Skip to main content
sharethis

แปล/เรียบเรียงโดย พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ


 



 


ชาเวซระหว่างการปราศรัยต่อผู้สนับสนุนที่เมืองกัวริโค (Guarico) ทางตะวันออกของกรุงคารากัส เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา (ที่มา AFP)


 


คารากัส, เวเนซุเอลา - ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ (Hugo Chavez) กล่าวสรรเสริญฝ่ายค้านที่ยอมรับความพ่ายแพ้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา และกล่าวว่าชัยชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นนี้แสดงให้เห็นว่าชาวเวเนซุเอลาสนับสนุนให้ประเทศไปสู่ทิศทางสังคมนิยมอย่างเข้มข้น


 


ชาเวซแถลงข่าวที่ทำเนียบประธานาธิบดี มิราฟรอเรส (Miraflores) กรุงคารากัส ประเทศเวเนซุเอลา เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ภายหลังจากผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการเสร็จสิ้น โดยเขาสามารถเอาชนะนายมานูเอล โรซาเลซ (Manuel Rosales) คู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยคะแนนกว่าร้อยละ 63


 


"พี่น้องที่ลงคะแนนให้ผมนั้น ไม่ได้ลงคะแนนเพื่อเลือกผมแต่เขาเลือก "แผนการสังคมนิยม" เพื่อสร้างเวเนซุเอลาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างแท้จริง ผมขอแสดงความเคารพในการรับผิดชอบของฝ่ายค้านที่ยอมรับผลการเลือกตั้ง นี่เป็นเวลาที่ท่านจะยึดถือทัศนคติของประชาธิปไตยอย่างแท้จริงแล้ว" ชาเวซกล่าว


 


ผลการลงคะแนนปรากฏว่าชาเวซได้รับคะแนนเสียงถึง 7.2 ล้านเสียงจากผู้ออกมาใช้สิทธิ 12 ล้านคน นับเป็นชัยชนะจากเสียงส่วนใหญ่อย่างแจ่มชัด เพียงแต่ไม่ถึง 10 ล้านเสียงตามที่เขาหมายมั่นเอาไว้


 


ผู้สนับสนุนชาเวซกล่าวว่าเขาเป็นฝ่ายซ้ายที่มีวิสัยทัศน์ยอดนิยมคนหนึ่ง แต่ฝ่ายต่อต้านเขากล่าวว่าชาเวซเป็นพวกบ้าที่อันตราย ชาเวซมักปรากฏตัวในเครื่องแบบทหารพร้อมหมวกแบเรต์สีแดงอันหมายถึงชีวิตของเขาซึ่งเคยผ่านการเป็นทหารพลร่ม ชาเวซมักกล่าวว่าเขาเป็นทหารที่พระเจ้าส่งมาทำการปฏิวัติสังคมนิยม


 


ชัยชนะของชาเวซในครั้งนี้ ทำให้ชาเวซกลายเป็นผู้นำฝ่ายซ้ายคนที่ 6 ของลาตินที่ชนะการเลือกตั้งในปีนี้ ซึ่งชาเวซได้กล่าวว่าเขาต้องการดำเนินโครงการความร่วมมือภายในภูมิภาคลาตินอเมริกาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อลดอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค


 


ดูเหมือนว่าสหรัฐเองก็คงหนาวๆ ร้อนๆ เหมือนกัน


 


อย่างไรก็ตาม เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำเวเนซุเอลา นายวิลเลียม บราวน์ฟิลด์ (William Brownfield) แสดงความยินดีกับเวเนซุเอลากับการเลือกตั้งที่สันตินี้ ซึ่งท่าทีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่และแสดงให้เห็นความต้องการของวอชิงตัน ที่ต้องการมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับชาเวซด้วยท่าทีขัดแย้งน้อยที่สุด


 


"ท่านประธานาธิบดีได้รับการเลือกกลับเข้ามาอีกครั้งโดยการตัดสินใจของประชาชนเวเนซุเอลา เรามีคำมั่นว่าเรานั้นพร้อมแล้ว มีความมุ่งหมายและมีความกระตือรือร้นที่จะค้นพบว่าเราสามารถจะสร้างเสริมการเจรจาทวิภาคีระหว่างกันให้ก้าวหน้าได้หรือไม่" นายบราวน์ฟิลด์กล่าวกับสถานีวิทยุ Union Radio


 


