Skip to main content
sharethis


โดย รัชนี รัตติกาล


 


 


เมื่อชาวไตยองฝั่งไทยเข้าไปสืบค้นหารากรอยของบรรพบุรุษที่เมืองยองในรัฐฉาน (shan state) ของพม่า เพื่อร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมไตยอง ซึ่งมีรากเหง้าไตยองมานับ 200ปี และหากคิดใคร่ครวญให้ดี นี่เสมือนการประกาศอิสรภาพให้กับมาตุภูมิของไตยองทั้งสองแผ่นดิน!!


 



 


รากรอยทางประวัติศาสตร์


ตลอดระยะเวลาของการสร้างบ้านแป๋งเมือง"หริภุญชัยนคร" ผืนแผ่นดินที่เต็มเปี่ยมซึ่งเป็นรากรอยทางประวัติศาสตร์ของผู้คนที่มีคนหลากหลายชาติพันธ์หลอมรวมกันมายาวนานนับพันปี แผ่นดินที่ผ่านร้อนหนาวผ่านวันเวลา ผ่านประสบการณ์และความทุกข์ยากลำเค็ญ ผืนแผ่นดินผ่านการต่อสู้ของผู้คนมานับครั้งไม่ถ้วน


จนมาถึง ณ วันนี้ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา รากรอยสมัยหนึ่งที่ได้สร้างรากฐานฐานะของคนสร้างแผ่นดิน เป็นช่วงหนึ่งที่มีสำคัญจนกลายมาเป็นลำพูนในปัจจุบันนี้ ยังมีเรื่องราวต่างๆที่จะต้องสืบค้นบอกเล่า เรียงร้อยประสานสานสายใย สายสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธ์ให้กับผืนแผ่นดินที่คอยโอบอุ้ม ความห่วงหาอาทร และความเจ็บปวดรวดร้าว...


 


สองศตวรรษเครือไตยอง นั้นเริ่มจาก พ.. 2348 เจ้าอุปราชธรรมลังกา(บุญมา) และเจ้าบุรีรัตน์ (คำฝั้น)ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในสมัยนั้น ยกกองทัพขึ้นไปทางหัวเมืองเหนือ ในเขตสิบสองปันนา ได้อพยพผู้คนจากเมืองยอง (Moung young) เมืองอื่นๆเข้ามาช่วยสร้างบ้านแป๋งเมืองในเขตเมืองเชียงใหม่และลำพูน"ไตยองหรือคนยอง" ก็คือกลุ่มคนที่เข้ามาช่วยสร้างบ้านแปงเมืองภายหลังที่ประบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทำศึกสงครามขับไล่พม่าออกไปจากแผ่นดินล้านนา


 


จากเมืองยอง (Moung young) จนกลายเป็นเวียงยอง และครอบรอบ 200 ปีในปี พ..2549นี้ ที่ไตยองหรือคนยองได้ถูกกะเกณฑ์เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นพลเมืองไทยและเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดของจังหวัดลำพูนในปัจจุบัน


 



 


สืบสานวัฒนธรรมเครือไตยอง 2 ศตวรรษ


โตยฮอยบ่าเก่า รากเหง้าไตยอง 200 ปี


ชมรมชาวยองจังหวัดลำพูนได้ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดลำพูน ซึ่งมีพระครูวิสิฐปัญญากรเจ้าคณะอำเภอเมือง (ในฐานะอดีตเชื้อเจ้าหลวงเมืองยอง) ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ได้ร่วมกันคิดค้นงานสืบสานวัฒนธรรมเครือไตยอง 2 ศตวรรษ ที่ใช้ชื่องานว่า "โตยฮอยบ่าเก่า รากเหง้าไตยอง200 ปี" ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 เมษายน 2549ที่ผ่านมา เพื่อที่จะให้คนไตยองได้ตระหนักและรู้คุณค่าของตนเองหาแนวทางในการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวต่างๆของเครือไตยอง รวมถึงรูปแบบและเนื้อหาของการจัดงานครบรอบ 200 ปี งานสืบสานวัฒนธรรมเครือไตยองทั้งสองแผ่นดินในครั้งนี้


 


