Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ - เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 5 กันยายน 2549 ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกต กรุงเทพมหานคร มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสโครงการความร่วมมือเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (Indonesia - Malaysia - Thailand Growth Triangle : IMT - GT) โดยเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) และนายสมเกียรติ อนุราษฎร์ ประธานสภาธุรกิจชายแดนใต้ เข้าร่วมประชุมด้วย มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 40 คน


 


นายฟิรมัน ตำเบียน หัวหน้าคณะฝ่ายอินโดนีเซีย แจ้งที่ประชุมว่า ในการประชุมผู้นำ IMT - GT ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2548 ได้เห็นชอบร่วมกันที่จะให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน และจัดทำโรดแม็ป IMT - GT ระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2550 - 2555


 


นายสมเกียรติ รายงานความคืบหน้าของสภาธุรกิจ 3 ประเทศว่า ในการประชุมครั้งล่าสุด  มีมติจะเพิ่ม IMT - GT Plaza ความร่วมมือระหว่างสายการบินในพื้น IMT - GT โดยมี 4 สายการบินต้นทุนราคาต่ำ ได้แก่ แอร์เอเชียของไทย แอร์ลันส์ของมาเลเซีย เรียวแอร์ไลน์ และปาลางีแอร์ไลน์ของอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมรายชื่อและโปรโมตโรงแรมขนาด 3 ดาว ขึ้นมารองแผนการโปรโมตการท่องเที่ยว โดยปี 2551 จะกำหนดเป็นปีเยือนพื้นที่ IMT - GT หรือ Visit IMT - GT 2008


 


จากนั้น นายพันเต้ หัวหน้าคณะจัดทำโรดแม็ป IMT - GT นำเสนอร่างโรดแม็ป IMT - GT ฉบับที่ 1 โดยในโครงการหลักของโรดแม็ปดังกล่าว ประกอบด้วย กำหนดให้มีเขตฉนวนทางเศรษฐกิจ (Economic Corridor) 4 เส้นทาง ได้แก่ สงขลา - ปีนัง - เมดาน, ช่องแคบมะละกา, บันดา อาเจะห์ - เมดาน - ดูไม - ปาเลมบัง และมะละกา - เมดาน เพื่อเป็นตัวเร่งให้มีการเติบโตด้านการค้าการลงทุน สร้างโอกาสในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการ พัฒนาพื้นที่รอบๆ สะพานเศรษฐกิจ เป็นต้น


 


นายพันเต้ เสนออีกว่า ในโรดแม็ปยังได้เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและติดตามการดำเนินงาน (Coordinating and Monitoring Center : CMC) ขึ้นมาด้วย เพื่อเป็นกลไกหลักในการปฏิบัติงาน


 


นายปรเมธี วิมลศิริ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หัวหน้าคณะฝ่ายไทย เสนอว่า ในเส้นทางสงขลา - ปีนัง - เมดานนั้น ให้ต่อไปยังจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดพัทลุงด้วย


 


นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือถึงบทบาทของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ในการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่ายด้วย โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า จะให้เป็นผู้ประสานงานในการจัดตั้ง CMC ประสานงานกับองค์กรระหว่างประเทศ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมใน IMT - GT และให้คำปรึกษาทางด้านการแข่งขัน โดยคาดว่าจะสามารถตั้ง CMC ได้ในต้นปี 2550


 


ด้านตัวแทนธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย กล่าวต่อที่ประชุมว่า หากต้องการให้เข้ามาอยู่ในกองเลขานุการ IMT - GT ด้วย ทางตัวแทนธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียต้องพยายามหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็น เพราะไม่ต้องการให้เห็นว่าธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียเข้ามาครอบงำ


 


นายมิสรัน บาซีร หัวหน้าคณะฝ่ายมาเลเซีย ได้เสนอให้สอบถามไปยังองค์กรความช่วยเหลือทางวิชาการของประเทศเยอรมนี (German Technical Assistance : GTZ) ว่า จะเข้ามามีบทบาทอย่างไรใน IMT - GT ให้ชัดเจน ก่อนที่จะเข้ามาร่วมสังเกตการณ์การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและที่ประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งต่อไป ระหว่างวันที่ 12 - 14 กันยายน 2549 ที่รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว


 


ที่ประชุม ยังเห็นชอบให้กองเลขานุการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations :ASEAN) เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และระดับรัฐมนตรีครั้งเดียวกันนี้ ตามข้อเสนอของกองเลขานุการ IMT - GT ด้วย


 


นายสมเกียรติ ได้เสนอต่อที่ประชุมด้วยว่า เมื่อมีการตั้ง CMC แล้ว ให้มีการจัดประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสกับสภาธุรกิจปีละ 2 ครั้ง และให้มีการประชุมกลุ่มเทคนิคปฏิบัติการพร้อมกันด้วย เนื่องที่ผ่านมาฝ่ายสภาธุรกิจทั้ง 3 ประเทศ มีการประชุมกันบ่อยมาก เมื่อมีปัญหาจะต้องสอบถามภาครัฐ กลับต้องรอประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่อาวุโสก่อน นอกจากนี้ การประชุมกลุ่มเทคนิคปฏิบัติการต่างๆ ที่ไม่ตรงกัน ทำให้บางครั้งการลงมติของกลุ่มหนึ่ง ไปขัดกับมติของอีกกลุ่มหนึ่งด้วย


 


นายเบอร์นาดีโน่ เอ็ม เวก้า จูเนียร์ รองหัวหน้าคณะฝ่ายอินโดนีเซีย เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ทั้ง 3 ประเทศ IMT - GT ได้เชิญองค์กรระหว่างประเทศ 6 องค์กร ได้แก่ องค์กรช่วยเหลือทางวิชาการของประเทศเยอรมนี (German Technical Assistance : GTZ), ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งอิสลาม (Islamic Development Bank : IDB), AusAID: The Australian Government's overseas aid program ของออสเตรเลีย, สหภาพยุโรป (European Union: EU), SEDA ของประเทศแคนาดา และ USAID ของสหรัฐอเมริกา เข้ามามีส่วนร่วมใน IMT - GT โดย 3 องค์กรแรกตอบรับแล้วว่า ยินดีจะเข้าร่วม ส่วนที่เหลือคาดว่าในอนาคตจะตกลงเข้าร่วมด้วย


 


"เหตุที่เราติดต่อขอให้องค์กรเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมใน IMT - GT  เนื่องจากหลายองค์ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในความร่วมมือของกลุ่มประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย เข้าไปร่วมมือในกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจ บังคลาเทศ - อินเดีย - พม่า - ศรีลังกา - ไทย (BIMST - EC) หรือโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) หรือองค์กรช่วยเหลือทางวิชาการของประเทศเยอรมนี หรือ GTZ เข้าไปร่วมมือกับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก บรูไน - อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ฟิลิปปินส์ (The Brunei Darussalam Indonesia Malaysia the Philippines - East Asean Growth Area : BIMP - EAGA) เพราะฉะนั้นองค์กรเหล่านี้ จึงน่าจะเข้ามีส่วนร่วมใน IMT - GT เพราะอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน" นายเบอร์นาดีโน่ กล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net