Skip to main content
sharethis


21 ต.ค. 2549 คณะกรรมการกาชาดสากล (ไอซีอาร์ซี) แสดงความวิตกเมื่อวันพฤหัสบดี (19 ต.ค.) ว่า กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายฉบับที่ก่อให้เกิดเสียงขัดแย้งกันมากของสหรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช เพิ่งลงนามให้มีผลบังคับใช้เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มีเนื้อหาซึ่งเป็นการทำลายหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

         


ในการให้สัมภาษณ์ซึ่งปรากฏบนเว็บไซต์ของคณะกรรมการกาชาดสากล จาค็อบ เคลเลนเบอร์เกอร์ ประธานไอซีอาร์ซีเตือนว่า กฎหมายของสหรัฐฯฉบับนี้ "สร้างความสับสน" ให้กับส่วนหนึ่งของอนุสัญญาเจนีวา โดยที่อนุสัญญาเจนีวาซึ่งประกอบด้วยอนุสัญญารวม 4 ฉบับนี้ ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็น "ข้อพิจารณาเบื้องแรกของมนุษยชาติ" จากที่อ่านกฎหมายใหม่นี้ในขั้นต้น ก็ทำให้เกิดความวิตกและคำถามใหม่ๆ ขึ้นมา


 


ทั้งนี้ กฏหมายใหม่ที่บุชลงนามไปเมื่อวันที่ 17 ต.ค. นั้นมีเนื้อหาอนุญาตให้ซีไอเอดำเนินการคุกลับในต่างแดนได้ต่อไป ยินยอมให้ใช้วิธีสอบสวนแบบโหดๆ และใช้ศาลทหารมาพิจารณาคดีผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้าย


         


กฎหมายนี้ซึ่งสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ อนุมัติในเดือนที่แล้ว ภายหลังการโต้เถียงกันดุเดือดในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ยังอนุญาตให้สหรัฐฯสามารถคุมขังผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ก่อการร้ายได้อย่างไม่มีกำหนด เจ้าหน้าที่สหรัฐฯหลายคนบอกเช่นนั้น


 


เคลเลนเบอร์เกอร์ยังได้ยกข้อวิตกในประเด็นที่กฎหมายนี้ ใช้ "คำนิยามแบบกว้างขวางเหลือเกิน" กับ "นักรบฝ่ายศัตรูที่ผิดกฎหมาย" ซึ่งสหรัฐฯสามารถใช้กฎหมายฉบับนี้เล่นงานได้ ตลอดจนข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่ได้มีข้อความอย่างชัดเจนว่า ห้ามศาลทหารตามกฎหมายนี้ ยอมรับหลักฐานซึ่งได้มาด้วยวิธีใช้กำลังบังคับขู่เข็ญ


         


กฎหมายใหม่นี้ ยังตัดทอนหลายส่วนของ "มาตรา 3" ซึ่งเป็นหมวดสำคัญที่สุดหมวดหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในอนุสัญญาเจนีวาทั้ง 4 ฉบับ นั่นคือในประเด็นเกี่ยวกับการห้ามไม่ให้ปฏิบัติอย่างเหยียดหยามและทำให้อับอายขายหน้า รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม


         


เคลเลนเบอร์เกอร์ แจกแจงว่า กฎหมายใหม่ของสหรัฐฯเท่ากับได้ตัดทอนมาตรา 3 ในอนุสัญญาเจนีวาบางฉบับ และคงไว้ในอีกบางฉบับ และบอกว่าการทำเช่นนี้ เป็นการ "สร้างความสับสนให้แก่บูรณภาพของมาตรา 3 ร่วม"


         


"ในเวลาที่ผ่านมา การพิทักษ์ความชัดเจนไม่คลุมเครือในมาตรา 3 ร่วม ได้รับการยอมรับว่า เป็นหลักพื้นฐานที่สุดซึ่งทำให้ยังจะรักษาความเป็นมนุษยชาติเอาไว้ได้ในยามสงคราม จนกระทั่งปัจจุบันได้รับการอ้างอิงว่า เป็น 'ข้อพิจารณาเบื้องแรกของมนุษยชาติ' ซึ่งจะต้องได้รับการเคารพปฏิบัติตาม ในความขัดแย้งด้วยอาวุธใดๆ ก็ตาม" ประธานไอซีอาร์ซีกล่าวต่อ


         


เคลเลนเบอร์เกอร์ย้ำว่า เป็น "ขั้นต่ำสุด" ที่ประเทศต่างๆ จะต้องผูกพันนำเอาหลักเกณฑ์นี้อย่างทั่วถ้วนเต็มบริบูรณ์มาใช้


 


...............................


ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net