Skip to main content
sharethis


จาก สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


ชัยวัฒน์  สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ปาฐกถาในวาระ 30 ปี 6 ตุลา


 



 


"พี่ๆ ตำรวจครับ กรุณาหยุดยิงเถอะครับ เราชุมนุมอย่างสันติ เราไม่มีอาวุธ ตัวแทนของเรากำลังเจรจาอยู่กับรัฐบาล อย่าให้เสียเลือดเนื้อไปมากกว่านี้เลย กรุณาหยุดยิงเถอะครับ"1 (ธงชัย วินิจจะกูล อายุ 19 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6.30 น. เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519)


 


"ผมยังโกรธ อึดอัด และเศร้าใจ มันเหนื่อย เวลา 30 ปีในชีวิตถูกสั่นคลอน คุกคาม เหมือนไม่เคยเกิดขึ้น... 6 ตุลา กำลังจะเวียนมาถึง จะให้ผมบอกอะไรพวกเขา ไม่มีอะไรจะบอกแล้ว 30 ปีผ่านไป รู้สึกโหวงเหวงกลวงเปล่าข้างใน" 2 (ธงชัย วินิจจะกูล อายุ 49 ปี กันยายน 2549)


 


 "การฆาตกรรมหมู่เมื่อ 6 ตุลา19 เป็นอดีตที่ยังวนเวียนหลอกหลอนสังคมไทยในปัจจุบันอยู่ คงมีคำถามว่า ทำไมมัวจมอยู่กับอดีต ทำไมไม่ฝังอดีตไปเสียเพื่อเดินต่อไปข้างหน้า สังคมไทยพอใจจะทำเช่นนั้นอยู่เรื่อย สิ่งที่ถูกกลบฝังไปด้วยจนตกต่ำลงทุกวันหรือตายไปแล้วก็เป็นได้ คือ ความกล้าหาญทางจริยธรรมและบรรทัดฐานทางศีลธรรมของสังคม เราพอใจจะมองข้ามความอัปยศในอดีตด้วยการอ้างอนาคต หาได้คิดไม่ว่าอนาคตจะน่ากลัวเพียงไร หากเราไม่สามารถชำระสะสางได้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ รัฐมีสิทธิ์หรือไม่ที่จะสังหารประชาชนของตนที่คิดแตกต่างจากรัฐ" 3 (ธงชัย วินิจจะกูล อายุ 39 ปี ตุลาคม 2539)


 


สามสิบปีผ่านไป คนก็แก่ลง บ้านเมืองก็เปลี่ยนแปลง บางด้านก็จดจำแทบไม่ได้ ขณะที่อีกบางด้านก็เหมือนย้อนกลับไปในเส้นทางที่ได้ผ่านมาแล้ว แต่เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ยังอยู่ในฐานะ "อดีตที่ประวัติศาสตร์ยอมรับไม่ลง" แน่นอนสภาพสังคมทางการเมืองไทยยิ่งในปัจจุบันด้วยแล้ว มีเงื่อนไขปัจจัยมากมายที่นำมาใช้อธิบายความไม่มีที่มีทางของอดีตส่วนนี้ในสังคมไทยได้ และสำหรับผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรง สภาพการเมืองที่เป็นอยู่ย่อมยังให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกหลากหลาย ในวันคืนเช่นนี้บางคนหวนคิดถึงบทประพันธ์ของนักกลอนนิรนามที่เขียนประกอบภาพเขียนประกอบภาพผู้สูญเสียในเหตุการณ์ 6 ตุลา19 ไว้ว่า


 


"เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์
สักพันชาติจะสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์
แม้ชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน
จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน"
4


 


บทปาฐกถานี้มุ่งจะทำความเข้าใจกับเหตุการณ์รุนแรงร้ายกาจที่เคยเกิดขึ้นมา โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องเวลา (time) ที่สัมพันธ์กับปัญหาความรุนแรง ด้วยการตั้งคำถามสองข้อคือ ข้อแรก เวลาทำอะไรกับความรุนแรง (what does time do to violence?) และข้อสอง ความรุนแรงทำอะไรกับเวลา (what does violence do to time?) ในการพยายามตอบคำถามทั้งสองข้อนี้ ข้าพเจ้าจะเริ่มจากวิธีที่เหตุการณ์ถูกเวลากักขัง จากนั้นจะได้ทดลองตอบคำถามว่าเวลาคืออะไรโดยอาศัยคัมภีร์ทางศาสนาเป็นแนวทาง จากนั้นจะได้อภิปรายความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับความรุนแรง ตอนท้ายจะได้หาวิธีตอบคำถามว่า ในสภาพอดีตที่ถูกกักขัง ความรุนแรงกระทำต่อกาลเวลาเช่นนี้ ยังหาความหวังได้จากที่ใด โดยคิดถึงเรื่องนี้ผ่านชีวิตสามัญของคนเล็กๆ รุ่นใหม่กับบทกวีบทหนึ่ง


