Skip to main content
sharethis

เวทีครั้งนี้มีความน่าสนใจหลายต่อหลายอย่าง นับตั้งแต่เป็นการประชาพิจารณ์ที่ทุกฝ่ายล้วนเห็นว่าไม่ใช่การประชาพิจารณ์!! เป็นงานที่ไม่อนุญาตให้ผู้เข้าร่วมกินข้าวกลางวัน แถมยังไม่มีบทสรุปคำตอบสุดท้าย เว้นแต่เสียงก็อซซิปจาก "แขกไม่ได้รับเชิญ"

โดย แขกไม่ได้รับเชิญ

 

 

เวทีประชาพิจารณ์เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น หรือเจเท็ปป้า (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement : ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น) ผ่านพ้นไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา นับเป็นการทำประชาพิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศครั้งแรกของไทย (?)  

 

การจัดเวที "ประชาพิจารณ์" ครั้งนี้เป็นความกล้าหาญของกระทรวงการต่างประเทศ คณะเจรจา ตลอดจนรัฐบาลใหม่ที่ต้องการเดินหน้าเอฟทีเอฉบับนี้โดยที่อยากแสดงให้เห็นด้วยว่ามี "ความโปร่งใส" และสนใจ " การมีส่วนร่วม" มากกว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว

 

รูปแบบการประชาพิจารณ์ที่จัดขึ้นละม้ายคล้ายเวทีสัมมนาทั่วไป คือ เปิดงานด้วยปาฐกถาของหัวเรือใหญ่ด้านเศรษฐกิจ "หม่อมอุ๋ย" ที่ระบุว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้รีบ แต่เห็นว่ามีเฉพาะเอฟทีเอฉบับนี้ที่มีประโยชน์และควรเร่งเดินหน้าโดยที่จะเปิดให้ประชาพิจารณ์กันก่อน

 

จากนั้นตามด้วยการนำเสนอผลการศึกษาข้อตกลงฉบับนี้โดยนักวิชาการ-การพูดคุยจากมุมมองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต่อด้วยรายการสุดท้ายไฮไลท์ของงานคือ เวทีที่จับคณะเจรจากับผู้ที่ต่อต้านเอฟทีเอมาแสดงความเห็นร่วมกัน ซึ่งในช่วงนี้เองที่เปิดโอกาสให้คณะเจรจาตอบคำถามจากผู้เข้าร่วมบ้าง

 

ทั้งหมดนี้ใช้เวลา 4 ชั่วโมงกว่าๆ ....

 

กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่าเวทีช่วงสุดท้ายนี้จะเกิดสงคราม"ช่วงชิงความหมาย" ของงานนี้กันให้วุ่น !

 

สงครามการให้ความหมาย "ประชาพิจารณ์"

ผู้เข้าร่วมหลายคนที่ลุกขึ้นแสดงความเห็นต่างเริ่มต้นด้วยการบอกว่า "นี่ไม่ใช่การประชาพิจารณ์ แหงๆ"  ที่สำคัญ แม้แต่ผู้ดำเนินรายการ "เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง" (ซึ่งออกตัวว่าอยู่ตรงกลางไม่ใช่ผู้คัดค้านเอฟทีเอตามที่ "หม่อมอุ๋ย" พูดในตอนแรก) ก็ช่วยเน้นย้ำตั้งแต่เริ่มต้นรายการว่า "ผมก็ยังไม่เห็นว่าจะเป็นการประชาพิจารณ์ตรงไหน มันเป็นเพียงเวทีรับฟังความเห็นครั้งหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ใจเย็นๆ ค่อยๆ แลกเปลี่ยนกัน"

 

นั่นทำให้การพูดคุยเดินต่อไปได้ เพราะเหมือนเห็นร่วมกันว่านี่คืออะไรบางอย่าง แต่ไม่ใช่ประชาพิจารณ์ ซึ่งจะเป็นหลักประกันให้ผู้ไม่เห็นด้วยได้อุ่นใจว่า ภาครัฐจะไม่สามารถฉวยใช้กระบวนการครั้งนี้ไปในทำนองว่า "เรื่องนี้ทางเราได้ทำประชาพิจารณ์มาแล้วเรียบร้อย"

