Skip to main content
sharethis


หมายเหตุ : เรียบเรียงจากการบรรยายพิเศษ รศ.ดร.จรัญ มะลูลีม นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวทีรายงานความก้าวหน้าในการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาที่ได้รับทุนวิจัยมหาบัณฑิต สกว.ด้านมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ รุ่นที่ 3 ระหว่างวันที่ 18-19 ต.ค.2550 ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


----------------------------------------------------------------------------------------------



ผมเองได้โอกาสคุยและเดินทางไปในโลกมุสลิมหลายแห่ง ได้มีการตั้งคำถามอย่างมากว่าแนวคิดของอิสลามต่อเรื่องสันติภาพ สันติภาพในโลกมุสลิมเป็นอย่างไร และในภาคปฏิบัติโลกมุสลิมมีสันติภาพหรือไม่


ในงานหลายๆ รูปแบบที่คนเขียนถึงพี่น้องมุสลิมก็มีอยู่มากมาย ที่ไม่สามารถแสดงเห็นถึงความเข้าใจ ในทัศนะของผมจะเห็นว่าปรัชญาของคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ถูกเข้าใจผิดมากที่สุด ทั้งโดยผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าปรัญญาของคัมภีร์สนับสนุนทำให้เกิดลัทธิผจญภัย และลัทธิการขยายอำนาจ และยังถูกตีความว่าสนับสนุนสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจผิดเรื่องดินแดนแห่งสันติ เพราะว่าหลายคนละเลยคำสั่งในภาคปฏิบัติและการมีเหตุผล


โลกอิสลามผ่านการเปลี่ยนผ่านมากมาย มีคำบางคำซึ่งโลกมุสลิมสะเทือนใจมาก เช่น โรคหวาดกลัวอิสลาม ด้วยการมองคนมุสลิมเคียงอยู่กับความรุนแรง ความโหดร้าย หรือการระเบิดพลีชีพ ทั้งที่จริงๆ เหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดในโลก มีมิติความเป็นมาเป็นไปหลายประการก่อนจะเกิดความรุนแรง สำหรับเรื่องอิสลามกับแนวคิดสันติภาพนั้น จะเห็นได้จากความหมายของ "อิสลาม" ซึ่งหมายถึงสันติและการยอมจำนนต่อพระเจ้า ดังนั้นอะไรก็แล้วแต่ที่คิดไปในทางสุดโต่งในทางรุนแรงถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ตรงกับคำสอน


เมื่อศาสนาอิสลามเกิดขึ้นในคาบสมุทรอาหรับหรืออาราเบีย ดังนั้นอยากจะพูดถึงคนเหล่านี้เล็กน้อย ในความเป็นจริงถ้าเราดูพฤติกรรมและชีวิตของคนในทะเลทรายจะเห็นว่า ชาวอาหรับไม่เพียงแต่เห็นสงครามเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายและน่าชังเท่านั้น วรรณกรรมอาหรับยังเรียกสงครามด้วยคำที่น่ารังเกียจ และคนอาหรับยังปฏิบัติตามแนวคิดเช่นนั้นด้วย โดยคนอาหรับจะสนใจในกิจกรรมอื่นๆ อาทิ วรรณกรรม บทกวี ศิลปะ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ การแพทย์ ปรัชญา คณิตศาสตร์ ดนตรี ความรัก การค้าขาย การท่องเที่ยว ฯลฯ ดังนั้นเราจะเห็นว่าโลกจะไม่เคยได้ความรู้จากชาวอาหรับในด้านการทำสงคราม อย่างเช่น เราไม่เคยเห็นหนังสือที่บอกว่าชาวอาหรับเป็นผู้คิดค้นดินปืน อาวุธ การสร้างเรือรบ หรือการใช้ปืนใหญ่ ความรู้เหล่านี้มาจากนอกโลกอาหรับทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามคนอาหรับจะเลือกทำสงครามเป็นประตูสุดท้าย เมื่อไม่มีทางออกอื่นที่ดีกว่า


