Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ซาเสียวเอี้ย


 


ในบรรดานิยามความรักทั้งหลายแหล่ที่คนทั้งโลกเห็นพ้องต้องกัน "ความรักของคนสองคน" ดูจะเป็นเรื่องฉาบฉวยที่สุด และหมดอายุเร็วที่สุด...


 


ถ้าเทียบกับความรักของพ่อแม่ หรือความรักในหมู่มวลมนุษยชาติที่คำสอนของหลายๆ ศาสนาพร่ำบอกให้ทุกคนพึงกระทำต่อกัน นั่นต่างหากคือ "รักที่แท้จริงและยิ่งใหญ่"


 


คือความรักที่ปราศจากเงื่อนไขและ "เป็นประโยชน์" ต่อทุกคน


 


แต่ในความเป็นจริง ความรักที่คับแคบและจำกัดวงอยู่แค่ "เธอกับฉัน" นั่นแหละ ที่เป็นอารมณ์-ความรู้สึกเชิงนามธรรมที่คนทั้งโลกต้องการจะมี มากกว่าความรักที่ยิ่งใหญ่ในแบบอื่นๆ…


 



 


ภาพยนตร์แนวโรแมนติก-คอมเมดี Music and Lyrics ของผู้กำกับ Mark Lawrence ที่พูดถึงความรักและเสียงเพลง เป็นผลงานที่ขายได้และขายดีในตลาดหนังทั่วโลก เพราะดูง่ายไม่ซับซ้อน แถมยังมีนักแสดงชื่อดังอย่าง Hugh Grant และ Drew Barrymore ที่มีแฟนคลับอยู่เยอะ ตามด้วยเพลงป๊อปที่ติดหูง่ายเป็นองค์ประกอบด้วย


 


แม้จะไม่ดังเปรี้ยงปร้าง แต่ก็ถูกคาดการไว้แล้วว่าจะเป็นแหล่งทำเงินของค่ายหนังอีกครั้งหนึ่งยามที่บรรจุลงแผ่นดีวีดี


 


Music and Lyrics จึงเป็นหมุดหมายอีกตัวหนึ่งที่ยืนยันให้เราเห็นว่าความรักที่วูบวาบชวนให้อะดรีนาลินฉีดพุ่ง คือสูตรสำเร็จของหนังที่สามารถดึงอารมณ์ร่วมของคนดูได้มากกว่าหนังแนวอื่นๆ เสียอีก


 


อเล็กซ์ เฟลทเชอร์ (Hugh Grant) เป็นมือคีย์บอร์ดในวงบอยแบนด์ที่เคยโด่งดังในยุค 80 ตอนปลายๆ แต่หลังจากที่นักร้องนำของวงที่เขาเป็นสมาชิกอยู่ แยกตัวไปออกอัลบัมเดี่ยว ชีวิตของอเล็กซ์ก็ดิ่งสู่ช่วงขาลงเรื่อยมา


 


เพื่อปากท้อง อเล็กซ์ต้องไปร้องเพลงหากินที่เคยฮิตติดชาร์ตไม่กี่เพลงซ้ำๆ ซากๆ ตามงานเลี้ยงรุ่น หรือไม่ก็ต้องไปแสดงโชว์ตามงานเทศกาลในชนบท


 


โอกาสเดียวที่จะทำให้เขากลับมาผงาดในแวดวงธุรกิจดนตรีได้อีกครั้ง คือการร่วมร้องเพลงกับ "คอร่า" (Haley Bennette) นักร้องสาววัยทีนที่มีลีลาการเต้นเซ็กซี่เย้ายวนเป็นจุดขาย แต่ปัญหาก็คือเขาจะต้องแต่งเพลงที่ทำให้คอร่ารู้สึกอยากร้องร่วมกับเขาให้ได้ ซึ่งมันคงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเขารู้ตัวว่าแต่งเนื้อเพลงเองได้ห่วยมาก เป็นเหตุให้ต้องหาคนมาช่วยตามคำแนะนำของผู้จัดการส่วนตัว


 


หลายฉากใน Music and Lyrics เสียดสีประชดชันแวดวง "ธุรกิจดนตรี" ได้อย่างแสบสัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรม MTV ที่เป็นตัวสร้างกระแสกำหนดว่าเพลงไหนจะฮิตหรือไม่ฮิต


 


หรือแม้แต่การกำหนด "จุดขาย" ให้กับนักร้องสาวชื่อดังอย่างคอร่า ดูเธอไม่ต่างอะไรจากสินค้าที่ถูกออกแบบแพคเกจภายนอกมาอย่างดี และมีฟังก์ชั่นการใช้งานถูกใจคนส่วนใหญ่


 


แต่สถานะ "ซูเปอร์สตาร์" ทำให้เธอไม่อาจทำตัวในชีวิตประจำวันให้หลุดไปจากภาพที่เหล่าครีเอทีฟได้ตั้งโจทย์เอาไว้ เธอจึงต้องแบกภาระการเป็นนักร้องสาวเซ็กซี่แต่เคร่งศาสนาอยู่ตลอดเวลา (แม้ว่าในความเป็นจริงเธอจะแยกความแตกต่างระหว่างตัวลามะกับดาไลลามะไม่ออกก็ตามที)


 


ภาพของธุรกิจดนตรีที่ได้เห็น จึงไม่ต่างอะไรจากโรงงานคั้นกะทิที่บีบเค้นเอาผลผลิตทั้งหมดไปใช้อย่างคุ้มค่า ส่วนกากที่ไม่สามารถทำประโยชน์อะไรได้แล้วก็จะถูกทิ้งไปอย่างไม่ไยดี การจะอยู่รอดให้ได้ในธุรกิจที่วัดกันด้วยยอดขาย คนทำงานในแวดวงนี้จึงต้องมีความสามารถอย่างแท้จริง เพื่อเก็บไว้ใช้ในวันที่จุดขาย เช่น หน้าตา หรือว่าความเท่ เสื่อมสภาพไปตามวันเวลา


