Skip to main content
sharethis

เรียบเรียงโดย บำเพ็ญ ไชยรักษ์


กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา


wunjunre@yahoo.com


 


 


 


เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2550 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดเวทีสาธารณะเรื่อง "การพัฒนาอุตสาหกรรมเกลือและเหมืองแร่โปแตชบนเส้นทางเศรษฐกิจพอเพียง" ทั้งนี้ ได้มีการถกเถียงปัญหาการพัฒนาอุตสาหกรรมเกลือและเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสานที่ผ่านมาและที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จากความไม่พร้อมของประเทศไทย ทั้งในด้านเทคโนโลยี กฎหมาย การควบคุม กระบวนการมีส่วนร่วม ที่ยังนับว่ายังอ่อนด้อยซึ่งจะก่อปัญหาตามมาในภายหลัง จึงมีข้อเสนอให้หยุดการดำเนินการออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจในพื้นอีสาน (ใบอนุญาตสำรวจ) หรือประทานบัตรทำเหมือง (ใบอนุญาตทำเหมือง)โดยต้อง รื้อกฎหมายแร่ หยุดศึกษาผลกระทางยุทธศาสตร์ก่อนดำเนินการใดๆ รายละเอียดความคิดเห็นจากวิทยากร ในเวทีดังกล่าวมีข้อนำเสนอถึงแนวทางที่สังคมไทยควรดำเนินการก่อนสังคมสิ่งแวดล้อมอีสานจะวิบัติ


 


สงครามแย่งชิง "เกลือ" ความวิบัติของสังคมไทย


ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชม กล่าวว่า เรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเกลือรวมทั้งอุตสาหกรรมแร่โปแตชมันอันตราย มีความเห็นว่าสังคมไทยกำลังเดือดร้อนเรื่องเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมเกลือ-โปแตชจะช่วยแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจแต่ไม่พูดถึงสังคม หากมัวแต่แก้ปัญหาเศรษฐกิจก็จะไปเจอสังคมวิบัติ เหมือนกันกับที่เกิดขึ้นที่ภาคใต้เป็นตัวอย่างการแก้เศรษฐกิจอุตสาหกรรมทุกอย่างที่ลงไปที่ภาคใต้ทำให้สังคมวิบัติและรัฐบาลก็ไม่มีน้ำยาจะแก้ นั่นคือความวิบัติของชาติที่จะลุกลามไป เกลือจะเป็นสาเหตุหนึ่งแห่งความวิบัติของภาคอีสานเช่นเดียวกับภาคใต้ และไม่มีทางจะแก้ได้อันนี้น่ากลัวมาก


 


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งเกลือที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีประสบการณ์สูงทำเกลือมานานแล้วแต่ไม่ใช่อุตสาหกรรมแบบไร้เวลา หรือทำตลอดวันตลอดคืนเช่นปัจจุบัน เกลืออีสานดึงดูดผู้คนหลายกลุ่มเหล่าเข้ามา พบแหล่งเกลือโบราณมากมาย พบเนินเกลือที่มีอายุกว่า 2000 ปี เพราะเกลือมีความสำคัญมากในภูมิภาคนี้ แต่สิ่งแวดล้อมและสังคมรอดพ้นภัยพิบัติมาได้เพราะรู้จักเวลาและพื้นที่ จึงสามารถควบคุมได้ โดยคุมด้วยเวลาทำอย่างมีกาลเทศะเป็นฤดูกาล ฤดูกาลไหนจะทำเกลือฤดูกาลไหนจะงดให้ธรรมชาติมันฟื้นฟูขึ้นมา ผิดกับการทำอุตสาหกรรมเกลือในปัจจุบันที่ทำลายพื้นที่และสร้างความเจ็บปวดเสียหาย ให้ท่านไปดูที่ อ.โนนไทย โนนสูง ด่านขุนทด บรบือ เกลือเหล่านั้นทำให้ดินทรุด อีสานพังแล้ว เช่น ที่ อ.บ้านดุง ที่เป็นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ก่อนนั้นบนเปื้อนไม่กี่ไร่ แต่ปัจจุบันขยายออกเป็นหลายพันไร่ขาวโพลนไปจนลำน้ำทวน ขุดเกลือเจาะน้ำเกลือมาทำนาเกลือขาย นาเกลือเป็นแบบการทำเหมืองแร่ทำแล้วเสียไป แต่นาข้าวทำแล้วก็ทำได้อีก


 


ผาแดงนางไอ่ นิทานปริศนาธรรมเรื่องความโลภ


ศรีศักร วัลลิโภดม เล่านิทานเปรียบเทียบว่า มีนิทานพื้นบ้านเรื่องผาแดงนางไอ่ ที่พูดถึงความล่มจมของหนองหาน ความวิบัติของบ้านเมือง ที่จมไปเพราะความชั่วร้ายของคน นิทานนี้เป็นปริศนาธรรม "กระลอกด่อน" (กระลอกเผือก) ในเรื่องนั้นคือเกลือเพราะมันมีสีขาว เรื่องมีอยู่ว่าลูกสาวเจ้าเมืองคนหนึ่งมีคนรักเป็นคนต่างถิ่นมาพลอดรักกันริมหนองหานเห็นกระลอกสีขาว (กระลอกด่อน) ซึ่งเป็นลูกนาคแปลงกายมา นาคซึ่งเป็นผู้บันดาลทั้งความสมบูรณ์และล่มจนให้แก่แผ่นดิน พอเห็นสาวไอ่ก็ชอบใจมันสวยดี ฝ่ายผู้ชายอยากเอาใจก็ใช้หน้าไม้ไปยิงจนมันตายแล้วเนื้อก็ขยายออกชาวเมืองมาเฉือนเนื้อกินแบ่งกันไปกินอย่างโอชะ เหลือเพียงแม่ม่ายไม่ได้กิน คืนนั้นพญานาคจากเมืองบาดาลจึงขึ้นมาทำลายเมืองจนลมจม ผาแดงนางไอ่ก็ไม่รอด รอดแต่แม่ม่ายที่ไม่กินเนื้อ เป็นตำนานหนองหานกุมภวาปีและหนองหานสกลนคร "เกลือ" คือความชั่วร้ายที่จะทำลายบ้านเมือง การทำเหมืองแร่เกลือและโปแตชคือการกินกะลอกด่อนเพราะความโลภที่จะนำความวิบัติมาให้บ้านเมือง


