Skip to main content
sharethis

มูฮำหมัด ดือราแม


 


 


 


สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่มีท่าทีจะบรรเทาเบาบางลง ขณะที่รัฐบาลได้ทุ่มกำลังในแก้ปัญหาอย่างมากกมาย


 


แนวทางที่รัฐบาลใช้ในการแก้ปัญหา คือการเมืองนำการทหาร วิธีการหนึ่งในการปัญหาดังกล่าว คือการดึงผู้นำศาสนาอิสลามในระดับโลกเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา โดยหวังว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะยุติลงได้


 


อีกทั้งที่ผ่านมา ได้มีการตอกย้ำจากองค์กรศาสนาหลายองค์กรมาแล้วว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่เกี่ยวกับศาสนา ศาสนาไม่ใช่ตัวสร้างความแตกแยก


 


ล่าสุดคือการดึง 2 ผู้นำศาสนาในระดับโลก คือ ดร.มูฮัมหมัด ซัยยิด ฏอนฏอวี (Dr. Muhammad Sayid Tantawy) ผู้นำสูงสุดของมหาวิทยาลัย อัล - อัซฮาร์ และผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ หรือ Grand Imam of Al Azhar เดินทางมาในช่วงวันที่ระหว่างวันที่ 23- 27 มิถุนายน พ.ศ. 2550


 


คนที่สองคือ ศาสตราจารย์ ดร.อับดุลลอฮ อับดุลมุหซิน อัตตุรกี เลขาธิการสันนิบาตโลกมุสลิม หรือ รอบีเตาะห์ ซึ่งมีนำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เดินทางมาประเทศในช่วงวันที่26 - 30 มิถุนายน 2550


 


เหตุใดรัฐบาลจึงพยายามดึงองค์กรศาสนาระดับโลกเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วย


 


หากลองมองไปที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะพบว่าชาวมุสลิมในพื้นที่มีความหลากหลายอยู่พอสมควร ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เดิมชาวมุสลิมในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายซุนนีย์ และยึดแนวคิดและปฏิบัติตามสำนักคิดชาฟีอีย์ หรือที่เรียกว่า มัซฮับชาฟีอีย์


 


อันเป็นการยึดแนวทางสำนักคิดชาฟีอีย์ มาตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่ศาสนาอิสลามมาตั้งแต่อดีต


 


คำว่าสำนักคิด หรือ มัซฮับ นั้น นายบรรจง บินกาซัน ได้อธิบายไว้ในหนังสือสารานุกรมอิสลาม ฉบับเยาวชนและผู้เริ่มสนใจ ฉบับปรับปรุง ปี 2547 มีความหมายว่า แนวความคิดในการตีความบทบัญญัติแห่งคัมภีร์กุรอ่านของปราชญ์ผู้ทรงความรู้สำคัญของโลกมุสลิม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการยึดถือและปฏิบัติ


 


โดยมัซฮับสำคัญของมุสลิมนิกายซุนนีย์ มี 4 มัซฮับ ประกอบด้วย 1.ชาฟีอีย์ ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียอาคเนย์ 2.ฮะนาฟีย์ ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่อยู่ในอินเดีย ปากีสถาน 3.มาลีกีย์ ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกา 4.ฮัมบาลีย์ ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกา


 


เหตุที่มัซฮับชาฟีอีย์แพร่หลายมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออเฉียงใต้ ก็เนื่องมาจาก กลุ่มคนที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาอิสลามในภูมิภาคนี้ในยุคแรกๆ มาจากแคว้นฮาดอรอเมาท์ ซึ่งเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ฮาดอรอมีย์ อยู่ทางใต้ของคาบสมุทรอาระเบีย แถบประเทศเยเมนในปัจจุบัน โดยมุสลิมแถบนั้นยึดแนวปฏิบัติของสำนักคิดชาฟีอีย์ด้วยเช่นกัน


 


อย่างไรก็ตามในวิถีชีวิตของมุสลิมในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังปรากฏ วัฒนธรรมของพราหมณ์ ฮินดูอยู่ด้วย เนื่องในอดีตก่อนการเข้ามาเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ผู้คนแถบนี้นับถือศาสนาพราหมณ์ ฮินดูและศาสนาพุทธมาก่อน


 


นับตั้งแต่นั้นมา ชาวมุสลิมในภูมิภาคแห่งนี้จึงได้ยึดแนวปฏิบัติของสำนักคิดชาฟีอีย์ จนกระทั่งปัจจุบัน


