Skip to main content
sharethis


ปาฐกถาเรื่อง


ประชาธิปไตยที่ทางแพร่ง


โดย ดร. ทักษิณ ชินวัตร


ณ สถาบันการศึกษายุทธศาสตร์นานาชาติ กรุงลอนดอน


วันที่ 2 มีนาคม 2550


 


 


 


ผมขอขอบคุณกับคำกล่าวแนะนำของท่าน (ตัวแทนของสถาบัน) เป็นเกียรติแก่ผมอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาพูด ณ ที่นี้ และได้มีส่วนทำสิ่งเล็กน้อยๆ ให้กับงานและเป้าหมายทางสถาบัน


 


ผมขอบคุณมากกับการเชิญผมมาพูดในบ่ายวันนี้เกี่ยวกับประชาธิปไตย ณ ประเทศที่เป็นแม่แบบของ ประชาธิปไตยของโลก ดินแดนที่คุณค่าของประชาธิปไตยยังดำรงอยู่ หล่อหลอมเป็นส่วนหนึ่งของวิถี ชีวิตประจำวันและซึมซับในสายเลือดของผู้คน ที่ซึ่งประชาชนดูเหมือนจะหายใจเข้า-ออก กินอยู่ หลับ นอนเป็นประชาธิปไตย ดินแดนที่ซึ่งวัฒนธรรมทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประชาธิปไตย และเป็นดินแดนที่ไม่อาจจินตนาการได้เลยว่า วิถีชีวิตของผู้คนจะดำรงอยู่ได้อย่างไร หากไร้ซึ่งประชาธิปไตย


 


ผมไม่ได้เป็นนักการเมืองอีกแล้ว และผมก็มิได้มีเจตจำนงจะหวนกลับไปเล่นการเมืองอีก


 


หลายปีที่ผ่านมา จากการสังเกตการณ์และประสบการณ์ของผมในหลายตำแหน่งที่ผมเคยเป็นในรัฐบาล ทำให้ผมเชื่อว่า ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ประสบความสำเร็จที่สุดจากระบอบการปกครองทั้งหมด เป็นระบอบที่จะนำมาซึ่งการพัฒนาที่แท้จริงทางเศรษฐกิจและสังคมและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนทุกคน


 


ผมเชื่อมั่นในประชาธิปไตย เพราะมันให้เกียรติ สิทธิ และเสรีภาพแก่มนุษยชาติ ผมเชื่อมั่นในประชาธิปไตยเพราะมันเป็นระบอบการปกครองที่นำมาซึ่งสันติสุขและความเจริญของประชาชน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของระบอบ และผมเชื่อมั่นในประชาธิปไตย เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่นำมาซึ่งความยุติธรรมในสังคม


 


ดังนั้น รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยต้องทำตามพันธะสัญญาที่จะนำความสุข ความเจริญ และความอยู่ดี-กินดีมาสู่ประชาชน แต่จะประสบความสำเร็จมากน้อยเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไขปัจจัย


 


รัฐบาลที่ได้รับอำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะมีอำนาจทางกฎหมาย


เพื่อใช้อำนาจนั้นอย่างนอบน้อม


 


ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลที่ได้อำนาจมาด้วยวิธีการอื่น รัฐบาลนั้นๆ อาจจะต้องพยายามที่จะใช้ทุกวิถีทางเพื่อรักษาอำนาจนั้นไว้ และบ่อยครั้งที่ต้องอยู่ภายใต้ภาพลวงตาที่ว่า "สิ่งที่ดีที่สุดต่อรัฐบาล คือสิ่งที่ดีที่สุดต่อประเทศชาติ"  ซึ่งที่จริงแล้วไม่ได้มีเหตุผลอะไรมากไปกว่า อำนาจที่ได้มานั้นมันหอมหวานกว่าจะปล่อยไป


 


ในสองศตวรรษที่ผ่านมา เป็นช่วงเบ่งบานของประชาธิปไตย โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษสุดท้าย พร้อมกันนี้ หลากหลายรูปแบบของรัฐบาลประชาธิปไตยได้เกิดขึ้นและปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม


 