 


"ชีวิตของคนเป็นเรื่องสำคัญ แต่เรามองแต่เศรษฐกิจในเชิงผลิตเพื่อตอบสนองเศรษฐกิจโลก


เป็นอันตราย ขณะที่ที่ภาคใต้ไม่ใช่เรื่องการแบ่งแยกดินแดนแต่เป็นการแย่งชิงทรัพยากรเขาจนขีดสุดมันสะสมกันเข้ามา"


 


ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเพราะฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ไม่มีทางแก้ไขได้ ในเรื่องปัญญาสิ่งแวดล้อมหลายคนบอกว่าอาจจะควบคุมได้ แต่เรื่องความขัดแย้งเราควบคุมไม่ได้ ที่ภาคใต้คนในสังคมก็คนฆ่ากันเองเพราะแย่งทรัพยากร เรื่องที่ว่าทุกอย่างเป็นของ "รัฐ" นั้นในทางปฎิบัติทุกอย่างเป็นของ "รัฐบาล" ที่มีปัญหาเรื่องคอรัปชั่น ประเทศเราพังเพราะเรื่องนี้มามาก รัฐบาลที่เป็นโจรยังเข้ามาเป็นได้เราจะไว้ใจได้อย่างไร รัฐบาลเราทำผิดมาตลอดเรื่องการรวมศูนย์อำนาจ ท้องถิ่นคือเจ้าของทรัพยากร คนในท้องถิ่นเป็นเจ้าของ ท้องถิ่นที่ประกอบด้วยชุมชนหลาย ๆ ท้องถิ่น มาดูแลทรัพยากรร่วมกัน ถ้าท้องถิ่นยังไม่อาจดูแลทรัพยากรท้องถิ่นได้ก็ทำเหมืงอแร่ไม่ได้ ท้องถิ่นจะต้องยืนยันทธินั้นก่อน จัดการด้วยความเข้มแข็งจากภายใน


 


ทำงานเหมืองแร่…ทุขลาภด้านสุขภาพ


เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีไม่มีการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ไม่มีข้อมูลพื้นฐานทางสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ มีแต่หัวข้อไม่มีข้อมูลเรื่องสถานทางสุขภาพของประชาชนอยู่เลย ทำให้การศึกษาผลกระทบดังกล่าวบกพร่องจนต้องยกเลิกไปในที่สุด


 


"สุขภาพ" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความเจ็บป่วยอย่างเดียว แต่หมายถึงภาวะที่สมบูรณ์ของมนุษย์ทั้งทางกาย สังคม ปัญญา มิใช่ความเจ็บป่วยอย่างเดียว แต่เชื่อมโยงกันอย่างสมดุลในด้านการดำรงชีวิต ด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ซึ่งสอดคล้องกับที่ได้ไปทำการศึกษาในพื้นที่ ประชาชนให้นิยามเรื่องสุขภาพว่า "อยู่ดีมีแฮง" หมายถึงอยู่ในสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีมีความเผื่อแผ่แก่กัน เป็นสุขภาพในมิติใหม่ตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 และพบว่าโครงการเหมืองแร่โปแตชอาจจะกระทบต่อสุขภาพในหลายมิติดังนี้


 


แผ่นดินยุบ จากการศึกษาการทำเหมืองแร่โปแตชในต่างประเทศ และการทำเกลือในประเทศไทยได้มีปัญหาเรื่องการทรุดตัวของแผ่นดินทุกที่ การหยุบตัวของแผ่นดินเกี่ยวกับสุขภาพจิต การดำรงอยู่ของชุมชน การทำมาหากินในที่ดิน


 


การปนเปื้อนของเกลือและสารเคมีในดิน ซึ่งการทำเหมืองโปแตชจะได้เกลือขึ้นมากองบนผิวดินขนาดใหญ่สูง 40 เมตร เป็นเกลือที่ได้จากการทำเหมืองจะขึ้นมากองเท่าภูเขาเป็นสิ่งที่ผู้คนเป็นห่วงมากเพราะอาจก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศจากฝุ่นเกลือ ซึ่งจะกระทบต่อภาคเกษตร ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของเกลือที่อาจไหลลงสู่พื้นที่การเกษตร แหล่งน้ำ ได้


 


การปนเปื้อนของเกลือและสารเคมีในน้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน ซึ่งพื้นที่ตั้งเหมืองแร่ตั้งอยู่บนพื้นที่ต้นน้ำ แหล่งน้ำบาดาลที่สมบูรณ์ซึ่งประชาชนใช้ทั้งน้ำผิวดิน และน้ำใต้ดินอุปโภคบริโภค และหากมีการทำเหมือแร่ใต้ดินในต่างประเทศหลายแห่งก็มีปัญหาเรื่องผลกระทบต่อระบบน้ำบาดาลปนเปื้อน ซึ่งจะมีผลกระทบเชื่อมโยงกับนิเวศแหล่งน้ำห้วยหนอง ไหลไปสู่หนองหานกุมภวาปี เป็นสิ่งที่จะทำให้ผลกระทบกระจายรุนแรงออกไปได้ โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบต่อน้ำบาดาล จากการทำเหมืองแร่ใต้ดินในต่างประเทศมีให้เห็นมาก


 


มลภาวะทางอากาศ จากกองเกลือ จากเครื่องจักร และการทำงานของคนทำงานในเหมืองก็จะมีความเสี่ยงในการสูดดม หรือสัมผัสสารเคมี เช่น ในใต้ดินสูดดีเซลใต้เหมืองซึ่งเมื่อสะสมมาก ๆ อาจจะเป็นสาเหตุของมะเร็งได้ และขบวนการแต่งแร่ที่จะต้องใช้สารเคมี จะมีผลต่อสุขภาวะของคนทำงานในเหมือง เรามักจะคิดว่าการทำเหมืองแร่ทำให้เกิดการจ้างงานแต่งานนั้นมีความเสี่ยง ในสภาพการทำงานและอุบัติเหตุ