ดังจะพบจากชีวิตของท่านศาสดานะบีมุฮัมมัด ในขณะที่มีปัญหาเกิดขึ้นในดินแดนของท่าน ท่านก็ใช้ความอดทนหรือใช้การพูดโต้เถียง หรือการทำละหมาดเป็นหลัก เมื่อเกิดความขัดแย้ง หรือใช้การพูดจาเกลี้ยกล่อมใช้การพูดจาที่ดี แต่ไม่ใช้ความรุนแรง เพราะผู้นำในตอนนั้นบอกว่าพระเป็นเจ้าอัลลอหฺ ไม่อนุญาตให้ใช้อาวุธ แม้ได้รับการกลั่นแกล้งทรมานจากฝ่ายที่ต่อต้านอิสลาม


อีกทั้งในคัมภีร์อัลกุรอานยังระบุว่า "จงเชิญชวนทุกคนมาสู่สงครามของพระผู้อภิบาลด้วยความรอบรู้ และด้วยการเทศนาที่ดี และจงโต้เถียงกับพวกเขาในวิธีที่ดีที่สุดและด้วยความกรุณา" อย่างไรก็ตามจากศาสดาและชาวมุสลิมในนครมักกะหฺได้อพยพมาตั้งชุมชนและรัฐบาลของอิสลามขึ้นมา ก็จำเป็นต้องจัดการกับโลกของการเมืองในวงกว้างขึ้น ประกอบกับการรุกรานทางทหารและการท้าทายต่อความปลอดภัยของชุมชนมากขึ้น ด้วยเหตุนั้นพระเป็นเจ้าจึงอนุญาต ให้ทำการต่อสู้ด้วยอาวุธได้ แต่เป็นการต่อสู้เพื่อป้องกันตนเอง


ในคัมภีร์อัลกุรอาน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การอนุญาตให้ต่อสู้ได้ถูกประทานแก่บรรดาผู้ที่ถูกทำสงครามกับพวกเขา เพราะพวกเขาได้รับการกระทำ แท้จริงองค์อัลลอหฺ ทรงอำนาจที่จะช่วยเหลือได้ การอนุญาตนี้ได้ประทานแก่ผู้ที่ถูกขับไล่จากบ้านเรือนของเขาโดยอยุติธรรม เพียงแต่พวกเขาได้กล่าวว่า ถ้าหากองค์อัลลอหฺ ไม่ทรงต่อต้านความก้าวร้าวนั้นด้วยวิธีให้คนเหล่านั้นต่อสู้ด้วยกันแล้วไซร้ แน่นอนย่อมจะมีอาราม โบสถ์ โบสถ์คริสต์เตียน และมัสยิดที่ทำลายไปทั้งนั้น ซึ่งในนั้นพระนามของอัลลอหฺเจ้าเป็นที่ระลึกถึงบ่อยๆ  ตรงนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การอนุญาตให้ทำการต่อสู้เพื่อปกป้องการทำลายศาสนสถาน


นอกจากนี้ยังกล่าวต่ออีกว่า "เหตุใดพวกเจ้าไม่ต่อสู้ในสงครามของพระองค์อัลลอหฺเพื่อบรรดาผู้ที่อื่นแอ และได้รับการปฏิบัติที่เลวทราม อันนี้ที่ต่อมาการผลักดันต่อสู้ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงอนุญาตแล้ว"


ดังนั้นความรุนแรงและสงครามในทัศนะของอิสลามต้องทำไปเพื่อการป้องกันตัว มิใช่เพื่อรุกราน หรือก้าวร้าวต่อฝ่ายตรงข้ามก่อน ดังปรากฏในมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ที่ว่า "จงต่อสู้ในหนทางของพระอัลลอหฺต่อบรรดาผู้ที่ต้อสู้กับพวกเจ้า แต่จงอย่าเป็นฝ่ายเริ่มต้นการมุ่งร้ายก่อน เพราะพระอัลลอหฺไม่ทรงรักผู้ก้าวร้าว และจงต่อสู้จนกว่าจะไม่มีการประหักประหารอยู่ต่อไป แต่ถ้าพวกเขาไม่ต่อสู้เพื่อยืนยัดยืนยันมุ่งร้ายอีกต่อไป นอกจากผู้กระทำผิด" นี่ก็คือคำสอนที่เรียกว่า Islamic concept of war


