Skip to main content
sharethis

 

การเมือง

 

ผลสำรวจชี้รัฐบาลสอบผ่านด้านสังคม แต่ตกเศรษฐกิจ

ผู้จัดการออนไลน์ - สำนักวิจัยเอแบค โพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด รวม 2,144 คน ในระหว่างวันที่ 10-20 มกราคม เกี่ยวกับความพอใจของสาธารณชนต่อนโยบายรัฐบาลในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เกินกว่าร้อยละ 80 ได้ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำ และเมื่อประเมินความพอใจของประชาชนต่อผลงานรัฐบาล พบว่าคะแนนความพอใจในภาคการเมืองการปกครองถือว่าสอบผ่านได้ 5.81 คะแนน จาก 10 คะแนน

 

โดยสิ่งที่ประชาชนพอใจมากที่สุดคือการเสริมสร้างระบบคุณธรรม จริยธรรมทางการเมือง รองลงมาคือมาตรการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และสนับสนุนการกระจายอำนาจ อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ได้รับความพอใจจากประชาชนไม่ถึงครึ่งหนึ่ง อาทิ การผลักดันให้มีกฎหมายประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นสาธารณะอย่างแท้จริง การส่งเสริมเสรีภาพของสื่อมวลชน เป็นต้น

 

เมื่อสอบถามถึงผลงานเชิงนโยบายของรัฐบาลในภาคเศรษฐกิจ ปรากฎว่าคะแนนเฉลี่ยความพอใจในภาพรวมต่ำกว่าครึ่งคือได้เพียง 4.62 คะแนน จาก 10 คะแนน ส่วนความพอใจของประชาชนต่อผลงานเชิงนโยบายด้านสังคมพบว่าภาพรวมได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุดคือ 7.34 คะแนน จาก 10 คะแนน โดยผลงานที่ได้รับความพอใจสูงสุดคือการส่งเสริมความรัก ความสามัคคี ความสมานฉันท์ของคนในชาติ การส่งเสริมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

คกก.สิทธิมนุษยชน ระบุหาก ตร.หาผู้บงการบอมบ์กรุงไม่ได้จะเกิดแพะ

ผู้จัดการออนไลน์ - นายจรัล ดิษฐาพิชัย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ขอประณามการกระทำของผู้ลอบวางระเบิดในกรุงเทพมหานครที่ผ่านมาเมื่อช่วงปีใหม่ พร้อมกล่าวถึงความคิดเห็นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม ว่า การระดมเข้าตรวจค้นและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับคดีลอบวางระเบิดกรุงเทพมหานคร ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวานที่ผ่านมานั้น ถือเป็นเรื่องที่ควรทำอยู่แล้วส่วนแนวทางการสืบสวนจะสามารถหาตัวผู้กระทำความผิดหรือผู้บงการได้หรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. เคยแถลงข่าวอย่างเป็นทางการแล้วว่า การลอบวางระเบิดกรุงเทพมหานครครั้งนี้เป็นฝีมือของกลุ่มผู้เสียประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งหากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับผู้ต้องสงสัยที่ควบคุมตัวมาครั้งนี้ ไม่สามารถสืบสาวได้ถึงตัวผู้บงการอาจทำให้เกิดแพะทางการเมืองขึ้นได้อีก

 

แม่ทัพภาคที่ 1 ยืนยัน "ไม่มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและคมช. เกี่ยวข้องกับเหตุลอบวางระเบิด"

ศูนย์ข่าวแปซิฟิค - จากคดีลอบวางระเบิดกรุงเทพมหานคร พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 ยืนยันว่าไม่มีทหารอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุลอบวางระเบิดกรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน และเชื่อว่าจะมีผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในข่ายกระทำผิดอีกหลายกลุ่มที่ต้องเชิญเข้าให้ข้อมูล รวมไปถึงกลุ่มอำนาจเก่าที่สูญเสียผลประโยชน์ทางการเมือง

 

ขณะเดียวกันยอมรับว่าเป็นห่วงกับการจับผู้ต้องสงสัยผิดกลุ่ม หรือการจับแพะจึงจำเป็นต้องส่งทหารดูแลความคืบหน้าของกระบวนการสอบสวนของตำรวจ รวมไปถึงการส่งนายทหารพระธรรมนูญเข้าดูแลผู้ต้องสงสัยที่เป็นทหารเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

 