            ชุมชนคนงานที่จะเกิดใหม่พร้อมเหมืองจะมีระบบสุขาภิบาลดีหรือไม่ การเกิดขึ้นของสังคมใหม่ในพื้นที่ ที่จะก่อนให้เกิดความขัดแย้ง โรคติดต่อและความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น ที่ระยอง มาตาพุต เป็นต้น มีปัญหาเรื่องสังคมและวัฒนธรรม ที่เกิดจาการมาใหม่ของนิคมคนงาน ที่อาจจะก่อให้เกิดความแตกแยกทางสังคมจากความแตกต่าง และมีการพัฒนาธุรกิจบริการที่อาจจะเกิดโรคติดต่อ เช่น เอดส์


และปัจจุบันปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นรุนแรงแม้ยังไม่เกิดเหมืองก็ตาม


 


อุตสาหกรรมเหมืองแร่.....ทุขลาภทางเศรษฐกิจ


การมองเศรษฐกิจจากเหมืองแร่ ไม่อาจมองจากรายได้ที่เกิดขึ้น มันเป็นรายได้ที่ไม่ยั่งยืนเพราะทรัพยากรที่เอามาใช้นี้ใช้แล้วหมดไปจึงไม่ควรมองระยะสั้น ว่าปีนี้ขุดมาเท่าไหร่จ้างงานเท่าไหร่ แต่ควรมองว่าประเทศเราจะซับผลผลิตแล้วนำไปลงทุนให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ได้จริงหรือไม่ การวัดแต่ตัวเลขรายได้เป็นเรื่องลวงตา ที่มันจะสิ้นสูญไปเรื่อย ๆ


 


การคิดว่าลงทุนเหมืองแร่ยั่งยืนหรือไม่ต้องคิดที่เกิด "การออมที่แท้จริง" หรือไม่ โดยต้องหักลบค่าเสื่อมราคาทุน เป็นการออมสุทธิแล้วหักลบกับทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไป ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลกระทบทางสุขภาพ ซึ่งในการทำเหมืองแร่นั้นอัตราการออมที่แท้จริงมักจะติดลบเสมอ หมายถึงรายได้ที่ได้มาไม่ได้นำมาซึ่งสินทรัพย์ที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน จากรายงานการศึกษาของธนาคารโลก ระบุว่า


 


"ประเทศใดพึ่งพิงทรัพยากรแร่มากเท่าใดการออมที่แท้จริงน้อยจนติดลบมากตามไปด้วย หมายถึง ไม่ได้มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมีแต่สูญเสียไป ประเทศที่เขาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมีการออมที่แท้จริงนั้นไม่ได้พึ่งพาจากเหมืองแร่เลย"


 


เราต้องตอบว่าการขุดแร่โปแตชขึ้นมาจะยั่งยืน หรือเป็นเพียงรายได้ระยะสั้นที่ลวงตาเท่านั้น ตัวอย่างกรณีเหมืองแร่ทองคำแห่งหนึ่งที่ขุดมา 4 ปีแล้ว


 


"ต่างชาติเขามาขุดแร่ทองคำไป 8 พันกว่าล้านบาท เมื่อหักลบแล้ว ตกเป็นการออมที่แท้จริงเพียง 682 ล้านเท่านั้น และเราดูดซับเพื่อความเติบโตอื่นได้เพียง 8 % เท่านั้น ปัญหามาจากค่าภาคหลวงในกรณีทองคำ เก็บเพียงร้อยละ 2.5 เท่านั้น ทำให้เราสูญเสียมากกว่าได้มา อย่างนี้เขาเรียกว่ามันเป็นทุขลาภ (Resource Curse หรือทรัพยากรที่ทำให้เกิดทุกข์หรือเคราะห์)" ซึ่งมีสาเหตุมาจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่มีความผันผวนมาก ผลประโยชน์มันกระจุกตัวอยู่ที่บริษัทร้อยละ 40 การแบ่งสรรค์ประโยชน์แก่ท้องถิ่น 2.5 ของมูลค่าทองคำซึ่งน้อยมาก ๆ และคนทำงานในเหมืองจะเป็นการใช้เงินจากเหมืองได้มาโดยง่ายก็ใช้ไปโดยง่าย ไม่มีการออม นอกจากนี้ยังมีเรื่องการการคอรัปชั่นในระบบราชการอีกมากมาย


 


เรื่องแร่โปแตชไม่ได้มีแต่ในอุดรเท่านั้นแต่มีกระจาย 7 โครงการในอีก 6 จังหวัดจึงจำเป็นต้องศึกษาผลกระทบทางยุทธศาสตร์ก่อน โดยต้องมีการศึกษาดังนี้


-           ศึกษาทางเลือกในการจัดการเกลือและแร่โปแตช ที่หลายกหลายไม่ใช่แค่ทำหรือไม่ทำเท่านั้น


-           ศึกษาการจัดการผลกระโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องค่าภาคหลวง ให้เกิดการออมที่แท้จริงหรือการดูดซับการลงทุนในอีสานให้มีการลงทุน ในระยะยาว


-           ศึกษาและพัฒนากระบวนการประเมินผลกระทบ ที่มีคนเป็นศูนย์กลาง สิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม สุขภาพ


-           การศึกษาและพัฒนาขบวนการตัดสินในต่อไปควรทำอย่างไร ต้องตอบในภาพใหญ่ก่อนจะมาตอบในภาพย่อย หมายถึงต้องประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์เป็นภาพรวมของประเทศให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะมีการการดำเนินการใดใดต่อไปรายโครงการ


 


สังคมไทยต้องมีทางเลือกในการตัดสินใจมากกว่าเรื่องพลังงาน รัฐบาลไทยประกาศว่าจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4000 MW ซึ่งเสนอมา 9 ทางแต่ทุกทางมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4000 MW ซึ่งมันเท่ากับทางที่ไม่ได้เลือก แล้วพอถามต่อไปว่าแล้วจะจัดการกากนิวเคลียร์กันอย่างไร เขาว่าจะเอาเก็บไว้ที่เหมืองแร่โปแตชใต้ดินซึ่งเหมาะสมที่สุดที่จะกักเก็บกัมมันตภาพรังสี มีการศึกษาไว้แล้วว่าเหมาะสม


