Skip to main content
sharethis

ในขณะที่ใครๆ ต่างตั้งตารอดูหน้าตารัฐบาลใหม่ ที่จะปรากฏโฉมอีกไม่กี่วัน หลายองค์กรที่อดรนทนไม่ไหว ได้ยื่นข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ นาๆ เพื่อรอรัฐบาลใหม่หยิบไปแก้ไขแล้ว


 


แต่องค์กรที่คลุกคลีอยู่กับปัญหาภาคประชาชน อย่าง "คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้" หรือ กป.อพช.ใต้ ที่มี "นายบรรจง นะแส" เป็นเลขาธิการ เลือกที่จะรอดูว่า รัฐบาลชุดปฏิวัติ จะหยิบยกปัญหาชาวบ้านมาแก้ไข หรือทำแค่สนองความสะใจของคนไม่ชอบ รัฐบาลทักษิณ เท่านั้น


 


ทิศทางการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนภาคใต้จะเป็นอย่างไร โปรดอ่านคำสัมภาษณ์บรรจง นะแส โดยพลัน


 


***


 



 ภาพจาก ไทยเอ็นจีโอ


 


ในมุมมองเอ็นจีโอที่เคลื่อนไหวทางภาคใต้ มองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยล่าสุดเป็นอย่างไร


ผมว่า ทั้งพรรคไทยรักไทยและคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ล้วนมีส่วนทำลายขบวนการพัฒนาทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงทั้งคู่


 


สำหรับพรรคไทยรักไทย โดยเฉพาะตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรีเอง ผมว่าเขามองระบอบประชาธิปไตยเป็นแค่เครื่องมือและรูปแบบหนึ่ง สำหรับการรับใช้ผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง


 


ในขณะเดียวกันคณะปฏิรูปฯ เองก็ฉวยโอกาส จากขบวนการตื่นรู้ของประชาชน มาเป็นเครื่องมือเข้ามาสอดแทรกแล้วปล้นชัยชนะเช่นกัน ซึ่งเป็นการทำลายและบอนไซการพัฒนาการทางประชาธิปไตยไปจากประชาชน  ทำให้เกิดวัฒนธรรมพึ่งพาทางการเมืองในส่วนของภาคประชาชน หมายความว่า การต่อสู้ทางการเมือง จะต้องอาศัยกองทัพหรือผู้มีอาวุธ มีรถถัง มีกองกำลังอยู่ในมือเท่านั้น


 


วัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีนี้ มันจะพัฒนาไปสู่การใช้อาวุธและใช้กองกำลัง เพื่อหวังผลการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ด้วยได้ในอนาคต ซึ่งไม่ใช่การพัฒนาทางการเมืองที่ดี


 


ความเปลี่ยนแปลงมาถึงขั้นจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว เราจะคาดหวังอะไรจากรัฐบาลชุดนี้ได้บ้าง


ผมว่า อย่างไรก็แล้วแต่ รัฐบาลชุดเฉพาะกาล ควรเข้ามาเพื่อการแก้ไขปัญหา ซึ่งปัญหาทางโครงสร้างที่สำคัญ ที่ทำให้สังคมไทยอ่อนแอและไม่เข้มแข็งมีหลายอย่าง เช่น ปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งเกิดจากการจัดโครงสร้างทางการเมือง การปกครองที่อยุติธรรม


 


โครงสร้างที่อยุติธรรม เช่น ไม่มีการกำหนดการถือครองที่ดิน ที่เป็นปัจจัยทางการผลิตที่สำคัญของคนส่วนใหญ่ในประเทศ การไม่มีระบบภาษีก้าวหน้าหรือภาษีมรดก ซึ่งมันเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะแก้ไขปัญหานั้นได้


 


หากรัฐบาลชุดใหม่ไม่แก้ปัญหาหลักๆ เหล่านี้ การยึดอำนาจที่เกิดขึ้น ก็เป็นเพียง การแย่งชิงอำนาจกันเองระหว่างชนชั้นปกครอง ส่วนประเทศและประชาชนก็เป็นเพียงเครื่องมือและข้ออ้างต่างๆนาๆ เพื่อช่วงชิงอำนาจกันเองเท่านั้น


 


