Skip to main content
sharethis

ประชาไท--7 ก.พ. 2550 หลังจากที่มีรายงานข่าวว่า กลุ่มนักศึกษาชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ออกมาร้องเรียนพฤติกรรม ผอ.สถาบันชาติพันธุ์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยระบุว่า ผอ.สถาบันชาติพันธุ์ศึกษาได้ชักชวนให้นักศึกษาชาติพันธุ์ที่มีฐานะยากจนจากจังหวัดต่างๆ มาเรียนในสาขา "ชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง" ด้วยการเสนอให้ทุนการศึกษาฟรีตลอดหลักสูตร ที่พัก พาหนะฟรีและโอกาสทำงานในอนาคต แต่ท้ายสุดปล่อยลอยแพ จนนักศึกษาติดหนี้ยกชั้น และผอ.ยังมีพฤติกรรมการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ตามที่มีรายงานข่าวไปแล้วนั้น วันนี้ได้มีอดีตเจ้าหน้าที่ของสถาบันชาติพันธุ์ศึกษาเดินทางมาร้องเรียนต่อผู้สื่อข่าวอีก 2 ราย อ้างเคยถูก ผอ.สถาบันชาติพันธุ์หลอกเหมือนกรณีของนักศึกษา


 


เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจากนายพิชิต สะโมสูงเนิน อดีตเจ้าหน้าที่สถาบันชาติพันธุ์ศึกษา และอดีตนักศึกษาเอกวิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ที่ ผอ. สถาบันชาติพันธุ์ศึกษาเคยสอน อ้างว่า สมัยที่ตนเข้าเป็นนักศึกษา สาขาวิชาเอกการพัฒนาชุมชน สถาบันราชภัฏเชียงรายตนกับพวกได้รับการชักชวนจากอาจารย์สมบัติ บุญคำเยืองให้เข้ามาทำงานในศูนย์ชาติพันธุ์ ตอนภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2543 โดยตนกับเพื่อนที่เป็นเพศที่สามจะผลัดกันนอนเฝ้าศูนย์ชาติพันธุ์ และต้องทำงานอย่างหนัก ตัดหญ้า ตัดต้นไม้ กวาดเช็ด ถูพื้น ทำความสะอาด ทำกับข้าว และทำหน้าที่เป็นหมอนวดประจำตัวให้กับ ผอ. อีก บ่อยครั้งที่อาจารย์จะเข้าไปปลุกให้ตนมานวดตั้งแต่ตีสอง ตีสามจนถึงตีสี่ พอเช้าก็ต้องตื่นไปเรียน เป็นอย่างนี้เป็นเวลา 4 ปี กระทั่ง ตนจบออกไปทำงานที่อื่น


 


ปลายปี พ.ศ. 2548 ตนได้รับการติดต่อจากอาจารย์สมบัติ บุญคำเยือง โดยยื่นข้อเสนอว่าจะส่งเรียนต่อจนจบปริญญาโทในด้านสมุนไพร การแพทย์พื้นบ้าน พฤกษาศาสตร์ชาติพันธุ์ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า หน้าที่การงานด้านสาธารณสุขที่ตนทำงานอยู่ไม่มั่งคงตนคิดอยู่หลายวันจึงตัดสินใจลาออกจากงานตามที่อาจารย์ชักชวน แต่ปรากฏว่า ไม่ได้เรียนต่อตามที่อาจารย์สัญญาไว้แม้แต่น้อย ซ้ำยังปล่อยให้ตนตกงานอยู่นานถึง 4 เดือน กระทั่งบุคลากรในสถาบันฯ ลาออกกะทันหัน อาจารย์สมบัติจึงให้ตนเข้าไปทำงานแทนในหน้าที่เจ้าหน้าที่บริหารทั่วไปของหลักสูตรสหวิทยาการบริหารท้องถิ่นไปก่อน ส่วนเรื่องเรียนต่อก็ไม่เคยพูดถึงอีก


 