จากการพูดคุยแลกเปลี่ยน ทุกส่วนเห็นพ้องต้องกัน ก็คือ ต้องมีการจัดงานสืบสานประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิต ของคนไตยอง ปลูกฝังสำนึกในความรักเผ่าพันธ์ของตนเอง รวมถึงได้ศึกษาเรียนรู้การปรับตัวของคนไตยองทั้งสองแผ่นดินและเพื่อที่จะได้จัดกระบวนการศึกษาเรียนรู้ ให้กับกลุ่มคนในสังคมได้เข้าใจอย่างต่อเรื่องการดำรงวิถีขนบธรรมเนียม รากเหง้าเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งนับวันจะถูกกลืนหายไปตามวันเวลา


 


ภาคเหนือของไทย มีกลุ่มคนและวัฒนธรรมที่หลากหลาย กลุ่มคนไตส่วนหนึ่งที่ได้อพยพมาจากเชียงตุง เมืองพยากค์ เมืองยอง เมืองสาด บางส่วนเดินทางมาจากสิบสองปันนา วัฒนธรรมภาษาพูดของภาคเหนือจึงมีความหลากหลาย ซึ่งนอกจากภายไตยวนหรือ (ไตโยนก) ที่สำเนียงไพเราะพริ้งเป็นภาษาหลักของภาคเหนือแล้ว ภาษาไตยองก็เป็นภาษาหนึ่งที่เป็นภาษาพูดอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะที่จังหวัดลำพูนที่ผู้คนส่วนมากต่างพูดภาษายอง


 


เวียงยอง จังหวัดลำพูน ยังนำเอาชื่อบ้านนามเมือง หมู่บ้านของตัวเองจากเมืองยอง เรียกว่าการ "เทครัว" จากเมืองยองหรือบางคนเรียกว่ายุค "เก็บผัก"ใส่สร้า เก็บข้าใส่เมือง" (ปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครองของพม่า) เช่นเมืองยอง บ้านตอง เมืองยู้ บ้านหลวย บ้านหลุก บ้านบาน บ้านหัวยาง บ้านแซม บ้านกอข่อย บ้านป่าสัก บ้านหองบัว บ้านฮ่องช้าง หมู่บ้านต่างๆเหล่านี้หลายหมู่บ้านมาอยู่ในจังหวัดลำพูน แตกหน่อออกแนวจนกลายเป็นเชื้อชาติสายยองในลำพูน ซึ่งล้วนมาจากแผ่นดินแม่จากเมืองยองในประเทศพม่าปัจจุบัน


 


"เฮาก็ภูมิใจ๋ที่เฮาเกิดมาเป็นคนยอง เมืองยองเมื่อก่อนนี้ตุ๊พระจากเมืองไทยไปแอ่วหาหมู่พี่น้องเมืองยอง พากันมารับ มาหาม มาแห่ เฮาเห็นเฮาก็เอ็นดูเขา" ท่านประครูวิสิฐปัญญากร บอกเล่าให้ฟัง ในฐานะผู้ที่เคยบุกเบิกการเดินทางเข้าไปเมืองยองเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว


"ความเป็นคนไตยอง" ที่ได้ร่วมสร้างแผ่นดินหริภุญชัย ซึ่งคนยองโดยทั่วไปยังการขาดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องราวของเมืองยองในพม่า ขาดรากฐานที่จะบอกกล่าวให้กับผู้คนโดยทั่วไป หรือแม้กลุ่มลูกหลานที่จะก้าวตามมาบางคนยังไม่เข้าใจตนเอง ผืนแผ่นดินนี้ที่ร่วมกันสร้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก" อาจารย์วิทย์ จันทร์เอี่ยม ประธานชมรมชาวยองจังหวัดลำพูน กล่าวด้วยน้ำเสียงเป็นห่วงใย


 



 


เมืองยองความสำคัญทางจิตวิญญาณ


เมืองยองอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน(shan state) ประเทศสหภาพพม่า(Mayanma)อยู่ห่างจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ขึ้นไปทางทิศเหนือ ประมาณ 170 กิโลเมตร ตลอดระยะเวลาของการเดินทาง จากอำเภอแม่สายใช้เวลาประมาณ 10-12 ชั่วโมงในฤดูแล้ง แต่ถ้าเป็นฤดูฝนต้องใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 วัน


