Skip to main content
sharethis


 


 


อาสาสมัครกรีนพีซในชุดผู้ป่วยชุมนุมด้านหน้ากระทรวงอตสาหกรรม


เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตปลอดมลพิษ


 


ประชาไท - 6 ก.พ.2550 อาสาสมัครจากกลุ่มกรีนพีซ รวมตัวกันหน้ากระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อคัดค้านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีมติเลื่อนการประกาศเขตควบคุมมลพิษออกไป ทั้งๆ ที่มีหลักฐานอย่างชัดเจนว่าผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโรงงานก่อมลพิษในมาบตาพุดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกที


 


ทั้งนี้ กลุ่มกรีนพีซ ได้วิเคราะห์ตัวอย่างน้ำทิ้งและตะกอนจากโรงงาน 2 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อหาปริมาณโลหะหนักและสารประกอบอินทรีย์ ระหว่างปี พ.ศ.2546-2547 และพบว่า น้ำทิ้งจากโรงงานทั้ง 2 แห่ง มีสารอินทรีย์ระเหยที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ อาทิ เอทิลีนไดคลอไรด์ (EDC) ที่มีความเข้มข้นถึง 250 ไมโครกรัม/ลิตร ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์ ทั้งยังเป็นสารเคมีที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมอย่างยาวนานกว่าจะสูญสลาย การที่โรงงานประเภทเดียวกันนี้ปล่อยน้ำทิ้งที่มีระดับความเข้มข้นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ 


 


กรีนพีซจึงเรียกร้องให้ นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษทันที นอกจากนี้ กรีนพีซ ยังได้เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ใน 3 แนวทาง ประกอบด้วย


 


1.จัดให้มีการดำเนินการเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงสิทธิการรับรู้ของชุมชน เช่น ควรมีการจัดทำทำเนียบการปล่อยทิ้งสารพิษให้แล้วเสร็จและเผยแพร่ต่อสาธารณชน (Community Right-to-Know) เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบและระบุแหล่งกำเนิด รวมถึงการรายงานชนิดและปริมาณมลพิษทั้หมดที่ปล่อยออกมาจากพื้นที่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม


 


2.ดำเนินการด้านการผลิตที่สะอาด (Clean Production) โดยการลดการปล่อยทิ้งมลพิษให้เหลือน้อยที่สุดจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมพื้นที่ ไปจนถึงการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์


 


3.ดำเนินการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันก็ต้องรับประกันด้วยว่าจะไม่มีการขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดอีก ไม่ว่าจะเป็น โครงการไฟฟ้าถ่านหินหรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีเฟสใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net