อย่างไรก็ดี กติกาและเงื่อนไขส่วนหนึ่งต้องคงอยู่ในกระบวนการประชาธิปไตย เช่น การมีส่วนร่วม, การออกเสียงเลือกตั้งอย่างมีคุณภาพ, อิสรภาพ, และยุติธรรม, เสรีภาพในการแสดงออกและการเข้าถึงแหล่งข้อมูล มีทางเลือกอันหลากหลาย หรืออิสรภาพของสมาคมองค์กรต่างๆ ฯลฯ


 


หลังสงครามโลก ตั้งแต่ปี ค.ศ.1945 เป็นต้นมา เราเห็นคลื่นที่ใหญ่ที่สุดของประชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งส่วนมากนั้นเป็นมรดกตกทอดมาจากการให้เอกราช หรือได้รับอิทธิพลจากประชาธิปไตยตะวันตกที่อำนาจของเจ้าอาณานิคมหลงเหลือไว้ให้


 


ตลอดช่วง 60 ปีหลังสงคราม โลกได้เป็นรับรู้ถึงความสำเร็จอย่างมากมายในการนำประชาธิปไตย พอๆ กับความล้มเหลวและพังทะลายของประชาธิปไตยในหลายส่วนของโลก


 


ขณะที่ศตวรรษล่าสุดเป็นช่วงเวลาที่เบ่งบานที่สุดของประชาธิปไตยในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ดังที่ศาสตราจารย์ โรเบริ์ต ดาห์ล กล่าวในหนังสือ "On Democracy" ของเขาว่า "มีตัวอย่างมากกว่า 70 ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความล่มสลายของประชาธิปไตย และตกอยู่ภายใต้ระบอบของผู้มีอำนาจ"


 


อะไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับประชาธิปไตยซึ่งมีขึ้นมีลงในหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้น ประชาธิปไตยมักจะถูกพูดถึงเสมอเมื่อถึงคราวต้องเลือก และมักจะไม่มีบทสรุปเกี่ยวกับข้อดี-ข้อเสียของประชาธิปไตยในประเทศที่ไร้ประชาธิปไตย


 


ในประเทศที่เพิ่งมีประชาธิปไตย สถาบันเกี่ยวกับประชาธิปไตย อาจได้รับการส่งเสริมหรือละเลย ขึ้นอยู่กับว่า ประชาธิปไตยได้ลงรากฐานอย่างเข้มแข็งในประเทศนั้นๆ หรือไม่มากน้อยเพียงใด


 


ในประเทศที่ประชาธิปไตยเติบโตมาช้านาน สิ่งที่ถูกถามกันบ่อยครั้งก็คือ มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องปรับปรุงให้ประชาธิปไตยมีความลึกซึ้งมากขึ้น หรือจะทำอย่างไรถ้ามีประชาธิปไตยมากเกินไป


 


มักจะมีคำถามเสมอๆ ว่า เราจะก้าวต่อไปทางไหนบนวิถีแห่งการพัฒนาประชาธิปไตย และทางไหนที่เราควรจะเลือกก้าวเดินเมื่อถึงทางแยก


 


ขณะที่ประเทศที่เพิ่งเป็นประชาธิปไตยมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตั้งแต่การพังทลายของกลุ่ม


ยุโรปตะวันออก ในปลายศตวรรษ 1980 และต้นศตวรรษ 1990 เราสามารถเรียนรู้ที่จะปรับปรุงรูปแบบของประชาธิปไตยให้มีเสถียรภาพ ผ่านต้นทุนของวัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยของประเทศเหล่านั้น


 


ในส่วนตัวของผม ผมเชื่อว่าความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่แท้จริงไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในระยะยาวโดย ปราศจากประชาธิปไตย


 


ทั้งประชาธิปไตยและเศรษฐศาสตร์แบบกลไกตลาด การที่ความสำเร็จในเรื่องต่างๆ จะเกิดขึ้นได้นั้น เสรีภาพต้องได้รับการคุ้มครอง ที่ซึ่งเสรีภาพได้รับการคุ้มครอง ที่นั้นจะมีความโปร่งใส, ความเชื่อมั่น, และความคาดการณ์ได้ สิ่งเหล่านี้คือองค์ประกอบของเสถียรภาพทางประชาธิปไตยและเศรษฐกิจ