บราวน์ฟิลด์ กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาและเวเนซุเอลามีผลประโยชน์ร่วมกันในความร่วมมือที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นสงครามต่อต้านการค้ายาเสพย์ติด, อาชญากรระหว่างประเทศ, การก่อการร้าย, การค้าและประเด็นด้านพลังงาน


 


แม้ในขณะที่สหรัฐอเมริกายังคงเป็นผู้ซื้อน้ำมันอันดับ 1 ของเวเนซุเอลา แต่ความตึงเครียดกลับปรากฏอยู่บ่อยครั้งผ่านการโต้เถียงระหว่างรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและเวเนซุเอลา


 


ชาเวซกล่าวหาว่ารัฐบาลวอชิงตันเป็นผู้สนับสนุนให้มีการรัฐประหารในปี 2545 เพื่อต่อต้านเขา และเรียกประธานาธิบดีจอร์จ บุชว่า "ตัวอันตราย" (Mr. Danger) และในการกล่าวสุนทรพจน์ที่สหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาเขาเรียกจอร์จ บุชว่า "ปีศาจ" (the devil)


 


และชาเวซยังกล่าวฉลองชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ของเขาว่า "เป็นอีกความพ่ายแพ้ของปีศาจ ผู้พยายามครอบครองโลก!"


 


นอกจากนี้ชาเวซยังมีมิตรสหายที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐอย่างอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนของอิรัก และเมื่อชาเวซชนะการเลือกตั้งหนนี้ อิหร่านเองก็เป็นประเทศแรกๆ ที่ร่วมแสดงความยินดี


 


แม้ว่าเขาจะเรียกบุชเป็นศัตรูในสุนทรพจน์ แต่เขาไม่ได้หมายความเช่นนั้นกับประชาชนของสหรัฐอเมริกา  โดยในทางนโยบายแล้วชาเวซจะส่งเชื้อเพลิงราคาถูกให้กับครอบครัวทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกาที่มีความจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงด้วย!


 


เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาแสดงความกังวลกับภาวะประชาธิปไตยภายใต้รัฐบาลที่กุมอำนาจโดยชาเวซและพันธมิตรประเทศต่างๆ ของเขา ซึ่งความกังวลนี้ถูกประกาศอีกทีโดยฝ่ายต่อต้านชาเวซในเวเนซุเอลานั่นเอง


 


เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์คอมมิวนิสต์ของคิวบาตีพิมพ์ข้อความแสดงความยินดีของผู้นำคิวบาอย่างฟีเดล คาสโตรต่อชาเวซ, ซึ่งชาเวซเห็นว่าคาสโตรเป็นทั้งเพื่อนสนิทและบิดาของเขา


 


"ชัยชนะครั้งนี้นั้นยิ่งใหญ่, เป็นการบดขยี้, และไม่มีใดเทียมในประวัติศาสตร์ของทวีปอเมริกา" ข้อความตอนหนึ่งของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ของพรรคคอมมิวนิสต์คิวบา "แกรนมา" ตีพิมพ์ ทั้งยังกล่าวด้วยว่า "ชาวคิวบารู้สึกมีความสุขและขอสวมกอดอย่างเข้มแข็งให้กับชาวเวเนซุเอลาด้วย"


 


ประธานาธิบดีโบลิเวีย เอโว โมราเลส (Evo Morales) กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาแสดงความยินดีกับชาเวซ ในชัยชนะในการเลือกตั้งของฝ่ายซ้าย ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นชัยชนะในบราซิล เอกวาดอร์และนิคารากัว


 


ชัยชนะรอบใหม่ของชาเวซนั้นหมายความว่า เขาเองสามารถมุ่งหมายไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมนิยมได้มอย่างถอนรากถอนโคนมากกว่าเดิม แม้ว่าว่าบัดนี้ยังไม่แน่ชัดว่านโยบายขั้นแรกที่เขาจะทำคืออะไร


 


ชาเวซกล่าวว่าเขามีแผนที่จะปฏิรูปรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกการจำกัดสมัยการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่นี้จะทำให้เขาดำรงตำแหน่งได้ถึงปี 2012 เท่านั้น และเขากล่าวว่าเขามีแผนที่จะขจัดความยากจนอย่างจริงๆ จังๆ และเขาเคยกล่าวเปรยๆ ว่าจะแปรรูปบริษัทโทรคมที่ใหญ่ที่สุด (ในเวเนซุเอลา) มาเป็นรัฐวิสาหกิจของชาติ


