Skip to main content
sharethis


ที่มา : สำนักข่าวประชาธรรม


19 ธ.ค. 2549 - จากกรณีกระทรวงการต่างประเทศจะเสนอร่างความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น

(JTEPA) ให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในวันอังคารที่ 19 ธ.ค.2549 ก่อนหน้าที่จะมีการจัดประชาพิจารณ์ในวันศุกร์ที่ 22 ธ.ค.นี้ ได้นำไปสู่การวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นตัดตอนกระบวนการตรวจสอบผลดีผลเสียของประชาชนนั้น นายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หัวหน้าคณะเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ชี้แจงว่า กระทรวงการต่างประเทศจะเสนอร่างความตกลง JTEPA ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเท่านั้นว่าการเจรจายกร่างความตกลงได้เสร็จสิ้นแล้ว ตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว

ดังนั้นเพื่อความรอบคอบโปร่งใสกระทรวงการต่างประเทศจึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเพิ่มเติมว่า จะมีการทำประชาพิจารณ์ใหญ่โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันศุกร์ที่ 22 ธ.ค.นี้ ซึ่งจะมีการถ่ายทอดทั้งโทรทัศน์และวิทยุทั่วประเทศ เพื่อฟังเสียงประชาชน


พร้อมกันนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังเสนอให้คณะรัฐมนตรีนำร่างความตกลงฯ ไปเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติถกแถลง อภิปราย ให้ข้อคิดเห็นในเดือน ม.ค.2550 ว่าสมควรมีการลงนามทั้งฉบับหรือไม่ หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีจึงจะพิจารณาว่าจะลงนามหรือไม่ ดังนั้นเสียงประชาชนจากการทำประชาพิจารณ์ และการอภิปรายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตลอดจนเสียงของภาคประชาสังคมจึงมีความหมายและจะเป็นเสียงที่รัฐบาลต้องคำนึงอย่างยิ่งในการช่วยการตัดสินใจว่าจะลงนามหรือไม่


ส่วนข้อเสนอแนะและข้อเรียกร้องของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดทำ JTEPA นั้น คณะเจรจาฯ ได้เชิญเข้าพบและชี้แจงทำความเข้าใจมาโดยตลอด อีกทั้งยังเชิญตัวแทน FTA Watch ไปตรวจสอบร่างความตกลงฯ ที่กระทรวงการต่างประเทศได้ทุกวัน เพื่อให้การอภิปรายในวันทำประชาพิจารณ์มีคุณค่ากับประชาชนมากยิ่งขึ้นและเป็นประโยชน์กับสาธารณชนจริงๆ


ดร.ชโยดม สรรพศรี ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนคณะผู้ดำเนินการจัดประชาพิจารณ์ เผยว่า กรณีที่กระทรวงต่างประเทศเตรียมส่งร่างข้อตกลงเข้าครม.ในวันพรุ่งนี้นั้น ตนและคณะผู้จัดไม่รู้ก่อนล่วงหน้า ซึ่งเมื่อสอบถามรายละเอียดในเบื้องต้นได้รับคำชี้แจงว่า การนำเสนอเข้าเพื่อการรับทราบว่าร่างข้อตกลงนั้นมีข้อสรุปอย่างไร เพื่อจะนำไปสู่กระบวนการส่งร่างข้อตกลงให้สนช. ไม่ใช่เป็นการอนุมัติเห็นชอบ


อย่างไรก็ตาม หากไม่มีกรณีเรื่องการส่งเข้าครม.ในวันที่ 19 ธันวาคม ตนคิดว่าจะเป็นการประชาพิจารณ์ที่น่าสนใจ และส่วนตัวไม่คิดว่ากระทรวงต่างประเทศจะฉกฉวยโอกาสส่งร่างข้อตกลงก่อนที่จะประชาพิจารณ์ เพราะไม่เช่นนั้นการจัดประชาพิจารณ์ก็จะไม่มีประโยชน์เลย แต่ถึงกระนั้นตนก็ยังเห็นว่ากระบวนการประชาพิจารณ์เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อกระทรวงต่างประเทศเคลื่อนไหวเร็ว เราก็ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น และหากใครที่คิดว่าเอฟทีเอจะส่งผลกระทบในด้านลบ ยิ่งต้องเรียกร้องให้เร็ว และมีน้ำหนักมากขึ้น


ดร.ชโยดม กล่าวอีกว่า เวทีประชาพิจารณ์ครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น หาก FTA Watch และประชาชนเห็นว่ายังไม่เพียงพอ อยากจะให้เข้ามาเรียกร้องในเวที และนำเสนอว่ากระบวนการต่อไปควรเป็นอย่างไร เพื่อดูว่ากระทรวงต่างจะตอบสนองได้อย่างไรบ้าง


ทั้งนี้ ล่าสุดมีกระแสข่าวรายงานว่า หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ได้ถอนตัวจากการเป็นคณะร่วมจัดประชาพิจารณ์ หลังจากมีรายงานข่าวว่ากระทรวงต่างประเทศจะนำร่างข้อตกลงเข้าครม.ก่อนหน้าการประชาพิจารณ์


อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของกระทรวงต่างประเทศได้ส่งจดหมายชี้แจงมายังสื่อมวลชนต่างๆ โดยอ้างถึงกรณีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าการทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 22 ธ.ค.นี้เป็นการสักแต่จะทำ หรือทำพอเป็นพิธี เพื่อตัดหนทางที่ประชาชนจะตรวจสอบผลดีผลเสียของร่างข้อตกลงเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่นเท่านั้น 


แต่ข้อความตอนหนึ่งในจดหมายระบุว่า "เสียงประชาชนจากการทำประชาพิจารณ์ และการอภิปรายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตลอดจนเสียงของภาคประชาสังคม...มีความหมาย และจะเป็นเสียงที่รัฐบาลต้องคำนึงอย่างยิ่งในการช่วยการตัดสินใจว่าจะลงนามหรือไม่"


นอกจากนี้ ข้อความในจดมายได้กล่าวเพิ่มเติมว่า "กระทรวงการต่างประเทศได้ขอให้ TDRI ศึกษาเจาะลึกทุกมาตราในความตกลงฯ เป็นเวลาถึง 3 เดือน โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ หัวหน้าคณะศึกษาจะนำเสนอผลการศึกษาในช่วงต้นของการทำประชาพิจารณ์วันที่ 22 ธ.ค.นี้ ก่อนการอภิปรายระหว่างผู้เจรจากับผู้ไม่เห็นด้วย หากมีสิ่งใดที่เป็นข้อแนะนำในทางสร้างสรรค์ คณะเจรจาฯ ก็ยินดีเปิดรับฟัง เพราะยิ่งช่วยกันคิด ช่วยกันวิจารณ์บนข้อเท็จจริง ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากยิ่งขึ้น"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net