จากทางการคมนาคมที่ลำบาก จึงดูเหมือนว่าระหว่างเมืองยองในพม่ากับเวียงยองนั้นห่างไกลกัน ตราบจนคณะสงฆ์คณะแรกที่ได้บุกร้างถางทางเดินทางเข้าไปคณะแรกเมื่อยิ่สิบปีที่ผ่านมาได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือไตยองจึงค่อยฟื้นสัมพันธ์กันกลับขึ้นมา


แต่การรับทราบข้อมูลข่าวสาร การรับรู้เรื่องราวของเมืองยองและความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ก็ยังไม่มีมากนัก จะมีบ้างก็อาศัยพระสงฆ์จากเมืองยองที่เดินทางเข้ามาศึกษาเล่าเรียนในเขตเมืองเชียงใหม่และลำพูน


อีกด้านหนึ่งพี่น้องคนยองที่เดินทางมาที่ อ.แม่สาย ที่ฝั่งท่าขี้เหล็ก ท่าล้อ ห้วยทรายขาว บ้านป่าสัก บ้านแม่รวกชุมชนชาวไตยองในฝั่งพม่า ที่พากันเข้ามาตั้งบ้านเรือนต่างต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับพี่น้องไตยอง


 


แต่เดิมเมืองยองมีเจ้าหลวงเมืองยองปกครองเช่นเดียวกับหัวเมืองเหนืออื่นๆโดยทั่วไป ในปี 2497 ทางการพม่าได้ยกเลิกระบบเจ้าฟ้าและพม่าได้เข้าปกครองเมือยองเหมือนกับเมืองอื่นๆในรัฐฉาน (พม่าได้เสียสัตย์ที่เป็นข้อตกลงในสัญญาที่ปางหลวง กับการปกครองตนเองของกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆหลังจากอังกฤษให้เอกราชกับพม่า)


 


"สภาพปัจจุบันเมืองยองและคนไตยองยังมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา มีการทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลัก การทอผ้า เกือบทุกหลังคาเรือนแต่ละบ้านจะมีการทอผ้าด้วยลวดลายของเมืองยอง หาปลา ปลูกผักในฤดูแล้ง ช่วยเหลือแบ่งปันยังเป็นวิถีที่มีให้เห็นกันอยู่โดยทั่วไป"พระสงฆ์ที่เดินทางเข้ามาเมืองไทย บอกเล่าสภาพเกี่ยวกับเมืองยองในพม่าให้รับรู้


 


พระจังวัดบ้านกอม ที่เดินทางมาศึกษาในเมืองไทยเล่าให้เราฟังว่า เมืองยองอาชีพการเกษตรกรรมเป็นหลัก ข้าวที่ปลูกก็เป็นข้าวพื้นเมือง ลำต้นข้าวจะใหญ่และสูงกว่าข้าวที่ปลูกในเมืองไทยสมัยนี้มาก ที่โน่นไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยา ใช้แต่ปุ๋ยคอก ยามแล้งก็เอาขี้วัวไปใส่นา หาโหลไม้ฟืน ทำรั้วล้อมที่นา


 


วัวควายเมืองยอง ยังมีมากมายมหาศาลแต่ละหลังคาเรือนต้องมีวัวล้อ (วัวเทียมเกวียน) อย่างน้อย 1 คู่ เมืองยองไม่ต้องมีคนมาคอยตามวัวหรือเลี้ยงวัว ชาวบ้านจะปล่อยไปตามป่าตามดอย ถึงเวลาอาทิตย์หนึ่ง หรือเดือนหนึ่ง ก็ไปตามดูกันครั้งหนึ่งบางครั้งวัวบางตัวก็ตาย ก็เจอแต่กระดูกก็มี เพราะว่าถูกเสือกัดกิน


 


วันศีลวันพระ 8 ค่ำ และ15 ค่ำ คนเมืองยองจะหยุดทำงานถือศีลเข้าวัดทุกคนถือว่าเป็นวันกรรมจะละเว้นบาป ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทุกคนจะถือศีล (เรียกว่าวันกรรมน้อย กรรมใหญ่) ทุกคนให้ความสำคัญมากการกิ๋นการทานเป็นเรื่องที่ใหญ่และมีความสำคัญ คนเมืองยองชอบทำบุญ เรื่องเกี่ยวกับวัด เรื่องพระสงฆ์องค์เจ้า เป็นสิ่งที่สำคัญ"