 


แม้ว่าที่ผ่านมา จะมีนักปราชญ์ชาวมุสลิมในพื้นที่ได้เดินทางไปเล่าเรียนทางด้านศาสนาอิสลามจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งบางประเทศชาวมุสลิมที่นั่นจะยึดแนวปฏิบัติตามมัซฮับที่แตกต่างกัน แต่เมื่อพวกเขากลับมา ก็ยังคงยึดแนวปฏิบัติตามมัซฮับเดิม


 


นอกจากนี้ การศึกษาศาสนาอิสลามในระดับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในตะวันออกกลางนั้น จะสอนหลักการศาสนาตามการตีความของทุกมัซฮับ ซึ่งรวมถึงมัซฮับชาฟีอีย์ ที่ชาวมุสลิมในประเทศไทยส่วนใหญ่ยึดถือด้วย และนักศึกษาก็มีอิสระที่จะยึดมัซฮับใดก็ได้


 


สำหรับการเรียนการสอนศาสนาอิสลามตามมหาวิทยาลัยแล้ว ตามสถานที่ต่าง เช่น มัสยิด ก็ยังมีการสอนศาสนาอิสลามด้วย เช่น เดียวกับการสอนตามมัสยิดต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการเรียนตามอัธยาศัย


 


ยกตัวอย่างในประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่มีการสอนศาสนาอิสลามที่มัสยิดอัล - ฮารอม ในเมืองเมกกะ ที่มีครูสอนศาสนาไปนั่งสอนตามจุดต่างๆ ใครจะไปเรียนก็ได้ หรือจะเรียนกับครูคนไหนก็ได้ ซึ่งการศึกษาแบบนี้ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา บิดาของนายเด่นโต๊ะมีนา อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปัตตานี เคยเป็นทั้งผู้เรียนและผู้สอนมาแล้ว


 


คนที่ไปศึกษาทางด้านศาสนาหลายคนที่กลับมาแล้ว ได้เปิดปอเนาะเพื่อสอนศานาอิสลามให้คนในชุมชน ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาทางศาสนาอิสลามที่สำคัญมากสำหรับประชาชนในพื้นที่


 


ส่วนคนที่ไม่ได้มาเปิดปอเนาะ ก็มีหลายคนเช่นกันที่กลับมาเป็นครูสอนศาสนาอิสลามตามโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม


 


ด้วยเหตุดังกล่าว สถาบันการศึกษาทางศาสนาอิสลามในพื้นที่จึงมีความสำคัญและมีความใกล้ชิดกับชุมชน เพราะไม่ใช่เพียงทำหน้าที่สั่งสอนเยาวชนเท่านั้น ยังทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและผู้นำในการปฏิบัติทางด้านศาสนาแก่คนในชุมชนด้วย


 


ปัจจุบันนอกจากกลุ่มมุสลิมส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยึดแนวทางของมัซฮับชาฟีอีย์แล้ว ยังมีกลุ่มที่ยึดแนวทางวะฮาบีย์ด้วย และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ


 


คำว่า วะฮาบีย์ คือ ชื่อของขบวนการฟื้นฟูอิสลาม เกิดขึ้นในช่วงคริสตศักราช 1703 - 1791 ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยการนำของ เชคมูฮัมมัด อิบนฺ อับดุลวาฮาบ เนื่องจากเห็นว่า ในช่วงนั้นศาสนาอิสลามมีความเสื่อมทรามลง โดยผู้คนหันไปหลงใหลคลั่งไคล้เรื่องไสยศาสตร์ โดยเฉพาะการเคารพสักการะ และขอความช่วยเหลือจากสุสาน


 


แนวคิดนี้ได้รับการอุปถัมภ์จากราชวงศ์สะอูดของซาอุดีอาระเบีย ทำให้วะฮาบีแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันรัฐบาลซาอุดีอาระเบียให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนมุสลิมทั่วโลกเป็นจำนวนมาก เพื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สอนเกี่ยวกับอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก


 


ด้วยเหตุนี้ทำให้ มีนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กลุ่มหนึ่งที่เดินทางไปเรียนศาสนาอิสลามที่ประเทศซาอุดีในระดับปริญญาเอก ได้นำแนวคิดของวะฮะบีย์ กลับมาเผยแพร่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย


 


