Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวชาวบ้าน - วันที่ 2 เมษายน 2550 แผนงานชีวิตมั่นคง ปลอดอบายมุข มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์คุณธรรม จัดสัมมนาโต๊ะกลม "ฤาสังคมไทยจะพังไปกับการพนัน" ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ โดยมีตัวแทนชาวบ้านจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สื่อมวลชน และผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมฟังการเสวนา


 


โดยก่อนที่จะเริ่มการเสวนานั้น ผู้จัดงานได้ฉายวีดีทัศน์นำเสนอเรื่องราวจากเรียงความของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.อยุธยา ที่บอกเล่าเรื่องราวและความรู้สึกของครอบครัวที่มีพ่อติดการพนัน และต้องโทษคุมขังอยู่ในเรือนจำจากคดีฆ่าคนตายอันมีสาเหตุมาจากการพนัน โดยนางสาวนาตยา แวววีรคุปต์ ผู้ดำเนินรายการ ได้ตั้งคำถามต่อผู้ร่วมการเสวนาว่า รับรู้เรื่องราวนี้แล้วรู้สึกอย่างไร


 


"....ผมสัญญาว่าโตขึ้นผมจะไม่เล่นการพนันทุกชนิดเลย เพราะการพนันทำให้ครอบครัวผมขาดพ่อ ไม่มีเงินใช้ ทะเลาะกัน ไม่มีความสุข และสุดท้ายผมก็ไม่รู้ว่าพ่อจะกลับมาอยู่กับผมได้อีกไหม นี่เป็นเรื่องจริงของการพนันที่ผมรู้..."


 


นางสุภาวดี หาญเมธี จากมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า สิ่งแรกที่รู้สึกคือ เสียดายที่พ่อของเด็กคนนี้ไม่ได้อ่าน คิดว่าหลายเรื่องในสังคมไทยที่เป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้ เรามักไปดูที่ข้อมูลและเหตุผล ซึ่งก็สำคัญ แต่จากประสบการณ์การทำงานแก้ไขปัญหาสังคม พบว่าไม่ใช่แค่ตัวความรู้ ข้อมูล หรือเหตุผลที่ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง แต่เป็นความรักในครอบครัว ความปรารถนาดี ห่วงใย ที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง จึงเชื่อว่า หากพ่อของนักเรียนชั้น ป.2 คนนี้ได้อ่านเรียงความ เขาจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม


 


นางสุภาวดี กล่าวต่อไปว่า จากการลงไปทำงานกับ 99 ชุมชนทั่วประเทศ ในประเด็นครอบครัว พบว่าการนำความรู้จากภายนอกไปสู่ชุมชนไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ต่อมาจึงได้นำกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมมาใช้ โดยหลักการคือเอาคนมาคุยกันเรื่องความทุกข์ แล้วช่วยกันคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ปรากฏว่าหลายๆ ครอบครัวนั้น เมื่อพ่อเห็นน้ำตาลูก ก็เปลี่ยนพฤติกรรมไปเลย เช่นบางครอบครัว พ่อเลิกดื่มเหล้าและเล่นการพนันไปเลย ตัวอย่างนี้ยืนยันถึงสิ่งที่พบว่าพลังความรักความห่วงใยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ


 


"ต่อประเด็นเรื่องอบายมุข เชื่อว่าชุมชนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ โดยใช้พลังความรักของครอบครัว เราเชื่อว่าไม่มีใครไม่อยากำความดี แต่สิ่งแวดล้อมไปสร้างกรอบกำบังไว้ เราต้องทลายกรอบนั้นลง ให้เขามีโอกาสคิดและเรียนรู้ เราต้องเชื่อว่าชาวบ้านเรียนรู้ได้ โดยใช้การเรียนรู้-ความดี-ความรัก เป็นพลัง เริ่มจากคนกลุ่มเล็กๆ แล้วค่อยๆ ขยายออกไปอย่างต่อเนื่อง" นางสุภาวดี กล่าวและว่า


 


"เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากคนข้างใน ไม่ใช่จากข้างนอก นอกจากนี้ คนที่จะแก้ปัญหาเรื่องการพนันจะต้องเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องธรรมชาติมนุษย์ และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันด้วย"