"ที่เราทำกันทุกวันนี้เพื่อชาติบ้านเมือง เพราะฉะนั้นเราคงไม่ทำให้ชาติบ้านเมืองมันแย่ไปกว่าเดิม นี่คือประเด็นสำคัญ เราทำเพื่ออะไรวันที่19 กันยาที่เราทำมา เรามีวัตถุประสงค์อยู่แล้วไม่ได้ทำเพื่อใครก็เพื่อให้บ้านเมืองสงบ แล้วประชาชนเป็นปกติสุข เพราะฉะนั้นคนที่ทำอย่างนี้ก็ไม่น่าทำให้ประชาชนเดือดร้อนบาดเจ็บล้มตาย คงไม่ใช่หรอกครับผมยืนยัน" แม่ทัพภาคที่1 ระบุว่าต้องมีผู้แสดงความรับผิดชอบหากมีการดำเนินการจับผู้ต้องสังสัยผิดกลุ่ม

 

รัฐยังไม่อนุมัติงบจัดเลือกตั้ง ส.ส.-สว. 7 พันล้าน

เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น - รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่า กกต.ได้ของบประมาณจากรัฐบาล 7,000 ล้านบาท เพื่อจัดเตรียมการเลือกตั้ง ส.ส.-สว. และการทำประชามติที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ แต่รัฐบาลไม่อนุมัติงบดังกล่าวให้ โดยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติแจ้งมาว่า ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีการเลือกตั้งในเร็วๆ นี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม กกต. ก็จะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ซึ่งพร้อมตลอดถ้าจะจัดการเลือกตั้ง

 

กมธ.ยกร่างฯ หวั่นคมช.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

เว็บไซต์แนวหน้า - นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กล่าวถึงคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า ส่วนตัวเห็นว่าผู้ที่จะรับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ควรจะมีคุณวุฒิและวัยวุฒิเป็นที่ยอมรับของทุกคน รวมทั้งมีความสามารถในการควบคุมเกมการประชุมได้ ซึ่งทุกคนมีความเหมาะสมที่จะรับตำแหน่งนี้ และยอมรับว่าคงมีคนเลือกตัวเอง แต่ก็ต้องชี้วัดด้วยเสียงส่วนใหญ่

 

เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่าบล๊อกตำแหน่งประธานและเลขาธิการฯ ไว้แล้ว นางสดศรี กล่าวว่า ตนคงจะให้คำตอบไม่ได้ แต่คิดว่าทุกคนมีเกียรติ มีศักยภาพของตัวเองอยู่แล้ว และกรรมาธิการทุกคนมีคำตอบในใจอยู่แล้วว่าจะเลือกใคร คงไม่มีใครชักนำได้ และคิดว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คงไม่ทำ เพราะไม่มีประโยชน์อะไร ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯทั้ง 35 คนมีความสำคัญเท่ากันหมดในการออกเสียงไม่ใช่แค่ตัวประธานคนเดียว ดังนั้น ใครจะเป็นประธานกรรมาธิการยกร่างฯ คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

 

รายงานข่าวแจ้งว่า เท่าที่ฟังเสียงส่วนใหญ่ของกรรมาธิการยกร่างฯ เห็นว่าจะสนับสนุนนายจรัญ ภักดีธนากุล กรรมาธิการยกร่างฯ ให้เป็นประธาน และมีการวิเคราะห์กันว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะเลือกคนของตัวเองจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้ามาควบคุมจริงหรือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรที่จะให้คนนอกเข้ามา เหมือนเป็นการเอาฝ่ายบริหารมายุ่งเกี่ยวกับฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งหากคมช.มีแนวคิดแบบนี้จริง ถือเป็นความคิดที่ไม่ฉลาด เหมือนเป็นการครอบงำกรรมาธิการยกร่างฯ แทนที่จะให้รัฐธรรมนูญเป็นฉบับประชาชนอย่างแทนจริง

 

"การเลือกประธานกรรมาธิการฯ น่าจะเลือกจาก 25 คนเท่านั้น และเสียงกรรมาธิการส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบสัดส่วน 10 คนที่ คมช.จะเลือกมาทำหน้าที่ ทำให้เราหนักใจว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะมีฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงหรือไม่ เพราะได้ยินมาว่าถ้ารัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จแล้วไม่ตรงตามความต้องการของคมช. ก็จะไม่รับ อย่างไรก็ตาม เราจะเร่งร่างรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุดให้ทันตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด"

 

ครป.ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดซื้อดาวเทียมดวงใหม่

กรมประชาสัมพันธ์ - เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) ไม่เห็นด้วยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที มีแนวคิดซื้อดาวเทียมดวงใหม่ พร้อมขอให้เร่งตรวจสอบสัมปทานดาวเทียมไทยคมให้เป็นของคนไทยอย่างแท้จริง

 

