Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 30 สิงหาคม 2550 ที่ห้องบุษราคัม โรงแรมมายการ์เดนส์ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ภาคใต้) จัดเสวนาโต๊ะกลม เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนกับการปฏิรูปสังคมและการเมืองเจาะลึก (ร่าง) พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร มุมมองและทางออกความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 70 คน


 


ผู้ร่วมเสวนาส่วนใหญ่เห็นว่า ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว 3 ฉบับ คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารราความอาญา พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ส่งผลให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนในพื้นที่ หากร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.... มีผลบังคับใช้ จะยิ่งเปิดช่องให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น


 


นายอับดุลอาซิส ตาเดอินทร์ ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) กล่าวว่า การร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้นมา อาจมาจากความต้องการจะสืบทอดอำนาจของคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง เป็นความคิดที่นำสังคมไทยย้อนยุคกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพราะมีส่วนผสมของกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ผสมผสานเข้ากับพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก แต่ดูแล้วหนักกว่า เพราะจะทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน พร้อมกับยกตัวอย่างการเสียชีวิตของเยาวชนจากอำเภอยะหา จังหวัดยะลา ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ซึ่งถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เนื่องจากได้รับบาดเจ็บระหว่างถูกควบคุมตัว โดยใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548


 


นายอับดุลอาซิส กล่าวว่า ปัจจุบันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากจะประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 7 วันแล้ว ยังประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้อีก 30 วัน พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่มีอำนาจฝากขัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอีก 84 วัน ถ้าหากร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้ นอกจากห้ามเยี่ยม ห้ามประกันแล้ว เจ้าหน้าที่ยังสามารถควบคุมตัวได้ยาวนานกว่ากฎหมายทุกฉบับที่ใช้อยู่ในขณะนี้ด้วย


 


"ขณะนี้ยังมีการออกระเบียบหรือหลักปฏิบัติละเมิดสิทธิของประชาชนอีกหลายประการ เช่น ขณะนี้การประกันตัวผู้ต้องหาในบางพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส หากใช้ที่ดินไม่อยู่ติดถนน เจ้าหน้าที่จะไม่ยอมให้ใช้ประกันตัวผู้ต้องหา ถึงแม้ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดก็ตาม" นายอับดุลอาซิซ กล่าว


 


นายอับดุลอาซิซ กล่าวอีกว่า ปัญหาการประกาศใช้กฎหมายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งเกิดจากวุฒิภาวะของผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ทหารพรานที่มีการศึกษาน้อย ส่งผลให้มีวุฒิภาวะทางสังคมน้อยมาก ไม่มีสถานะที่มั่นคงทางสังคม เจอใครในสถานการณ์ความรุนแรงก็มองว่าเป็นคนร้ายไปหมด เช่น กรณีที่ทหารพรานกลุ่มหนึ่งในอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี จับครูคนหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุระเบิด แล้วรุมทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส ต่อมาทหารหลักเดินทางมาถึงจึงห้ามไว้


 


นายอับดุลอาซิซ กล่าวต่อไปว่า มองอีกแง่หนึ่ง ตนก็อยากจะให้ร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. ... มีผลบังคับใช้ เพราะจะทำให้เกิดการลุกขึ้นสู้ของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้ามีการบังคับใช้จริง จะเสนอให้ตั้งองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจภาคประชาชน ขึ้นมาตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะคิดว่าการละเมิดจะมากขึ้นและรุนแรงขึ้น  ถ้าไม่มีองค์กรตรวจสอบก็จะยิ่งมีการละเมิดมากขึ้น


 


นายโชคชัย วงษ์ตานี อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า การใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ส่งผลกระทบต่อประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาก เช่น ที่หมู่บ้านปาแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ในช่วงมีเหตุการณ์รุนแรง ทหารเข้ามาตั้งด่านตรวจทั้งทางเข้าและทางออกหมู่บ้าน คนทุกคนที่ผ่านด่านทหารจะจดบันทึกว่าเข้า - ออกเวลาไหน นำสิ่งของอะไรไปด้วย และต้องแลกบัตรประชาชน