 


เขาสัญญาว่าจะใช้ความมั่งคั่งของทรัพยากรน้ำมันของประเทศ มาขจัดความยากจน และคะแนนเสียงที่สนับสนุนเขาหลักๆ นั้นก็เพื่อกดดันให้เขารีบดำเนินนโยบายโดยเร็ว


 


ฝ่ายตรงข้ามมองชาเวซว่า "กระหายอำนาจ" แต่ชาวเวเนซุเอลาเห็นผลประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือสังคมที่มาจากการค้าน้ำมันนั้นเป็น "ภารกิจอันสำคัญ"


 


ชาเวซสนับสนุนงบประมาณหลายพันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อช่วยเหลือคนจนด้วยการสนับสนุนอาหาร การศึกษาฟรีในระดับอุดมศึกษา กองทุนเงินสดสำหรับผู้หญิงที่เลี้ยงลูกโดยปราศจากสามี (single mothers) และความช่วยเหลือต่างๆ


 






ชีวิตและงานของฮูโก ชาเวซ


 




ประธานาธิบดีชาเวซ ระหว่างการแถลงข่าวที่ทำเนียบมิราฟรอเรส ในกรุงคารากัส ประเทศเวเนซุเอลาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา (ที่มา AP Photo/Howard Yanes)


 


ฮูโก ชาเวซ หรือชื่อเต็มของเขาคือ ฮูโก ราฟาเอล ชาเวซ ฟรีอาซ (Hugo Rafael Chávez Frías) เกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 1954 ในครอบครัวของครูประถมในเมืองซาบาเนต้า รัฐบารินาสปัจจุบันอายุ 52 ปี เมื่อเขาเรียนจบโรงเรียนชั้นมัธยมปลาย พ่อแม่ก็ส่งเขาเข้าเรียนต่อโรงเรียนนายร้อย ตามธรรมเนียมครอบครัวชนชั้นกลางในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ชาเวซหย่าแล้ว 2 ครั้งและมีลูก 4 คน


 


หลังจากเรียนจบและเข้ารับตำแหน่งในกองทัพแล้ว ด้วยการออกไปเห็นสภาพยากลำบากของคนชั้นล่างในเวเนซุเอลา ดังนั้นในปี 1988 เขาร่วมกับนายทหารชั้นผู้น้อยได้ก่อตั้งขบวนการปฏิวัติโบลิวาร์ (Revolutionary Bolivarian Movement-200 (MBR-200) ซึ่งเลข 200 หมายถึงวาระครบรอบชาตกาล 200 ปีซีโมน โบลิวาร์ (Simone Bolivar) นักปฏิวัติผู้ปลดแอกลาตินอเมริกาจากการตกเป็นอาณานิคม


 


และในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1992 เขาทำรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จและถูกจำคุก 2 ปี แต่การออกมายอมรับผิดในการทำรัฐประหารได้ทำให้เขามีชื่อเสียง และในปี 1997 เขาได้ก็ตั้งพรรคการเมืองชื่อขบวนการเพื่อสาธารณรัฐที่ห้า (Movement for the fifth Republic : MVR) เขาลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและชนะการเลือกตั้งปี 1998


 


เขากล่าวว่าเขามีแผนการสำหรับยุทธศาสตร์ปฏิวัติเรียบร้อยแล้ว โดยเขาเรียกแผนการนั้นว่า "สังคมนิยมสำหรับศตวรรษที่ 21" ซึ่งเขียนขึ้นระหว่างที่เขาใช้ชีวิตใน "คุกแห่งเกียรติยศ" เป็นเวลา 2 ปี หลังจากที่เขาทำรัฐประหารล้มเหลวในปี 1992


 


เขาได้รับการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1998 ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจให้กับสองพรรคการเมืองเก่าแก่แห่งเวเนซุเอลาที่ครองอำนาจมายาวนานกว่า 40 ปี


 


ชาเวซใช้เวลาช่วงปีแรกของเขาในการวางแผนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จในการลงประชามติและเขาชนะการเลือกตั้งถล่มทลายอีกครั้งหนึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเดือนกรกฎาคมปี 2000 ที่จะทำให้เขาได้เป็นประธานาธิบดีมีวาระ 6 ปี


 


ฝ่ายต่อต้านชาเวซอ้างว่าเขานำพาประเทศไปสู่ความเสียหาย จึงทำการรัฐประหารขับไล่เขาลงจากอำนาจในวันที่ 11 เดือนเมษายนปี 2002 แต่ชะตากรรมของชาเวซไม่เหมือนทักษิณ ดังนั้นเพียงไม่กี่วันฝ่ายสนับสนุนชาเวซและทหารที่สนับสนุนเขาทำการต่อต้านฝ่ายรัฐประหารทั่วประเทศ จึงทำให้ชาเวซกลับสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 14 เมษายน!


