Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 7 ต.ค.2549    เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี 6 ตุลาคม 2519 สมาพันธ์ประชาธิปไตยและองค์กรภาคีร่วมกันจัดมหกรรมตุลาประชาธิปไตย ตั้งแต่วันที่ 6-14 ตุลาคม โดยในวันนี้ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) มีการจัดเสวนาเรื่อง "พัฒนาการสังคมไทยจากวิกฤต 6 ..19 จนถึงวิกฤตกุมภาพันธ์ 2549 สังคมไทยก้าวหน้าหรือถอยหลัง' มีวิทยากรคือ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มธ. ศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ วิเคราะห์ถึงการเกิดรัฐประหารครั้งนี้ว่า รัฐบาลไทยรักไทยซึ่งเป็นกลุ่มทุนใหม่และมีความเข้มแข็งจากการออกแบบของรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้เข้ามาบริหารประเทศในแนวทางประชานิยม และเปิดเสรีการค้า การลงทุน เชื่อมโยงกับระบบโลกาภิวัตน์อย่างเต็มที่ ทำให้กระทบผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเก่าและเกิดความขัดแย้งอย่างหนัก ขณะเดียวกันการดำเนินนโยบายหลายอย่างของรัฐบาลก็ไม่โปร่งใส เกิดความผิดพลาด ทำให้เป็นจุดอ่อนที่สำคัญให้เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจ ซึ่งในครั้งนี้ก็มีการวางแผนมาอย่างดี โดยเริ่มต้นขับไล่มาตั้งแต่ต้นปี เหมือนกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการวางแผนมาอย่างดีเช่นเดียวกัน


 


อย่างไรก็ตาม ดร.พิชิต แสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการรัฐประหาร พร้อมทั้งระบุว่าพลังชนชั้นกลางที่เคยเป็นพลังประชาธิปไตยในอดีต ถึงวันนี้ได้กลายเป็นพลังเผด็จการไปแล้ว และแกนนำประชาธิปไตยทั้งหลายที่สนับสนุนการัฐประหารครั้งนี้ไม่ควรอ้างตัวเป็นนักประชาธิปไตยอีกต่อไป


 


"บทบาทของคนชั้นกลางที่จะเป็นผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้หมดลงแล้ว นับแต่นี้ไป ประชาชนในชนบท ชนชั้นล่าง จะเป็นผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแทน และเขาจะเป็นคนนำประชาธิปไตยกลับคืนมา" ดร.พิชิตกล่าว


 


ดร.พิชิต กล่าวสรุปถึงแนวทางที่ควรจะผลักดันในอนาคตว่า ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องชูธงชาติไทยสามผืน คือ ธงประชาธิปไตย ธงโลกาภิวัฒน์ และธงความเป็นธรรมทางสังคม ธงสามผืนนี้เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก เกื้อกูลสนับสนุนและเป็นเงื่อนไขให้แก่กัน เพราะไม่อาจมีประชาธิปไตยถ้าไม่มีโลกาภิวัฒน์ และไม่อาจมีโลกาภิวัฒน์ถ้าไม่มีประชาธิปไตย แต่ทั้งประชาธิปไตยและโลกาภิวัฒน์จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและก่อเป็นดอกผลแห่งการพัฒนาก้าวหน้าที่ยั่งยืนได้นั้นก็จะต้องสามารถสนองตอบความต้องการทางเศรษฐกิจ สังคม และจิตใจของประชาชนได้ สามารถแจกจ่ายประโยชน์ของประชาธิปไตยและโลกาภิวัฒน์ไปในหมู่ประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมได้


 


ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ วิเคราะห์ว่า ระบบราชการถือเป็นภาคส่วนหนึ่งที่ถูกสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงในช่วงรัฐบาลทักษิณ เพราะการเมืองไทยในยุคก่อนนั้นรัฐบาลกำหนดนโยบายบนฐานของระบบราชการ จนกระทั่งถึงสมัยของไทยรักไทย มีการริเริ่มนโยบายมากมายที่ไม่ได้มาจากระบบราชการ ราชาการแทบไม่มีบทบาท และรัฐบาลยังเข้าไปครอบงำ เปลี่ยนแปลงระบบเดิม ซึ่งน่าจะสร้างความไม่พอใจในระบบราชการได้มาก