 

เพราะ "ประชาพิจารณ์" เป็นคำที่ถูกให้ความหมายจนสังคมยอมรับมันแบบที่ลึกซึ้งกว่านี้ในแง่ที่ต้องเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง นำเสนอข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ อย่างทั่วถึง รอบด้าน และไม่อาจทำอย่างรวบรัดตัดความ ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนหรือประชาชนฝ่ายต่างๆ แม้ความเป็นจริงในทางปฏิบัติเราจะพบเสมอว่าความเข้าใจนี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริง

 

ในเวทียังมีคนแสดงความเห็นอ้างระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ซึ่งใกล้เคียงการประชาพิจารณ์มากที่สุดแล้วในขณะที่กฎหมายประชาพิจารณ์ยังไม่ถือกำเนิด ระเบียบนั้นระบุว่าต้องตั้งต้นด้วยเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานให้ประชาชนศึกษาก่อนที่จะจัดรับฟังความคิดเห็น 15 วัน

 

"การมีส่วนร่วม" - ความเข้มข้นระดับเอสเปรสโซ่ยันน้ำล้างถ้วยกาแฟ

งานนี้ต้องให้เครดิตผู้ดำเนินรายการมืออาชีพ อย่าง "เจิมศักดิ์" ที่ช่วยซัก ช่วยสรุป ให้เกิดความชัดเจนในหลายประเด็น รวมถึงเรื่องที่ว่า ทำไมไม่เปิดข้อตกลงที่เจรจาเสร็จแล้วให้คนได้ดู จะได้รับฟังความเห็นที่มีคุณภาพ .. ทำนองนั้น

 

คำอธิบายของ "วีรชัย พลาศรัย" อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สะท้อนมุมมองและหัวอกของข้าราชการได้ค่อนข้างชัดเจนว่า พวกเขาทำทุกอย่างอย่างดีที่สุดแล้ว เปิดให้มีส่วนร่วมมากที่สุดแล้ว จะเอาอะไรก็ให้ อยากดูตัวบทก็ให้เข้าไปนั่งเปิดดูในกระทรวง (แต่ไม่ให้เอาออกมาศึกษา-เผยแพร่) ซึ่งสุ่มเสี่ยงมากกับการผิดระเบียบเรื่องข้อมูลลับของราชการ ที่สำคัญ เขาในฐานะผู้เจรจาได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วที่จะหาสมดุลระหว่างความน่าเชื่อถือของนักเจรจามืออาชีพ (ในสายตาญี่ปุ่น) และการเป็นหน่วยงานยุคใหม่ที่เปิดเผยข้อมูล (ในสายตาประชาชน)

 

จะว่าไปมันก็เป็นคำอธิบายที่เข้าใจได้ถึงภาระหนักของฝ่ายราชการ และสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างว่า คำ "การมีส่วนร่วมของประชาชน" นั้นไม่ได้มีหลักประกันอันใดที่เป็นรูปธรรมเลยในสังคมการเมืองไทย นอกจากกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (ซึ่งถูกฉีกทิ้งไปแล้ว) แนวคิดที่ดูก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับในโลกเสรีนิยมประชาธิปไตย จึงไม่เป็นผลในทางปฏิบัติเหมือนกับอีกหลายต่อหลายเรื่อง

 

นี่เป็นปัญหาที่ต้องแก้กันทั้งในเชิงโครงสร้างและ"วัฒนธรรม" แต่ถึงอย่างไร มันก็ไม่อาจเป็นข้ออ้างให้ภาคประชาชนต้อง (จำใจ) ยอมรับ จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้เช่นกันที่ยังคงพบเห็นความเคลื่อนไหวในการตรวจสอบภาคราชการ รัฐบาล และการเรียกร้องการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างสูงสุดต่อไป

 

โดยเฉพาะการขอร่วมอ่านตัวบทข้อตกลงเพื่อช่วยตรวจสอบผลดีผลเสียโดยกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและเป็น "โจทย์สำคัญ" ของภาครัฐ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เครือข่ายของเอ็นจีโอ นักวิชาการ หลากหลายมิติ สาขา มาอยู่รวมกัน ตั้งแต่ระดับผู้ที่ต้องการเห็นทุนนิยมที่มีธรรมาภิบาล มีความเป็นธรรมในการกระจายผลประโยชน์ ไปจนถึงกลุ่มที่ต่อต้านทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ต่อต้านจักรวรรดินิยมใหม่-อเมริกา....

