้ในปัจจุบันป็อบพังค์บางส่วนจะเข้าสู่กระแสหลักก็ยังมีเนื้อหาน่าสนใจที่พูดถึงชีวิตหรือการเมืองเช่นวง Green Day


 


จากนั้นจึงได้แสดงทัศนะว่า ดนตรีก็เหมือนศิลปะแขนงอื่นๆ มันสามารถจะสะท้อน (Reflect) เรื่องราวอะไรบางอย่างจากสังคมหรือแม้แต่จากประสบการณ์ปัจเจกบุคคลออกมา แต่ขณะเดียวกันมันก็มีในส่วนของการปลูกสร้าง (Construct) คือการนำเสนอสิ่งนั้นๆ ออกมาจากความคิดจินตนาการ


 


"โดยเท่าที่ฟังมา เพลงเพื่อชีวิตอะไรทั้งหลายที่มันเชิดชูเรื่องอุดมการณ์หรืออะไร มันก็เป็นแนว Construct คือมันไม่ได้สะท้อนเรื่องของอะไรออกมา แต่ขณะเดียวกันเพลงแนวอื่นๆ ที่อาจจะมองว่ามันปัจเจกนะ แต่มันก็สะท้อนอะไรออกมา อย่างเพลง สาวรามฯ ยามเย็น ที่เป็นเพลงลูกทุ่ง ผมเพิ่งดู MV มันมา มันก็พูดถึงคนในจากบ้านมาเรียนในเมืองกรุงแล้วก็ต้องเจอปัญหาหลายอย่างทั้งค่าเล่าเรียน ความรู้สึกแปลกแยก ภัยอันตรายในเมือง ถึงมันจะฟังดูปัจเจก แต่มันเป็นเรื่องที่มาจากความรู้สึกคนหรือเปล่า"


 


จากนั้นจึงได้ยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งคือเพลง "นางฟ้าคืนเดียว" ของ วิด ไฮเปอร์ ซึ่งถ้ามองเผินๆ มันจะเป็นเพลงที่พูดถึงความฉาบฉวยในเรื่องเพศของสังคมยุคปัจจุบัน แต่นั่นเป็นคำอธิบายจากมุมมองแบบนักอนุรักษ์นิยมที่ปิดกั้นการตีความ เพราะถ้าหากตีความดีๆ เพลงนี้มีนัยแฝงทางเรื่องเพศสภาพ


 


"...คือ ผู้ชายในเพลงนี้เขารักผู้หญิงจริงๆ ไม่ได้อยากได้แค่ One Night Stand ซึ่ง ในสังคมเมืองปัจจุบันมักจะมองว่าผู้ชายประเภทนี้ไม่เท่ ไม่สมชาย แต่จริงๆ แล้วถามว่าความรู้สึกรักใครจริงจังมันเป็นสิ่งที่เสี่ยว มันไม่เท่ ไม่สมชายจริงๆ น่ะหรือ เพลงนี้มันเป็นพื้นที่อีกส่วนหนึ่งให้กับผู้ชายประเภทนี้ ซึ่งเป็นผู้ชายที่ขาดพื้นที่ในสังคม Macho แบบทุเรศทุรัง..."

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net