นักศึกษากลุ่มดังกล่าว ประกอบด้วย นายอิสมาแอ อาลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขปัตตานี คนปัจจุบัน นายอิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา เป็นต้น


 


ในยุคแรกของการนำแนวคิดนี้มาเผยแพร่ในประเทศไทยครั้ง เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ถูกต่อต้านจากกลุ่มมุสลิมที่ยึดแนวทางมัซฮับชาฟีอีย์มาก โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีแรก โดยความขัดแย้งได้ลงลึกลงไปในระดับหมู่บ้าน


 


โดยกลุ่มมุสลิมในพื้นที่ได้โจมตีกลุ่มผู้ที่นำแนวคิดวะฮะบีย์มาเผยแพร่ว่า จะทำลายหลักการศาสนาอิสลามที่ชาวมุสลิมในพื้นที่ยึดถือมาแต่เดิม และยังจะทำลายวัฒนธรรมบางอย่างด้วย โดยเรียกกลุ่มที่เผยแพร่แนวคิดวะฮาบีย์นี้ว่าเป็นกลุ่มใหม่


 


ในขณะที่ฝ่ายที่นำแนวคิดนี้มาเผยแพร่ ระบุว่า ความเชื่อดั้งเดิมของมุสลิมในพื้นที่บางอย่างไม่ใช่มาจากหลักคำสอนของศาสนาอิสลามที่บริสุทธิ์ เนื่องจากปะปนไปด้วยเรื่องวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ขัดกับหลักคำสอนของศาสนา อีกทั้งการปฏิบัติศาสนกิจบางอย่างเป็นการอุตริขึ้นมาด้วย


 


ความแตกต่างดังกล่าวส่งให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาในเวลาต่อมา


 


ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นถึงขนาดมีการแบ่งกลุ่มคนในบางชุมชนออกมาเป็นสองกลุ่มใหญ่ มีการแยกตั้งมัสยิดหลังใหม่ขึ้นมาหลายแห่ง ซึ่งมัสยิดที่ตั้งใหม่นั้นคือ มัสยิดที่ขอรับเงินสนับสนุนผ่านสันนิบาติมุสลิมโลก หรือ รอบีเตาะห์ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนนานาชาติ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย


 


แม้ว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการสนับสนุนเงินในการสร้างมัสยิดนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมุสลิมสามารถใช้เป็นที่ละหมาด 5 เวลาต่อวันร่วมกัน ส่วนการละหมาดวันศุกร์ให้ใช้มัสยิดแห่งเดียวเท่านั้น


 


แต่ก็มีมุสลิมที่ยึดแนวทางมัซฮับชาฟีอีย์เข้าไปใช้มัสยิดดังกล่าวน้อยมาก ซึ่งนั่นยิ่งทำให้บางครั้งถูกมองว่า ชาวมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความคิดคับแคบ ไม่ค่อยจะเปิดรับในสิ่งที่แตกต่างจากตัวเอง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม


 



 บรอเฮง ปายอดือราแม


 


นายบรอเฮง ปายอดือราแม โต๊ะครูโรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน ตำบลสุวารี อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ได้พูดถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นว่า มักจะเกิดกับคนระดับล่างๆ ของสังคมมุสลิมโดยคนที่รับแนวคิดนี้ไปเผยแพร่ต่อในชุมชน ซึ่งในการถ่ายทอดต่อชาวบ้านนั้นอาจไปกระทบกระแทกกับคนในหมู่บ้านด้วยกัน เช่นไปวิจารณ์พฤติกรรมบางอย่างที่ขัดกับหลักศาสนา จึงเกิดความไม่พอใจและเกิดความแตกแยกกันขึ้น นอกจากนี้คนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดวะฮาบีย์กออกมาต่อต้านด้วยเช่นกัน


 


บรอเฮง บอกว่า ส่วนใหญ่ประเด็นความขัดแย้งเป็นเรื่องรูปแบบมากกว่าเนื้อหา ซึ่งเป็นเรื่องเล็กๆ เช่น การห้ามทำข้าวต้มใบกะพ้อรูปสามเหลี่ยม เพราะเป็นวัฒนธรรมของศาสนาฮินดูในอดีตที่ใช้ในการบูชาเทพเจ้า แต่ปัจจุบันมันเป็นคนละประเด็นกัน


 