 


ส่วน รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์ธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า คนที่ไม่ต้องการให้มีการพนันในประเทศไทยนั้นใช้ทฤษฎีด้านศีลธรรมมาจับ แต่ตนเป็นนักวิชาการ โดยอาชีพแล้ว คิดแบบนี้ไม่ได้ จึงพูดไม่ได้ว่าการพนันเป็นสิ่งไม่ดี


 


"การพนันมีประวัติศาสตร์ความเป็นมา ผมเชื่อในปรัชญาที่ว่า ประวัติศาสตร์มีส่วนสำคัญในการกำหนดปัจจุบันและอนาคต และถ้าหากมันมีแต่ข้อเสียมันจะอยู่ในโลกไม่ได้ ถ้ามันอยู่ได้ มันต้องมีหน้าที่อะไรบางอย่างในสังคม เราต้องดูว่าในแต่ละช่วงของประวัติศาสตร์ มันทำหน้าที่อะไรในสังคม ถ้ามันไม่ทำหน้าที่ มันต้องไม่มีพื้นที่ในสังคม"


 


รศ.ดร.สังศิต กล่าวต่อไปว่า การพนันมีมุมต่างๆ มากมายที่เราต้องทำความเข้าใจ เรื่องจิตวิทยาก็สำคัญ โดยจากการสำรวจของเอแบคโพลล์ พบว่า คนอยากจะให้มีหวย 2 ตัว 3 ตัว ถึงร้อยละ 63 ไม่อยากให้มี ร้อยละ 37 ถามว่าทำไมคนจึงอยากให้มีหวย 2 ตัว 3 ตัว เขามีเหตุมีผลของเขา เรามักคิดว่าคนเล่นการพนันมักไม่มีเหตุผล ถ้ามีเหตุผลจะไปเล่นทำไม


 


"มีคนที่ไปเล่นการพนันที่อยากรวยจริง แต่ไม่เยอะ ส่วนใหญ่คนไปเล่นเพราะรู้ว่าจะแพ้ เราคิดว่ามันไม่มีเหตุผล ทำไมเขาจึงไปเล่นทั้งๆ ที่รู้ว่าจะขาดทุน ลองไปถามดู คนส่วนใหญ่รู้ว่าโอกาสถูกยาก แต่ก็ยังอยากเล่น ผมคิดว่าที่สำคัญที่สุดคือ การพนันมันโยงกับเศรษฐกิจสังคม ซึ่งเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เรามีอยู่ คนส่วนใหญ่เป็นคนแพ้ แล้วคนธรรมดาคนจนเกือบทั้งหมด พวกเขาคนแพ้ เขาไม่มีอนาคต ไม่มีความหวัง และเพราะเหตุที่เขาไม่มีความหวัง เขาจึงต้องการความหวังเล็กๆ น้อยๆ นี่เป็นมุมที่ผมอยากให้ลองช่วยคิดว่า คนส่วนใหญ่ไปเล่นเพราะต้องการแสดงให้เห็นว่าตัวเองต้องการสู้กับระบบทุนนิยม"


           


รศ.ดร.สังศิต ยังกล่าวอีกว่า จากการวิจัยพบว่าการพนันนั้นไม่ว่าจะอยู่บนดินหรือใต้ดิน มันเป็นเรื่องการเมืองทั้งสิ้น คนได้ประโยชน์จากหวยใต้ดินมักจะเป็นนักการเมืองท้องถิ่น เครือข่ายนักการเมืองท้องถิ่นกวาดเงินคนจนไปเข้ากระเป๋าทุกสองสัปดาห์ แต่พอหวยเป็นเรื่องถูกกฎหมาย คนได้ประโยชน์ก็เป็นนักการเมืองอีก แต่เป็นนักการเมืองระดับชาติ เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดเรื่องปัญหาการพนัน เราพูดในมุมสังคมได้ แต่คิดว่ามันจะไม่แตะหัวใจของปัญหาซึ่งเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์เมือง


 