 


ชาเวซรอดจากการถูกโค่นอีกครั้งหลังจากที่ฝ่ายต่อต้านนัดหยุดงานในกิจการน้ำมันเป็นเวลา 2 เดือนในเดือนธันวาคมปี 2002 ถึงกุมพาพันธ์ปี 2003 และชาเวซก็เอาชนะในการลงประชามติไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีในวันที่ 15 สิงหาคมปี 2004


 


ชาเวซมีพรสวรรค์ในการพูดในที่ชุมชน เขามีสำนวนดังพระผู้มาโปรด มีสำนวนฝ่ายซ้ายแต่มักอุทิศให้กับซีโมน โบลิวาร์ นอกจากนี้ในสำนวนวาจาเผ็ดร้อนของชาเวซก็ยังมักพูดถึงกีฬาเบสบอลที่เขาชอบอีกด้วย


 


นโยบายของชาเวซให้ความสำคัญกับคนจนอย่างที่ไม่มีผู้นำเวเนซุเอลาคนไหนเคยทำมาก่อน นโยบายสำคัญที่ชาเวซบุกเบิกเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้มีมากมาย ตั้งแต่การจัดตั้งองค์กรประชาสังคม ที่มีสมาชิกไม่เกิน 30 ครอบครัว เรียกว่า องค์กรชีวิตชุมชน


 


สำหรับน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าส่งออกของเวเนซุเอลา ชาเวซออกกฎหมายให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้ร้อยละ 30 จากเดิมที่รัฐได้เพียง 16.6 ทำให้บริษัทต่างประเทศไม่พอใจเป็นอย่างมาก พยายามนัดหยุดงานและลงประชามติไม่ไว้วางใจดังที่กล่าวไปแล้ว แต่ไม่สำเร็จ


 


ผู้นำเวเนซุเอลายังจัดสรรงบประมาณกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 148,000 ล้านบาท ดำเนินโครงการเร่งด่วนให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ 10 โครงการ เน้นความช่วยเหลือด้านการดำรงชีพ เช่น อาหาร บ้าน การศึกษา และสาธารณสุข ให้กับประชาชนระดับรากหญ้าจำนวนหลายล้านคนให้มีบ้าน ที่ดินทำกินด้วยการปฏิรูปที่ดินทั้งในเมืองและในชนบท


 


สนับสนุนให้แรงงานนอกระบบตั้งสหกรณ์ และสนับสนุนให้คนงานเข้าไปดำเนินกิจการเองแทนนายทุนที่ปิดโรงงาน ชาเวซมีโครงการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถอ่านออกเขียนได้ และผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับเงินบำนาญเลี้ยงดูเป็นประจำทุกเดือน


 


ด้วยความที่ชาเวซมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับคิวบา จึงมีการนำแพทย์จากคิวบาเข้ามารักษาฟรีแก่ประชาชน และมีการส่งนักเรียนแพทย์ไปยังคิวบาอีกด้วย


 


ซึ่งชัยชนะจากการเลือกตั้งของชาเวซเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. นี้ จะทำให้เขาเป็นผู้นำเวเนซุเอลาไปจนถึงปี 2012


 


 


 


ที่มาของข่าว


ภควดี วีระภาสพงษ์, "เวเนซุเอลา : เส้นทางปฏิวัติยุคหลังประวัติศาสตร์", ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3(3) 2548 หน้า 142-187.


 


Chavez: Venezuela backs socialism shift, By CHRISTOPHER TOOTHAKER, Associated Press Writer Dec, 5 2006


 


Chavez: ex-coup leader, champion of the poor, anti-US icon by Patrick Moser, AFP, Dec, 5 2006


 


Hugo Chávez, Wikipedia, the free encyclopedia,


 


Profile: Hugo Chavez, BBC, 4 December 2006, 12:08 GMT


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net