 


 


เหตุการณ์ถูกขัง           


 


ตีห้าครึ่ง วันพุธที่ 6 สัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม 2519 ในคริสต์ศตวรรษที่แล้ว


          


"ระเบิดเอ็ม.79 ยิงจากภายนอกมาตกลงกลางสนามบอล ทำให้นักศึกษาประชาชนตาย 9 คน บาดเจ็บ 13 คน ห่างกันไม่ถึงอึดใจ ระเบิดเอ็ม.79 ลูกที่สองก็ตามเข้ามา แต่ไม่ระเบิด..." 5


 


เหตุการณ์นี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในบริบททางการเมืองประวัติศาสตร์ของสังคมไทย แต่ยังเกิดขึ้นใน "เวลา" หนึ่ง


           


เวลาตีห้าครึ่งหรือ 5.30 น.อยู่ในวัน เพราะมีแต่วันที่มี 24 ชั่วโมง
            วันพุธอยู่ในสัปดาห์ เพราะมีแต่สัปดาห์ที่มี 7 วัน
            สัปดาห์แรกอยู่ในเดือน เพราะมีแต่เดือนที่มี 4 สัปดาห์
            เดือนตุลาคมอยู่ในปี เพรามีแต่ปีที่มี 12 เดือน
            ปี 19 อยู่ในศตวรรษ เพราะมีแต่ศตวรรษที่มี 100 ปี ไม่ว่าจะเป็นพุทธศตวรรษหรือคริสต์ศตวรรษก็ตาม
 
หากพิจารณาเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เช่นนี้ จะกล่าวได้หรือไม่ว่า นี่เป็นการมองเวลาแบบหนึ่ง คือมองเวลาในลักษณ์วัฏจักร ที่แม้จะเคลื่อนต่อเนื่องนานไป แต่ก็หมุนวนอยู่ในรูปร่างทางสังคมของเวลา (social shape) ที่ประกอบด้วย นาที-ชั่วโมง-วัน-สัปดาห์-เดือน-ปี และดังนั้นเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 จึงไม่เพียงถูกกักขังอยู่ในการเมืองประวัติศาสตร์ของสังคมไทย แต่ยังติดกับ(trapped)อยู่ในทัศนะประวัติศาสตร์ที่กักขังเวลาไว้ในปัจจุบันอันเป็นนิรันดร์6 แต่ถ้าเช่นนั้น เวลาคืออะไร เหตุใดจึงทรงอำนาจกักขังโลกและมนุษย์เอาไว้ได้?


 


 


เวลา พระเจ้า กับ ความเป็นนิรันดร์


 


สำหรับข้าพเจ้า คำถามนี้เป็นหนึ่งในบรรดาคำถามทางปรัชญาที่ยากเย็นที่สุด Hegel ใน Phenomenology of the Mind เคยตอบว่า "เวลาคือแนวคิดหรือมโนทัศน์ที่ดำรงอยู่" (existing Concept)7 ขณะที่ Heidegger ใน Being and Time เห็นว่า "เวลาคือขอบฟ้าแห่งความเข้าใจทั้งปวงของ Being" 8 (p.39) เส้นทางตอบคำถามเรื่องเวลาด้วยครรลองปรัชญาเยอรมันดูจะเกินความสามารถของข้าพเจ้า ดังนั้น จึงขออาศัยคำสอนจากหลักศาสนาที่แตกต่างกันคือ ศาสนาเทวนิยม ทั้งที่เป็นพหุเทวนิยมอย่างฮินดุ กับ เอกเทวนิยมอย่างอิสลาม และศาสนาอเทวนิยมอย่างพุทธศาสนามาเป็นแนวทางทำความเข้าใจเรื่องเวลา
 
ใน มหาภารตะ เป็นมหากาพย์สำคัญแห่งชมพูทวีปที่เล่าถึงการยุทธอันยิ่งใหญ่ระหว่างพี่น้องในราชสกุล ปาณฑพ กับ เการพ อรชุนเจ้าชายผู้ทรงศิลป์สงคราม วีรบุรุษคนสำคัญของฝ่ายปาณฑพ มองไปยังท้องทุ่งกุรุเกษตร และแลเห็นแต่พี่น้องญาติมิตร ลำบากยาใจจนไม่อาจใช้ศรยิงเข้าใส่ฝ่ายเการพได้ กฤษณะมหาเทพซึ่งทำหน้าที่สารถีรถรบให้อรชุน จึงขับบทเพลงแห่งสวรรค์ให้อรชุนเข้าใจโลกและธรรม ในบทที่ 11 อันถือกันว่าเป็นบทสำคัญที่สุดของ คัมภีร์ภควัทคีตา9 อรชุนทูลขอต่อพระกฤษณะให้ "เห็นองค์จริง" ของพระองค์ พระกฤษณะจึงประทานจักษุทิพย์ให้อรชุน สิ่งที่วีรบุรุษปาณฑพได้แลเห็นคือโลกทั้งมวลมารวมกันอยู่ในองค์มหาเทพ จนทำให้อรชุนงงขนลุก ประณมหัตถ์แล้วกล่าวว่า