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) มีแนวคิดซื้อดาวเทียมดวงใหม่ เพื่อใช้ในกิจการราชการและความมั่นคงของรัฐ เพราะขณะนี้กระทรวงควรเข้ามาตรวจสอบว่าสัมปทานที่บริษัทชินแซทเทิลไลท์ ซึ่งได้สัมปทานดาวเทียมไทยคม หรือ ไอพีสตาร์ ว่า ได้มาโดยชอบหรือไม่ รวมทั้งการแก้ไขหรือออกระเบียบของกระทรวงในอดีต เพื่อทำให้ดาวเทียมไทยคมเป็นผลประโยชน์ของคนไทยอย่างแท้จริง

 

เลขาธิการ ครป. ยังกล่าวถึงการดักฟังโทรศัพท์ด้วยว่า รัฐบาล และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสร้างความกระจ่างแก่ประชาชน และเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างไม่เลือกปฏิบัติ หากพบว่ามีการดักฟังจริงก็เป็นเรื่องที่ต้องทบทวนสัญญาสัมปทานโทรคมนาคมนั้น ๆ

 

ต่างประเทศ

 

เลขาธิการ OIC ชี้ปัญหาขัดแย้งในอิรักเป็นปัญหาการเมืองที่ใช้ศาสนาบังหน้า

ศูนย์ข่าวแปซิฟิค - นายเอ็คเมเล็ดดิน อิซาโนกลู เลขาธิการองค์การการประชุมอิสลาม หรือ OIC ได้ตั้งข้อสังเกตผ่านทางสำนักข่าวคูนาของทางการคูเวตว่า ปัญหาความขัดแย้งในอิรักในปัจจุบัน เป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือบังหน้า ไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาหรือการแบ่งแยกเชื้อชาติ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นอันตรายมาก จึงจำเป็นต้องได้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาจากทุกกลุ่มการเมือง นอกจากนี้ นายอิซาโนกลู ยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในอิรักแสดงความรับผิดชอบในการยุติปัญหาความรุนแรงจากการแบ่งแยกทางศาสนา เพื่อป้องกันมิให้ปัญหาดังกล่าวลุกลามออกนอกอิรัก โดยในส่วนของ OIC จะส่งคณะผู้แทนเดินทางไปอิรักในเร็วๆ นี้ เพื่อหาแนวทางยุติความขัดแย้งร่วมกับรัฐบาลอิรักและทุกพรรคการเมือง

 

เลขา UN คนใหม่สั่งสอบกองทุนในโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ

ศูนย์ข่าวแปซิฟิค - นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่สอบสวนกองทุนที่ใช้ในโครงการต่างๆ ของสหประชาชาติทั่วโลก ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีขึ้นหลังจากสหรัฐฯ ร้องเรียนว่า โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ดำเนินงานอย่างหละหลวมในการจัดสรรกองทุนจำนวนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่เกาหลีเหนือ ทำให้สหประชาชาติต้องเปลี่ยนสกุลเงินให้ความช่วยเหลือเกาหลีเหนือเป็นสกุลเงินท้องถิ่น หรือ เงินวอน แทนเงินดอลลาร์สหรัฐหรือยูโร นับตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป เนื่องจากเกรงว่าเกาหลีเหนือจะนำเงินสกุลดังกล่าวไปใช้ในโครงการนิวเคลียร์ ทั้งนี้ กรณีเกาหลีเหนือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการดำเนินงานที่ผิดพลาดของสหประชาชาติ หลังจากนักวิจารณ์กล่าวโจมตีระบบการทำงานของสหประชาชาติว่า เปิดช่องว่างให้เกิดปัญหาคอร์รัปชั่นในโครงการแลกน้ำมันเพื่ออาหารในอิรัก ซึ่งนายบัน คี มูน เคยสัญญาก่อนรับตำแหน่งว่า จะดำเนินการปฏิรูปสหประชาชาติและกอบกู้ภาพลักษณ์และจริยธรรมสูงสุดคืนสู่สหประชาชาติ

 

สมาชิกรัฐสภาอังกฤษ เรียกร้องรัฐบาลช่วยสหรัฐฯ ปิดเรือนจำกวนตานาโม

ศูนย์ข่าวแปซิฟิค - สมาชิกคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์แห่งสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ สรุปรายงานผลการตรวจเยี่ยมเรือนจำในอ่าวกวนตานาโม คิวบา เรียกร้องรัฐบาลอังกฤษให้ช่วยสหรัฐฯ หาทางปิดเรือนจำ ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่ต้องขังนักโทษจำนวน 395 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวอังกฤษ 9 คน ทั้งหมดอยู่ในเรือนจำซึ่งได้รับการกล่าวขานในเรื่องการทรมานนักโทษ และขัดขวางการติดต่อกับทนายความ และสื่อมวลชน อย่างไรก็ดี สมาชิกคณะกรรมการชุดดังกล่าว ยอมรับว่า นักโทษหลายคนเป็นภัยคุกคามความปลอดภัยของประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้มีการปรับปรุงอนุสัญญาเจนีวา โดยกำหนดระเบียบข้อบังคับ และบทลงโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีต่างๆ ให้ชัดเจน

