Skip to main content
sharethis


15 ต.ค. 2549 สื่อมวลชนประจำรัฐสภาส่วนหนึ่งเตรียมแสดงความไม่เห็นด้วยที่จะมีตัวแทนจากองค์กรสื่อเข้ามาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ โดยเตรียมยื่นหนังสือให้กับนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทยเนื่องจากทั้ง 3 องค์กรเกี่ยวโยงกลับกลุ่มวิชาชีพโดยตรงโดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักจรรยาบรรณของสื่อมวลชน

 


โดยสื่อมวลชนกลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยที่จะมีตัวแทนสื่อมวลชนจากหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าว ผู้เขียนบทความ หรือบรรณาธิการข่าว โดยจะมีการเรียกร้องให้ตัวแทนสื่อมวลชนในสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เคารพหลักการของวิชาชีพและศักดิ์ศรีของสื่อมวลชน โดยการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสมควรจะถอยออกมาเป็นฝ่ายตรวจสอบอย่างสมศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพแทนการลงไปร่วมเป็นผู้เล่นเกมแห่งอำนาจเสียเองด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้คือ


 


1.โดยหลักการแล้วสื่อมวลชนต้องเป็นกลางทำหน้าที่ตรวจสอบไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดแม้กระทั่งการเข้าไปเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ


 


 2.สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่ตรวจสอบทุกฝ่าย รวมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติเมื่อตัวแทนจากสื่อมวลชนเข้าไปเป็นฝ่ายนิติบัญญัติเสียเองประชาชนจะมีหลักประกันอย่างไรว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะถูกตรวจสอบ


 


 3.ตัวแทนสื่อมวลชนในสภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังตกอยู่ในวังวนของผลประโยชน์ทับซ้อนหรือผลประโยชน์ขัดกัน คือ การเข้าไปรับเงินเดือนสองทางทั้งจากตำแหน่งในองค์กรสื่อมวลชนและในตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งไม่สมควรกระทำ


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสื่อมวลชนกลุ่มนี้เตรียมที่จะมีการหารือกันอีกครั้งในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ที่รัฐสภาเพื่อรวบรวมรายชื่อเพื่อนสื่อมวลชนและประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยที่จะมีตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเข้าเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ


 


อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโส ติงสื่อร่วมนั่งสภานิติฯ ผิดฝาผิดตัวและเกินหน้าที่


ด้านนางฟองสนาน จามรจันทร์ อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโสและนักจัดรายการชื่อดังของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งปัจจุบันถูกย้ายไปเป็นผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่าโดยหลักการแล้วไม่เห็นด้วยเป็นอย่างมากที่ผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นนักข่าว นักเขียนบทความหรือนักจัดรายการจะเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ เพราะสื่อเป็นกลางกับทุกฝ่ายรวมทั้งฝ่ายสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หากสื่อเข้ามาเป็นสมาชิกเสียเองก็จะกลายเป็นการฝักฝ่ายทันที ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสื่อจะเข้าไปตรวจสอบพวกเดียวกันอย่างเต็มที่


 


นางฟองสนาน กล่าวว่า หากสื่อต้องการตรวจสอบสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่จำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิกเลย แต่สามารถตรวจสอบได้ผ่านช่องทางของสื่อมวลชนที่ตัวเองสังกัดได้อยู่แล้ว จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างมากต่อวิชาชีพสื่อมวลชน


 


เข้าใจว่าตลอดเวลา5ปีที่ผ่านของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สื่อมวลชนอึดอัดมากในการปฏิบัติหน้าที่เมื่อถูกอำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงอย่างตนเองถูกยกเลิกรายการบันทึกสถานการณ์ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นรายการแรกๆ ของประเทศที่ถูกยกเลิก ดังนั้น การที่สื่อต้องการพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงไม่น่าจะเป็นจุดยืนที่ถูกต้องถือว่าผิดฝาผิดตัวและเกินหน้าที่ที่สื่อควรจะทำ


 


สถานการณ์เริ่มเข้ารูปเขารอยแล้ว สื่อมวลชนจำเป็นต้องรีบถอยออกมา โดยส่วนตัวรับได้หากจะมีตัวแทนในวิชาชีพสื่อมวลชนเข้าเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม เคารพในวุฒิภาวะของสื่อมวลชนแต่ละท่าน แต่ขอเตือนใจคือยิ่งอยู่ในช่วงวิกฤติเราต้องยิ่งยึดหลักวิชาชีพและหลักการสื่อสารมวลชนอย่างเคร่งครัด นางฟองสนาน กล่าว


 