 


กรณีโปแตชต้องถกเถียงกันให้ชัดเจนทางเลือกมันไม่ได้มีแค่ว่าจะสร้างหรือไม่สร้างเท่านั้น


ต้องคิดอย่างมีเหตุผลพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว เปิดใจกว้างไม่ใช่อยู่ที่บริษัท โดยต้องมี


1. หลักการในสิทธิในทรัพยากร เช่น พรบ.แร่ ตอนนี้ไม่ถูกต้องจะแก้อย่างไร


2. หลักการนิเวศวัฒนธรรม มันจะต้องตอบว่ามันจะมีผลกระทบอย่างไร


3. หลักการจัดการผลประโยชน์จากระยะยาวต้องใช้เวลาคิดให้ได้ประโยชน์


4. หลักการจัดการผลกระทบ การป้องกันผลกระทบ การพิสูจน์ความเสียหาย และหลักการประกันความเสียหาย ต้องชัดเจนว่าถ้าเสียหายใครจ่าย ต้องตอบให้ได้ก่อนจะดำเนินการไม่อย่างนั้นมันก็จะเป็นทุขลาภในสังคมเรา


 


ธรณีอีสาน.....มีเกลือ-โปแตชมหาศาล


ปริญญา นุตาลัย กรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กล่าวว่าธรณีวิทยาอีสานเป็นเหมือนชั้นขนมเค้ก และมีโครงสร้างดินที่ประกอบด้วยเกลือหินมหาศาลในหมวดหินมหาสารคาม


 


อีสานเกือบทั้งภาคจนจรดประเทศลาวจะเป็นหมวดหินมาหาสารคาม ที่มีเกลืออยู่มากมายซึ่งมีความหนากว่า 600 ม. บางแห่งที่เป็นโดมเกลือหนา 2 - 3 กม. ที่หนาที่สุดเกือบ 6 กม. คิดคร่าว ๆ เป็นพื้นที่ที่มีเกลือหินกว่า 40,000 ตร.กม. คิดเป็นปริมาณ 800 ล้าน ๆ บล.ม. หรือประมาณ 1,600 ล้าน ๆ ตัน นี่เป็นทรัพยากรที่มีปริมาณมหาศาลในอีสาน


 


ตอนเริ่มต้นกรมทรัพยากรธรณี ได้ทำการเจาะสำรวจเมื่อราวปี 2520 เป็นต้นมามีรายงานการเจาะเกือบ 200 หลุม เมื่อเจาะที่อุดรก็พบว่ามีโปแตชคุณภาพดีของประเทศ ต่อจากนั้นก็ให้ยกเลิกการเจาะบอกว่ายกให้เอกชนให้เลิกเจาะ อันนี้ไม่ชอบมาพากลก็ในเมื่อเราใช้งบประมาณแผ่นดินเจาะสำรวจเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมืองแต่พอเจาะก็คาบไปบอกนักลงทุน


 


นอกจากนี้ไม่พอหลอกรัฐบาลสมัยนั้นต่ออีกเรื่องให้รัฐบาลทำเหมืองโปแตชอาเซียนบำเหน็จณรงค์ซึ่งมีแร่คุณภาพไม่ดี ทำไปแล้วใช้เงินไปแล้วกว่าพันล้านก็เจ๊ง และถ้าทำต่อไปก็ยังจะเจ๊งต่อไป ปัจจุบันนี้กำลังขยายการขออาชบัตรสำรวจอีกประมาณ 650,000 ไร่ ที่ จ.นครราชสีมา 2 แห่ง จ.มหาสารคาม จ.ขอนแก่น จ.สกลนคร และ จ.ชัยภูมิ (ไม่รวมจังหวัดอุดรธานี)


 


เหตุที่ต้องรื้อกฎหมายแร่ 45 ใหม่


หยุดทุกโครงการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ก่อน


 


1. ทรัพยากรแร่ที่อยู่ใต้ดินเป็นของใคร เป็นของเจ้าของที่ดินหรือเป็นของรัฐ


 


 แร่มหาศาล ในพื้นที่อีสานจึงต้องมองในภาพใหญ่ เวลานี้ที่มันมีปัญหาไม่ลงตัวเป็นเพราะเรื่องกฎหมายแร่ แร่เป็นของใครเป็นเจ้าของที่ดินหรือของรัฐ แต่รัฐกลับเขียนกฎหมายว่าแร่เป็นของรัฐไม่เขียนให้เป็นของเจ้าของที่ดิน เพราะคนของรัฐเขียนและอยากได้อำนาจในการจัดการโดยไม่เห็นประโยชน์ของประชาชนของประเทศชาติ


 


2. การออกประทานบัตรละเมิดสิทธิเจ้าของที่ดินโดยกฎหมายเป็นธรรมหรือไม่


 


การแก้ไข พรบ.แร่ 2545 เพื่อให้เหมืองใต้ดินชอนไชไปใต้ถุนบ้านชาวบ้านเขานี่ทำให้มีปัญหา


 


"สมมติว่าผมมีบ่อน้ำบาดาลใช้น้ำอยู่ลึก 200 เมตร อยู่ดี ๆ ก็มาบอกว่าผมใช้น้ำบาดาลไม่ได้แล้วเพราะเขาให้ขุดเหมืองแร่แล้ว แล้วมันจะไปทำได้อย่างไร"


 


อย่างนี้ทำให้ต้องรื้อขบวนการกฎหมายแร่ต้องดูใหม่ทั้งหมดเพราะมันละเมิอสิทธิเจ้าของที่ดิน


 


3. หลักการคิดว่าค่าภาคหลวงคิดอย่างไรจึงจะเป็นธรรม


 


หลักการคิดค่าภาคหลวง จะคิดกันอย่างไรจึงจะเป็นธรรม ให้เขาขุดทองได้ค่าภาคหลวงเพียง 2.5% คิดไปได้อย่างไรทองของเราแท้ ๆ แล้วให้ต่างชาติเอาไปทำกำไรอยู่ที่ออสเตรเลีย ปล่อยไปได้อย่างไรและ ในแหล่งนั้นขุดไปเจอเงินด้วย พอเงินคิดค่าภาคหลง 10 % ถามว่าใช้หลักการอะไรในการคิดค่าภาคหลวง ทำไมคนของรัฐไม่รู้จักป้องป้องผลประโยชน์ของบ้านเมืองและประเทศปล่อยไปได้อย่างไร


