Skip to main content
sharethis

ถึงแม้ว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 จะถูกยกเลิกไปตามกลไกคำสั่งของ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข หรือ คปค. (แม้ภายหลังจะเปลี่ยนโครงสร้างมาเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) แต่หัวใจ เนื้อหาสาระสำคัญหรือทิศทางในการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การกระจายอำนาจให้กับชุมชน กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการบริหารจัดการท้องถิ่น ก็ยังเป็นแนวทางที่ยังคงต้องรักษาและต่อสู้เพื่อให้ได้มีพื้นที่ของแนวทางการกระจายอำนาจในกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มิใช่ในแง่ของรูปแบบเพียงเท่านั้น


 


กฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้แก่  มาตราที่ 76 "รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกากำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรับทุกระดับ" มาตราที่ 78 รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน สารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงประชาชนในจังหวัดนั้น" หรือ มาตราที่ 284 "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายย่อมมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การปกครอง การบริหาร การบริหารงานบุคคล การเงินการคลัง และมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะเป็นต้น" รวมถึงมาตราที่ 290  "เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายบัญญัติ 1. การจัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร 2. การเข้าไปมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และ 3.การเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาโครงการหรือกิจกรรมใด ฯลฯ"


 


ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้เสนอแนวคิดหรือทัศนะการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นไว้ ว่าการกระจายอำนาจ (Decentralization) หมายถึง ระบบการบริหารประเทศที่เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นต่างๆ มีอำนาจในการจัดการดูแลกิจการหลายๆ ด้านของตนเอง ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐบาลกลางรวมศูนย์อำนาจในการจัดการกิจการแทบทุกด้านของท้องถิ่น กิจการที่ท้องถิ่นมีสิทธิจัดการดูแลมักจะได้แก่ สาธารณูปโภค การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม การดูแลทรัพย์สิน และการดูแลสิ่งแวดล้อม ส่วนกิจการใหญ่ 2 อย่างที่รัฐบาลกลางควบคุมได้เด็ดขาดก็คือ ทหารและการต่างประเทศ โดยการให้โอกาสท้องถิ่นดูแลจัดการปัญหาในระดับท้องถิ่นจึงมีคุณประโยชน์สำคัญอย่างน้อย 5 ประการด้วยกัน


1.       แบ่งเบาภาระของรัฐบาลกลาง


2.       ทำให้ปัญหาของท้องถิ่นได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ


3.       ส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นได้แสดงความสามารถและพัฒนาบทบาทตนเองในการพัฒนาท้องถิ่น


4.       เป็นพื้นฐานสำคัญของคนในท้องถิ่นในการก้าวไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับประเทศ


5.       เสริมสร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้แก่ชุมชนแลประเทศ


 


แต่เมื่อมาย้อนไปในระยะ 4 -5 ปีที่ผ่านมานั้นถึงความเป็นจริงต่อทิศทางในการกระจายอำนาจ (Decentralization) กลับเป็นเพียงการเน้นถึงรูปแบบการกระจายอำนาจ ไม่ได้มุ่งเน้นไปสู่แนวทางในการนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างจริงจังสักเท่าไหร่ กลไกในระดับท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่กฎหมายได้ให้ความเป็นอิสระ (Autonomy) ในการบริหารจัดการในท้องถิ่น (Local Government) กลับถูกจำกัด


 


ดังนั้น หากจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่อีกครั้ง จึงสมควรให้มีการปฏิรูปการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ไม่ได้เน้นเพียงรูปแบบเท่านั้น   นอกจากจะต้องทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นทั้งหมด  ยังต้องเน้นการผลักดันอำนาจของท้องถิ่นที่อยู่นอกเหนือกลไกทางการด้วย เช่น กลุ่มองค์กรชาวบ้านต่างๆ  เครือข่ายป่าชุมชน  ก็ถือว่าเป็นองค์กรท้องถิ่นที่ควรจะมีการสนับสนุนด้วยเช่นกัน.


 


โอฬาร อ่องฬะ


คณะทำงานเครือข่าย อบต.เพื่อประชาชน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net