"แนวคิดของวะฮาบีย์ ดูเหมือนจะต่อต้านเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยไม่ได้มองว่าสิ่งไหนดีหรือไม่ดี ขณะที่เราเห็นว่า บางอย่างที่ไม่ขัดกับศาสนาอิสลามก็ต้องรักษาไว้อย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นจะทำให้สูญหายไปได้"


 


เขายังระบุด้วย สิ่งที่ดีของแนวคิดวะฮาบีย์ ที่เห็นชัดเจนคือรูปแบบในการฝึกคนให้เคร่งครัดในศาสนาซึ่งได้ผลมาก


 


อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า ปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่ม ได้บรรเทาเบาบางลงมากแล้ว เพราะต่างฝ่ายต่างก็คิดได้ว่า ไม่มีอะไรดีเลย ถ้าต้องมาทะเลาะกัน เพราะทุกฝ่ายก็มีเป้าหมายเพื่ออัลเลาะห์(พระเจ้าที่มุสลิมศรัทธา) เหมือนกัน ต่างฝ่ายต่างก็เชื่อมั่นในแนวทางของตนเองก็ให้ยึดมั่นต่อไป


 


ความขัดแย้งที่ค่อยๆ ลดลงนั้น เริ่มมาตั้งแต่ก่อนเกิดที่ความไม่สงบจะทวีรุนแรงมากขึ้น ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 แล้ว


 


ขณะที่นักวิชาการศาสนาอิสลาม ฝ่ายวะฮาบีย์ มองว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องระหว่างบุคคลมากกว่าแนวคิดทางศาสนา เพราะว่าคนที่ต่อต้าน ก็ขอรับเงินสนับสนุนจากสันนิบาติโลกมุสลิมด้วยเช่นกัน โดยบางคนที่ได้รับเงินมาแล้วก็ไม่ได้ทำผลงานอะไร ต่างกับกลุ่มของนายอิสมาอีลลุตฟี ที่มีการสร้างผลงานออกมาเป็นรูปธรรม


 


เขาบอกด้วยว่า อีกเหตุผลหนึ่งอาจมาจากก่อนหน้านี้ยังไม่มีอูลามา (นักปราชญ์ทางศาสนาอิสลาม) จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภามนตรีผู้ก่อตั้งสันนิบาตโลกมุสลิม จึงทำให้คนบางกลุ่มเกิดความไม่พอใจขึ้นมา


 


ดังนั้นแนวคิดวะฮาบีย์จึงถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีด้วยว่า จะทำให้มุสลิมเสียหลักการศรัทธา รวมทั้งยังโจมตีกลุ่มผู้ที่รับเงินสนับสนุนจากสันนิบาตโลกมุสลิมไปด้วย เนื่องจากนายอิสมาอีลลุตฟี จะเป็นคนลงนามรับรองการขอรับเงินสนับสนุน ในฐานะสมาชิกสภามนตรีผู้ก่อตั้งสันนิบาตโลกมุสลิม


 


จากสาเหตุดังกล่าว ปัจจุบันการขอรับการสนับสนุนเงินสร้างหรือปรับปรุงมัสยิดนั้น นายอิสมาอีลลุตฟี กำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ลงนามรับรองด้วย เพื่อยืนยันว่าเป็นความต้องการของชุมชนจริงๆ


 


ปัจจุบันจะเห็นมัสยิดที่ได้รับการสนับสนุนจากสันนิบาติมุสลิมโลกนั้น มีอยู่ทั่วไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สังเกตง่ายเพราะมีรูปทรงคล้ายๆ กัน มีขนาดเล็ก ซึ่งที่จริงต้องเรียกว่าบาลาเซาะห์ หมายถึงสถานที่ละหมาดที่ไม่มีการละหมาดวันศุกร์


 



มัสลัน มาหะมะ 


 


อาจารย์มัสลัน มาหะมะ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา บอกว่า ชาวอาหรับไม่มีคำว่าบาลาเซาะห์ แต่ถือว่าถ้าที่ไหนมีการละหมาด ที่นั่นก็จะเรียกมัสยิดทั้งนั้น ซึ่งคนมุสลิมส่วนหนึ่งในพื้นที่ไม่เข้าใจ มองว่าเป็นการสร้างความแตกแยกโดยการแยกสร้างมัสยิดหลังใหม่ขึ้น


 