คิดว่าหน้าตาของคณะรัฐมนตรีชุดนี้จะเป็นที่หวังพึ่งของภาคประชาชนได้หรือไม่


หากดูตามโผ ครม. (คณะรัฐมนตรี) ที่เริ่มออกมา เราจะพบว่ายังให้น้ำหนักกับภาคธุรกิจ และแคร์ต่อประเทศมหาอำนาจ ยังไม่มีตัวบุคคลเด่นๆ ที่สนใจปัญหาของคนส่วนใหญ่ หาก ครม.ชุดใหม่ประกอบด้วย นักธุรกิจ นายธนาคาร ที่อยู่คนละกลุ่มกับพรรคไทยรักไทยในอดีต หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อดีตปลัดกระทรวง ก็ทำนายได้ว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ประชาชนจะไม่ได้อะไรเลย นอกจากความสะใจที่ระบอบทักษิณถูกทำลายลงไป


 


แล้วภาคประชาชนจะมีมาตรการอย่างไรเพื่อกดดันหรือผลักดันให้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหาอย่างจริงจัง


ผมว่าหากดูในประวัติศาสตร์ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา หากไม่มีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ก็ไม่มีทางที่ปัญหาภาคประชาชนจะได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของกลุ่ม บ่อนอก หินกรูด หรือแม้แต่ปัญหาของกลุ่มคัดค้านท่อก๊าซไทย - มาเลย์


 


แต่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนหลายส่วนเช่นกันที่ทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล ซึ่งการเคลื่อนไหว เช่น การชุมนุม ไม่ใช่แค่การส่งเอกสาร ซึ่งสิ่งนี้มันสะท้อนว่าปัญหาภาคประชาชนมีอยู่จริง และสะท้อนถึงการเคลื่อนไหวของภาคมประชาชน


 


เพราะฉะนั้น ภาคประชาชนก็ต้องเคลื่อนไหวต่อไป เพื่อยืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองยืนอยู่ และเพื่อเป็นพัฒนาตัวเองไปด้วย นั่นคือการยืนหยัดในเรื่องสิทธิชุมชนหรือจิตสำนึกภูมินิเวศ หรือศาสนา วัฒนธรรม ที่จะต้องรักษาไว้ พี่น้องมุสลิมก็ต้องรักษาความเป็นอิสลามไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะเป็นตัวค้ำจุนสึงคม ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว มันจึงจะต่อกรกับโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่ได้


 


แต่สำหรับรัฐบาลชุดใหม่เราก็ต้องให้โอกาส โดยจะรอดูว่าในวันแถลงนโยบาย จะมีการพูดถึงการแก้ปัญหาหลักๆ ของภาคประชุมชนหรือไม่ แต่หากไม่แตะ หรือไม่พูดถึงเลย แน่นอนภาคประชาชนก็จะต้องจัดกระบวนทัพเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องกันอีกครั้ง


 


ประเด็นหลักๆ ที่รัฐจะต้องรีบแก้ปัญหาภาคประชนมีอะไรบ้าง


ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลใหม่ ต้องรีบนำกระบวนการยุติธรรมกลับมาให้เร็วที่สุด ใครที่มีส่วนก่อให้เกิดความอยุติธรรมหรือความรุนแรง จะต้องได้รับโทษอย่างตรงไปตรงมา


 


หลังจากนั้น ค่อยมาพิจารณารูปแบบการเมืองการปกครอง โดยเฉพาะเรื่องการทับซ้อนระหว่างการบริหารราชการส่วนภูมิภาค กับส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งผมคิดว่า ต้องให้มีการนำการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบมาใช้ในพื้นที่ จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้


 


ส่วนปัญหาความยากจน เป็นอีกประการหนึ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข เพราะสาเหตุของความยากจน เช่น ในชุมชนประมงพื้นบ้าน ก็เกิดจากเครื่องมือทำลายล้างอย่างอวนรุน อวนลาก เรือปั่นไฟ ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีอยู่


 


ปะการังเทียมที่เกิดจากโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ สามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้มาก แต่ตอนนี้ก็ถูกเรือปั่นไฟมาล้อมจับไปหมด ปัญหาเหล่านี้ ทำให้ชาวประมงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องทิ้งอาชีพของตัวเอง แล้วไปหางานทำในประเทศมาเลเซียเหมือนเดิม นอกจากนี้เรื่องการบังคับใช้กฎหมายก็ล้มเหลวในทุกเนื้อหาในพื้นที่ 3 จังหวัดด้วย


 


ทางที่ดีที่สุดหาก คณะปฏิรูปฯ ที่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติแล้วนั้น มีความจริงใจต่อประเทศและประชาชน ก็ต้องจัดการปัญหาต่างๆ  หลักๆ อย่างที่กล่าวมาแล้วให้ได้โดยก่อน แล้วรีบคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net