 

 

การศึกษา

 

พบสื่อการศึกษาเอกชนราคาเกินคุณภาพ

ผู้จัดการออนไลน์ - เลขาธิการ กพฐ. เผยจากนโยบายสื่อเสรี ทำให้ไม่มีการคุมราคาหนังสือเรียน ซึ่ง สพฐ.พบว่า บางสำนักพิมพ์ตั้งราคาสูงเกินกว่าคุณภาพของหนังสือ ด้านคณะกรรมการ กพฐ. มอบหมายหามาตรการควบคุมราคาให้เหมาะสม แต่ไม่เห็นด้วยกำหนดราคาเดียวตายตัว

 

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้พูดถึงสื่อการศึกษา หลังจากมีนโยบายสื่อเสรีแล้ว ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานว่า ขณะนี้มีสื่อที่เอกชนผลิตในช่วงชั้นต่าง ๆ ประมาณกว่า 1,200 สื่อ ที่ผ่านการพิจารณาแล้ว แต่หลักการของสื่อเสรีนั้น สพฐ.จะไม่ได้ตรวจหนังสือเหมือนในอดีต โดยจะดูเฉพาะสาระสำคัญ ไม่ได้ลงลึกถึงรายละเอียด ดังนั้น โรงเรียนมีสิทธิที่จะเลือกใช้ได้ อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องของราคาที่ขณะนี้ไม่มีการควบคุมราคา การขึ้นราคาจะอยู่ที่ดุลพินิจของสำนักพิมพ์

 

คุณหญิงกษมา กล่าวด้วยว่า จากที่ สพฐ. วิเคราะห์สื่อเสรีของเอกชนเบื้องต้นพบว่า บางครั้งราคาสูงเกินกว่าคุณภาพของหนังสือที่ใช้ นอกจากนี้ คณะกรรมการ กพฐ. มีข้อสังเกตถึงเนื้อหาสาระและฝากให้ สพฐ.ไปดูเนื้อหาที่ไม่ทันสมัยและผิด สพฐ. ก็รับจะไปตรวจสอบ ส่วนเรื่องของราคานั้น ที่ประชุมเห็นว่า น่าจะมีมาตรการดูแลราคาให้เหมาะสม แต่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดราคาเดียวตายตัว อยากให้การกำหนดราคาพิจารณาถึงคุณภาพของกระดาษและเนื้อหา มีข้อเสนอเรื่องการเปิดโอกาสให้คนภายนอก เช่น นักเรียน หรือครู มาจัดลำดับหรือวิเคราะห์หนังสือเรียน เพื่อเป็นข้อมูลให้กับโรงเรียนที่ไม่มีโอกาสเห็นหนังสือเรียนที่หลากหลาย จะได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ

 

 "คณะกรรมการฯ ยังมีข้อเสนอให้ สพฐ.ไปวิเคราะห์เจาะลึกเรื่องกระบวนการจัดซื้อหนังสือเรียนและหนังสือส่งเสริมการอ่านในระดับสถานศึกษา เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า งบประมาณที่ได้รับไป ได้หนังสือเรียนที่มีคุณภาพ และฝากให้ สพฐ.วางมาตรการส่งเสริมหนังสือที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยอาจร่วมมือกับสำนักพิมพ์ต่างประเทศที่มีงานวิจัยเรื่องการเรียนการสอน หรืออาจรับรองการซื้อหนังสือบางเล่มที่ยังไม่มีในตลาดเท่าที่ควร" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

 

 

คุณภาพชีวิต

 

ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ประสบปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่พัก

กรมประชาสัมพันธ์ - ชาวไทยมุสลิม ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ประสบปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่พักแออัดและห่างไกล วอนรัฐแก้ไขอย่างเป็นระบบ

 

นายเฉม เหมมัน รองประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา กล่าวภายหลังเดินทางกลับจากการไปประกอบพิธีฮัจย์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ว่า ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ส่วนใหญ่ได้รับความสะดวกสบายดี แต่ยังมีชาวไทยมุสลิมจำนวนกว่า 2,000 คน ประสบปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่พักแออัดและห่างไกล เนื่องจากเกิดปัญหาสัญญาเช่าบ้านพักซ้ำซ้อน ทำให้ต้องกระจายไปพักอาศัยในบ้านพักที่ห่างไกลจากมัสยิดฮารอมประมาณ 3-4 กิโลเมตร

 

รองประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาล และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่พักและค่าใช้จ่ายอย่างใกล้ชิด และเป็นระบบเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net