อาจารย์มัสลัน บอกว่า ในช่วง 10 ปีแรกของการเผยแพร่แนวคิดวะฮาบีย์ ถูกต่อต้านมาก ที่เป็นเช่นนั้นเพราะความไม่เข้าใจของมุสลิมในเรื่องหลักการศาสนาที่แท้จริงนั่นเอง แต่ปัจจุบันความขัดแย้งที่เคยมีเบาบางลงแล้ว


 


เขาบอกว่า ความขัดแย้งทางแนวคิดจนถึงขั้นแตกแยกเช่นนี้มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศตะวันออกกลางซึ่งเป็นต้นกำเนิด ไม่ได้มีความแตกแยกจากแนวคิดทางด้านศาสนา เพราะเขาถือว่าเป็นความขัดแย้งทางวิชาการ เรียกว่า "คีลาฟุลอูลามาอฺ"


 


หมายถึง ความขัดแย้งทางวิชาการที่เกิดจากการตีความบทบัญญัติทางศาสนาที่ต่างกันในประเด็นปลีกย่อย ไม่ใช่บทบัญญัติหลักๆ ของอิสลาม


 


นอกจากมุสลิมสองกลุ่มใหญ่ดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่จากต่างประเทศเช่นกัน นั่นคือกลุ่ม ดะวะห์


 


กลุ่มดะวะห์ หมายถึงกลุ่มนักเผยแพร่ศาสนาอิสลาม แนวคิดนี้กำเนิดขึ้นในประเทศอินเดีย โดยเมาลานา อิลยาซ ต่อมาได้เผยแพร่เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2522 โดยชาวมุสลิมอินเดียที่เดินทางมาประเทศไทยได้นำแนวคิดนี้มาเผยแพร่ รวมทั้งนักศึกษาไทยที่ไปเรียนในมหาวิทยาลัยของประเทศอินเดีย บางส่วนได้รับเอาแนวคิดนี้กลับมาด้วย


 


กลุ่มดะวะห์ ขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก โดยมีกระบวนฝึกคนให้อยู่รวมกันและปฏิบัติศาสนกิจรวมกันเป็นกลุ่ม มีการออกไปพักแรมตามมัสยิดในหมู่บ้านต่างๆ เป็นกลุ่ม และมีระยะเวลาที่แน่นอน เพื่อเชิญชวนให้คนเข้ามาปฏิบัติศาสนกิจร่วมกัน


 


ผลงานที่เห็นชัดคือสามารถดึงกลุ่มคนที่มีปัญหาติดยาเสพติด เข้ามาสู้แนวทางของศาสนาได้อย่างได้ผล แต่ขณะเดียวกันกลุ่มนี้จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง


 


โต๊ะครูบรอเฮง พูดถึงกลุ่มนี้ด้วยว่า มองในแง่ดีคือพวกเขาช่วยกระตุ้นให้คนที่ไม่ค่อยอยากปฏิบัติศาสนกิจมีความเคร่งครัดขึ้นมา มีการฝึกให้คนที่อยู่ในกลุ่มเชื่อฟังผู้นำ มีการจัดระบบการดำเนินชีวิตที่สอดคลองกับศาสนาอิสลาม มีกำหนดเวลาชัดเจนในการปฏิบัติงาน แต่ละวันมีตารางงานที่ชัดเจน มีการประชุมถี่มาก เพื่อเป็นการอบรมสั่งสอนคนในกลุ่มด้วย


 


ส่วนข้อเสียคือไม่กระตุ้นหรือให้ความสำคัญกับการเรียนรู้มากนัก คนปฏิบัติศาสนกิจ เพราะเป็นการทำตามกัน โดยไม่เกิดการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังละเลยเรื่องเศรษฐกิจในครัวเรือน ที่ผ่านมายังไม่พบว่ากลุ่มนี้มีความขัดแย้งกับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งอาจมีบ้างแต่ไม่เปิดเผยชัดเจน


 


นอกจากทั้งสามกลุ่มที่กล่าวมาแล้วนั้น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีมุสลิมกลุ่มย่อยๆ อีกจำนวนหนึ่งที่มีหลักความเชื่อรวมทั้งการปฏิบัติทางศาสนาที่แตกต่างกับคนกลุ่มอื่นๆ ด้วย แต่ก็ยังไม่พบว่าสร้างปัญหาความขัดแย้งขึ้นในสังคมมุสลิม ยกเว้นคนในหมู่บ้านเดียวกัน หรือคนอื่นที่เข้ามาอาศัยในหมู่บ้าน ที่อาจรับไม่ได้หรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น


 


แม้ที่ผ่านมามุสลิมสองกลุ่มใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง แต่เชื่อว่าความไม่สงบที่เกิดขึ้น น่าจะทำให้ลดการเผชิญหน้าลง จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโดยใช้พลังทางศาสนาของชาวมุสลิมด้วยกันเอง


 


.....................................