 


4. อำนาจในการออกอาชญาบัตร/ประทานบัตรเป็นของใคร


 


การขอสำรวจตามที่รัฐได้สำรวจไว้แล้วเขาขอตามข้อมูลนั้นแหละ แร่โปแตชที่ อ.นาเชือก จ.มหาสาคาม คุณภาพดีมากมีปริมาณโปแตชสูงถึง 50 % ที่ จ.อุดรธานี 30 % จ. ขอนแก่น 40 % ส่วนที่ จ.ชัยภูมิ 10% ทำก็เจ๊งสู้เขาไม่ได้


 


เรื่องโปแตชกำลังจะออกอาชญาบัตรพิเศษให้สำรวจแล้ว 6 แสนกว่าไร ไม่ได้เห็นหัวดูดำดูดีชาวบ้านเลย แล้วปัญหาผลกระทบก็จะตามมาอีกมหาศาลแล้วใครจะดูแล แร่มีอยู่ก็เก็บไว้มันไม่เน่าไม่เสียมันเกิดมาเป็นล้านปีแล้ว เมื่อไหร่มีปัญญาจะขุดเอง มีปัญญาจะออกหลักเกณฑ์ วิธีการที่ดีเหมาะสม มีเทคโนโลยีที่เหมาะสม ค่อยขุดก็ได้ไม่สายไปหรอก ดังนั้นภาพใหญ่ถ้าไม่ชัดหมายถึงศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ก่อนจะมาทำโครงการเล็กย่อย หากทำเล็กย่อยไปแล้วมันจะแก้ปัญหาไม่ได้ และประชาชนก็ไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นตั้งแต่ขึ้นตอนสำรวจ


 


5. การบังคับให้เพิ่มมูลค่าแร่ก่อนการส่งออก


 


อย่างออกประทานบัตรให้คนที่ขุดแร่ส่งขายอย่างเดียว เพราะขุดแร่แล้วส่งขายหมดเป็นวิธีการของคนโง่ ทำอะไรก็ไม่เป็นเป็นแต่ขายสมบัติชาติ


 


"เกลือหินก็สำคัญ เป็นทรัพยากร ขุดออกมาแล้วจะยัดกลับหรือกองไว้จะยอมให้ขุดได้อย่างไร ในเมื่อไม่ได้จ่ายค่าภาคหลวง ขอแต่โปแตชก็ให้ขุดแต่โปแตชจะเอาเกลือขึ้นมากองเป็นภูเขาเป็นมลพิษไม่ได้ เกลือหินไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ ทำไมเราไม่คิดถึงประโยชน์ของบ้านเมืองเรื่องอย่างนี้ยอมให้ขุดเล่นไม่ได้"


 


6. การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระยะยาว ที่ผ่านมาศึกษาผลกระทบเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีเป็นแบบขอไปที จนต้องยกเลิกมีเรื่องมีราวกันไปแล้ว และผลกระทบระยะสั้นจะเกิดการปนเปื้อนเกลือและสารเคมีอย่างแน่นอนจะทำอย่างไร ระยะยาวคือดินทรุดตัว ใต้ถุนบ้านชาวบ้านอยู่ข้างบนจะเกิดทรุดแน่นอนจะทำอย่างไร


 


 - เริ่มเก็บข้อมูลพื้นฐาน ปริมาณของเกลือในดินที่อยู่ในพื้นที่รอบที่ให้ประทานบัตรคือเก็บตัวอย่างให้พอแล้วก็ส่งเข้าแลบไม่ต่ำกว่าสองแห่งที่ได้มาตรฐาน เก็บอย่างถี่ถ้วนเป็นข้อมูลพื้นฐานไว้ก่อน และหากภายหลังเมื่อเริ่มทำเหมืองก็ต้องเก็บทุกสามเดือนเมื่อไรปนเปื้อนสั่งปิด ต้องดูรายละเอียดปนเปื้อนเท่าไรต้องจ่ายค่าชดเชย เท่าไร่จะปิดเหมือง


 


"หากจำเรื่องน้ำเสียว เมื่อปี 2514 ได้มีคนเจาะน้ำบาดาลเค็มมาต้มเกลือ ลำน้ำเสียวเค็มทั้งลำน้ำ ป่าหมด ลำน้ำเสียว 200 กม. เค็มทั้งสาย เวลานี้ก็ยังเค็มอยู่ คลองชลประทานเค็มมาก ๆ ควายโดดลงไปยังโดดขึ้นมาเลย เรื่องนี้ต้องติดตามตลอดปนเปื้อนเมื่อไหร่ปิด"


 


- มีหลักประกัน เรื่องการทรุดตัวของดินที่จะเกิดในระยะยาวอาจจะหลังเหมืองปิดไปแล้วมันทรุด ไม่ใช่ 5 ปี 10 ปีนะหมายถึงเมื่อเหมืองไปแล้วมันทรุดขึ้นมาที่ทำอย่างไร จะดูแลกันอย่างไร กรมแผนที่ทหารต้องเดินระดับตรวจสอบเรื่องการทรุดตัวเหมือนอย่างในกรุงเทพฯ ทำทุกปี การตรวจสอบการทรุดตัวของดินการปนเปื้อนของเกลือด้วยเงินต้องเอาจากเหมืองเอาเงินมากองทำกองทุน


 


- ปรับปรุงระบบการตัดสินใจ ใครเป็นคนอนุมัติการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รัฐดูแลเอกชนไม่ทั่วถึงหรอกเพราะตอนนี้รัฐก็ปล่อยให้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


( สผ.) ดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่เรื่องเหมืองแร่โปแตชมันจะกระทบคนมหาศาล คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องมาดูแล ต้องแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อม เพราะการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อี ไอ เอ) เอาไม่อยู่แล้ว การศึกษาต้องศึกษาผลกระทบภาพรวมหรือการศึกษาผลกระทบทางยุทธศาสตร์ (เอส อี เอ) จะต้องทำก่อน และต้องดู 4 ด้านหลัก


