Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 24 พ.ค. 50 เมื่อเวลา 11.00 น. ของวันที่ 23 พ.ค. 50 ที่ คณะวิทยาการจัดการ ม. สงขลานครินทร์ ตัวแทนภาคประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 10 คน นำโดยนายไพศาล ดะห์ลัน ผู้แทนสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) ประจำจังหวัดสงขลา ได้ร่วมกันพิจารณาประเด็นการบัญญัติเรื่องเขตวัฒนธรรมพิเศษในร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มีนางบุษบง ชัยเจริญวัฒนะ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ ม.สลขลานครินทร์ เป็นประธานการประชุม


 


ที่ประชุมอภิปรายถึงการใช้คำที่เกี่ยวกับเขตวัฒนธรรมพิเศษไว้ในมาตรา 272 วรรคสองของร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างกว้างขวางจนได้ข้อสรุปว่า จะให้เพิ่มคำว่า "และหรือเขตวัฒนธรรมพิเศษให้มีลักษณะสอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น" ไว้ในมาตราดังกล่าว เพื่อให้ได้ความว่า "ท้องถิ่นใดที่มีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหรือเขตวัฒนธรรมพิเศษให้มีลักษณะสอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"


 


นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้กำหนดคำอธิบายคำว่า "พิเศษ" ด้วย ว่าหมายความว่ามีลักษณะพิเศษที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งทุกท้องถิ่นทั่วประเทศสามารถจัดตั้งเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษได้ นอกจากนี้ยังเป็นเขตปลอดอบายมุข มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีการพัฒนาสังคม การศึกษา การแพทย์ และสาธารณสุข รวมทั้งมีปฏิสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมกันระหว่างประชาชนต่างศาสนิก อยู่บนพื้นฐานคุณธรรม จริยธรรม อัตลักษณ์ และศาสนาในท้องถิ่น


 


ส่วนการเสนอประเด็นดังกล่าว เพื่อนำไปบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญนั้น ที่ประชุมกำหนดจะส่งให้อังคณา นีละไพจิตร และนายปกรณ์ ปรียากรณ์ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) นำเสนอต่อที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญในขั้นการแปรญัตติ ก่อนที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจะปิดรับคำแปรญัตติในวันที่ 25 พฤษภาคม 2550


 


นายวุสนุง มัดดา นักวิชาการอิสระ หนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุม กล่าวกับประชาไทว่า การเสนอให้บัญญัติคำว่า เขตวัฒนธรรมพิเศษนั้น ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่มุ่งเน้นเรื่องการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และปลอดจากอบายมุข ซึ่งการกำหนดให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ เชื่อว่าจะแก้ปัญหาความไม่สงบได้ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้ผู้ที่ใช้อำนาจในพื้นที่มีคุณธรรมจริยธรรมในการทำงาน ซึ่งจะทำให้แก้ปัญหาได้เช่นกัน ดังนั้นการกำหนดเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษก็จะนำไปสู่การแกไขกฎหมายที่ขัดกับหลักคุณธรรมจริยธรรม


 


นายวุสนุง กล่าวว่า หากประเด็นนี้ผ่านไปได้ เชื่อว่าฝ่ายที่ก่อความไม่สงบเองคงหันมามองบ้าง ซึ่งช่วงนั้นอาจทำให้เหตุการณ์สงบลงบ้าง และจะเป็นจังหวะให้มีการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างเต็มที่ และเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ทั้งมุสลิมและไทยพุทธจะเห็นด้วย


 


"หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติหรือถูกคว่ำไป ก็ไม่ถือว่าเป็นการเสียโอกาส เราก็จะผลักดันต่อไป" นายวุสนุงกล่าว


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net