 


กำเนิดสำนักคิดชาฟีอีย์ / ขบวนการวะฮาบีย์ในไทย


 


ตามที่กล่าวไปแล้วว่า สำนักคิดของอิสลามที่สำคัญมี 4 สำนักคิด ชาวมุสลิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ยึดแนวปฏิบัติของสำนักคิดชาฟีอีย์


 


เหตุที่สำนักคิดชาฟีย์ได้รับความนิยมจากคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออเฉียงใต้ นายบราเฮงบอกว่า เนื่องมาจากกลุ่มคนที่มาเผยแพร่ศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคแรกๆ นั้น มาจากแคว้นฮาดอรอเมาท์ ซึ่งเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ฮาดอรอมีย์ อยู่ทางใต้ของคาบสมุทรอาระเบีย แถบประเทศเยเมนในปัจจุบัน โดยมุสลิมแถบนั้นยึดแนวปฏิบัติของสำนักคิดชาฟีอีย์เช่นกัน


 


ชื่อสำนักคิดหลักๆ ทั้งสี่นั้น มาจากชื่อของอิหม่ามซึ่งเป็นผู้รู้ทางศาสนาอิสลามในยุคหลังจากการเสียชีวิตของศาสดามูฮัมหมัดประมาณ 200 ปี โดยบางคนก็เป็นอาจารย์และลูกศิษย์กัน แต่มีมุมมองที่แตกต่างกันในการตีความบทบัญญัติทางศาสนา


 


สำหรับการกำเนิดมัซฮับ หรือสำนักคิดต่างๆ ในศาสนาอิสลามนั้น ในหนังสือสารานุกรมอิสลาม ฉบับเยาวชนและผู้เริ่มสนใจ ของนายบรรจง บินกาซัน ฉบับปรับปรุง ปี 2547 ได้ให้ความหมายของคำว่า "มัซฮับ" ว่า หมายถึง แนวความคิดในการตีความบทบัญญัติแห่งคัมภีร์กุรอ่านของปราชญ์ผุ้ทรงความรู้สำคัญของโลกมุสลิม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการยึดถือและปฏิบัติ


 


ในสมัยท่าน นบีมูฮัมมัด คำว่ามัซฮับยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากท่านมีเอกสิทธิ์ในการตีความหรือสาธยายรายละเอียดของบทบัญญัติแห่งคำภีร์อัลกุรอ่าน ซึ่งเป็นธรรมนูญสูงสุดของมุสลิม และคำอธบายไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการปฏิบัติของท่านเป็นอันยุติ


 


แต่หลังจากท่านเสียชีวิต ประชาคมมุสลิมเริ่มขยายตัวมากขึ้น สังคมมีความซับซ้อนมากกว่าเดิม ปัญหาปลีกย่อยต่างๆ ของกฎหมายอิสลาม ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในสมัยของท่านเริ่มมี ประชาคมมุสลิมต้องอาศัยนักปราชญ์ทางกฎหมายอิสลามมาช่วยตัดสิน จุดนี้เองที่ก่อให้เกิดความคิดเห็นในรายละเอียดที่แตกต่างกัน


 


ถึงกระนั้นก็ตาม พื้นฐานของการอธิบายรายละเอียดปลีกย่อยยังคงวางพื้นฐานอยู่บนบทบัญญัติแห่งคำภีร์อัลกุรอ่านและแบบอย่างคำสอนของท่าน นบีมูฮัมมัด


 


สาเหตุที่ก่อให้เกิดมัซฮับคือ


 


1.ปัญหาการสืบทอดการเป็นผู้นำต่อจากท่านนบีมูฮัมมัด ซึ่งทำให้ประชาคมมุสลิมแตกออกเป็นสองมัซฮับ (นิกาย) ใหญ่ๆ คือ ซุนนีย์และชีอะห์


 


2.ความเห็นต่างในการนำหลักกฎหมายอิสลามไปใช้


 


3.ความเห็นต่างในการถกเถียงถึงสิ่งที่พ้นญาณวิสัยที่ต่างฝ่ายต่างมองไม่เห็น


 


