Skip to main content
sharethis

ประวิตร โรจนพฤกษ์


เหตุการณ์ช่วง 4-5 วันที่ผ่านมาที่บรรดาผู้นำในรัฐบาลทหารไทยออกมาตอบโต้วิพากษ์วิจารณ์ทางสหภาพยุโรป (อียู) ที่พยายามขอให้ไทยร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding - MOU) ก่อนส่งคณะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งกว่าร้อยคนมาเมืองไทยนั้น ก่อให้ผู้เขียนอยากตั้งข้อสังเกต 3 ข้อ ดังนี้


1.รัฐบาลเผด็จการทหารออกอาการกินปูนร้อนท้องเกินไปหรือเปล่า ดูเหมือนพวกผู้นำรัฐบาลจะกลัวว่า ทางอียูจะเก็บข้อมูลได้มากมายหลายอย่างเกี่ยวกับความพยายามในการใช้กลไกของรัฐเพื่อโน้มน้าวประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งไปทางใดทางหนึ่ง โดยเฉพาะทางที่ไม่เอาพรรคที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นนอมินีของทักษิณ


โดยลำพังหากอียูจะมาช่วยดูจับการโกงเลือกตั้งซึ่งรัฐบาลพูดเพียงแต่เรื่องการซื้อเสียงและซื้อ ส.ส. จากกลุ่มอำนาจเก่าแล้ว ก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลไม่ใช่หรือ เพราะกลุ่มอำนาจเก่าจะได้ถูกดิสเครดิตในสายตาของประชาคมนานาชาติ โดยผ่านแว่นการสังเกตการณ์ของอียู ผู้เขียนจึงอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า รัฐน่าจะกลัวว่าอียูจะรู้มากเกินไปเสียมากกว่า (ประเด็นที่ทางอียูสนใจหลักๆ มีอยู่ 7 ข้อและดูเหมือนบางข้อ ประเทศไทยจะมีปัญหาไปโดยปริยาย อย่างเช่น เรื่องเสรีภาพของพรรคการเมืองและผู้สมัครที่จะแสดงความคิดเห็น การเข้าถึงงบประมาณของรัฐอย่างเป็นธรรมโดยกลุ่มต่างๆ และระดับความเป็นประชาธิปไตยของการจัดการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งความเป็นกลางของ กกต.)


ทหารเก่าอย่างเช่น พล.อ.สายหยุด เกิดผล ซึ่งเป็นรองประธานมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ก็ยังอดไม่ได้ที่จะออกมาวิจารณ์การลงประชามติเมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า อาสาสมัคร 4,000 คนในพื้นที่ 41 จังหวัดขององค์กรกลางฯ รายงานว่ามีความชัดเจนว่า "ทหารได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติ" และยังเตือนต่อไปว่า การกระทำเช่นนี้จะกระทบต่อทหารและผู้นำทหารที่เคยให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่าจะไม่สืบทอดอำนาจ (องค์กรกลางสรุป ทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการประชามติชัดเจน, 26 ส.ค., ประชาไท)


ในขณะเดียวกันเมื่อนายประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พูดเมื่อกลางอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องยกเลิกกฎอัยการศึกใน 35 จังหวัด ก่อนการเลือกตั้ง ถึงแม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำเช่นนั้น ส่วน กกต. นั้นก็เป็นกลางมาก โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับทหารถึง 2 คน แถมปัจจุบันอีกหนึ่งคนก็ยังอยู่ในคณะกรรมาธิการดูแลกฎหมายลูก 3 ฉบับซึ่งรวมถึงกฎหมายว่าด้วยองค์กรตัวเอง ก็คือ กกต.


2.แต่รัฐทหารก็แสบมิเบาเพราะถือโอกาสเล่นเกมปลุกกระแสคลั่งชาติ (nationalistic card) โดยบรรดาผู้นำที่แต่งตั้งโดยทหาร เรียงคิวกันออกมาวิพากษ์อียู ยกตัวอย่างเช่น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภาโจ๊ก สนช. ได้พูดเมื่อวันพุธว่า อียูไม่ใช่ยูเอ็น ทำให้ผู้เขียนนึกถึงตอนทักษิณพูดว่า ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ


กระแสคลั่งชาตินี้เป็นไพ่ที่บรรดาเผด็จการนิยมชมชอบและมักใช้เพื่อที่จะให้คนในประเทศของตนที่ถูกกดขี่ ลืมถึงการกดขี่ภายในประเทศชั่วคราว งานนี้ดูเหมือนได้ผลในระดับหนึ่ง เพราะคนไทยประเภทชาตินิยมคงพอใจที่รัฐบาลทหารกล้าประกาศกร้าวไม่เอาอียูจนรู้สึกภูมิใจและลืมไปชั่วขณะว่า แท้จริงแล้วพวกตนได้ตกเป็นเบี้ยล่างของทหารและกลุ่มผู้อุปถัมภ์สนับสนุนทหาร เพราะมัวฟังเพลง รักกันไว้เถิด เสียเพลิน (จริงๆ แล้วเนื้อเพลง รักกันไว้เถิด เราเกิดร่วมแดนไทย ควรเปลี่ยนเป็น รักกันไว้เถิด เราเหยียบย่ำยีกันเอง)


3.สำหรับอียูนั้น นี่คือการแสดงศักยภาพในฐานะกลุ่มประเทศมหาอำนาจระดับรองที่ต้องการมีบทบาทส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ รวมถึงสะสมบารมีเครดิตกลุ่มประเทศตัวเองในฐานะคนผิวขาวผู้ต้องมีภาระช่วยเหลือประเทศที่ด้อยกว่าทางด้านเสรีภาพประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เสมือนหนึ่งผู้มีการศึกษาอยากช่วยคนไร้การศึกษาให้อ่านออกเขียนได้ และเลือกตั้งเป็น (ถือเป็นนิสัยอดีตประเทศล่าอาณานิคมที่เลิกลำบาก เลิกยากกว่าเลิกยาเสียอีก)


ในวันพฤหัสบดี ผู้เขียนได้มีโอกาสถามตัวทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย นายอันโทนิโอ เดอ ฟาเรีย อี มายญา ว่า ทำไมไม่เปิดเผยรายละเอียดเอ็มโอยู เพราะเกิดความเข้าใจทางลบผ่านสื่อบางฉบับที่ได้รับข้อมูลบางส่วนที่อ้างว่าเป็นเอ็มโอยู (น่าจะเป็นการวางยาปล่อยข้อมูลโดยทางรัฐไทย) นั้นมีข้อตกลงบางส่วนเป็นลักษณะละเมิดอธิปไตยไทย เช่น คณะสังเกตการณ์สามารถเข้าร่วมฟังประชุมของ กกต. ได้ทุกครั้ง (ดูโพสต์ทูเดย์ฉบับวันพฤหัส 30 ส.ค.) ท่านทูตตอบว่า ในเมื่อการเจรจายังไม่สิ้นสุด รายละเอียดของเอ็มโอยูจึงปรับเปลี่ยนได้และไม่อยากเปิดเผยในตอนนี้


พอไปดูลิสต์ประเทศที่สหภาพยุโรปเคยส่งคณะสังเกตการณ์การเลือกตั้งไปก็ไม่แปลกใจว่าเมืองไทยตกต่ำลงไปมากในเรื่องประชาธิปไตย เพราะประเทศที่อียูไปนั้นล้วนแต่มีปัญหาล้าหลังเป็นส่วนใหญ่ เช่น อัฟกานิสถาน เอธิโอเปีย เซียราโลน มาลาวี โทโก แทนซาเนีย ติมอร์ตะวันออก เขมร เคนยา กัวเตมาลา รวันดา โมซัมบิก ฯลฯ …คงถึงคิวไทยภายใต้ท้อปบู้ตแล้วล่ะ


ก็แปลว่า ประเทศไทยนั้นตกต่ำลงไปถึงขนาดประเทศที่เอ่ยนามมาข้างต้นแล้ว นี่คือราคาค่างวดของการก่อรัฐประหาร อย่างที่ประเทศไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะยอมเซ็นเอ็มโอยูหรือไม่ก็ตาม ดูเหมือนประเทศไทยกำลังเดินทางสู่เส้นพัฒนาการทางการเมืองแบบย้อนยุค โดยมีทหารและกลุ่มแนวร่วมเป็นใหญ่


ผู้เขียนยังได้ถามตัวทูตโปรตุเกสอีกว่า ทำไมจึงต้องการมาเมืองไทยในครั้งนี้ และทำไมจึงเป็นครั้งแรกสำหรับประเทศไทย ท่านทูตตอบว่า เป็นเพราะประเทศไทยอยู่ในระหว่างทางผ่านกลับคืนสู่ประชาธิปไตย


นั่นเป็นคำพูดแบบนักการทูต หากผู้เขียนจะตีความเป็นภาษาชาวบ้านก็คงต้องบอกว่า สนใจมาสังเกตการณ์ในเมืองไทย เพราะตอนนี้เมืองไทยไม่มีประชาธิปไตยนั่นเอง   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net