 


ความเชื่อและความศรัทธาของเมืองยอง นอกจากเรื่องของประเพณีทางศาสนาแล้ว ความศรัทธาและความเชื่อในเรื่องผี ผีบ้าน ผีบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นจารีตของชุมชนที่ทุกครอบครัวยังให้ความสำคัญต่อเนื่องอย่างเคร่งครัด


 


ที่สำคัญที่สุดของคนเมืองยองให้ความเคารพนับถือ พระธาตุจอมทอง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองยองประมาณ 8 กิโลเมตร และต้นไม้สลีคำ (ต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์) อยู่ทางทิศตะวันออกเมืองยองประมาณ 7 กิโลเมตร


 


สิ่งศักดิ์สิทธิ์สองอย่างนี้ที่คนเมืองเคารพบูชาเป็นอย่างมาก เปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางของจิตใจคนเมืองยองจากทั่วทุกสารทิศก็ว่าได้ สภาพบ้านเมืองโดยทังไปเมืองยังเป็นเมืองที่วิถีอดีตของคนยุคเก่ายังรุ่งเรือง บ้านเรือนที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก


 


"พระเณรบางรูปที่เดินทางเข้ามาเมืองไทย ต้องการที่มาศึกษาเล่าเรียนภาษาไทย สอบเปรียญได้ ก็กลับไปเมืองยองไปพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่นั้น แต่บางครั้งความรู้สึกดูเหมือนว่าลัทธิเอาอย่างการเลียนแบบจะซึมซับกันมาเป็นทอดๆ อย่างเช่น เมืองไทยก็อยากเลียนแบบฝรั่งหรือต่างชาติ คนไตยองอยากที่จะเลียนแบบเมืองไทย"พ่อหนานแก้ว จากบ้านป่าม่วงเมืองยองเล่าให้ฟัง


 


พ่อหนานแก้ว ยังเล่าให้ฟังอีกว่า เวลานี้บ้านเรือนในเมืองยองที่ทำด้วยไม้มุงหลังคาด้วยดินขอเหมือนเมื่อก่อนนี้จะเริ่มเปลี่ยนไปบ้างแล้ว วัดวาอารามที่อยู่ในเมืองยองหรือตามหมู่บ้านต่างๆ ก็เลียนแบบและก่อสร้างเหมือนเมืองไทยเกือบหมดแล้ว ของเดิมที่ยังเหลืออยู่มีไม่ค่อยมากไม่ค่อยมีมากนัก


 


"มันเหมือนดาบสองคม ที่บางครั้งคนเมืองยองเองก็ไม่รู้เท่าทัน ของเก่าๆหายไปพร้อมกับคนเฒ่าคนแก่ที่ค่อยๆ ตายไป" พ่อหนานแก้วพูดเหมือนรำพึงรำพัน...


 



 


พึ่งตนเองท่ามกลางการต่อสู้


พี่หนานชายหลวง แห่งบ้านกอมเมืองยอง ได้เล่าให้ฟังว่า เมืองยองเป็นแผ่นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ไม่แล้งเหมือนเมืองไทย แม่น้ำยองไม่เคยแห้งน้ำจะไหลอยู่ตลอดเวลา ความรักและความผูกพันธ์ของคนก็มีมาก ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน ต้องพึ่งพากันตลอดเวลา ไม่เหมือนเมืองไทยที่มีงบประมาณต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ


 


"ที่เมืองยอง ทำถนน สร้างสะพาน ขุดบ่อ ทำไร่ไถนา ต้องทำเองหมดทุกอย่าง ตั้งแต่เช้าจรดเย็นทุกคนต้องต้องช่วยกันทำงาน ภาระหน้าที่แบ่งกันในครอบครัว ในฤดูทำไรทำนาพระเณรในวัดต้องออกไปช่วยครอบครัว ช่วยญาติโยมทำไร่ทำนา มันทุกข์หนัก... ความทุกข์ที่พวกหมู่พี่น้องคนยองอยู่ร่วมกัน หมู่เฮาทนได้ ถึงอย่างไรพวกเราก็ช่วยเหลือกันอยู่แล้ว ที่มันทุกข์กว่าหลายร้อยหลายพันเท่านั้นคือ ความทุกข์ที่พวกม่าน (พม่า) มาข่มเหงและรังแกพวกเรา" พี่หนานชายหลวง เอ่ยออกมาเหมือนอยากย้ำเตือน