           


"เฉพาะเบื้องพระพักตร์พระองค์นี้ หม่อมฉันรู้สึกว่ามายาที่บดบังนัยน์ตาของหม่อมฉันจางหายไปแล้ว บัดนี้ ขอพระองค์ทรงปรากฏพระวรองค์ให้หม่อมฉันได้แลเห็นทิพยรูปอันเป็นสกลด้วยเถิด หม่อมฉันไม่สามารถนับพระโอษฐ์ พระเนตร หรือแม้แต่ถนิมพิมพาภรณ์ วราภรณ์และศัตราวุธแห่งพระองค์ได้ครบถ้วน นับเป็นภาพที่น่าอัศจรรย์เป็นอนันต์อันไม่มีขอบเขต และวิจิตรยิ่งราวกับสุริยะนับพันดวงขึ้นฉายแสงอยู่กลางท้องฟ้า หม่อมฉันแลเห็นพระวรรูปวิเศษ หม่อมฉันเห็นโลกทั้งหมดและหม่อมฉันได้เห็นบรรดาเหล่านักรบทั้งหลายกรูกันเข้าไปในพระโอษฐ์ แลเห็นพระองค์ทรงบดเคี้ยวนักรบเหล่านั้น พวกเขาหวังว่าจะถูกทำลาย และพระองค์ก็ทรงทำลายพวกเขา เมื่อหม่อมฉันแลลอดทะลุพระองค์เข้าไปภายใน หม่อมฉันเห็นดวงดาว เห็นชีวิต และความตาย ขอพระองค์ทรงประทานความรู้ให้หม่อมฉันด้วยว่า พระองค์คือผู้ใด เพราะบัดนี้หม่อมฉันรู้สึกหวาดกลัว เหมือนถูกเหวี่ยงลงไปในความมืดลึก"


           


 พระกฤษณะจึงดำรัสว่า


           


"ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไป แต่เราเป็นทุกสิ่งที่เธอพูด ทุกสิ่งที่เธอคิด สรรพสิ่งหยุดนิ่งอยู่ที่เรา เหมือนไข่มุกที่ร้อยด้ายไว้ เราคือโลกและคือความร้อนแห่งไฟ เราคือรูปที่ปรากฏและเราไม่มีรูป เราคือมายาของมายากล เราคือความสนุกใสเบิกบานของรัศมีแสงทั้งปวง สิ่งมีชีวิตทั้งหลายล้วนลับหายไปในความมืดมิดแห่งราตรีกาล และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็กลับคืนสู่แสงสว่างแห่งทิวาวาร เรามีชัยชนะเหนือบรรดานักรบทั้งมวล ความคิดของมนุษย์ที่ว่า เขาเป็นผู้ฆ่าและถูกฆ่านั้น เป็นความคิดที่ผิดทั้งสิ้น ไม่มีอาวุธใดที่สามารถคร่าชีวิตได้ ไม่มีไฟใดที่เผาไหม้มนุษย์ได้ ไม่มีน้ำที่จะทำให้เปียกปอน ไม่มีลมที่จะทำให้เหือดแห้ง ไม่มีความกลัวและไม่มีความกล้าหาญ ทั้งนี้เพราะเรารักเธอ"10


            


คำตอบของพระกฤษณะที่ถ่ายทอดมาในบทละครแปลข้างต้นแม้จะวิจิตรอลังการ แต่เมื่อเทียบกับต้นฉบับคัมภีร์แล้ว ขาดข้อความสำคัญไปประโยคหนึ่ง เพราะใน ศรีมัทภควัทคีตา พระกฤษณะตอบว่า


"อาตมาเป็นกาล กระทำการผลาญโลก เป็นผู้เจริญแพร่หลาย เวลานี้กำลังลงมือผลาญโลก นักรบทั้งปวงซึ่งอยู่ในทุกๆ กองทัพ แม้เว้นท่านเสียแล้ว จะอยู่ไม่ได้เลย" (อัธยายที่ 11:32)11


             


ความน่าสนใจของหัวใจภควัทคีตาอยู่ที่ว่า ด้วยทิพยจักษุ มนุษย์จะมองเห็นองค์ของพระเจ้าเป็นเจ้า และเมื่อเห็นแล้วพหุลักษณ์ทั้งมวล ความแตกต่างทั้งหลายจะหลอมรวมเข้าเป็นหนึ่งในองค์เทวะ ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะพระองค์คือกาลเวลา ที่น่าประหลาดยิ่งคือความใกล้เคียงอย่างไม่น่าเป็นไปได้ระหว่างแนวคิดหลักของพหุเทวนิยมอย่างศาสนาฮินดูกับความเข้าใจพระเป็นเจ้าในคติอิสลามโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาผ่านแนวคิดเรื่องกาลเวลา