หลังจากนั้น นายศุภลักษณ์ ติเยาว์ ชาวบ้านจากจังหวัดนครปฐม ตัวแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพนัน ได้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตในโลกของการพนันของตน โดยให้ภาพว่า เล่นการพนันมาตั้งแต่สมัยเด็ก โดยที่สมัยก่อนมีเงินสลึงเดียวก็เอาไปแทงหวย เป็นความหวังของเด็กๆ ที่จะเอาเงินไปซื้อขนม ซึ่งก็ยังไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ครอบครัว ครั้นเมื่อโตขึ้นก็เล่นมากขึ้นเรื่อยๆ และพัฒนาจากผู้เล่นไปเป็นเจ้ามือ ขยายวงไปเรื่อยๆ จนเกิดหนี้สินมากมาย ทำความเดือดร้อนให้ลูกและภรรยา จนแม่ต้องขายที่ดินเอาเงินไปใช้หนี้ให้


 


นายศุภลักษณ์ เล่าต่อไปว่า จุดเปลี่ยนของชีวิตคือวันหนึ่ง ซักผ้าให้ลูกสาว พบเงินหลายร้อยบาทในกระเป๋า ทั้งที่ให้เงินลูกไปโรงเรียนวันละไม่กี่สิบบาท เมื่อถามลูกสาวก็ได้รับคำตอบว่า เก็บเงินเพื่อให้พ่อเอาไปใช้หนี้ จึงตัดสินใจว่าจะเลิกเล่นการพนัน แล้วก็ไปขอยืมเงินแม่มาใช้หนี้ แต่แม่ไม่ให้ เพราะว่าเคยใช้หนี้ก้อนใหญ่ให้แล้วแต่ก็เลิกเล่นไม่ได้ จึงคิดจะฆ่าตัวตายพร้อมลูกและภรรยา แม่ก็บอกว่าให้ฆ่าตัวเองดีกว่า แล้วเอาลูก-ภรรยา มาให้แม่เลี้ยง


 


"ผมกลับไปบ้าน นอนคิดอยู่นาน คิดว่าจะตายแล้วจะเอาลูกเมียไปอยู่ด้วยกัน จนกระทั่งมาเจอวิทยากรกระบวนการในโครงการหนึ่ง จึงได้หลักคิด ผมคิดได้ว่าจะไม่หนีเจ้าหนี้ ยอมคุยกับเจ้าหนี้ ทำบัญชี และหารายได้ไปผ่อนหนี้ โดยอาศัยการวิ่งรับส่งหวยหาเงิน ต่อมาผมไปเป็นวิทยากรสอนคนอื่นให้เลิกเล่นการพนัน ทั้งๆ ที่ตัวเองยังเล่นอยู่ จึงได้เลิกเด็ดขาด โดยมีคนมากมายเป็นกำลังใจให้" นายศุภลักษณ์ กล่าวในที่สุด


           


นายฉัตรชัย เขื้อรามัญ จากสำนักข่าวเด็ก-ขบวนการตาสับปะรด กล่าวว่า เรื่องราวของนายศุภลักษณ์ ควรจะได้รับการบอกเล่าออกไปสู่สังคมกว้างเพื่อเป็นตัวอย่างให้คนอื่น เพราะการสื่อสารมีผลต่อการเรียนรู้มาก ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา เราใช้เครื่องมือในการสื่อสารเรื่องราวดีๆ น้อยไป ทำให้สังคมไม่มีความหวัง ความหวังมันหมดลงไปทุกที เราจึงต้องไปค้นหาความดีในตัวของคน แล้วสื่อสารออกไป โดยที่ตนเชื่อว่าเมื่อคนพูดเรื่องความดีมากๆ เขาจะไม่กล้าทำเลว


           


"ข้อสำคัญที่สุดในการทำแผนงานลดละเลิกอบายมุขคือ เราต้องเอาความดีมาเติมเต็มกัน ยิงซ้ำความดีออกไปเรื่อยๆ ให้รู้ว่ามันมีความดีในสังคม" นายฉัตรชัย กล่าว


 