4.การที่มุสลิมต้องเผชิญกับแนวความคิดของคนต่างชาติต่างศาสนา ซึ่งแปลกแตกต่างไปจากตน จึงต้องมีการจัดระบบความคิดทางศาสนาขึ้นมา เพื่อเผชิญหน้ากับความคิดของคนต่างชาติต่างศาสนา


 


มัซฮับ(สำนักคิด) สำคัญของมุสลิมนิกายซุนนีย์ ประกอบด้วย


 


1.ชาฟีอีย์ ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียอาคเนย์


 


2.ฮะนาฟีย์ ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่อยู่ในอินเดีย ปากีสถาน


 


3.มาลีกีย์ ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกา


 


4.ฮัมบาลีย์ ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกา


 


ส่วนนิกายชีอะห์ มีมัซฮับหลักๆ คือ


 


1อิษนาอะชาอะรียะห์ ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่อยู่ในอิหร่าน อิรัก


 


2.ซัยดียะห์ ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่อยู่ในเยเมน


 


3.อิสมาอีลียะห์ ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่อยู่ในอินเดีย


 


ส่วนวะฮาบีย์ ขอสรุปบางส่วนจากบทความ เรื่องวะฮาบียะฮฺ ลัทธิใหม่อิสลามจริงหรือ? ที่เขียนโดย ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข อดีตอาจารย์ภาควิชาอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2549 ดังนี้


 


วะฮาบียะฮฺ คือ ชื่อของขบวนการฟื้นฟูอิสลาม โดยการนำของ เชคมูฮัมมัด อิบนฺ อับดุลวาฮาบ มีชีวิตอยู่ในช่วงปีคริสตศักราช 1703 - 1791 ที่เมืองนัจด ในซาอุดีอาระเบีย


 


ชื่อนี้มาจากพยางค์ที่สองของชื่อบิดา คือ อัลวะฮาบ แต่มีคนเรียกเพี้ยนเป็น วะฮบีย์ ซึ่งไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือ วะฮาบียะฮฺ หมายถึง ขบวนการฟื้นฟูอิสลาม


 


ชื่อนี้ถูกตั้งขึ้นโดยฝ่ายต่อต้าน และมักนำมาใช้ในเชิงลบ ดังนั้นกลุ่มวะฮาบียะฮฺ จึงเรียกกลุ่มของตนว่ากลุ่ม "สะลาฟียะฮ" (Salafiah)


 


สาเหตุที่วะฮาบียะห์ เกิดขึ้นเนื่องจาก ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ศาสนาและศีลธรรมในโลกอิสลามเสื่อมทรามลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคาบสมุทรอาระเบีย ผู้คนหันไปหลงใหลคลั่งไคล้เรื่องไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคารพสักการะ และการขอความช่วยเหลือและคุ้มครองจากสุสาน


 


มูฮัมมัด อิบนฺ อับดุลวะฮาบ ซึ่งเป็นผู้ทรงความรู้ได้พยายามเรียกร้องเชิญชวนผู้คนให้กลับสู่แนวทางอันบริสุทธิ์ของอิสลาม แต่ถูกต่อต้านจากผู้ปกครองซึ่งระแวงว่าอิทธิพลของเขาจะสั่นสะเทือนต่ออำนาจการปกครองของพวกตน จึงถูกขับไล่ออกจากดินแดนบ้านเกิดเมืองนอน


 


เมื่อเขาเดินทางมาที่เมือง อัดดัรอียะฮ ซึ่งอยู่ในการปกครองของตระกูล สะอูด (ราชวงศ์สะอูดในปัจจุบัน) ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากอามีร มูฮัมมัด อิบนฺสะอูด เจ้าเมืองคนหนึ่ง ซึ่งตกลงใจจะร่วมการฟื้นฟูและเผยแผ่คำสอนของอิสลามอย่างจริงจัง


 


หลังจากนั้นไม่นาน วิถีชีวิตและความเชื่อของมุสลิมที่อยู่ภายใต้การปกครองก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงจากความโง่งมงายในหลักการอิสลาม ก็กลับสู่การเคารพภักดีต่ออัลเลาะห์ ยึดมั่นในคัมภีร์อัลกุรอานและแบบอย่างของศาสดามูฮัมมัด


 