ส่วนสิ่งที่เป็นข้อห้ามคือ ห้ามมุสลิมต่อสู้กับมุสลิมด้วยกัน เพราะเป็นพี่น้องกันแต่ก็มองว่าเมื่ออยู่ร่วมกับศาสนิกอื่นๆ ก็อยู่ร่วมได้ดี ตราบใดที่ไม่ถูกรุกรานหรือกระทำ ดังนั้นพี่น้องย่อมไม่ทำร้ายกันและกัน ดังโองการว่า "หากผู้มีศรัทธาสองฝ่ายสู้กันก็จงสร้างสันติขึ้นระหว่างพวกเขา และหากฝ่ายหนึ่งทำผิดต่ออีกฝ่ายพวกเจ้าจงต่อสู้กับฝ่ายที่กระทำผิด จนกระทั่งพวกเขากลับมาสู่คำสั่งของอัลลอหฺ และเมื่อพวกเขากลับมาก็จงสร้างความสงบระหว่างกันอย่างยุติธรรม และจงกระทำอย่างเท่าเทียมกัน เพราะองค์อัลลอหฺทรงรักความเท่าเทียมกัน"


อันนี้เป็นคำสอนที่มีนัยยะแสดงให้เห็นว่าอิสลามเน้นเรื่องสันติภาพ และการกำหนดให้ทำให้ทำการต่อสู้กับผู้ที่ทำการต่อสู้เท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ เช่น เด็ก ผู้หญิง คนชรา คนพิการ ชาวไร่ชาวนาต้องไม่ได้รับการรบกวน ฉะนั้นพอเกิดเหตุอะไรก็แล้วแต่ที่เกิดกับศาสนสถานจะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของศาสนิก ดังเช่นการที่มูชาร์ราฟของปากีสถานสั่งถล่มสุเหร่าแดงในกรุงอิสลามาบัด การที่อินทิรา คานธี ส่งทหารเข้าไปวิหารทองคำแล้วสังหารผู้ต้องการแบ่งแยกดินแดน หรือเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะของไทย เป็นต้น


สำหรับเรื่องอื่นศาสดามุฮัมมัดได้สั่งให้ปฏิบัติต่อเชลยศึกของพวกเขาเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวของตัวเอง แต่กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน เช่น การที่พวกตาลิบันของอัฟกานิสถานถูกจับไปขังในค่ายในคิวบา แล้วมีการเอาคัมภีร์อัลกุรอาน ทิ้งลงในชักโครก เพื่อสร้างภาวะกดดันกับนักโทษ หรือการเอาเจ้าหน้าที่ไปตัดหัว ทั้งหมดเป็นสิ่งที่อิสลามห้ามอย่างเด็ดขาด เพราะมีคำสอนให้ดูแลเชลยศึก เหมือนเป็นครอบครัวของตนเอง "พวกท่านต้องให้อาหารเชลยศึกเหมือนกับที่พวกท่านรับประทานเอง และให้เสื้อผ้าพวกเขาสวมใส่ หากพวกท่านจะให้เขาทำงานหนัก ท่านต้องทำงานด้วย" และหลักการทำสงครามได้กล่าวว่าการทำสงครามต้องจบอย่างรวดเร็วเพื่อจะได้ให้ความน่ากลัวของสงครามน้อยที่สุด และให้ปล่อยตัวคนที่เป็นศัตรูสงครามไป หรือว่าจะไถ่ตัวก็ได้ นอกจากนี้ก่อนจะลงมือทำสงครามจะต้องเตือนปรปักษ์ และให้เวลาเขาอย่างเพียงพอ และให้ทางเลือกแก่พวกเขาด้วย ตามปกติท่านศาสดามุฮัมมัดจะให้เวลาฝ่ายตรงข้ามเป็นเวลา 3 วัน และลงมือต่อสู้ในวันที่ 4 ฉะนั้นอิสลามได้วางหลักการของสงครามอย่างระมัดระวัง และยุติธรรม แต่การทำสงครามหลายๆ ครั้งในปัจจุบันนี้มิได้เป็นไปตามหลักการของอิสลาม


