Skip to main content
sharethis


ผศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าจากการศึกษาเรื่องการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติในประเทศไทย โดยการสนับสนุนของ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พบว่า จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2549 มีจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 35.5 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในระบบที่หมายถึงผู้ได้รับความคุ้มครองจากระบบหลักประกันทางสังคม เช่น ข้าราชการ ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 13.68 ล้านคน ที่เหลือเป็นแรงงานนอกระบบ 21.81 ล้านคน ซึ่งจะกระจายอยู่ในกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้อย่างละ 1.18, 438, 4.70, 8.75 และ 2.79 ล้านคนตามลำดับ โดยในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างด้าวประมาณ 3 ล้านคน


 


การขยายหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพไปสู่แรงงานนอกระบบโดยใช้กลไกอาชีพ กลไกศาสนา หรือกลไกชุมชนที่เป็นแบบระบบสมัครใจ นอกจากไม่อาจรับรองได้ว่าจะมีคนรุ่นใหม่มาเข้าสู่ระบบตลอดเวลาแล้ว ความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวยังขึ้นกับโครงสร้างประชากรเป็นหลัก ดังนั้นการขยายผลระบบบำนาญของภาคประชาชนจึงควรทำในรูปออมทรัพย์ เนื่องจากจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรหรือการย้ายถิ่นของประชากร


 


"รัฐบาลต้องเร่งเข้ามาจัดการปัญหาหลักประกันด้านรายได้ที่ภาคชุมชนหรือภาคประชาชนกำลังประสบนี้อย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยมีระบบการสงเคราะห์เพื่อการยังชีพสำหรับผู้สูงอายุหรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เป็นมาตรการคุ้มครองผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาสจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว การขยายผลจากมาตรการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยการแปลงให้เป็นเงินบำนาญพื้นฐาน โดยให้เป็นเงินก้อนคงที่สำหรับผู้สูงอายุทุกคนนั้นจะส่งผลให้ระบบนี้สอดคล้องกับระบบบำนาญเดิม" ผศ.ดร.วรเวศม์กล่าวและว่า แต่ระบบนี้ต้องคำนึงถึงภาระทางการคลังของรัฐบาลในระยะยาว ถ้าจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงการขาดการมีส่วนร่วมรับผิดชอบของประชากร


 


นอกจากนั้นรัฐบาลยังสามารถสนับสนุนให้มีการจัดตั้งระบบบำนาญสำหรับแรงงานนอกระบบในแต่ละกลุ่มอาชีพ หรือแรงงานนอกระบบแต่ละพื้นที่ได้ด้วย


 


ทั้งนี้ การจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติที่มีกลไกรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราเงินเฟ้อ ไม่เพียงจะป้องกันไม่ให้บำนาญที่ได้รับลดมูลค่าลง หากยังสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเห็นความสำคัญของระบบบำนาญแห่งชาติ แม้ว่าระบบบำนาญแห่งชาติแบบนี้พวกเขาจะต้องจ่ายเงินสมทบก็ตาม ขณะที่ระบบบำนาญพื้นฐานแบบอื่น รัฐบาลจะจ่ายให้พวกเขาโดยใช้แหล่งรายได้จากภาษีอากรเป็นหลัก


 


"อย่างไรก็ตาม การจัดหาเงินทุนเพื่อจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติทั้งสองแบบนี้ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก หากข้อแตกต่างสำคัญกลับอยู่ที่ว่าสังคมจะเลือกปรัชญาการช่วยเหลือแบบให้รัฐบาลสวมบทบาทเป็นผู้หยิบยื่น หรือรัฐบาลเป็นคนกลางผู้ประกันรายได้ โดยสังคมเลือกจุดยืนพึ่งตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในสังคม" 


 


ผศ.ดร.วรเวศม์กล่าวต่อว่า ถ้าระบบบำนาญแห่งชาติเป็นระบบบำนาญแบบบังคับ ฉะนั้นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเล็งเห็นความสำคัญและสมัครเข้าสู่ระบบบำนาญจะต้องมีแรงเสียดทานจากสังคมน้อยที่สุด อีกทั้งยังต้องสัมพันธ์กับมาตรการการเงินการคลังของรัฐบาลในระยะยาวอีกด้วย โดยอาจเริ่มต้นคล้ายระบบบำนาญแห่งชาติของประเทศเกาหลีใต้ที่ขยายผลจากแรงงานในระบบในสถานประกอบการใหญ่ กลาง และเล็ก ไปสู่เกษตรกรชาวประมง และผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวในพื้นที่เกษตรและประมง จนท้ายที่สุดขยายผลไปสู่ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวในเขตเมือง ลูกจ้างในสถานประกอบการขนาดย่อม รวมถึงลูกจ้างทำงานชั่วคราวและรายวัน


 


"อย่างไรก็ตาม จะมีประชากรจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยในกลุ่มแรงงานนอกระบบประสบปัญหาในการสมทบเงินเข้าสู่ระบบ อย่างในประเทศเกาหลีที่รัฐบาลจะอุดหนุนเงินสมทบให้แก่เกษตรกรและชาวประมง 2,200 วอน/คน/เดือน ถือเป็นการกระจายรายได้ให้เกิดขึ้นในระบบ ต่างจากญี่ปุ่นที่จะจ่ายเงินให้กับผู้รับบำนาญในสัดส่วน 1 ใน 2 ของรายจ่ายเงินบำนาญ ซึ่งจะทำให้ระบบประกันสังคมสูญเสียบทบาทการประกันสังคมเพราะเท่ากับไปอุดหนุนคนมีฐานะดีไปพร้อมๆ กัน"     


 


ผศ.ดร.วรเวศม์กล่าวทิ้งท้ายว่า เพื่อให้เกิดแรงจูงใจของประชาชนในการเข้าร่วม นอกจากสิทธิประโยชน์บำนาญที่ต้องตอบแทนแล้ว ระบบบำนาญแห่งชาติอาจเสริมสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อให้สมาชิกเห็นคุณประโยชน์ของการออมเงินเพื่ออนาคต เช่น กรณีบำนาญทุพลภาพที่จะต้องจำกัดเฉพาะกรณีที่ระดับรุนแรง และการเพิ่มเงินกรณีมีบุตร ส่วนบำนาญตกทอดนั้นจะให้เฉพาะกับบุตรหรือภรรยาที่มีบุตร


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net