 


ผมมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า การพัฒนาเศรษฐกิจนั้นผูกติดกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืน


 


ประชาธิปไตยเป็นเครื่องปกป้องดูแลสภาพทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีการเติบโตในระยะยาว และการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน


 


ความเติบโต (ทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตย) จะลดความยากจน, ยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิต, และลดความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคม


 


ความเติบโต (ทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตย) จะนำมาซึ่งการแบ่งปันทรัพยากร เพื่อใช้ในการศึกษาและสวัสดิการสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตย


 


มองไปทั่วโลก เราเห็นบางประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และมีโอกาสทางปัญญา กระนั้น ประชากรส่วนใหญ่ก็ยังยากจน


 


เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำไม่สามารถรับผิดชอบต่อประชาชนของเขา เมื่อใดก็ตามที่การตัดสินใจของเขาไม่ได้รับการยอมรับจากเสียงส่วนใหญ่ ประเทศชาติของพวกเขาหยุดนิ่ง ไม่สามารถเคลื่อนไปข้างหน้า


 


ประชาธิปไตยกำเนิดความคิดสร้างสรรค์ การแลกเปลี่ยนความคิดบนพื้นฐานของการแสดงออกอย่างอิสระสร้างกลไกและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประชาชน และตัวเชื่อมระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและประชาธิปไตยนี้มีผลอย่างมากต่อการพัฒนาของอารยธรรม


 


ถ้าเรามองย้อนหลังไปในศตวรรษของประชาธิปไตยแบบเก่าที่ยังคงอยู่ในยุโรป เราอาจจะพบว่า วัฒนธรรมทางการทหารได้ครอบครอบระบบและกลไกของรัฐในระหว่างศตวรรษที่ 18 และ 19  อันเป็นยุคแห่งเกียรติยศเป็นใหญ่


 


ในศตวรรษที่ 19 (เรา) เห็นว่า เป็นยุคของการปฎิวัติอุตสาหกรรมที่ความมั่งคั่งอยู่เหนือเกียรติยศ


 


ในปัจจุบัน โลกตะวันตกเป็นผู้นำแห่งยุคข่าวสารข้อมูล เป็นยุคที่การสร้างองค์ความรู้เป็นต้นทุนของความมั่งคั่งและเกียรติยศ


 


กลุ่มประเทศในเอเชีย, แอฟริกา และแอฟริกาใต้ ที่การพัฒนาประชาธิปไตยยังไปไม่ถึงจุดที่จะได้รับ ประโยชน์จากยุคของข้อมูลข่าวสาร จะพบกับความยากลำบากในเรื่องเศษฐกิจและความเสี่ยงต่อความไร้เสถียรภาพของประชาธิปไตย


 


ในทางตรงกันข้าม กลุ่มประเทศประชาธิปไตยฝั่งตะวันตกได้วางยุทธศาสตร์เพื่อหาประโยชน์สูงสุดจากยุคข้อมูลข่าวสารไปเรียบร้อยแล้ว ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้จะสร้างโอกาสที่ดีกว่าต่อประชากรในประเทศของเขา ด้วยเสรีภาพของการแสดงออกเพื่อการสะสมข้อมูลและสร้างยุทธศาสตร์ข้อมูลเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเขา


 


ดังนั้น ความสำคัญจึงอยู่ที่ว่า กลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งเป็นแชมป์ของความสำเร็จในการสร้างประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งในกลุ่มประเทศสมาชิก สามารถให้ความความช่วยเหลือกลุ่มประเทศประชาธิปไตยใหม่โดยอาศัยประสบการณ์อันหลากหลายของกลุ่มอียู


 


ความสำเร็จของกลุ่มประเทศยุโรปในการสร้างประชาธิปไตยและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจจากเถ้าถ่านของสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นหนึ่งในหลายความสำเร็จในศตวรรษสุดท้าย และสิ่งที่ต่อยอดต่อมาก็คือความสำเร็จในการรวมกลุ่มทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงชัยชนะแห่งความหวังและความฝันผ่านประวัติศาสตร์และโศกนาฎกรรม นี่คือตัวอย่างว่า ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งสามารถนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างไร


 