 


6.1.ด้านเศรษฐศาสตร์ มีแร่อยู่มากนักเศรษฐศาสตร์ต้องดูให้ครบวงจรเรื่องการใช้เกลือหินและแร่โปแตช ว่าวิธีการเก็บค่าภาคหลวงควรเป็นอย่างไร การดูแลสิ่งแวดล้อมต้องอย่างไร ตั้งแต่เริ่มขุดจนสุดท้ายนี้แตกลูกไปได้อย่างไรบ้างจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด


 


6.2. ด้านสังคม ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียต้องนับให้ครบ ตั้งแต่รัฐสภา รัฐบาล ผู้ถือกฎหมาย ผู้ที่ถืออำนาจในที่ดิน น้ำ ฯลฯ คนที่จะทำโครงการ คนที่ดูแลสิ่งแวดล้อม ผู้ตรวจสอบ ประชาชนทั่วไป สื่อ นักพัฒนา นักวิชาการ ผู้ได้ประโยชน์ ผู้เสียประโยชน์ ผู้ได้รับผลกระทบ ฯลฯ เช่น หากเอาเกลือหินขึ้นมาผู้ประกอบการรายย่อยต้องเจ๊งหมดหากเอาเกลือจากเหมืองใต้ดินขึ้นมา ตลาดเกลือบ้านเราเปลี่ยนรูปทันที ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านอาชีพ คนทำนาข้าวที่จะได้รับผลกระทบ ผลผลิตลดลงถ้าทำเหมืองแร่ เคยสัมภาษณ์ชาวบ้านที่น้ำเสียว เขามีที่ดิน 7 - 8 ไร่ได้ข้าวหลายร้อยถังแต่เมื่อมันเค็มเขาได้ข้าวแค่ 3 ถุงปุ๋ย อีสานจะเป็นอย่างนี้ถ้าเกิดยังให้ทำเหมืองในสภาพเช่นนี้ ไม่มีทางที่จะเอาอยู่เลย เรื่องสังคมสำคัญที่สุดต้องวางให้ลงตัวให้ได้ก่อนจะอนุญาต ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ถ้ายังไม่ลงตัวก็หยุดไว้ก่อน


 


6.3. ด้านสิ่งแวดล้อม บริเวณที่บริษัทเอพีพีซี (บริษัทในเครือของ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีวิล๊อปเมนต์ จำกัด มหาชน) จะทำเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี เป็นต้นน้ำเป็นสันปันน้ำของลำปาวและห้วยหลวง พอดี ตามมาตรา 6 ของพรบ.แร่ 2510 ห้ามทำเหมืองในพื้นที่ต้นน้ำ ตอนนี้กำลังขอประทานบัตรในพื้นที่ต้นน้ำแล้วยังมีเกลือผลกระทบมหาศาลขอไปได้อย่างไร


 


6.4. ด้านเทคโนโลยี หากยังไม่มีเทคโนโลยีที่ดีพออย่าทำ ไม่เสียหายหากไม่ทำ เพราะถ้าทำความเสียหายมันจะเกิด อย่าให้เหมือนซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์มาแล้วซ่อมไม่ได้ ทีเกิดปัญหาแล้วแก้ไม่ได้ก็บอกว่าสุดวิสัย มันไม่สุดวิสัยถ้าไม่ทำตั้งแต่แรก


 


"เรื่องการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ ( เอส อี เอ ) ต้องสั่งลงไปเลยว่าทุกเหมืองต้องศึกษาก่อนจึงจะดำเนินการใด ๆ ได้ และหากยังไม่มีเทคโนโลยีไม่ดีพอไม่อนุญาติ หากจะอนุมัติต้องเอาเงินค้ำประกันมาก่อน ปนเปื้อนเมื่อไหร่ทรุดเมื่อไหร่ปิด เพราะความเค็มนี้ไม่ได้กระทบแต่กับพืชแต่เครื่องใช้ทั้งหลายที่เป็นเหล็ก เช่นรถยนต์ บ้านที่มุงสังกะสี ต้องคิดให้ครบว่าความเสียหายทีเกิดขึ้นจะเรียกร้องความเสียหายอย่างไร ต้องปรับปรุงขบวนการ ศาลสิ่งแวดล้อมต้องเกิดขึ้น โดยสรุปแล้วเรามีทรัพยากรมหาศาล ขบวนการบริหารจัดการทั้งหมด มุกมิติ ต้องดูให้ครบมีประสิทธิภาพพอที่จะบริหารจัดการได้ อย่าปล่อยให้ขุดคุ้ยเอาโปแตชไปค้ากำไรโดยที่ทิ้งเกลือไว้กองพะเนินไม่ได้เพราะเกลือก็มีค่ามหาศาล จะปล่อยให้ขุดเล่นไม่ได้ ระบบกฎหมาย ระบบค่าภาคหลวงต้องรื้อกันใหม่หมดก่อนจะมีการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเหมืองแร่โปแตชในอีสาน.


 


ประเทศจะได้เงิน 3 แสนล้านถ้าเปิดเหมืองโปแตชที่อุดรธานี


ถ้าพัฒนา 5 เหมืองประเทศไทยจะร่ำรายมหาศาล


วิสุทธิ์ จิราธิยุต ผู้จัดการใหญ่บริษัเอเซียแปซิฟิกโปแตชคอร์เปอร์เรชัน จำกัด (เอพีพีซี) กล่าวว่าบริษัทเอพีพีซี เข้ามาลงทุนเป็นบริษัทในเครืออิตาเลียนไทย ดีวีล๊อปเมนต์ จำกัดมหาชน ทำอุตสาหกรรมนี้เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ เกลือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในประเทศ การทำแร่โปแตชนั้นต่างจากการทำเกลือในระดับชุมชนในระดับหมู่บ้านที่ใช้กันในประเทศ การทำเหมืองแร่โปแตชจำเป็นต้องทำเยอะ ผลผลิตสูง และผลิตให้มาก ๆ จนเกินกว่าประเทศไทยจะใช้จึงต้องส่งออก ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าแร่โปแตชทุกปี ไม่มีการผลิตในประเทศ นำเข้ามูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ไทยต้องการใช้โปแตชปีหนึ่งตั้งแต่ 2333 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องนำเข้าจ่ายไปมูลค่าเงินให้ต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ


 


การทำเหมืองแร่โปแตชมันต่างกันกับเกลือ เหมืองที่เราจะทำที่อุดรธานี จะผลิตโปแตชเซียมคอไรด์ เอามาทำปุ๋ยเคมีเอาไปใช้อย่างอื่นนิดหน่อย เกลือกับโปแตชเป็นสารคนละตัวกัน โปแตชสำคัญมากสำหรับพืช ถ้ามีโปแตชเซียมน้อยพืชจะเจริญเติบไม่ดี ในการวิจัยทางราชการมีโครงการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบแร่ ทรพัยากรแร่ที่ควรจะทำอย่างเร่งด่วนคือโปแตช เพราะจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยมาก เกลือและโปแตชต่างกันใช้ประโยชน์ต่างกันมูลค่านำเข้าส่งออกเกลือนั้นอยู่ในหลักร้อยล้าน แต่โปแตชนำเข้าเป็นหลักพันล้าน


 


ตัวหางแร่ที่เป็นเกลือ เมื่อเอาขึ้นมาแยกโปแตชแล้ว ทางบริษัทยืนยันมาตลอดว่าหางแร่นั้นจะอัดกลับไปในพื้นดินเพื่อลดการทรุดตัวของพื้นดิน เป็นการลดระดับการทรุดของพื้นดิน จุดที่ทำเหมืองเราขุดไปลึกมากในพื้นดินในเรื่องเทคโนโลยีเราขุดลึก 300 เมตรแล้วแต่ว่าแร่อยู่ตรงไหนก็ขุดไป ผมไม่แข่งกับธุรกิจเกลือที่ทำอยู่ไม่ได้เอาเกลือมาขาย


 


ทุกประเทศที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมจะนำเข้าโปแตช จีนนำเข้าสูงสุด ตามมาด้วยอินเดียส่วนไทยนำเข้า 4 -5 แสนตัน/ปี น้อยกว่าเวียดนามที่เขาผลิตข้าวแข่งกับเรา จีนมีกำลังผลิตโปแตช 3 ล้านตันและใช้ 19 ล้านตันเอเชียใช้ โดยนำเข้าทั้งหมด และตลาดโลกมีความต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ น้ำมันแพงก็ต้องการพืชมาผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เราต้องปลูกพืชมากขึ้น ไทยเสียดุลการค้าขณะที่มีทรัพยากรโปแตชมหาศาล


 


" ถ้าสามารถขุดมาใช้ก็จะเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง พอประมาณ มีเหตุผล ในการพึ่งตัวเองได้มากขึ้น และขายให้เพื่อบ้านเพื่อทำกำไร ทรัพยากรมีอยู่ไม่เอามาใช้ก็ต้องซื้อเขาใช้ตลอด เหมือนแก๊ซ หรือน้ำมัน เอาขึ้นมาก็จะสร้างรายได้แก่ประชาชน เฉพาะโครงการของบริษัทเอพีพีซีที่อุดรธานีจะทำ 20 ปีรัฐได้รายได้ 3 แสนล้านบาท รัฐจะได้เงินมากมหาศาล โดยคิดค่าภาคหลวง 7 % ซึ่งมากว่าเก็บจากทองคำอีก การคิดค่าภาคหลวงเขาจะคิดเรื่องความเสียงในการลงทุน ซึ่งมีการคิดอย่างรอบคอบมาแล้ว"


 


หากคำนวณจากบริษัทเดียว คือเอพีพีซีจะจะทำรายได้ให้ประเทศได้ 3 แสนล้าน ถ้าในอนาคตมีพัฒนาเหมืองโปแตชขึ้นมาสัก 5 เหมือง ประเทศเราจะมีรายได้มากเท่าไหร่ ผมขอฟันธงว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศเจริญพัฒนา คนเราจะมีงานทำ ประเทศจะพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้มากมาย พัฒนาคนมาทำงานเหมือง กฎหมายบ้านเราเคร่งครัดมากในการตรวจสอบ ในเรื่องการให้บทบาทต่อชุมชนมากมายระดับหมู่บ้านสามารถเข้ามาตรวจสอบ บริษัทต้องตั้งกองทุนมาให้จ้างผู้เชียวชาญ ผมว่าทำได้จัดการได้แน่นอน เรื่องเก่า ๆ ในอดีต มีแต่คุยไม่เคยทำ เหมืองโปแตชบำเหน็จณรงค์ ทำอยู่นิดเดียวจากแผนที่วางไว้ เราอยู่ในโลกที่ต้องแข่งขัน เราส่งออกมากกว่าใช้ภายในประเทศแล้ว ทำเหมืองโปแตชแล้วส่งออกชุมชนและ สังคมได้ประโยชน์


 


เหมืองโปแตชแย่งตลาดเกลือ...ทำลายผู้ประกอบการเกลือรายย่อย


ธีรญา วัฒนากูล ตัวแทนผู้ประกอบการสหกรณ์เกลือบ้านดุง กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้วในทางธรณีวิทยานี้มันเกี่ยวโยงกันเมื่อขุดโปแตช ก่อนจะถึงโปแตชก็จะเจอเกลือก่อน แล้วเกลือมหาศาล มีประสบการณ์เมื่อมีการขุดแร่โปแตชทีเหมืองแร่โปแตชอาเซียน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ทดลองขุดก็บอกว่าจะอัดเกลือกลับ แต่จริง ๆ แล้วก็เอามาขายเหมือนเดิม ราคาเกลือตกเราขายเกลือไม่ได้ในช่วงนั้น


 