 


 ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน12 พระเป็นเจ้าตรัสว่า


 


"มิได้เป็นที่ประจักษ์แก่มนุษย์ดอกหรือว่า
 เคยมีกาลเวลาอันยาวนานที่มนุษย์ไร้ความหมาย
 ไม่มีอะไรเลย ไม่แม้กระทั่งจะถูกเอ่ยถึง"
   (ซูเราะห์ 76:1)


 


ในอีกบทหนึ่งของ อัลกุรอ่าน อัลเลาะห์ตรัสว่า



"ด้วยกาลเวลา
มนุษย์นั้นเป็นพวกขาดทุน
เว้นแต่ผู้มีศรัทธา ทำการดี และร่วมใจสนับสนุนกันและกัน ยึดมั่นในความจริงและความอดทน"
  (อัลกรุอ่าน,ซูเราะห์ 103:1-3)





ถ้าคิดถึงเวลาในเชิงนามธรรม (Dahr) และไม่ใช่ในฐานะเวลาบ่ายอันเป็นชื่อเรียกการนมัสการประจำวัน ครั้งที่สามของทุกวันสำหรับชาวมุสลิม (Asr) การอ้างการเวลา (Al Asr) ในที่นี้อาจเป็นเพราะเวลาเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนดูเหมือนจะรู้จักแต่ก็ไม่มีผู้ใดให้อรรถาธิบายความสำคัญของกาลเวลาได้แท้จริง กาลเวลาเดินทางไปมุ่งหาและทุกสิ่งที่เป็นวัตถุธรรม ดังนั้นทางรอดของมนุษย์จึงอยู่ที่ศรัทธา ทำความดีด้วยการยึดมั่นในความจริงและขันติธรรม(Sabr) ยิ่งกว่านั้นในจารีตของท่านสาสดามูฮัมมัด (หะดิษ) ยังมีข้อความที่ใกล้เคียงกับคำตอบของพระกฤษณะต่ออรชุนในคัมภีร์ภควัทคีตาข้างต้นอย่างน่าประหลาดใจ เพราะท่านศาสดามูฮัมมัดกล่าวว่า


          


"เอกองค์อัลเลาะห์ตรัสว่า "ลูกหลานอาดัมให้ร้ายกาลเวลา(Dahr)เรา(อัลเลาะห์)คือกาลเวลา ทิวาและราตรีอยู่ในมือของเรา" (หะดิษบุคอรี,8200)


 


จะกล่าวได้หรือไม่ว่า ศาสนาเทวนิยมประจักษ์ในอานุภาพของกาลเวลาที่กลืนกินเปลี่ยนแปลงสรรพสิ่งโดยตัวของเวลาดำรงอยู่ถึงกับถือว่าพระเป็นเจ้าคือกาลเวลา


           


ทัศนะเช่นนี้แตกต่างจากพุทธศาสนาที่แม้จะเห็นว่า เวลาดำรงอยู่ทุกหนแห่งและเป็นนิรันดร์ แต่เพราะเวลาดำรงอยู่และไม่เปลี่ยนแปลงจึงไม่สามารถเป็นเหตุให้เกิดสิ่งเร้าได้13 กล่าวอีกอย่างหนึ่ง  สำหรับพุทธศาสนาเวลา มิใช่ ธรรมะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดและดำรงอยู่ (real existents)  แต่เวลาปรากฏในฐานะสิ่งที่ต้องขึ้นต่อสิ่งอื่น เช่น 6 ตุลา 19 ปรากฏเป็น "6 ตุลา  19" เพราะเกิดการฆ่ากันอย่างทารุณกลางเมือง ผู้คนล้มตายครอบครัวทุกข์โศก กล่าวอีกอย่างหนึ่ง 6 ตุลา 2519 มิได้ทำให้เกิดอะไรขึ้น แต่มีบางอย่างเกิดขึ้นใน 6 ตุลา 2519 จนทำให้6 ตุลา 2519 กลายเป็น "6 ตุลา  19" เช่นทุกวันนี้ เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลายอย่าง ในพระอภิธรรมและตำราพุทธศาสนาอาจแยกได้ถึง 24 ปัจจัย ด้วยเหตุนี้เองแม้เวลาจะไม่ใช่สิ่งที่เกิดและดำเนินอยู่จริง  แต่ก็ปรากฏโดยขึ้นต่อสิ่งอื่นๆ เหล่านั้น ขณะที่สรรพสิ่งที่เกิดและดำเนินไปก็ต้องอาศัยเวลาในฐานะกรอบความคิดและการตีความ 14


             