มีหลายแห่งทั่วโลกที่ยุโรปสามารถให้บทเรียนเพื่อการเรียนรู้ของประเทศเหล่านั้น และไม่มีที่ไหนจะเหมาะเท่ากับประเทศที่อยู่ระหว่างทางแยกของการพัฒนาประชาธิปไตย ประเทศเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อให้มั่นใจว่า ประเทศของเขาไม่ได้ก้าวเดินผิดทิศทางหรือก้าวพลาด


 


สำหรับเอเชีย, ในมุมมองของผม ผมคิดว่ายุโรปน่าจะดำเนินการกับประเทศเอเชียด้วยความละเอียดอ่อน  เคารพ และอย่างมีวิสัยทัศน์ ตลอดจนส่งเสริมการสนับสนุนประชาธิปไตย การติดตามของท่านจะทำให้แน่ใจว่า วิสัยทัศน์และเป้าหมายที่เราแลกเปลี่ยนกัน ยืนอยู่บนโอกาสที่มากขึ้นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ยุโรปและเอเชียสามารถเพิ่มและเร่งความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและประชาธิปไตยในเอเชีย เราสามารถรณรงค์สนับสนุนการปกครองที่ดี เพื่อยกระดับประชาธิปไตยและเศรษฐกิจ


 


ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจาก 40 ปีที่ก่อตั้ง กลุ่มประเทศอาเซียนกำลังอยู่ในจังหวะก้าวที่สำคัญเพื่อก้าวไปสู่การปฎิบัติตามพันธะสัญญาต่อการสร้างเสรีทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตย กลุ่มประเทศอาเซียนกำลังร่างกฎบัตรที่ 1 โดยตัวแทนจาก 10 ประเทศสมาชิก แนะนำข้อกฎหมายในกฎบัตรที่ 1 เพื่อเสริมสร้างสันติและเสถียรภาพของกลุ่มประเทศเหล่านี้ และสิ่งที่ผมเน้นในกฎบัตรนี้ได้แก่ "ความมั่นคงแข็งแรงของระบบคุณค่าประชาธิปไตย, การปกครองที่ดี, การไม่ยอมรับอำนาจนอกเหนือรัฐธรรมนูญและไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐบาล, ข้อระเบียบของกฎหมายที่ครอบคลุมถึงกฎหมายอารยะระหว่างประเทศ และการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน


 


ขณะที่ส่วนหนึ่งของพวกเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไม่เปิดรับประชาธิปไตยในปัจจุบัน เขาเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการในกาลข้างหน้า อาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อยที่คุณค่าประชาธิปไตยจะฝังรากในภูมิภาคของเรา (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เหมือนดั่งที่เป็นอยู่ในยุโรปวันนี้ กระนั้นก็ตาม ทิศทางในอนาคตของเราก็ชัดเจน


 


ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่ฟุ่มเฟือยอีกต่อไปในภูมิภาคของเรา แต่เป็นสิ่งจำเป็น เราต้องการประชาธิปไตยที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เราเมื่อมีวิกฤติเกิดขึ้น- ซึ่งมันมักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ และเพื่อให้สถาบันทางการเมือง และเศรษฐกิจในแต่ละประเทศของเราเข้มแข็งพอที่จะทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกอย่างมีเสถียรภาพ


 


อย่างไรก็ตาม มันแทบจะไม่มีเหตุผลเลยที่จะหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจหรือไปใกล้ชิดกับประเทศที่มีเสถียรภาพอยู่บนความล้าหลังของประชาธิปไตย ไม่ว่าจะผ่านกติกา หรือผ่านการทำงานร่วมงานของปัจเจกชนในตลาดเสรีก็ตาม


 


และถ้าผมสามารถ...ขอให้ผมได้กล่าวสักเล็กน้อยเกี่ยวกับประเทศไทย


 


เหนือสิ่งอื่นใด ผมต้องการให้คุณทราบว่า ผมยังคงหวังอย่างแรงกล้าและยังมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับอนาคตของประเทศผม ขอให้ผมได้อธิบายว่า ทำไมผมถึงรู้สึกแบบนี้...