ส่วนแนวความคิดการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงนั้น คือ ความคิดที่ว่ามนุษยชาติทั้งมวลล้วนแต่เป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นพี่น้องกัน เพราะต่างก็เป็นบุตรของอาดัมและอาวา ดังนั้นมนุษย์จึงไม่ควรใช้กำลังห้ำหั่นกัน แต่ใช่ว่ามนุษย์จะต้องงอมืองอเท้า ทำเป็นอ่อนแอให้คนอื่นมาข่มเหงรังแกได้ง่ายๆ ตรงกันข้ามมุสลิมต้องไม่อยู่เฉย แต่ต้องทำอะไรซักอย่างเพื่อแก้ไขปัญหานั้น แต่จะทำอย่างไรเล่าจึงจะเป็นการต่อสู่ที่ไม่ใช้ความรุนแรง


ตรงจุดนี้มีนักวิชาการบางท่านบอกว่าการต่อสู้ที่ถูกต้อง คือ หนึ่ง ใช้ความอดทน เพราะความอดทนเป็นข้อแรกที่มุสลิมใช้เมื่อถูกทำร้าย เช่น คำสอนว่าพระอัลลอหฺทรงอยู่กับผู้อดทน ผู้ใดแสดงความอดทนและการให้อภัยนั่นคือความเป็นธรรมและกล้าหาญ สอง ใช้การอธิบายและเกลี้ยกล่อมเชิญชวน ด้วยปัญญา การสั่งสอนที่ดี และการถกเถียง ด้วยเมตตาที่สุด


นอกจากนี้ยังมีแนวทางอีกหลายแบบ เช่นแนวทางที่คล้ายคลึงสัตยาเคราะห์ที่กับมหาตมะ คานธีเคยใช้ เช่น การไม่ร่วมมือ การคว่ำบาตร และการอพยพออกไป การอพยพเป็นวิธีที่ไม่ใช้ความรุนแรงที่เก่าแก่ของอิสลาม แต่น่าเสียดายที่การอพยพครั้งหลังๆ ของมุสลิม ทำเฉพาะตัวเท่านั้นไม่ได้ทำเป็นหมู่คณะ ไม่มีการจัดองค์การ ไม่มีทิศทางการเมืองที่ชัดเจน และไม่เป็นระบบเท่าที่ควร ผิดกับการอพยพในช่วงต้นๆ ที่มีการแนะนำคือใช้วิถีทางทางการทูต


อย่างไรก็ดี "ผมอยากสร้างความเข้าใจกับทุกท่านในกรณี ญิฮาด ซึ่งมีคนพูดเสมอว่าอิสลามเน้นในสงครามศักด์สิทธิ์ (Holy war) แต่เท่าที่ผู้รู้ชาวอาหรับเขาบอกว่า สงครามไม่มีทางจะศักดิ์สิทธิ์ได้เพราะนำความตายความผลัดพรากมาให้มนุษย์ และคำเรียกสงครามในภาษาอาหรับนั้นก็ไม่ได้ใช้คำว่าญิฮาด ดังนั้นจึงมีความเข้าใจผิดอยู่มากมาย"


คำว่าญิฮาดคือการต่อสู้ เป็นแนวทางที่ใช้มาตลอดในประวัติศาสตร์อิสลามเมื่อศาสนาอิสลามถูกประทานให้กับมนุษยชาติผ่านท่านศาสดา แต่ญิฮาดเพิ่งเป็นที่สนใจไม่นานมานี้ บางคนเรียกญิฮาดว่าสงครามศักดิสิทธิ์ บางคนสงสัยว่าญิฮาดกับการก่อการร้ายเหมือนกันหรือไม่ คำว่าญิฮาด ความหมายที่แท้จริง หมายถึง ความพยายามในด้านศาสนาที่จะเห็น ควบคุมความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งจะบรรลุได้ด้วยการศรัทธามั่น กระทำความดี หลีกเลี่ยงชั่ว ทำตามคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า ทำการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม และปกป้องอิสลาม