 


เมืองยองได้ฝ่ามรสุมจากการต่อสู้ดิ้นรนและถูกกลุ่มคนต่างๆ รุกรานมาโดยตลอด นับจากสงครามเมื่อครั้งปี พ.. 2348 กองทัพเรือเชียงใหม่ ที่นำโดยเจ้าอุปราชธรรมลังกา และเจ้าบุรีรัตน์คำฝั้นมีกำลังกว่า 10,000 คน ที่เป็นเหตุให้คนยองต้องละทิ้งแผ่นดินของตนเองมากลายเป็นคนไทยซึ่งหลีกหนีไม่ได้ที่สงครามต้องมีการรบราฆ่าฟันกัน...มีการสูญเสีย...มีการพลัดพราก...ก่อให้เกิดความทุกข์ยากลำเค็ญ


 


เป็นความทุกข์ทรมานต่างๆ ที่คนไตยองไม่ต้องการที่จะเห็นสิ่งเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย...


 


"เมืองยองเป็นเมืองชายขอบที่อยู่ระหว่างศูนย์กลางอำนาจของเมืองใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเมืองมัณฑะเลย์ของพม่า ไทยใหญ่อย่างเชียงตุง ตองกี อำนาจของจีนเชียงรุ่ง รวมถึงอำนาจของคนไทยในเมืองเชียงใหม่ การที่เมืองยองอยู่ท่ามกลางศูนย์อำนาจและอิทธิพลต่างๆเหล่านี้ได้ก็ถือว่าสุดยอดเหมือนกัน เพราะต้องต่อสู้ช่วงยิงกับกลุ่มต่างๆอย่างมากมาย เมืองยองคิดว่าต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก รวมถึงการรักษาพวกเดียวกันเองด้วย การรักษาวิถีของตนเองได้จนมาถึงขณะนี้เป็นสิ่งที่เราต้องศึกษาเรียนรู้ถึงการปรับตัวของคนไตยอง เข้าใจว่าก่อนหน้าที่จะต้องถูกกวาดมาที่ลำพูนเมืองยองก็ต้องต่อสู้ช่วงชิงกับอำนาจและอิทธิพลต่างๆมามากมายเช่นกัน" คุณกำธร ธิฉลาด นักวิชาการท้องถิ่นกล่าวให้ความสำคัญในวิถีของไตยอง


 


"ถ้าคิดในทางกลับกันถ้าเราไม่ถูกกวาดมาอยู่ที่ลำพูน เมืองยองเราอาจจะเข้มแข็งกว่านี้ก็เป็นได้เพราะเรามีกำลังคนที่เข้มแข็ง ลำพูนอาจะไม่เป็นอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ได้ ในเมืองผู้คนและวิถีส่วนหนึ่งถูกนำมาไว้ในที่แห่งหนึ่งแน่นอนว่าความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมนั้นๆต้องใช้เวลานานในการปรับตัวอย่างมาก ถ้าฟังจากที่หลายๆคนพูดกันเมืองยองน่าจะเป็นรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญสำหรับลูกหลานและชาติพันธุ์เครือไตยอง พูดง่ายๆก็คือเราถูกกวาดมาทั้งหมดทั้งเจ้าหลวง ข้าราษฎร มาเกือบหมด" จรูญ คำปันนา เอ่ยออกมา


 


จรูญ คำปันนา คือ หลานเจ้าน้อยเครื่อง พยัคฆสัก เชื้อเจ้าหลวงเมืองยองที่อพยพมาอยู่ลำพูนผู้สร้างตำนานการรักษาป่าชุมชนแห่งบ้านทุ่งยาว ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดลำพูน


 


 


รัฐชาติ : เส้นแบ่งความสัมพันธ์ไทยยอง...ไตยอง


เส้นพรมแดนระหว่างไทยพม่าเสมือนเป็นเส้นแบ่งความสัมพันธ์ของเมืองยองทั้งสองแห่ง


ลองฟังเสียงของคนไตยองที่เดินทางมาหางานทำในเมืองไทย บอกเล่าให้ฟัง...


