Skip to main content
sharethis

ประชาไท—11 ธ.ค. 2549 วานนี้ (10 ธ.ค.) ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายสมเกียรติ ตั้งนโม ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนประกาศหลัก 6 ประการของรัฐธรรมนูญฉบับลงขันทางปัญญาเพื่อประชาธิปไตยกินได้


 


โดยนายสมเกียรติกล่าวว่า ผลของสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายนนั้น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความประสงค์ที่จะสร้าง 2 สิ่งคือ 1. ธนาคารนโยบายประชาชน โดยประชาชนเป็นผู้กำหนดนโยบาย แทนที่จะให้เป็นพรรคการเมืองเร่ขายนโยบายให้ประชาชนไปซื้อโดยการหย่อนบัตร แล้วก็หมดสิทธินับจากนั้น ธนาคารประชาชนมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนร่างนโยบายขึ้นมาเอง และประชาชนเป็นผู้ดูแลนโยบายที่ตนเองเสนอว่ามีการปฏิบัติตามหรือไม่


 


และประการที่ 2 คือ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะไม่ยินยอมให้คนเพียงไม่กี่คนร่างรัฐธรรมนูญฉบับห้องนอน เขียนโดยคนไม่กี่คน และจะไม่ยินยอมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยคน 35 คนเพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคนที่ไม่ได้มาจากตัวแทนประชาชนที่แท้จริง และประชาชนต้องไม่หลงเสน่ห์หรือตัวเลขงงๆ ทางคณิตศาสตร์ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งทำให้ดูเหมือนคนที่จะร่างรัฐธรรมนูญมาจากประชาชน


 


"เราจะไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 เรากำลังจะเขียนรัฐธรรมนูญฉบับต่อไปเลยโดยเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับลงขัน"


 


ทั้งนี้ นายสมเกียรติระบุว่า ผู้ที่ต้องการลงขันทางปัญญาเพื่อร่วมร่างรัฐธรรมนูญสามารถเข้าไปเสนอความเห็นได้ที่เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน http://www.midnightuniv.org/ นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป


 


 


 


000


 


แถลงการณ์ หลัก 6 ประการของรัฐธรรมนูญฉบับลงขันปัญญาเพื่อประชาธิปไตยกินได้


 


นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 รัฐธรรมนูญถูกยกให้เป็นกติกาสูงสูดในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล องค์กร และสถาบันต่างๆ แทนอำนาจของกษัตริย์


 


แม้รัฐธรรมนูญในสังคมไทยจะถูกฉีกได้ง่ายจากอำนาจนอกระบบ ดังที่จนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 17 ฉบับ แต่ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจขาดหายไปได้อย่างยาวนานเช่นกัน ดังเมื่อมีการฉีกเกิดขึ้นก็จะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นบังคับใช้สืบเนื่องไป แม้บางครั้งอาจเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นโดยคณะรัฐประหารหรือบุคคลเพียงหยิบมือร่างขึ้น แต่รัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ก็มีความชอบธรรมน้อยลงทุกทีในสังคมไทย แม้รัฐธรรมนูญที่มาจากกระบวนการร่างที่คับแคบและขาดการมีส่วนร่วมยากที่จะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง รัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการในขณะนี้ ก็สามารถคาดเดาได้ว่าคงเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับได้เพียงชั่วคราวอีกฉบับหนึ่ง


 


มหาวิทยาลับเที่ยงคืนมีความเห็นว่าต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้เพื่อเป็นหลักการพื้นฐานสำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งต้องดำเนินไปภายใต้บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งบุคคล กลุ่มและองค์กรต่างๆ สามารถผลักดันแนวความคิดของตนได้อย่างเป็นเสรีมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


 


ทั้งนี้รัฐธรรมนูญที่ถูกร่างขึ้นต้องมิใช่มีเป้าหมายเพียงการกำหนดกฎเกณฑ์ในส่วนที่เป็นการเมืองของนักการเมืองเท่านั้น หากต้องหมายถึงการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับผู้คนในสังคม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรและสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรด้านต่างๆ และเพิ่มอำนาจของประชาชนในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ท้องถิ่น และสังคมให้มากขึ้น


 


เพื่อให้บรรลุถึงความใฝ่ฝันดังกล่าว มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่ามีหลัก 6 ประการ ที่มีความสำคัญและต้องได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ ดังนี้


 


1. การศึกษา ต้องจัดให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพและทั่วถึงสำหรับประชาชน การศึกษาต้องเป็นการบริการของรัฐที่ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอย่างแท้จริง มิใช่เปิดช่องให้มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในรูปแบบอื่นเกิดขึ้น


 


2. การปฏิรูปที่ดิน ต้องจัดให้มีการปฏิรูปที่ดินที่ทำให้เกิดการกระจายการถือครองของประชาชนในสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่ปล่อยให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินระหว่างคนรวยและคนจน เพราะที่ดินเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อย รวมถึงการสร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดินของเกษตรกรให้มากขึ้น ซึ่งสามารถจะทำได้โดยมาตรการทางภาษีและการจำกัดการถือครองที่ดินของเอกชน


 


3. สิทธิชุมชน ต้องรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการ บำรุงรักษา ดูแลและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ในกรณีที่มีการใช้ประโยชน์โดยหน่วยงานของรัฐในทรัพยากรของท้องถิ่น ต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบด้านวิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสังคมเกิดขึ้นก่อนดำเนินโครงการ และประชาชนต้องมีอำนาจในการตัดสินใจอนุมัติโครงการดังกล่าวโดยตรง


 


4. สิทธิในการรวมตัวของผู้ใช้แรงงาน ต้องรับรองสิทธิในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน สหพันธ์ สหกรณ์ หรือองค์กรอื่นใด เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจต่อรองที่เท่าเทียมกับรัฐและธุรกิจเอกชน ในการสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงในการทำงานของผู้ใช้แรงงานอย่างเป็นธรรม


 


5. สิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ประชาชนต้องสามารถรวมตัวกันเพื่อเสนอกฎหมายได้อย่างสะดวก รัฐไม่ต้องออกกฎเกณฑ์หรือการกระทำใดๆ ที่เป็นการขัดขวางการใช้สิทธิของประชาชน ในเรื่องนี้และหากมีการเสนอกฎหมายของประชาชนเกิดขึ้นต้องให้ความสำคัญกับการเสนอกฎหมายของประชาชนเป็นลำดับที่สำคัญกว่าการเสนอกฎหมายของ ส.ส.


 


6. สิทธิของประชาชนในการควบคุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนต้องมีกลไกและกระบวนการในการตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกรณีที่มีการตัดสินใจในโครงการหรือนโยบายใดๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อชุมชนหรือท้องถิ่น ประชาชนต้องเป็นตัดสินใจด้วยการลงประชามติว่าจะเห็นชอบกับโครงการหรือนโยบายนั้นๆ หรือไม่


 


หลักทั้ง 6 ประการนี้ ต้องได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอันเป็นหลักการเพื่อสร้างความเท่าเทียมและความมั่นคงในชีวิตของประชาชน ทั้งนี้การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นการบัญญัติที่ทำให้สามารถเกิดการบังคับใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องให้มีการบัญญัติกฎหมายอื่นใดมารับรองสิทธิเหล่านี้อีก การทำให้รัฐธรรมนูญมีผลบังตับใช้เช่นนี้จะทำให้เกิดการนับถือรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดเหนือกว่ากฎหมายอื่นใดทั้งปวง และทำให้การฉีกรัฐธรรมนูญในอนาคตไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายเช่นที่ผ่านมา


 


มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


10 ธันวาคม 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net