ข้าพเจ้าคิดว่าแม้ศาสนาเทวนิยมกับพุทธศาสนาอย่างน้อยเท่าที่กล่าวนำในที่นี้ จะเห็นว่าเวลาต่างกันอย่างสำคัญตรงที่ สำหรับศาสนาเทวนิยมอย่างฮินดูหรืออิสลาม เมื่อถือว่า "พระเป็นเจ้าคือกาลเวลา" ก็หมายความอย่างน้อยสองประการคือ ประการแรก กาลเวลาเป็นตัวกำหนดเหตุการณ์ให้เหตุปัจจัยต่างๆ มาประชุมกันจนเกิดผลในโลก และประกาศที่สอง พระเจ้ามีเจตจำนงของพระองค์อันเกินกว่าที่มนุษย์จะหยั่งรู้ได้ และดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งปวงมีความหมายและเป็นหน้าที่ของมนุษย์จะพยายามทำความเข้าใจกับเจตนาของพระเป็นเจ้า  ขณะที่สำหรับพุทธศาสนา เวลาเป็นสิ่งที่ไร้เจตนา อีกทั้งขึ้นต่อสรรพสิ่งอื่นๆ ด้วย แต่ทั้งฮินดู พุทธ และอิสลามก็ดูจะเห็นพ้องต้องกันว่า เวลาดำรงอยู่ทุกหนแห่งและเป็นนิรันดร์   อีกทั้งสรรพสิ่งต่างๆ ก็ปรากฏและดำเนินไปในกรอบความคิดเรื่องเวลาเช่นเดียวกัน


             


เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นในอดีต จึงอาจตั้งคำถามที่โยงกับเวลาได้หลายข้อ เช่น ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์อันร้ายกาจอย่างนั้นขึ้นในวันที่ 6 ตุลา เหตุรุนแรงเกิดขึ้นเฉพาะสังคมไทยเท่านั้นหรือ มีเหตุรุนแรงอื่นๆเกิดขึ้นหรือไม่ในวันที่ 6 ตุลา ถ้าเกิดเหตุรุนแรงขึ้นในวันดังกล่าวจะแสดงว่าวันที่ 6 ตุลาคม มีอะไรพิเศษกว่าวันอื่นๆ หรือไม่อย่างไร เช่น ประธานาธิบดี อันวาร์ ซาดัต แห่งอียิปต์ถูกสังหารระหว่างเป็นประธานในพิธีสวนสนามของทหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2524(1981) เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นตรงกับการบุกอิสราเอลของอียิปต์กับซีเรีย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2516(1973) อาจกล่าวได้ว่า การสังหารประธานาธิบดี อันวาร์ ซาดัตเกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม เพราะมีเงื่อนไขปัจจัยอื่น เช่น การสวนสนามของทหารที่ทำให้การถืออาวุธเข้าใกล้ผู้นำเป็นไปได้ และการสวนสนามที่เกิดขึ้นในวันที่ประเทศต่างๆ เห็นว่าสำคัญ ดังนั้น การสังหารดังกล่าวจึงอาจเกิดขึ้นในวันนั้นเพราะเงื่อนไขในทางสัญลักษณ์ประกอบอยู่ด้วย การสังหารประธานาธิบดี อันวาร์ ซาดัต  จึงมีความหมายเป็นการลงโทษที่ไปทำสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล การตอบคำถามว่าเพราะเหตุใดเหตุการณ์รุนแรงเหตุการณ์หนึ่งอย่าง 6 ตุลา 19 จึงเกิดขึ้นในวันนั้น จึงอาจตอบได้โดยการอภิปรายเหตุปัจจัยต่างๆ ที่มาประชุมกันจนก่อให้เกิดผลคือ 6 ตุลา 19 และ 6 ตุลา 19 นั้นเองก็เป็นเหตุให้เกิดความคิดและการกระทำของผู้คนหลากหลายตามมา ปัญหาเหล่านี้เองแสดงให้เห็นอยู่บ้างว่าเวลาสัมพันธ์กับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแน่ แต่ปัญหาคือ เวลาสัมพันธ์กับความรุนแรงอย่างไร


 


 


เวลากับความรุนแรง


           


การอภิปรายปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับความรุนแรงคงทำได้หลายวิธี ในที่นี้ข้าพเจ้าขอเลือกตั้งคำถาม 2 ข้อคือ ข้อแรก ความรุนแรงส่งผลอย่างไรต่อกาลเวลา? และข้อสอง เวลาทำอะไรกับความรุนแรง? การตอบคำถามทั้งสองข้อคงกระทำมิได้หากไม่ได้กล่าวชัดว่า ความรุนแรงและเวลาทำงานอย่างไร


            


เมื่อคนเราเผชิญหน้ากับความรุนแรงที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความตระหนักรู้ว่าชีวิตตนมีขอบเขตจำกัด เพราะมนุษย์อีกคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งมีความสามารถจะยุติชีวิตของตนได้ ก็เท่ากับว่าการเผชิญหน้านี้สร้างสำนึกว่าการมีอนาคตอย่างจำกัด (finite future) และการสิ้นสุดของชีวิต คือการสิ้นสุดของอดีตเท่าที่มีมา ดังนั้นจึงไม่อาจไขว่คว้ายึดโยงอนาคตใดๆ 15