 


ประเทศไทยมีสถาบันเกี่ยวกับประชาธิปไตยใน ค.ศ.1932 (2475) นับแต่นั้น เรามีรัฐธรรมนูญ 17 ฉบับ และผ่านมรสุมทางการเมืองมามากมาย รากแห่งประชาธิปไตยได้ลงหลักปักฐานแล้วอย่างแนบแน่น ท่ามกลางประชาชนชาวไทย ประชาชนทั่วประเทศยังคงต้องการที่จะเห็นผู้บริหารที่มีความรับชอบโดยตรงที่มาจากการเลือกตั้ง เขาเริ่มที่จะเข้าใจจุดเชื่อมต่ออย่างใกล้ชิดระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและประชาธิปไตย


 


เมื่อผมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2001 ประชาชน 12.5 ล้านคนในประเทศไทยยังอยู่ใต้เส้นความยากจน ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตัวเลขนั้นได้ลดลดเหลือ 7.5 ล้านคน ซึ่งยังคงน้อยนิด แต่เรากำลังก้าวไปถูกทาง ถึงแม้เราเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ นั่นคือ เหตุการณ์สินามิในปี 2004 แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ในรอบห้าปีที่ผ่านมา และเรามีสถานภาพเป็นประเทศเจ้าหนี้ หลังจากที่เราประสบปัญหาเศรษฐกิจพังทลายในปี 1997 เราสามารถจัดการจ่ายหนี้คืนไอเอมเอฟได้ก่อนกำหนดเวลาถึง 2 ปี เราดูแลและทำให้มั่นใจว่า คนยากจนในชนบทสามารถเข้าถึงทุนโดยการจัดตั้งกองทุนท้องถิ่นและให้สิทธิพวกเขาในการเข้ามาจัดการรายได้ของพวกเขาในแต่ละชุมชนท้องถิ่น และท้ายสุดเพิ่มการลงทุนต่างประเทศ


 


สิ่งที่กล่าวมานี้ บางทีจะทำให้คุณเข้าใจได้ว่าทำไมผมยังคงมองโลกในแง่ดีต่ออนาคตของประเทศผม ผมเชื่อมั่นว่า ความยืดหยุ่นของคนไทยจะฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและทำให้มันคงอยู่ต่อไปทันทีที่ประชาธิปไตยหวนกลับสู่ประเทศไทย และผมเชื่ออย่างแรงกล้าว่า จิตใจที่ดีงาม อันเป็นลักษณะนิสัยของคนไทยจะสามารถทำให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งการสมานฉันท์ และการเป็นผู้นำที่มีเมตตาและพระปรีชาญาณของพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักของพวกเรา ผมรู้ว่าคนไทยทุกคนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคนของในหลวงใน 60 ปีที่ครองราชย์และทรงงานเพื่อความอยู่ดี-กินดีของประเทศ


 


ไม่มีอะไรสามารถแสดงออกถึงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้งได้ดีกว่าการทำให้ประเทศชาติและประชาชนในประเทศหันหน้าเข้าหากันและทำงานร่วมกันเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีในวันข้างหน้าของพวกเรา การฟื้นฟูประชาธิปไตยในไม่ช้าไม่นานจะเป็นตัวเร่งความก้าวหน้าในเรื่องนี้


 


และสำหรับทุกท่านในฐานะมิตรของเรา ผมรับรู้ว่า เมื่อครั้งที่เราตกอยู่ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 ท่านยืนอยู่ข้างเราและมีความอดทนกับเราบนเส้นทางแห่งการฟื้นฟูของเรา ท่านได้เห็นความยืดหยุ่น และการดำเนินการของเราที่ทำสภาพทางธุรกิจคืนสู่สภาวะปกติ และเราก็ทำได้จริงๆ เราทำได้ดีเกินกว่า ที่หลายๆคนคาดหวัง


 


ท้ายสุดนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ณ ทางแยกสายใหม่นี้ เราจะเลือกเส้นทางที่ดีที่สุดเพื่อประเทศไทย


ขอบคุณมากสำหรับการฟัง และผมยินดีตอบทุกคำถาม


 


 


............................................................


คลิก ดูคลิป 'ทักษิณ' บรรยายที่ลอนดอน

เอกสารประกอบ

ปาฐกถา "Democracy at a Crossroads" ต้นฉบับภาษาอังกฤษ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net