นอกจากตนจะต้องปรับตัวเพื่อทำงานในหน้าที่การงานที่ไม่ถนัดแล้วตนต้องทำงานอย่างหนักทุกวัน ไม่มีวันหยุด วันพัก ไม่มีคำว่า ปฏิเสธอาจารย์ใช้ให้ไปไหนก็ไป ใช้ให้นวดดึกๆ ดื่นๆ ก็ต้องทำตลอดเวลาที่ตนทำงานอยู่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็น และเปิดเผยตัวตนออกมาได้ เพราะอาจารย์จะแสดงอาการดูถูก ด่า บางทีขู่จะใช้กำลังกับตน เมื่อตนเริ่มอึดอัด และตั้งคำถามต่อพฤติกรรมที่เป็นอยู่มากขึ้นอาจารย์ก็เริ่มใช้กระบวนการขับไล่ตนออกจากสถาบันชาติพันธุ์ฯ ด้วยการให้ตนไปเขียนโครงการเพื่อทำงานวิจัยเอาเอง และเริ่มประกาศรับเจ้าหน้าที่ใหม่มาแทนตน แต่ขณะนั้น หลักสูตรสหวิทยาการบริหารท้องถิ่นขาดคนช่วย และนักศึกษาชาติพันธุ์ชั้นปีที่ 1 กำลังถูกปล่อยให้ลอยแพ ไม่มีใครช่วยเหลือดูแล ตนจึงอาสาช่วยงานต่ออีก 1 เดือน โดยไม่ได้รับเงินเดือน จากนั้นก็ตัดสินใจถอยออกมา ขณะนี้ตนตกงานได้ 5 เดือนแล้ว


 


"กระเทยอย่างเราต้องถูกใช้แรงงานหนักเยี่ยงทาส คอยรับใช้อาจารย์ทุกเรื่อง เราเชื่อมาโดยตลอดว่า อาจารย์เป็นคนที่จบการศึกษาด้านมานุษยวิทยามาจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง และสั่งสอนให้เราทำงานหนักเพื่อรับใช้สังคม รับใช้ชาวบ้าน คนด้อยโอกาส พี่น้องชาติพันธุ์สอนให้เราถือสัจจะ ไม่ล่อลวงผู้อื่นและรับผิดชอบต่อสิ่งที่เรากระทำ แต่ผลสุดท้าย อาจารย์ก็ไม่เคยทำสิ่งที่สอนตนได้เลย การที่เราออกมาร้องเรียนเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของศิษย์คิดล้างครู หรือต้องการทำลายชื่อเสียงของสถาบันที่เราจบมา แต่ต้องการให้สังคมได้เห็นถึง พฤติกรรม ของอาจารย์ที่กระทำต่อผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง และตนในฐานะรุ่นพี่อยากให้กำลังใจน้องๆ ปี 1 ชาติพันธุ์ในการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิครั้งนี้ด้วย" นายพิชิต กล่าวทิ้งท้าย


 


ขณะที่ นายสุมาตร ภูลายยาว นักเขียนและนักพัฒนาเอกชน อดีตอาสาสมัครรุ่นที่ 24 ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ซึ่งทำงานอยู่ที่ศูนย์ชาติพันธุ์ศึกษา (ชื่อเดิม) มรภ.เชียงราย ในช่วงปี พ.ศ. 2545 เป็นอีกรายหนึ่งที่เข้ามาร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของ ผอ.สถาบันชาติพันธุ์ศึกษาว่า อาจารย์สมบัติ บุญคำเยือง เคยสัญญากับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมในเงื่อนไขการรับอาสาสมัครเข้ามาทำงานว่าอาจารย์จะรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อลงพื้นที่ทำงานวิจัยให้กับศูนย์ชาติพันธุ์ และค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าร่วมประชุมร่วมกับเพื่อนอาสาสมัครในองค์กรอื่น แต่ตลอดระยะเวลาการทำงาน ผอ.สถาบันชาติพันธุ์ศึกษาจะจ่ายให้เพียงครั้งเดียว ทำให้ตนในฐานะอาสาสมัครซึ่งก็มีค่าตอบแทนน้อยอยู่แล้ว ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตัวเองทั้งหมด


 


"ครั้นเมื่อผมทวงถามหนักเข้าๆ ผอ.สถาบันชาติพันธุ์ก็อ้างว่า ระเบียบของสถาบันราชภัฏเชียงรายไม่สามารถเบิกจ่ายให้ได้ แต่จะพยายามหาจากแหล่งอื่นมาให้ ท้ายที่สุด ก็ไม่มีการจ่ายให้ตนแต่อย่างใด กระทั่งผมลาออกมา"


 


ต่อกรณีปัญหานักศึกษาชาติพันธุ์ปี 1 ที่ออกมาร้องเรียนพฤติกรรม ผอ. สถาบันชาติพันธุ์ฯ นั้น นายสุมาตร ให้ความเห็นว่า ทางมหาวิทยาลัยน่าจะหยิบยกปัญหาของนักศึกษาขึ้นมาพิจารณาอย่างเร่งด่วน และกระทำด้วยความจริงใจ นอกจากนี้ยังต้องตั้งคณะกรรมการจากหลายฝ่ายเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมย้อนหลังไปตั้งแต่ครั้งที่ ผอ. สถาบันฯ เข้ามารับงานว่า ได้แสดงพฤติกรรมใดๆ ที่ส่อไปในทางที่ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือไม่ นายสุมาตรกล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net