การทำเกลือมีส่วนเสียที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ที่ผ่านมารัฐไม่มีการควบคุมอะไรได้เลย คนอำเภอบ้านดุงก็เป็นห่วงสิ่งแวดล้อม และชาวบ้านในพื้นที่ทำเหมืองเขาก็ต้องกลัวเหมือนกัน ผู้ประกอบการบางส่วนไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม บางรายผลิตนอกฤดูกาล ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำธรรมชาติ เกิดปัญหา ในด้านการตลาดรายย่อยก็สู้รายใหญ่ไม่ได้ เกลือในประเทศจะส่งไปอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และพลาสติก ที่เป็นตลาดเดียวกันทั้งประเทศ บริษัทเอพีพีซี เขาบอกว่าจะไม่ส่งตลาดในประเทศ จริง ๆ แล้วส่วนแบ่งการตลาดสำหรับรายย่อยน้อยมากในขณะนี้ เมื่อผลิตเกลือเพิ่มก็ยิ่งจะน้อยลง


 


เหมืองโปแตชจะได้เกลือบริสุทธิ์ บอกว่าคนละตลาดไม่แย่งกันแต่จริง ๆ แล้วมันหนีกันไปไม่พ้น


แน่นอน ถ้าไม่มีการดูแลโดยจัดการเป็นคณะกรรมการเกลือแห่งชาติ ที่จะต้องมาดูแล รายย่อยก็ต้องล้มหายตายจาก รัฐต้องมากำกับมากกว่านี้ เราต้องดูแลสิ่งแวดล้อมให้มากเพราะเกลือมุ่งเอาไปใช้ในอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบมาก เห็นแก่ประเทศ ไม่ใช่ขโมยปล่อยน้ำเสีย ลักลอบทำ เหมืองโปแตช


ต้องมีความรับผิดชอบถ้าอยากเปิด การวาดภาพไว้สวนหรูไม่เคยทำได้จริงสักที


 


ต้องประเมินผลกระทบอย่างกว้างขวาง จนยอมรับได้ อย่างตั้งอยู่ในความโลภ


โคทม อารียา ประทานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าเมื่อเกิดความแตกต่างหลายทางความคิดและผลประโยชน์ คนมักเอาความคิดและประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง จึงไม่รับฟังความเห็นคนอื่น เพราะมุ่งรักษาสิทธิประโยชน์ของเราเมื่อเป็นมนุษย์ต้องมีความต้องการ ความต้องการของแต่ละฝ่ายพอรับกันได้ ถ้าหากว่ามีพื้นที่ที่ทุกคนจะมีจุดยืนได้อย่างมีศักดิ์ศรี แล้วเกิดความไว้วางใจก่อน ถ้าเริ่มต้นไม่ฟังไม่ไว้วางใจกันจากเรื่องเล็ก ๆ มันก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เกี่ยวกับความรู้ข้อมูลข่าวสาร ที่เราทะเลากันเพราะได้ข้อมูลข่าวสารต่างกัน


 


เรื่องสำคัญต้องรับฟังและเรียนรู้ แต่ไม่ใช่อย่างที่ราชการเข้าใจว่าต้องให้ข้อมูลของราชการไม่มีการตรวจสอบสองทาง การจัดการความรู้ให้การศึกษาไม่ใช่ราชการผูกขาด ราชการต้องเป็นนักเรียนบ้าง ต้องเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หากท่านดูถูกดูแคลนชาวบ้านยากที่เขาจะให้ความไว้วางใจ แต่หากเป็นการให้ความรู้ด้วยใจผ่องใส รับฟัง ให้โอกาสแสดงความเห็นสะท้อนกลับ


 


ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วจะมีทางออกอย่างไร หลายคนบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียง มันเป็นคนละเรื่องกับทุนนิยม มันไม่ใช่จะแบ่งเป็นขาวเป็นดำ คำว่าพอเพียงต้องเป็นหลัก ทุนนิยมที่ไม่สุดเหวี่ยงไม่ทำลายธรรมชาติ ที่สำคัญเราต้องไม่ตั้งอยู่ในความโลภ


 


ที่ผ่านมาการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่มี ยังน้อยมาก ฝากไปยังราชการและบริษัทอิตาเลียนไทยด้วยอาจจะบอกว่าประชาชนชุมนุมแสดงความเห็นทุกๆ แต่คุณภาพการมีส่วนร่วม พื้นที่การมีส่วนร่วม น่าจะเป็นเรื่องการร่วมคิดร่วมทำ จะได้มีทางเลือกทางออกหลายๆ ทางถ้าประโยชน์ลงตัวบ้างก็อาจจะยอมรับได้


 


ต้องคุยเรื่องจริง ว่ามันกระทบอย่างนี้รับได้ไหม จะชดเชยเท่านี้ ส่วนราชการยังสื่อสารไม่เพียงพอ รายละเอียดรการทำเหมือง การอนุญาต การรับรู้ของประชาชนต้องเท่าๆ กันเพราะถ้าชาวบ้านไม่รู้ก็เสียเปรียบรัฐต้องหาที่ปรึกษาชาวบ้านจะได้ปรับระดับการรับรู้ ตกลงกันได้อย่างเป็นธรรม เพราะถ้าตกลงอย่างไม่เป็นธรรมก็จะมีปัญหาในที่สุด


 


เรื่องนี้ต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กว้างขวาง ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมด้วย เกลือหรือโปแตชเป็นทรัพยากรที่มีค่า หรือมันเป็นของร้อนมันอยู่ในดินก็ดีแล้ว ผมคิดว่ามันมีคุณค่าทางเศรษฐกิจเอามาใช้ได้แต่ต้องไม่ใช่สร้างปัญหาให้คนอื่น กองเกลือสูงเท่าฟ้าจะทำอย่างไรไม่ให้มันเบียดเบียนคนอื่น ในเรื่องการใช้ทรัพยากร การจำกัดของเสียก็ไม่มีผลกระทบ ถ้ามันไม่กระทบจริงคนเขาก็ไม่ขัดข้องหรอก


 


เวทีวันนี้ไม่มีข้อสรุปแต่เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น ในโอกาสต่อไปจะเป็นเวทีหนึ่งที่จะได้มาพูดคุยกันอย่างสุภาพ และจะรวบรวมเป็นข้อเสนอทางนโยบายได้ก็จะเสนอมา แต่ถ้ายังไม่เพียงพอก็จะมีเวทีหรือขบวนการศึกษาข้อมูลต่อไปก่อน.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net