ภายใต้การอุปถัมป์ของราชวงศ์สะอูดทำให้วะฮาบียะฮฺแพร่หลายในซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะภายหลังการสถาปนาราชอาณาจักรโดยกษัตริย์อับดุลอาซีซ อิบนฺ อับดิรรอหมาน อาลิสะอูด ในปี ค.ศ.1930 วะฮาบียะฮฺได้แพร่หลายอย่างรวดเร็วยังกลุ่มประเทศต่างๆ ในโลกมุสลิม ผ่านทางคณะต่างๆ ที่เดินทางเข้ามาเพื่อประกอบพิธีฮัจย์ นักศึกษาที่เข้ามาศึกษาในมัสยิดหะรอมที่นครมักกะฮและนครมะดีนะฮ รวมทั้งที่เข้ามาศึกษาในโรงเรียน มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในซาอุดีอาระ เบียและประเทศใกล้เคียง


 


ปัจจุบันรัฐบาลซาอุดีอาระเบียให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนมุสลิมทั่วโลกเป็นจำนวนมาก เพื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สอนเกี่ยวกับอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก และกระจายไปอยู่ทุกส่วนของโลกเพื่อทำหน้าที่อบรมสั่งสอนจริยธรรมอิสลาม และเรียกร้องเชิญชวนสู่หลักการอันบริสุทธิ์ นอกจากนั้น รัฐบาลซาอุดีอาระเบียยังสนับสนุนงานด้านสังคมสงเคราะห์ การเผยแผ่อิสลามในรูปแบบต่างๆ แก่มุสลิมทั่วโลกอีกด้วย เช่น การสร้างมัสยิดและสถาบันการศึกษา การจัดอบรมภาษาอาหรับและวิทยาการอิสลาม การช่วยเหลือสงเคราะห์คนยากจนและผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ เป็นต้น


 


แนวคิดที่สำคัญของวะฮาบียะฮฺ สรุปได้ดังนี้


 


(1) ยึดแนวของอิมามอะฮมัด อิบนฺ ฮัมบัล (มัซฮับฮัมบาลีย์) ในเรื่องปลีกย่อยต่างๆ แต่ไม่ยึดแนวของอิหม่ามคนใดเป็นเกณฑ์แน่นอนในเรื่องหลักพื้นฐานทั่วไป


 


(2) เรียกร้องให้เปิดประตูการอิจติฮาด (หมายถึงการวิเคราะห์และวินิจฉัยหลักฐานต่างๆ ทางศาสนาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อบัญญัติของปัญหาต่างๆ) หลังจากที่ได้ถูกปิดมานานตั้งแต่กรุงแบกแดดแตกจากการโจมตีของพวกมองโกลในปี ค.ศ. 1235


 


(3) ยืนยันในความจำเป็นที่จะต้องยึดถือคัมภีร์อัลกุร อานและสุนนะฮ (แบบฉบับของศาสดามูฮัมมัด)


 


(4) ยึดมั่นในแนวทางของอะฮลิสสุนนะฮวัลญะมาอะฮ (นิกายซุนนีย์)


 


(5) เรียกร้องสู่หลักเตาฮีด (การให้เอกภาพต่อพระผู้เป็นเจ้า) อันบริสุทธิ์ตามแนวทางของกัลญานชนมุสลิมในยุคแรกของอิสลาม


 


(6) เน้นหลักเตาฮีดอูลูฮียะฮ (การให้เอกภาพต่อพระผู้เป็นเจ้าในด้านการเคารพสักการะ) และหลักเตาฮีดอัสมาอ วัศศิฟาต (การให้เอกภาพต่อพระผู้เป็นเจ้าด้านนามชื่อ และคุณลักษณะของพระองค์)


 


(7) ต่อต้านสิ่งเหลวไหลและอุตริกรรมทางศาสนาที่แพร่หลายในสังคมอันเนื่องจากความโง่งมงายของผู้คน


 


(8) คัดค้านกลุ่มฏอรีเกาะฮซูฟีย์และกลุ่มมุตะกัลลีมีน และสิ่งอุตริทางศาสนาที่กลุ่มเหล่านี้สร้างขึ้นมา


 


(9) ต่อต้านการทำชีริก (ตั้งภาคี) ต่ออัลลอฮทุกประเภท


 


(10) ต่อต้านการตักลีด (การตามอย่างคนตาบอด) และเรียกร้องสู่การให้ความรู้และการค้นคว้าหาหลักฐาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net