ต่อประเด็นเด็กกับการพนัน นายฉัตรชัยแสดงความเห็นว่า เด็กๆ ล้วนถูกสั่งสอนว่าการพนันเป็นสิ่งไม่ดี แต่มันทำให้เขามีเงินกินขนม มีอารมณ์สนุกตื่นเต้น นอกจากนี้ เด็กบางคนต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหารายได้ เช่น เด็กที่ช่วยพ่อแม่ขายหวยหาเงินเลี้ยงครอบครัว คำถามสำคัญคือ การพนันเป็นสิ่งไม่ดี แล้วเด็กที่ขายหวยหาเงินเลี้ยงครอบครัวล่ะดีไหม ซึ่งคำถามนี้ผู้ใหญ่ต้องตอบให้ได้


           


"ผมคิดว่าผู้ใหญ่กำลังสับสน ผู้ใหญ่จะเอายังไง โรงเรียนยังจะจัดงานประจำปีแล้วมีเหล้าขายหรือเปล่า เรากำลังสับสนกับกระบวนการเรียนรู้ในสังคม เรากำลังจะทำให้เรื่องผิดปกติให้เป็นเรื่องปกติหรือไม่ ผมกำลังตั้งคำถามกับสังคมว่าจะเอายังไง แค่ไหน เอาให้ชัด สังคมไทยมันคลุมเครือไปเสียทุกเรื่อง เรากำลังพาสังคมเดินไปไหน นี่คือคำถามใหญ่ ผู้ใหญ่ไม่เคยเตรียมการอะไรเอาไว้ ผมคิดว่าเด็กๆ ของเรากำลังอยู่ในความเสี่ยง และเราปล่อยเขาไม่ได้" นายฉัตรชัย กล่าว


 


นอกจากนี้ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีงานวิจัยที่บอกว่าประสบการณ์ในวัยเด็กมีผลให้คนเล่นการพนันจริงๆ โดยจากการที่ลงไปทำการสำรวจ พบว่าคนสวนใหญ่ที่ติดการพนันจะมีประสบการณ์ในวัยเด็ก และมักจะเริ่มต้นจากการเล่นเล็กๆ น้อยๆ มาสู่ใหญ่ๆ จนเกิดวิกฤตในที่สุด     


 


"เล่นใหม่ๆ กำไรทุกคน และมันกลายเป็นความทรงจำไปยาวๆ กลายเป็นความฝันถึงการได้ซึ่งไม่เป็นจริง" เขากล่าว และว่า


 


ต่อคำถามที่ว่า หากการพนันมีหน้าที่ในสังคมทุนนิยม ถ้าจะลดมันแบบมาเจอกันครึ่งทาง จะมีสิ่งใดมาทดแทนได้ คิดว่าวิธีแก้คือการมีนโยบายที่จะกระจายโภคทรัพย์ของสังคมให้เป็นธรรมมากขึ้น แล้วเอาเงินนี้มาใช้ในการศึกษา มาจัดสวัสดิการสังคม หรือแก้ไขพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดิน เพื่อให้เงินงบประมาณแผ่นดินไปถึงประชาชนมากขึ้น เมื่อคนอยู่ดี ก็จะไม่ไปยุ่งกับการพนัน


 


ส่วนนางสุภาวดี หาญเมธี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หากงานวิจัยบอกว่าอารมณ์สนุกกับการพนันนั้นทำงานกับสมองมนุษย์จริงๆ คิดว่าไม่เฉพาะเรื่องการพนันเท่านั้น แต่เรื่องอื่นๆ ก็เป็นไปในทำนองนี้ด้วย อย่างไรก็ดี ถามว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ไหม ใช่ แต่มันไม่ได้มีแค่ธรรมชาติเรื่องนี้เรื่องเดียว มนุษย์มีความสามารถในการคัดกรองด้วย มนุษย์ต้องมีคำถามว่า เราจะเลือกพัฒนาด้านไหนขอตัวเอง และรัฐมีหน้าที่ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการดำรงชีวิต


 


"เรามักพูดว่า ก็ตลาดเป็นอย่างนี้ เราพูดแต่แบบนี้ไม่ได้ ต้องพูดทุกด้าน ที่คนเล่นการพนันมาก เพราะถูกกระตุ้นด้วยสภาพแวดล้อม เราจึงต้องจำกัด ต้องพัฒนาอย่างมีจังหวะก้าว จำกัดพื้นที่ของกิเลสให้มีอยู่อย่างเหมาะสม" นางสุภาวดี กล่าวในท้ายที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net