 

ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ และอื่นๆ 

ถ้ามองจากมุมที่ต่อต้านทุนนิยมโลกาภิวัตน์ การทำเอฟทีเอย่อมเป็นเครื่องมือสนับสนุนระบบทุนนิยมที่ครอบโลกและหาประโยชน์ ขูดรีดจากประเทศ / ผู้คนที่มีอำนาจต่อรองน้อย มันถูกผลักดันโดยประเทศมหาอำนาจที่เริ่มหันมาสร้างความตกลงทวิภาคีกับประเทศเล็กประเทศน้อยเพื่อเปิดเสรีด้านต่างๆ หลังจากเวทีพหุภาคีอย่างองค์การการค้าโลกถูกกลุ่มประเทศกำลังพัฒนารวมหัวกันต่อรองผลประโยชน์หนัก หรือมหาอำนาจด้วยกันเองตกลงกันไม่ได้ จนทั้งหมดต้องหยุดชะงัก

 

ไม่ว่าจะเชื่ออย่างไร กระแสนี้ได้ทำให้ประเทศต่างๆ ต้อง "ช่วงชิง" ความได้เปรียบจากความเร็วในการสร้างข้อตกลงกับประเทศคู่ค้า ดังที่หม่อมอุ๋ยกล่าวไว้ว่า ถ้าเรายิ่งช้าก็จะยิ่งเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง ....  

 

ขณะที่กลุ่มต่อต้านก็ยกตัวอย่างในมิติอื่นๆ มากมายที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ มาอธิบายความเลวร้ายของการค้าเสรี (โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา) ที่มิได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องการค้า แต่ตัวบทได้ซ่อนเรื่องการจำกัดการออกนโยบายสาธารณะที่กระทบนักลงทุนต่างประเทศ การล่วงล้ำเข้ามาในกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศ  การครอบงำ จำกัดองค์ความรู้สังคมโดยระบบทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ ไว้อย่างมิดชิดภายใต้รูปแบบของ "การค้าเสรี"

 

หากจะเถียงกันแบบ "ถึงรากถึงโคน" คงต้องคุยกันยาวไกลและจัดประชาพิจารณ์อีกซัก 100 ครั้ง ! แต่หากประนีประนอมยอมรับมันในระดับหนึ่งหรือแม้แต่คนที่เชื่อมั่นในแนวทางนี้ก็ตาม ทุกคนคงมีจุดร่วมที่อยากเห็นเรื่องนี้เดินหน้าโดยการมีส่วนร่วมกว้างขวางที่สุด โดยองค์ความรู้ที่รอบด้านที่สุด  

 

"ไม่พบว่ามีความเสี่ยงร้ายแรงต่อเศรษฐกิจไทย" - ข้อสรุปจาก "แว่น" เศรษฐศาสตร์

 "สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์" นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ เป็นผู้ที่ได้เห็นความตกลงนี้ทั้งฉบับ เพราะกระทรวงการต่างประเทศมอบหมายให้เขาและคณะประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของข้อตกลงนี้หลังจากเจรจากันเสร็จแล้ว (แต่ยังไม่ได้ลงนาม) ด้วยความที่เป็นนักวิชาการมืออาชีพที่น่าเชื่อถือ

 

ผลที่ออกมาในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ คือ "ไม่พบว่า JTEPA มีบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงต่อเศรษฐกิจไทย"  "การเก็บเกี่ยวประโยชน์ยังต้องมีการดำเนินงานต่อเนื่องอีกมากในอนาคต" โดยในเวทีเขาได้นำเสนอเรื่องกระบวนการลดภาษีและความสะดวกด้านการค้าการลงทุนต่างๆ