 


"อาจกล่าวได้ด้วยซ้ำว่า การทำรัฐประหารครั้งนี้คือการตอบโต้การดำเนินนโยบายแบบนี้ของรัฐบาลทักษิณ ถ้าเรามองว่ากองทัพเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ เป็นภาคที่ติดอาวุธของระบบราชการ แล้วถามว่ารัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์จะก้าวหน้าไปกว่านี้ไหม จะมีการรุกเชิงนโยบายไหม ผมฟันธงได้ว่าไม่ คงจะกลับไปสู่การอิงระบบราชการเช่นเดิม"


 


เขายังกล่าวต่อไปในส่วนของพรรคการเมือง โดยชี้ว่าพรรคการเมืองค่อนข้างมีพัฒนาการ แต่การพัฒนาของพรรคการเมืองนั้นกลับไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย ส่วนใหญ่ไปเกี่ยวโยงกับกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มธุรกิจ เจ้าพ่อ โดยไม่เห็นความสำคัญของภาคประชาชน ทั้งยังไม่ค่อยมีบทบาทในเรื่องประชาธิปไตยด้วย ดังจะพบว่าพรรคการเมืองไม่เคยเป็นแกนนำในการต้านรัฐประหารเลยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน


 


ในส่วนของภาคประชาชน ตั้งแต่ 6 ตุลามาจนปัจจุบันมีการเติบโตค่อนข้างมาก นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาของกลุ่มต่างๆ ที่ต่อสู้ในปัญหาของตัวเองซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ ก่อนหน้า 14 ตุลานั้นประชาชนไม่กล้าสู้เพราะกลัวผู้ปกครอง  อย่างไรก็ตาม แม้ภาคประชาชนจะมีบทบาทมากขึ้น แต่ก็ยังไม่แข็งแกร่งพอในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีอำนาจต่อรองเข้าไปมีส่วนกำหนดนโยบายได้มากพอ เรายังไม่มีพรรคการเมืองของภาคประชาชน และยังเป็นไปได้ยาก


 


ดร.สุธาชัยยังกล่าวถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ด้วยว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาสถาบันกษัตริย์เป็นปัจจัยที่สำคัญและไม่อาจมองข้ามได้ เพราะเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมในทางการเมืองหลายครั้ง เช่น ปี 2523 ในการต่ออายุราชการของพล.อ.เปรม 1 ปี เป็นต้น


 


ท้ายที่สุด ดร.สุธาชัยสรุปว่า "ฐานประชาธิปไตยของไทยในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาดูเหมือนจะพัฒนา แต่ไม่พัฒนา ในเวลา 30 ปีเราพบว่าเรามีการปกครองแบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ถึง 12 ปี ที่เป็นอย่างนี้เพราะมีปัญหารากฐานทางความคิดอยู่ว่า ประชาชนไทยถูกปลูกฝังทางความคิดให้อยู่ในวัฒนธรรมไพร่ฟ้า คนไทยจำนวนมากยังคุ้นกับการพึ่งอำนาจเบื้องบน หรือคอยว่าเมื่อไรทหารจะปฏิวัติเสียที สังคมไทยไม่คุ้นกับการคิด หรือพึ่งพลังของตนเอง อีกทั้งประชาชนไทยโดยรวมยังตกอยู่ในมายาคติที่สำคัญมากคือการคิดว่าระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดีกว่าประชาธิปไตย"


 


ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวถึงพัฒนาการทางกฎหมายว่าหลังปี 2535 นั้น กฎหมายในประเทศไทยเริ่มมีพัฒนาการมากขึ้น จนกระทั่งได้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งต่างกับรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เพราะโดยปกติรัฐธรรมนูญฉบับถาวรของไทยจะเกิดจากการรัฐประหาร แล้วตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ฉบับปี 2540 นั้นมีกระบวนการจัดทำที่เป็นประชาธิปไตยและประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด รับประกันสิทธิเสรีภาพไว้มากที่สุด แม้ว่าจะยังมีปัญหามีช่องโหว่อยู่ก็ตาม โดยเฉพาะการทำให้นายกรัฐมีความเข้มแข็งมากเกินไป อย่างไรก็ดี การปรับดุลยภาพนี้ไม่ควรต้องถึงกับฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับทิ้ง