             


ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า ความรุนแรงทำหน้าที่ตัด สกัด หยุด หรือ แยกสภาพที่เป็นอยู่แห่งชีวิตของมนุษย์ออกจากศักยภาพของเขา เช่น กรณีของ "อนุวัตร อ่างแก้ว นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เขาถูกยิงจากด้านหลัง กระสุนทะลุหน้าท้อง เสียชีวิตทันที"16  อนุวัตรเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 20 ปี ถ้าเขาอยู่จนถึงวันนี้เขาจะมีอายุ 50 ปี ถ้าเขาดำเนินชีวิตไปตามปรกติเช่นผู้คนในสังคมไทย เขาคงเรียนจบธรรมศาสตร์ ทำงานมีครอบครัว ถึงวันนี้ลูกเขาอาจได้มาเรียนในระดับอุดมศึกษาแล้ว


 


แม่ของภรณี จุลละครินทร์ นักศึกษาพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี  ปีที่สองของธรรมศาสตร์  ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ศพอยู่ในสภาพถูกทุบตีจนแขนและขาหัก กล่าวเมื่อในเหตุการณ์ 6ตุลา 19 ผ่านไปได้ยี่สิบปีว่า "ถ้าเขายังอยู่ตอนนี้คงจะแต่งงานแล้ว อาจเป็นผู้จัดการธนาคารที่ไหนสักแห่ง บางทีอาจเป็นพนักงานบัญชี เพราะเค้าเคยบอกอยู่เสมอว่า อยากทำบัญชี เพื่อนของเขาที่ตอนนี้เป็นผู้จัดการยังบอกว่า ถ้าภรณีอยู่ไม่รู้จะเป็นอย่างไร เพราะภรณีเรียนเก่งกว่า" 17


             


แต่วันนี้สามสิบปีผ่านไป ไม่มีอะไรทั้งนั้น เพราะชีวิตคนหนุ่มสาวอย่างอนุวัตรและภรณีถูกทำให้สะดุดหยุดลงด้วยความรุนแรง ถ้าเช่นนั้นความรุนแรงทำให้เวลาสามสิบปีผ่านไปเป็นเช่นไร ข้าพเจ้าไม่มีข้อมูลมาเล่าว่า ความรุนแรงทำอะไรกับสามสิบปีที่ผ่านไป จะมีก็เพียงคำบอกเล่าของแม่เซียมเกียงเมื่อ 6 ตุลา 19 ผ่านไปได้ยี่สิบปี แม่ของภรณีเล่าว่า "ลูกเราเป็นคนเรียบร้อยน่ารัก ทำไมต้องตีเขาถึงขนาดนี้ แม่ร้องไห้มาตลอด 20 ปี ไม่มีใครมารับผิดชอบ เรียกว่าสูญไปเปล่าๆ เลยลูกสาวหนึ่งคน แม่ไม่รู้จะไปคุยและเรียกร้องกับใคร ไม่มีใครออกมาถามเลย…ไม่มี" 18


 


ข้าพเจ้าคิดว่า ความรุนแรงจัดการกับเวลาสองวิธี คือ วิธีแรก ความรุนแรงแช่แข็งเวลา คือบังคับให้ชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุนแรงร้ายกาจอย่าง 6 ตุลา 19 ติดกับอยู่ในความรุนแรงเพราะเวลาของเหยื่อความรุนแรงอาจไม่เคลื่อนที่ไปไหน แต่ถูกสกัดให้หยุดอยู่กับที่ ส่วนวิธีที่สอง เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นหนักหนาสาหัสจนยากจะรับ ความรุนแรงจึงทำหน้าที่ลบเลือนเวลาที่เกิดความรุนแรงนั้นเสีย สำหรับคนส่วนหนึ่ง หนทางที่จะอยู่ต่อไปจึงคือ พยายามลืมเหตุรุนแรงนั้นทำราวกับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นกับตนมาก่อนเลย ข้าพเจ้าคิดว่า ความรุนแรงจัดการกับเวลาของเหยื่อส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ด้วยการจับขังผู้คนเหล่านั้นไว้ในความรุนแรงอันไม่มีคำตอบ ขณะที่จัดการกับเวลาของสังคมไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ด้วยการทำราวกับว่า ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นกลางกรุงเมื่อสามสิบปีที่แล้ว


             


แล้วเวลาเล่า เวลาจัดการอย่างไรกับความรุนแรง เวลาเคลื่อนที่อยู่เสมอไม่เคยหยุดนิ่ง ปัญหาจึงกลายเป็นว่า เวลาเคลื่อนไปเร็วหรือช้า แต่ไม่ว่าเร็วหรือช้า สำหรับเหยื่อความรุนแรงไม่น้อย เวลายิ่งผ่านไปก็ยิ่งทำสีความรุนแรงซีดจางลง และดังนั้นจึงมักเชื่อกันว่า เวลารักษาบาดแผลในหัวใจของคนได้ แต่กับอีกหลายคนก็ทำให้บาดแผลกลัดหนองเจ็บปวดไม่รู้ลืมได้เช่นกัน ยิ่งถ้าสังคมการเมืองเคลื่อนผ่านหรือเข้าไปใกล้เส้นทางที่เคยก่อให้เกิดความรุนแรงอย่างในอดีต คนที่เคยตกเป็นเหยื่อก็อาจรู้สึกเหมือนถูกกระทำซ้ำอีก ต้องเจ็บปวดอีกแผลเก่าเหมือนไม่มีวันหาย


