Skip to main content
sharethis



 


ประชาไท - 31 ส.ค.50 วานนี้ (30 ส.ค.) พนักงานโรงงานอินเตอร์โมด้า ตั้งอยู่ที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี หลายร้อยคนชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลปัญหานายจ้างปิดโรงงาน ทำให้คนงานถูกลอยแพกว่า 363 คน และไม่ได้รับค่าชดเชย โดยคนงานถือป้ายประท้วงเขียนข้อความอาทิ "ขิงแก่ แย่จัง โรงงานพัง คนงานตกงาน" "ถ้าปิดกิจการ จะเอาเงินที่ไหนให้ลูกเรียน" "อนาคตหมดเพราะรถถังเหยียบ"


 


โดยนายอนันต์ เงินกระแซง ประธานสหภาพแรงงานอินเตอร์โมด้า ได้ทำจดหมายร้องเรียนไปยัง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี โดยระบุว่าบริษัทดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 39 หมู่ 15 ค.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานีนั้นได้ดำเนินการปิดโรงงานโดยอ้างมาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อย่างผิดขั้นตอน เพราะไม่มีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ๆ รับผิดชอบในพื้นที่ได้รับทราบและออกความเห็นก่อนล่วงหน้า ไม่มีการพูดคุยองค์กรตัวแทนลูกจ้างก่อนดำเนินการ มีการปิดประกาศขณะที่ลูกจ้างกำลังเดินทางกลับหลังเลิกทำงานในวันปกติ และกระทำการอย่างไม่เป็นที่น่าไว้ใจกับคนงานโดยการแอบขนเครื่องจักร และวัสดุ อุปกรณ์ ในการผลิต ออกจากโรงงานในขณะที่ประกาศปิดโรงงาน เมื่อมีการร้องขอให้เจรจาพูดคุยเพื่อหาข้อยุติร่วมกันโดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในพื้นที่ กลับพูดโกหกกับเจ้าหน้าที่และตัวแทนของคนงาน


 


โดยทางสหภาพแรงงานได้ขอให้นายกรัฐมนตรีออกคำสั่ง เพื่อสร้างความมั่นใจกับคนงานว่านายจ้างจะไม่พูดโกหกอีก โดยขอให้นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งให้ 1.ให้นายจ้างนำเงินค่าชดเชยทั้งหมดที่จะต้องจ่ายให้กับคนงานเมื่อถูกเลิกจ้าง ไปฝากไว้กับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ปทุมธานี 2.ให้ประกาศยกเลิกมาตรา 75 (ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) และ 3.ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ในกรณีที่สั่งให้คนงานหยุดงานในวันที่ปิดกิจการชั่วคราว


 


นายอนันต์ยังกล่าวปราศรัยด้วยว่า "ความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานครั้งนี้ คงจะได้รับการแก้ไขจากรัฐบาล พวกเราไม่ใช่คนมีเงินมีกะตังค์ จะได้มานั่งที่นี่ได้ทุกวันแล้วสั่งอาหารอร่อยๆ มากิน เงินเดือนพวกข้าราชการขึ้นเอาๆ แต่ลูกจ้างได้แค่ค่าแรงขั้นต่ำ 5 พันบาท จะเอาเงินที่ไหนมากิน"


 


 


 


สำหรับ บริษัทอินเตอร์โมด้า จำกัด ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 39 หมู่ 15 ซ.คลองสี่ตะวันออก 73 ต. คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ส่งออกยังประเทศในยุโรป มีนายวสันต์ อัศวสถิตย์พร เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทดังกล่าวตั้งขึ้นเมื่อ 5 มีนาคม 2546 ปัจจุบันมีลูกจ้างจำนวน 363 คน ร้อยละ 85 เป็นคนงานหญิง โดยเฉลี่ยอายุของคนงานคือ 30-50 ปี และอายุการทำงานของคนงานส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยประมาณ 4 ปี ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำคือวันละ 191 บาท หรือ 4,966 บาท ต่อเดือน


 


โดยเหตุปิดโรงงานเกิดเมื่อวันที่18 ส.ค.2550 โดยทางบริษัทเริ่มขนย้ายเครื่องจักรราคาแพงออกจากโรงงานและในวันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม 2550 เวลา 17.00 น. (ช่วงเลิกงาน) นายจ้างได้ปิดประกาศสั่งปิดงานตั้งแต่วันที่ 27-31 สค. 2550 โดยอ้างว่า ยอดการสั่งซื้อจากบริษัทลูกค้าต่างประเทศที่เคยสั่งซื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง และประสบปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งตัว จึงสั่งให้คนงานหยุดงานและจะจ่ายค่าจ้าง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทางสหภาพแรงงานระบุว่าตามกฎหมายไม่สามารถทำได้


 