คำนี้ใช้ในคัมภีร์อัลกุรอานมีความหมายได้หลายอย่าง หมายถึง การถกเถียงและการเกลี้ยกล่อม การเอาเจตนารมณ์ของพระเจ้า การรับใช้ศาสนา หรือต่อสู้เพื่ออิสลามก็ได้ นั่นคือการต่อสู้ในสงครามของพระผู้เป็นเจ้า ดังที่ปรากฏบ่อยๆ ในคัมภีร์ และนักวิชาการได้แบ่งญิฮาดเป็น 3 ประการ ได้แก่ ญิฮาดต่อกิเลส ตัณหา หรืออำนาจใฝ่ต่ำของตัวเอง ญิฮาดต่อสิ่งชั่วร้ายภายนอก เช่น มุสลิมที่ถูกสภาวะของวัฒนธรรมสมัยใหม่ถูกออกมาสู่สังคมบริโภคมากขึ้น และญิฮาดต่อศัตรูที่มองเห็นได้ ส่วนพวกรหัสนัย แบ่งญิฮาดออกเป็น ญิฮาดน้อยคือการต่อสู้กับศัตรู และญิฮาดใหญ่ คือการทำตามคำบัญชาของอัลลอหฺตามคัมภีร์ดังเช่น การไปทำฮัจญ์ ก็คือการญิฮาดที่สูงสุดอย่างหนึ่ง


"แน่นอนที่สุดอิสลามเป็นศาสนาหนึ่งที่ให้คุณค่าต่อชีวิต เวลาเรามองดูเหตุการณ์ในภาคกลาง เหตุการณ์ภาคใต้ เราจะเห็นว่ามีการขยายรูปแบบบางคนก็เอาอิสลามไปใช้ หรือไปตีความอย่างไม่ถูกต้องก็มี เช่น การรักษาชีวิตที่แท้จริง ผมขอพูดถึงเหตุการณ์ภาคใต้เล็กน้อย ผมเองได้ร่วมตัดสินคดีภาคใต้ 4 คดี กล่าวคือ คดีเผาบันไดวัดช้างให้ คดีเผาศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่ จ.ปัตตานี คดีเผาโรงเรียนที่ จ.สงขลา และคดีตากใบ มันมีบทสรุปให้เห็นว่ากรณีของภาคใต้ จนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นข่าวกรองของสหรัฐ ข่าวกรองของไทย มีความเห็นว่าเหตุการณ์ในภาคใต้ยังเป็นเรื่องในประเทศจริงๆ ไม่มีการระเบิดพลีชีพ ไม่มีอัลกออิดะห์ ตามที่ถูกกล่าวอ้างอยู่เสมอ และผมก็ไม่เชื่อว่านักศึกษาที่ไปเรียนในตะวันออกกลางจะอยู่เบื้องหลัง หรือมีบทบาทจากการได้สัมพันธ์กับคนเหล่านี้"


แต่สิ่งที่เห็นในภาคใต้ ในปัจจุบัน นั้นความถี่มันน้อยลง แต่ความรุนแรงมันมากขึ้น แม้ว่าคุณสนธิจะบอกว่า เหตุการณ์ในภาคใต้เหมือนแผลที่เท้า แต่เหตุการณ์ทางการเมืองเหมือนแผลที่หัวใจ แต่บ่อยครั้งที่ลงไปเพื่อทำคดี ผมมีความเห็นว่ากรณีของภาคใต้มันเกิดจากการผสมผสานของหลายเหตุการณ์ ทั้งที่สะสม จากกลุ่มที่ต่อต้านอำนาจรัฐบ้าง วิธีการที่ใช้ก็มีหลายแบบ เช่น การวางตะปูเรือใบ การตัดต้นไม้ ซึ่งวิธีการนี้อาเจะห์เสรีเคยทำ ตอนที่ยังไม่ถูกสึนามิถล่ม และตอนนี้ก็มาตกลงกับรัฐบาลขอดูแลน้ำมัน 30% ส่วนวิธีการตัดศีรษะเป็นวิธีการที่ผู้ก่อการร้ายอาบูซายาฟในฟิลิปปินส์ใช้ แต่วิธีการที่ใช้มากที่สุดในภาคใต้ปัจจุบันคือการโจมตีแล้วหนี