             


ถ้าเช่นนั้นสามสิบปีที่ผ่านไป ภายใต้บริบทรัฐประหารครั้งใหม่สังคมไทยจะอยู่กับเหตุการณ์รุนแรงร้ายกาจอย่าง 6 ตุลา 19 อย่างไร


 


 


ความหวัง


 


ถ้าเปรียบความทรงจำ 6 ตุลา 19 เหมือนผ้าสักผืน ก็ต้องเข้าใจว่า ผ้าผืนนี้ไม่เพียงของคนธรรมศาสตร์ ไม่ใช่ของนักศึกษา หรือคนพวกใดพวกหนึ่ง แต่ผ้าผืนนี้เป็นมรดกของสังคมไทยโดยรวม ความทรงจำของแต่ละคนคือด้ายที่ช่วยกันถักทอให้ช่วยเห็นลวดลายโดยไม่ประสงค์จะครอบครองผ้าทั้งผืน  ที่สำคัญ ต้องรักษาความทรงจำ 6 ตุลา 19 ไม่ให้เลือนหายไป สังคมไทยจึงจะมีความหวังในอนาคต เพราะ 6 ตุลา 19 เผยแสดงให้เห็นร่างด้านที่อัปลักษณ์ของสังคมไทย จะเป็นไปได้ด้วยการจดจำเหตุการณ์ทารุณร้ายกาจครั้งนั้นและตราไว้ในแผ่นดินว่าจะไม่ยอมให้เหตุเช่นนี้เกิดขึ้นกับใครอีก


             


คนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่าสามสิบปี ก็จดจำ 6 ตุลา 19 ได้ และเมื่อเผชิญกับสถานการณ์อย่างรัฐประหารครั้งใหม่ เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ก็มีส่วนช่วยให้บางคนตัดสินใจยืนขึ้นปกป้องสังคมไทยมิให้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงด้วยวิถีของตนเอง


 


สองวันหลังเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นักศึกษาสาวคนหนึ่งเดินเข้ามาในห้องทำงานของข้าพเจ้า เธอเล่าว่า เธอตัดสินใจไม่ไปเรียนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ รังสิตในวันนั้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นรบกวนเธอในฐานะนักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอันมาก เธอจึงตัดสินใจไปนั่งคิดอะไรคนเดียวในห้องสมุด ดิเรก ชัยนาม เธอตัดสินใจว่าจะตอบรับคำเชื้อเชิญของคณะปฏิรูปฯ ได้ เธอเขียนจดหมายขึ้นมาฉบับหนึ่งโดยใช้ชื่อและนามสกุลจริง ในฐานะนักศึกษาของธรรมศาสตร์ ขอร้องคณะปฏิรูปฯ ให้เคารพถือมั่นในสิทธิเสรีภาพของผู้คน ซึ่งอาจแสดงความคิดเห็นไม่พ้องต้องด้วยกับผู้ที่มีอำนาจ และขอร้องให้ใช้สันติวิธีในการดำเนินการกับคนเหล่านี้โดยไม่ใช้ความรุนแรง เธอเขียนถึงเหตุการณ์ทารุณร้ายกาจ 6 ตุลาคม ซึ่งเกิดขึ้นในสังคมไทยเมื่อสามสิบปีมาแล้ว โดยชี้ให้เห็นว่า ความรุนแรงครั้งนั้นได้สร้างความแตกแยกครั้งใหญ่ชนิดที่บาดร้าวลึกลงไปในจิตวิญญาณของบ้านเมือง และเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ "ก่อความทุกข์ระทมเจ็บปวดต่อร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ" ยากจะเยียวยารักษาได้เป็นเวลานาน


            


เธอเขียนจดหมายฉบับนี้โดยใช้กระดาษสมุดตีเส้นที่นักเรียนนักศึกษาใช้จดงาน ใช้ดินสอเขียนด้วยภาษาเรียบง่ายจนทำให้ข้าพเจ้าละอายใจกับสำนึกบริสุทธิ์และความกล้าหาญของเธอ ข้าพเจ้ามองดวงหน้ากระจ่างอ่อนเยาว์ของเธอเต็มตา และแลเห็นความหวังเรืองรองสำหรับสังคมไทย


 


 


หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของกาลเวลา


          