หลังจากที่บริษัทสั่งหยุดงานชั่วคราว ทางบริษัทได้รีบทำการขนย้ายเครื่องจักรจำนวนมากออกจากบริษัททั้งเวลากลางวัน และกลางคืน ไปยังบริษัทในเครือ คือบริษัทเจวา ที่ กรุงเทพฯ และ บริษัทเจวา เอ็น อี ที่ นครราชสีมา ทำให้ฝ่ายผู้ใช้แรงงานเห็นว่าพฤติกรรมนายจ้างดังกล่าวเป็นการขนเครื่องจักรย้ายหนีคนงาน และจะปล่อยลูกจ้างลอยแพ และเกรงว่านายจ้างอาจไม่จ่ายเงินค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง ดังนั้นสหภาพแรงงานอินเตอร์โมด้าจึงได้ทำการชุมนุมอยู่ที่หน้าโรงงาน และได้แจ้งไปยังสำนักงานสวัสดิการ และคุ้มครองจังหวัดปทุมธานีให้เข้ามาดูแล เจ้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯ นัดนายจ้างประชุมเพื่อยุติปัญหา ที่ห้องประชุมของบริษัทอินเตอร์โมด้าจำกัด ในวันที่ 27 ส.ค. 2550 เวลา 09.00 น.


 


ต่อมานายจ้างขอนัดเป็นเวลา 10.00 น. ตามวันเวลาสถานที่ดังกล่าว โดยอนุญาตให้ผู้แทนของสหภาพแรงงานเข้าร่วมประชุมด้วย แต่เมื่อถึงวัน เวลา ดังกล่าว ฝ่ายนายจ้างกลับไม่ยอมมาเจรจาตามที่นัดไว้ ลูกจ้างรอจนถึงเวลา 15.00 น. นายวสันต์ อัศวสถิตย์พร เป็นกรรมการผู้จัดการ ก็ไม่ยอมมาเจรจา แต่ส่งทนายและฝ่ายบริหารรวม 3 คน มาเจรจากับลูกจ้างแทนตน ที่ห้องประชุมสำนักงานสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน จ.ปทุมธานี ผลการเจรจา นายจ้างตกลงว่าจะขอขนเพียงผ้าสำเร็จรูปส่วนที่เหลือออกไปขาย แต่จะไม่ขนเครื่องจักรออกไป โดยให้ทางสหภาพแรงงานตรวจสอบได้ และยินยอมให้เจ้าหน้าที่ สนง.สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯ กับสหภาพแรงงานฯ เข้าตรวจสอบทรัพย์สินได้ในวันที่ 29 ส.ค.2550 เวลา 10.00 น. ส่วนค่าจ้างในวันที่ 27-31 ส.ค.2550 ลูกจ้างขอให้จ่ายเต็มตามกฎหมาย ฝ่ายบริษัทฯบอกว่าขอไปปรึกษานายวสันต์ก่อน แต่เมื่อถึงวันที่ 28 ส.ค.2550 เวลา 10.00 น. เมื่อสหภาพแรงงานตรวจค้นรถขนผ้าของบริษัทฯ ได้พบว่าฝ่ายนายจ้างได้แยกชิ้นส่วนเครื่องจักรให้มีขนาดเล็กลง และซุกซ่อนไว้ใต้กองผ้าเพื่อตบตาคนงาน และในวันที่ 29 ส.ค.2550 นายวสันต์ ยังคงไม่มาเจรจากับลูกจ้างอีกเช่นเคย


 



 


จึงนำมาสู่การเคลื่อนไหวหน้าทำเนียบรัฐบาลดังกล่าว โดยฝ่ายสหภาพแรงงานอินเตอร์โมด้าระบุวัตถุประสงค์ผ่านแถลงการณ์ว่า "เพื่อให้ประชาชนรับทราบและเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามารับผิดชอบ ว่าสิ่งที่ลูกจ้างสร้างความร่ำรวยให้แก่นายจ้างมาโดยตลอดนั้น นายจ้างกำลังจะตอบแทนด้วยการลอยแพคนงาน ไม่ใช่คนงาน 363 คนเท่านั้นที่ถูกลอยแพ เด็กๆจำนวนมากมาย ที่ต้องถูกลอยแพไปด้วย เพราะคนงานจำนวน 90 เปอร์เซ็นต์ มีลูกที่กำลังอยู่ในวัยเรียน เด็กเหล่านั้นจะเป็นอนาคตของชาติได้อย่างไร เมื่อพ่อ แม่ไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน ในขณะที่รัฐบาลชุดนี้บอกกับทุกคนในประเทศว่ากลุ่มตนเข้ามาเพื่อต้องการทำให้ประเทศพ้นวิกฤต แต่ปัญหาของคนงานอินเตอร์โมด้าเป็นอีกหนึ่งปัญหา ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้พ้นวิกฤตจริงอย่างที่พยายามโฆษณา"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net