นักวิชาการเสนอ สื่อต้องกล้าปฏิเสธ ไม่ร่วมนั่งสภานิติฯ   


รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ใช่สภาที่ประชาชนรับรองอยู่แล้ว การมีสื่อมวลชนเข้าไปร่วมอยู่ในสภาแต่งตั้งจึงไม่เหมาะสม และเชื่อว่าคงมีปัญหาในการทำงาน สื่อมวลชนคงลืมหน้าที่ขุดคุ้ยความจริง ไม่ว่ารัฐบาลชุดใด ยิ่งมาจากการรัฐประหาร ไม่ใช่มาจากประชาชน สื่อยิ่งต้องตรวจสอบให้มากขึ้น ส่วนตัวไม่ให้เห็นด้วยอยู่แล้วกับการมีตัวแทนสื่อเข้าไปนั่งในสภานิติบัญญัติ ดังนั้น สื่อต้องกล้าปฏิเสธ ถ้ามีคนเริ่มปฏิเสธ เชื่อว่าจะมีมากขึ้น


 


ครูหยุยชี้ข้อดี สื่อนั่งสภานิติฯ ตรวจสอบเชิงลึกได้


นายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นด้วยที่มีตัวแทนสื่อมวลชนร่วมเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพราะจะทำให้การทำงานของสื่อสามารถทำงานเสนอข้อมูลข่าวสารได้ทั้งเชิงลึกและกว้างได้ เท่าที่ที่ตนเองสัมผัสการทำงานของสื่อส่วนใหญ่จะเป็นเชิงกว้าง แต่เชิงลึกนั้นยังนำเสนอน้อยมาก เท่าที่ดูรายชื่อของตัวแทนสื่อที่ได้รับเสนอชื่อเข้ามาทำหน้าที่นี้ ถือว่าใช้ได้ ซึ่งถ้าตัวแทนสื่อทั้งหมดนี้สามารถเข้าไปทำงานในสภานิติฯได้ จะทำให้การตรวจสอบการทำงานของสภานิติฯ ทำได้อย่างเต็มที่ มีอะไรไม่ชอบมาพากลก็งัดกันในสภา ซึ่งถ้ายังไม่ได้รับความสนใจอีก ตัวแทนสื่อที่เข้าไปก็เอาออกมาแฉในวงนอกได้



นายวัลลภ กล่าวด้วยว่า ถ้ามีตัวแทนสื่ออยู่ในสภานิติบัญญัติฯ จะเป็นประโยชน์มากกว่าที่น้องๆ นักข่าวออกมาเคลื่อนไหว ตอนนี้ประเทศชาติต้องการความสมานฉันท์ หากยังมาดึงคนออกไปอีกก็จะทำให้งานต่างๆ ที่รออยู่ต้องช้าตามไปด้วย เพราะเราอย่าลืมว่าอยู่ของสภานิติฯ ชุดนี้น้อยเหลือเกิน



นายก ส.นักข่าวฯ ถามทำไมไม่ค้านตั้งแต่เข้าพบ คปค.


ด้านนายภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้ยินแต่ข่าวว่าจะมีการเคลื่อนไหวล่าชื่อของผู้สื่อข่าวให้ถอนตัวจากสภานิติบัญญัติ แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนดำเนินการ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่มีการต่อต้าน คัดค้าน จะทำให้เกิดความรอบคอบมากขึ้นเพราะได้ฟังหลายเสียง แต่อยากถามว่าทำไมไม่คัดค้านตั้งแต่เข้าพบ คปค.ครั้งแรกๆ ซึ่งไม่ได้เข้าไปพบแค่ 3 คนแต่ไปกันสิบกว่าคน


 


"ผมเป็นคนมีต้นทุนทางสังคม หากจะเข้าไปทำเสียหายเพื่อนรอบข้างคงไม่เอาไว้แต่คงไม่มีทางเปลี่ยนไปทำอะไรอย่างนั้นแน่นอน ผมคิดว่า หากเราคิดจะทำอะไร จะคิดให้สุด ที่มีการค้านก็ถือว่าดีแล้วหากไม่ค้านก็ไม่ใช่สื่อแต่ยืนยันว่าทั้งหมดนี้ผ่านการคิดร่วมกันมาแล้ว ตำแหน่งหน้าที่ที่ได้มาวันนี้ไม่ใช่เป็นลาภสักการะ แต่เป็นภาระที่หนักใจ เพราะเราไม่ได้เข้ามาปกป้องสื่อด้วยกันเท่านั้น แต่เข้าไปทำเรื่องรัฐธรรมนูญคิดว่านอกเหนือจากสื่อที่ทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงแล้วสื่อก็ต้องมีหน้าที่ร่วมปฏิบัติด้วย"


 


 


............................


เรียบเรียงจาก: http://www.bangkokbiznews.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net