ข้าพเจ้าขอจบบทปาฐกถาว่าด้วย "กาลเวลาและความรุนแรง" ในวาระ 30 ปี 6 ตุลา 19 ด้วยถ้วยคำของกวีเอกแห่งสยามประเทศ เพราะถ้อยคำของกวีมีความงาม และความงามช่วยเผยให้เห็นความจริง และความจริงชนิดที่สัมผัสรับรู้ความงามมีผลทำให้มนุษย์ทนอยู่กับความจริงนั้นๆ โดยยังธำรงความหวังในความดีอยู่ได้ และนี่เป็นบทสนทนาพ่อกับลูกบทหนึ่ง


          


พ่อบอกลูกว่า "หยาดน้ำค้างคืออะไร หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา"
          


ลูกจึงถามพ่อว่า "เวลาร้องไห้ทำไมคะ เสียอกเสียใจอะไรหรือคะพ่อพ่อก็ตอบว่า "เสมอว่าเวลาร้องไห้เพราะต้องจากเราไปไกลแสนไกลในระลอกคลื่นแห่งวิถีกาลจักรอันไม่คืนกลับหลัง...แต่ที่ร้องไห้มิใช่เพราะเสียอกเสียใจอย่างเดียว"


          


"เหตุเพราะว่า น้ำค้างปิติยินดีที่เคารพดวงตะวัน ทั้งได้สะท้อนคุณค่าแท้ของคลื่นแสงพระสุริยาทั้งเจ็ดสีพลีกำนัลแด่โลกแล้ว น้ำค้างก็เสมอว่าเศร้าสร้อยน้อยใจที่ต้องพลันแตกดับวับสลายอำลาจากเราไป ไม่ได้อยู่เจียระไนแววตาให้ซึ้งคุณค่าของแสงรุ้งและสุนทรีอื่นๆ ฉะนั้นไม่ว่าจะดีอกดีใจหรือวิปโยคโศกเศร้า น้ำค้างก็อย่างหยาดน้ำตา"19


 


 


 



เชิงอรรถ
1 สารคดีปีที่ 12 ฉบับที่ 140 (ตุลาคม 2539),น.22
2 แปลจากจดหมายภาษาอังกฤษของธงชัย วินิจจะกูล ทางe-mail นำมาใช้ดัรับอนุญาตจากผู้เขียนแล้ว
3 ธงชัย วินิจจะกูล, "ความทรงจำกับประวัติศาสตร์บาดแผล:กรณีการปราบปรามนองเลือด 6ตุลา19,"รัฐศาสตร์สาร ปีที่19 ฉบับที่ 3 (2539),น.43-44
4 อ้างถึงใน ยุกติ มุกดาวิจิตร, " " 6ตุลา"สัญลักษณ์ของความรุนแรง ความรุนแรงของสัญลักษณ์, "รัฐศาสตร์สาร ปีที่19 ฉบับที่ 3 (2539),น.60"
5 สารคดีปีที่ 12 ฉบับที่ 140 (ตุลาคม 2539),น.102
6 Eviatar Zerubavel,Time Maps:Collective Memory and the Social Shape of the Past (Chicago and London: The University of Chicago Press,2004),p.24
7.Hegel,Hegel: Texts and Commentary Walter Kaufiman (Trans. And ed.) (Garden City,  New York: Anchor Book,1966),p.68.
8 Martin Heidegger, Being And Time John Macquarrie and Edward Robinson(trans.) (New York: Harper& Row ,Pubishers,1962),p.39.ข้อความในต้นฉบับ "…time needs to be explicated primordially as the understanding of Being, and in termporality as the Being of Dasein,which  understands Being."
9 R.C. Zaeher, The Bhagavad-gita(London:Oxford  University Press,1981)p.303.
10 Jean-Claude Carriere,มหาภารตะ จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา แปล,(กรุงเทพฯ:คบไฟ,2544),น. 175-176
11 ศรีมัทภควัทคีตา ของ กฤษณะไทวปายนวยาส แปลเป็นไทยโดย แสง มนวิทูร(กรุงเทพฯ:แพร่พิทยา,2515),น.
12 พระคัมภีร์อัลกรุอ่านในที่นี้ใช้คำแปลจาก The Qur"an,Trans. By M.A.S.Abdel Haleem (
New York:Oxford University Press,2004)
13 T.R.V.Murti, The Central Philosophy of Buddhism: A Study of the Madhyamika System (Lodon and Sydney:Unwin Paperbacks, 1987),p. 198.
14 Steven Colins, "Pali Buddhist ideas about the future." Unpublished manuscript,2006,pp. 1-2
 15 Piotr Hoffman,Doubt,Time,Violence (Chicago and London: The University of Chicago Press,1986),p.127-128.
16  สารคดีปีที่ 12 ฉบับที่ 140 (ตุลาคม 2539),น.143
17  สารคดีปีที่ 12 ฉบับที่ 140 (ตุลาคม 2539),น.141
18 เพิ่งอ้าง
19 อังคาร กัลยาณพงศ์,หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์เทียนวรรณ,2530),น. 56-57


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net