 


"สังคมไทยสูญเสียโอกาสมากๆ ในกรณี 19 กันยา ถ้าเราใช้ประสบการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองแบบสันติวิธีเหมือนตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 40 เราจะพบว่า ถ้าระบบมันเดินไป มันจะนำไปสู่การปฏิรูปอย่างไม่มีข้อกังขา" ดร.วรเจตน์ กล่าวและว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย หากอ้างความขัดแย้งในการทำรัฐประหาร เราก็คงสามารถทำรัฐประหารได้ทุกวัน


 


เขาระบุว่า อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา ประเทศไทยธรรมนูญชั่วคราว 3 ฉบับคือ หลังรัฐประหารในปี 2520  2534 และล่าสุด 2549 ซึ่งทั้งหมดมีรูปแบบและเนื้อหาที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงในการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร แม้ธรรมนูญชั่วคราวฉบับล่าสุดจะมีชื่อเรียกไม่เหมือนใครว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว และมีการรองรับสิทธิของประชาชนรวมถึงให้มีตุลาการรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังมีปัญหาสำคัญ เช่น ม.36 ที่กำหนดให้ประกาศ คำสั่งของ คปค.มีผลบังคับใช้ต่อไป และถือว่าชอบโดยรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปัญหาคือมีประกาศฉบับที่ 27 ที่ระบุว่าหากมีคำตัดสินให้ยุบพรรคการเมือง นักการเมืองพรรคนั้นจะถูกห้ามเล่นการเมือง 5 ปี ซึ่งไม่เคยมีเช่นนี้ปรากฏในการทำรัฐประหารครั้งก่อนๆ


 


"คำถามก็คือ กฎหมายเป็นเรื่องเหตุผลหรือเป็นเรื่องของอำนาจ กรณีพ.ร.ก.นิรโทษกรรมหลังเหตุการณ์พฤษภาคม สมัยพล.อ.สุจินดาเป็นตัวชี้วัดว่ากฎหมายเราพัฒนาไปแค่ไหน ตอนนั้นองค์กรยุติธรรมต่างออกมาแสตมป์ว่าพ.ร.ก.นี้ใช้ได้ เพียงเพราะว่าผู้ที่เขียนกฎหมายเป็นผู้อำนาจออกกฎหมายได้ในขณะนั้น ถ้าองค์กรที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าใช้ไม่ได้ ตามหลักเหตุผลที่ประทับอยู่ในใจของคนที่มีความเป็นมนุษย์ เชื่อไหมว่าต่อไปจะไม่เกิดรัฐประหารอีก" ดร.วรเจตน์กล่าว


 


เขายังกล่าวถึงประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินอดีตนายกฯ และรมต.ในรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยเตือนให้ระมัดระวังหลักความเป็นกลางของคนที่จะมาทำหน้าที่ตรวจสอบ เพราะควรต้องยึดหลักการและปฏิบัติให้เสมอหน้า ต้องทำการพิสูจน์กันไปตามกระบวนการ ไม่ใช่เลือกคนที่มีอคติมาแต่เดิม


 


ดร.วรเจตน์สรุปว่า "การทำรัฐประหารเป็นการไม่เคารพเจตจำนงของประชาชน มันควรต้องมาถึงจุดที่เขาไม่ต้องการผู้อนุบาลแล้ว เขาตัดสินใจเองได้ ไม่ว่ามันจะถูกหรือผิด มันอาจผิดได้ ถ้าเขารู้ว่าผิดคราวหน้าก็จะไม่เลือกอีก หากระบบมันยังคงอยู่มันจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ แต่เราก็ไม่เคยมีเวลามากพอที่จะได้เรียนรู้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net