 

กระนั้น ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ก็ยังค่อนขอดว่านี่เป็นการมองแบบ "นักเศรษฐศาสตร์ไร้หัวใจ"

 

หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า "หัวใจ" ของนักเศรษฐศาสตร์คือ "ผู้บริโภค" ซึ่งเป็นหมวกใบที่ทุกคนสวมใส่ ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์สูงสุดต่อเมื่อตลาดเกิดการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการผูกขาดโดยทุนไม่ว่าสัญชาติใดๆ  เขาเสนอด้วยซ้ำว่า ควรเปิดเสรีให้มากขึ้นในโครงสร้างพื้นฐานอย่างโทรคมนาคม ลอจิสติกส์ พร้อมกับที่ภาครัฐต้องปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบให้ได้มาตรฐาน และพัฒนาศักยภาพแรงงานผู้ประกอบการไทยเตรียมพร้อมไว้ด้วย

 

โลกที่ตกลง กับ โลกที่ตาเล็ง (เห็น)

ในมุมอื่นๆ ที่เอ็นจีโอ นักวิชาการระบุว่าข้อตกลงนี้จะส่งผลกระทบแน่ เช่น ระบบสาธารณสุข หรือเรื่องขยะพิษ สมเกียรติ ชี้แจงว่า ไม่พบข้อตกลงการเปิดเสรีบริการสุขภาพตามที่มีข้อกังวลกันว่าจะทำให้คนญี่ปุ่นมารักษาพยาบาลในไทยมากขึ้น ส่งผลต่ออาการสมองไหลของแพทย์ไปสู่โรงพยาบาลเอกชน ทั้งนี้ เพราะการเบิกเงินกับประกันสังคมของผู้ป่วยญี่ปุ่นซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญนั้นทำได้อยู่แล้วแม้ไม่มีข้อตกลงนี้ ส่วนเรื่องขยะพิษก็ไม่พบข้อตกลงใดๆ ว่าไทยจะเป็นที่ทิ้งขยะพิษจากญี่ปุ่น

 

เป็นการพูดถึงเพียงสั้นๆ ที่มีความหมาย เพราะนั่นแปลความได้ว่า ทั้งหมดนั้นกังวลกันไปเอง !

 

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรมกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า อาจเพราะทีมวิเคราะห์ไม่ได้อ่านตัวบททั้งหมด หรืออาจเพราะไม่ได้พลิกดูในรายการสินค้า schedule of  Thailand และ schedule of  Japan  ที่ระบุศัพท์แสงเทคนิคเกี่ยวกับขยะพิษที่จะได้รับการลดภาษี

 

สำคัญกว่านั้น เพ็ญโฉมอธิบายถึงความเสี่ยงในเชิงบริบทความเป็นจริงว่า 1.ญี่ปุ่นเผชิญกับวิกฤตขยะ/ขยะพิษล้นประเทศ มีการออกกฎที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ ในการทำลายขยะ 2. มีตัวอย่างให้เห็นในการทำเอฟทีเอระหว่างญี่ปุ่นและประเทศอื่น เช่น ฟิลิปปินส์ ที่กำหนดจะลดภาษีขยะพิษ จนประชาชนฟิลิปปินส์ลุกขึ้นประท้วงไม่ต้องการให้ประเทศตนเป็นที่รองรับ 3. ประเทศไทยหละหลวมในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีการลักลอบทิ้งขยะพิษในป่าจำนวนหลายแห่งทั้งจากอุตสาหกรรมในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงญี่ปุ่นด้วย

 

เหล่านี้แม้ไม่ได้อยู่ในตัวบทให้วิเคราะห์ แต่จะปฏิเสธว่ามันไม่สำคัญคงลำบาก....แม้หน่วยราชการจะยืนยันว่าไม่มีทางอนุญาตให้ประเทศเป็นถังขยะ

 

ส่วนเรื่องผลกระทบด้านการแย่งบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีไม่เพียงพอต่อการบริการคนไทยอยู่แล้วนั้น อธิบดีวีรชัย ออกมายืนยันว่าข้อตกลงนี้จะไม่ทำให้สิ่งที่เป็นอยู่ดีขึ้นหรือเลวลง แปลความได้ว่า ที่เป็นปัญหาก็จะเป็นปัญหาอยู่เหมือนเดิม มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ JTEPA !!