สิ่งที่เราเห็นในภาคใต้คือยังไม่ถึงขั้นรัฐปัตตานีได้ กรณีที่ศาสนาถูกนำเข้าไปเกี่ยวข้องผสมผสานกับเหตุการณ์ในภาคใต้มีอยู่กรณีเดียว นั่นคือ กรือแซะ แต่หลังจากนั้นคือการนำเอากำลังอาวุธไปกระทำ ทั้งหมดที่กล่าวมาเห็นได้ว่าวิธีการนำเอาศาสนาไปตีความเกิดขึ้นจริง แต่นี่ไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้องในแง่ของการต่อสู้ที่ต้องมีประจักษ์พยานของการรุกล้ำ ต้องผ่านกระบวนการที่เรียกว่าการจัดการที่ถูกต้อง เพราะการลอบสังหารไม่ได้อยู่ในแนวทางของพระเจ้า แต่ให้เจรจาถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น


อิสลามให้คุณค่าของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง ดังเช่น "หากผู้ใดรักษาชีวิตหนึ่งไว้ก็เท่ากับรักษาชีวิตมนุษยชาติทั้งมวลไว้ นี่ไม่ได้หมายความว่าชีวิตของมุสลิมแต่รวมถึงชีวิตทั้งมวล ดังนั้นย่อมไม่อนุญาตให้มุสลิมใช้อาวุธทำลาย อาวุธสงครามเช่นนั้นผิดหลักการของศาสนาอิสลาม การใช้ลูกระเบิดในสถานีรถไฟหรือตลาด การจี้เครื่องบิน จับคนที่ไม่รู้เรื่องเป็นตัวประกัน การจับผู้คนตามท้องถนน การทิ้งลูกระเบิดยังเป้าหมายที่เป็นพลเรือน เหล่านี้เป็นสิ่งต้องห้ามของศาสนาอิสลาม แม้ในโลกใหม่เห็นว่าอาวุธเก่าๆ นั้นล้าสมัย แต่อิสลามเห็นว่าอาวุธสมัยใหม่นั้นผิดทำนองคลองธรรม การฆ่าอิสลามถือว่าเป็นบาปที่สำคัญอย่างหนึ่ง


อย่างไรก็ตามมุสลิมผู้ถูกกดขี่จะต่อสู้กับผู้กดขี่เพื่อให้ความชั่วร้ายหมดไปได้อย่างไร ซึ่งอ.ชัยวัตน์ สถาอานันท์ ได้เขียนไว้ว่า ปัญหาเรื่องความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งในแวดวงจริยธรรมของพวกเรา หากจะมีความรุนแรงที่มุสลิมใช้จะต้องควบคุมด้วยกฎข้อบังคับที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน และคำสอน ถ้าความรุนแรงที่ใช้ไม่สามารถแยกแค้นระหว่างผู้ที่ต่อสู้กับผู้ไม่ได้ต่อสู้ อิสลามย่อมไม่ยอมรับการต่อสู้เช่นนั้น เทคโนโลยีที่ใช้ทำลายในสมัยปัจจุบันอิสลามไม่ยอมรับเลย ถึงแม้นักรบสมัยใหม่ของมุสลิมก็ไม่สามารถใช้ความรุนแรง อิสลามสอนให้มุสลิมต่อสู้ด้วยความเข้าใจว่าชีวิตมนุษย์นั้นมีความมุ่งหมายและมีค่า ดังนั้นเพื่อชื่นชมต่ออิสลามมุสลิมต้องใช้การกระทำที่ไม่รุนแรงเป็นแบบอย่างในการต่อสู้และในที่สุดอิสลามนั้นจะเป็นเนื้อดินที่อุดมสมบูรณ์สำหรับความไม่รุนแรง.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net