นายโชคชัย กล่าวว่า จากการสอบถามทหารที่ตั้งด่าน บอกว่าเป็นหมู่บ้านที่มีแนวร่วมก่อความไม่สงบจำนวนมาก   ชาวบ้านที่จะผ่านไปไหนมาไหนต้องถูกตรวจค้นทั้งหมด รวมทั้งทหารสามารถเข้าตรวจสอบบ้านหลังไหนก็ได้ คำถามก็คือ ประชาชนถูกคุกคามมากไปหรือไม่ ซึ่งในวัฒนธรรมอิสลามนั้น หากมีคนมาให้สลาม(การกล่าวทักทายของมุสลิม) ต่อคนที่อยู่ในบ้านถึง 3 ครั้ง ถ้าไม่มีเสียงตอบรับ จะเข้าไปในบ้านไม่ได้ แต่การใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ กำลังทำให้วัฒนธรรมส่วนนี้สูญหาย


 


นายแวรอมาลี แวบูละ เปิดเผยว่า จากการสำรวจของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พบว่า ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความมั่นคงของมนุษย์อยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก ถ้าร่างพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ จะยิ่งซ้ำเติมประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย เนื่องจากปัจจุบันประชาชนอยู่ในสภาวะไม่ปกติอยู่แล้ว ประชาชนร้อยละ 80 - 90 อยู่ในสภาพเดือดร้อนในการทำมาหากิน


 


นางสาวมลฑิรา มลิวัลย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชั้นปี 3 กล่าวว่า ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทวีความรุนแรงขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปี แต่เปลี่ยนแปลงและทำลายความมั่นคงและสันติภาพของชุมชน ตอนนี้เหตุการณ์เข้ามาถึงตัวของตนแล้ว เนื่องจากปู่และย่าถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต คำถามคือ ทหารมาพร้อมกับความมั่นคงจริงหรือไม่ มีศักยภาพพอเพียงหรือไม่ที่จะรักษาความมั่นคง การกระทำต่างๆ ของทหาร ไม่มีคำตอบให้กับชาวบ้าน แสดงให้เห็นว่าปัญหาสำคัญคือการสื่อสาร ที่ผ่านมาสิ่งที่ทหารสื่อสารไม่ใช่ทางวาจา แต่เป็นการกระทำที่ผิดพลาดทำให้ผู้คนเดือนร้อน


 


นายบรรจง นะแส เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ กล่าวว่า ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ มี 2 ประเด็นที่จะต้องพิจารณาคือ ทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เกี่ยวข้องกับฐานทรัพยากรธรรมชาติที่มีความผิดพลาด เช่น การให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าประมงมากกว่าเศรษฐกิจชุมชน ความไม่เข้าใจทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับสังคม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เช่น กรณีที่ดินวากัฟ ในโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในมิติทางศาสนา


 


นายบรรจง กล่าวต่อไปว่า ประเด็นต่อมาคือ ทิศทางการพัฒนาประเทศ การพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจพอเพียง ถือเป็นทางรอดของประเทศ แต่สิ่งที่พบคือ การถือครองที่ดินของคนในประเทศนี้ไม่เท่าเทียมกัน นักการเมืองและนักธุรกิจจะเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ หากพูดเรื่องความมั่นคงแต่ไม่พูดถึงความเป็นธรรมในการถือครองเครื่องการผลิต ก็จะไม่ก่อให้เกิดความมั่นคงได้


 


"ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยกับรัฐ หรือมีการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม ก็ออกมาเดินขบวนออกมาเคลื่อนไหวภายใต้สิทธิเสรีภาพที่อยู่ในกรอบ ยืนยันว่าเราไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้าย ใช้หลักธรรมคำสอนทางศาสนาของแต่ละศาสนาเป็นหลักยึด" นายบรรจง กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net