 


เช่นเดียวกับอเล็กซ์ที่ถูกจับยัดเข้าไปอยู่ในกลุ่มคนเคยดัง ดูเหมือนว่าอดีตที่เฟื่องฟูของเขาจะยังพอขายได้ ผู้ผลิตรายการเรียลลิตีโชว์จึงไม่รอช้าที่จะทาบทามตัวให้เขาไปเป็นส่วนหนึ่งของรายการ แต่นั่นก็เป็นการทาบทามที่มองข้ามความสามารถและตัวตนของอเล็กซ์ไปอย่างไม่ให้เกียรติกันเลย


 


นอกจากนี้ การเขียนเพลงเกี่ยวกับความรู้สึก ตามแนวถนัดของอเล็กซ์ กลายเป็นเรื่องตกยุคและน่าดูถูก นักแต่งเพลงชื่อดังรายหนึ่งซึ่งผู้จัดการของอเล็กซ์จ้างมาเขียนเนื้อร้องให้จัดประเภทเพลงเหล่านี้ว่าเป็น Feel Good Song ที่ทำให้คนฟังรู้สึกดี แต่ทำให้คนในแวดวงดนตรีรู้สึกสะอิดสะเอียน เพราะมันไม่มีอะไรแปลกใหม่ และเป็นการก้าวย่ำตามรอยเดิมๆ ของการเป็นเพลงป๊อปยอดนิยมที่เน้นเนื้อเพลงและจังหวะที่ติดหูง่ายก็เท่านั้น


 


ซึ่งมันอาจร้ายแรงถึงขั้นที่อเล็กซ์จะเสี่ยงถูกด่าว่า "ไม่มีความเป็นมืออาชีพ" เอาเสียเลย


 


เมื่อความคิดแตกต่างกันสุดขั้วปานนั้น อเล็กซ์ก็ไม่สามารถทำงานกับนักแต่งเพลงมืออาชีพคนนั้นได้ และโชคชะตาก็พา "โซฟี ฟิชเชอร์" (Drew Barrymore) เข้ามาในชีวิตอเล็กซ์ได้ทันเวลา


 


โซฟีถูกวางบทให้เป็นนางฟ้าตามพล็อตสูตรสำเร็จ เพราะนอกจากจะเป็นผู้หญิงที่ชอบช่วยเหลือคนอื่นแล้ว เธอยังมีความสามารถด้านการขีดๆ เขียนๆ (และสามารถเขียนเนื้อเพลงได้) อย่างที่อเล็กซ์ต้องการพอดิบพอดี 


 


โซฟีจึงเป็น "คนที่ใช่" ในเวลาที่เหมาะสมของอเล็กซ์


 


แต่อเล็กซ์จะเป็น "คนที่ใช่" ของโซฟีหรือเปล่า...นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


 


000


 


ในเมื่อตำนานเก่าแก่ของโลกกล่าวไว้ว่าพระเจ้าสร้างผู้หญิงจากกระดูกซี่โครงของผู้ชาย ภาวะแห่งการเฝ้าตามหา "ส่วนที่หายไป" จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย


 


แต่กว่าจะตามหาตัว "คนที่ใช่" จนเจอ ใครหลายคนต้องผ่านความผิดหวัง และต้องรับมือกับความเจ็บปวดที่เกิดจากการเอาตัวเข้าไปผูกพันกับ "คนที่ไม่ใช่" หลายครั้งหลายหน


 


ถ้าหากอเล็กซ์ไม่ได้เจอกับโซฟี บทเพลงที่จะเปลี่ยนชีวิตของนักดนตรีตกอับอย่างเขาคงไม่มีทางเกิดขึ้น โซฟีจึงเป็นด้านที่ขาดหาย และมาเติมเต็มความบกพร่องของอเล็กซ์ได้อย่างลงตัว


 


ในทางกลับกัน ผู้หญิงมากความสามารถอย่างโซฟีกลับไม่เคยมั่นใจในตัวเอง เพียงเพราะเธอไม่อาจลืมอดีตที่เคยผิดพลาดจนไม่กล้าทำในสิ่งที่อยากจะทำจริงๆ


 


สิ่งที่ขาดไปในชีวิตของโซฟีก็คือ "ความเชื่อมั่น"


 


แต่เมื่ออเล็กซ์ต้องการความช่วยเหลือจากเธอ โซฟีจึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของตัวเองขึ้นมาอีกครั้ง


 


สิ่งที่คนสองคนมอบให้แก่กันก็คือการเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย และนั่นอาจเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้ใครอาจทึกทักไปได้ว่าเป็น "ความรัก"


 


แต่มันจะดีกว่าไหม ถ้าเราเลิกตามหา "ใครคนนั้น" และเลิกมองว่าชีวิตมีบางอย่างหรือบางส่วนที่หายไป?


 


เพราะถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราหาคำตอบให้กับตัวเองได้ ชีวิตก็จะคลี่คลายไปเองในที่สุด...


 


เหมือนอย่างที่อเล็กซ์แต่งเนื้อร้องและทำนองเพลง Don"t Write Me Off ขึ้นไปร้องบนเวทีได้โดยไม่ต้องมีความช่วยเหลือจากใคร และโซฟีก็เรียนรู้ที่จะก้าวต่อไปด้วยตัวเองได้ โดยไม่ต้องจมกับอดีตที่ผ่านมา...


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net