 

เรื่องนี้ยังไม่มีการถกเถียง โต้แย้งกันให้ชัดว่าเป็นเช่นไร เพราะไม่มีใครได้เห็นตัวบท แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ภาครัฐก็ไม่อาจมองแยกส่วนระหว่างข้อตกลงใหม่ๆ กับปัญหาพื้นฐานที่มีอยู่เดิมได้ โดยเฉพาะปัญหาสำคัญอย่างบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอกับประชากร ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงและตีบตัน

 

การจัดการปัญหาด้วยการตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้แข่งขันได้เพียงอย่างเดียว ดูเหมือนจะเป็นการรองรับปัญหาที่เรียวแคบอย่างยิ่ง เพราะจุดอ่อนที่ดำรงอยู่แล้วในบ้านเมืองนี้มีอยู่มากเหลือเกิน

 

กระนั้น ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า แต่ยุติธรรมแล้วหรือที่จะต้องคัดค้าน ยกเลิกข้อตกลงทั้งฉบับ ดังที่มีเสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม อย่างอุตสาหกรรมรองเท้า เครื่องหนัง ที่บอกว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมหาศาลหลังจากข้อตกลงนี้ทำให้ญี่ปุ่นยอมเปิดตลาดรองเท้าหนังมูลค่ามหาศาล ซึ่งก่อนหน้านี้ปิดประตูลงกลอนมากว่าห้าอายุคน!  

 

แน่นอน เสียงของผู้ประกอบการเป็นเสียงที่ละเลยไม่ได้ ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ได้ให้ความสำคัญกับภาคส่วนนี้อยู่พอสมควร เพราะเขาเหล่านี้คือส่วนสำคัญในจีดีพี การสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประเทศและมีอำนาจต่อรองสูง ดังที่ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้กล่าวแสดงความชื่นชมคณะเจรจาที่ประสานงานใกล้ชิดกับภาคเอกชน มีการสื่อข้อมูลให้รับทราบอย่างดี

 

คำถามคือ ทำอย่างไรให้กระบวนการนี้ขยายไปทุกภาคส่วน แม้ในส่วนที่มีอำนาจต่อรองน้อยที่สุด และคำถามสำคัญกว่านั้นคือ จะทำอย่างไรให้ผลกำไรของผู้ประกอบการหมายถึงคุณภาพชีวิตของแรงงานด้วย

 

ตอนจบที่เพิ่งเริ่มต้น

ไม่ว่าจะเรียกเวทีนี้ว่าอะไร มันนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ให้หลายฝ่ายได้มาคุยกัน แต่น่าเสียดายที่กระทรวงบอกชัดว่าใครจะจัดอะไรอีกก็ยินดีร่วม แต่การประชาพิจารณ์นี้คงเป็นครั้งสุดท้าย เพราะรัฐบาลจะนำเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อถกเถียงกันอีกทีในเดือนหน้าแล้ว

 

การนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติก็น่าจะช่วยขยายการรับรู้ของสังคมดังที่ "สุริชัย หวันแก้ว" ตั้งข้อสังเกตไว้ แต่สมาชิกเอฟทีเอว็อทช์หลายคนก็ยืนยันว่า ต้องการขยายประเด็น ขยายการมีส่วนร่วม แต่ไม่ต้องการให้มีการพิจารณาเรื่องนี้โดยสมาชิกสนช.ที่มาจากการแต่งตั้งหาใช่การเลือกตั้งจากประชาชน

 

สิ่งที่ สนช.น่าจะทำคือ การสร้างกรอบกฎหมายการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่จะทำให้ "ความโปร่งใส" และ "การมีส่วนร่วม" มีสุขภาพแข็งแรง มีชีวิตยาวนานในสังคมไทย ไม่ใช่ป่วยกระเสาะกระแสะเหมือนคนใกล้ตายเช่นที่ผ่านมา

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net