 


"เฮาถูกต้องข้อกล่าวหา...ถูกจับกุมคุมขังว่าหลบหนีเข้าเมืองโดย เป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายบ้าง บางคนถูกเหยียบหยามถูกตราหน้าว่าเป็นพวกพม่า...ผู้หญิงถูกดูหมิ่นดูแคลนด้วยวาจาและสายตาที่หยามเหยียด เฮาจะทำอย่างไรมันคับอกคับใจเฮา สังคมน่าจะเข้าใจเฮามากกว่านี้ อยู่เมืองยองตึงวันนี้อยู่ลำบาก" คำเอ้ย พูดสาธยายด้วยน้ำตานองหน้า


 


"มันจำเป็นแต้ๆ ที่เฮามาเมืองไทย ยิ่งเป็นแม่หญิงลำบากกว่าผู้ชายมาก เพราะผู้หญิงจะไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเลย ไม่เหมือนคนจาย ที่เข้าวัดศึกษาธรรม บางคนคิดว่าอยู่เมืองยองสบาย มันสบายถ้าไม่มีใผมารังควาน อย่างม่าน(พม่า)มาข่มเหงรังแก อยู่บ้านไม่มีเงินสักบาทก็อยู่ได้..เราต้องเสียภาษีทุกเดือนให้พม่า...มันอยากจะให้เราไปไหนทำอะไรก็ต้องตามใจมัน...ผู้ชายต้องไปเป็นลูกหาบระเบิด...ขนเสบียงเดินนำหน้าทหารพม่า...เหยียบระเบิดตายไปก็มาก มันเกณฑ์คนไตยองทำถนน สร้างสะพานที่ไหนต่อที่ไหนๆเป็นเดือนเป็นปี กว่าจะได้กลับบ้านมาหาพ่อหาแม่...บางคนก็ตาย พ่อแม่ไม่มีโอกาสได้มาเห็นหน้ากันเลยก็มี...มีโอกาสได้มาอยู่เมืองไทยเหมือนได้เกิดใหม่...จะว่าเฮาไม่รักบ้านรักเมืองก็ไม่ใช่...เฮารักเมืองยองรักแผ่นดินยอง แต่ว่าเวลานี้เมืองยองเฮาต้องการที่จะให้มันสงบร่มเย็น...คนไตยองชอบทำบุญ แต่ไม่รู้ว่าเป็นเวรกรรมอะไรก็ไม่รู้" หนานแสง แห่งบ้านฮ่องจ้างที่เดินทางมาแม่สายเล่าให้ฟังเหมือนกับต้องการระบายความอึดอัดขัดข้องในจิตมานานแสนนาน...


 


 


ความขมขื่นของแผ่นดิน


"ในยามเมืองยองมีศึก(สงคราม) ระหว่างม่าน (พม่า) กับทหารไตใหญ่ ห้ามคนไปแอ่วหากัน เฮาหนีมาเอารถเครื่องขับมาแม่สายเกือบจะมาไม่ได้ พวกทหารพม่าห้ามคนเข้าคนออกเมืองยอง ชาวบ้านไปเอาวัวเอาควายห้ามเอาข้าวเอาของไป เพราะม่านกลัวว่าจะไปส่งเสบียงให้กับทหารไตใหญ่ พ่อหลวงบ้าน กำนันโดนจับเอาไปสอบสวนหาว่าเป็นสายลับให้กับทหารไตยใหญ่ ถ้ายังไม่จำเป็นก็ยังไม่ต้องไปเมืองยอง ถึงไปก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าถูกจับลำบากกันใหญ่ ใจ๋เฮาก็อยากให้พี่น้องไปแอ่วหากั๋น แต่เดี๋ยวนี้มันมีแต่ความทุกข์ มีแต่ความข่มขื่นเกิดขึ้นกับไตยอง ยามที่มีความสุขอยากฮื้อพี่น้องเฮาทางลำพูน ไปแอ่วหากั๋น ช่วยเหลือกั๋น คิดถึงหากั๋นทุกคน ฝากบอกพี่น้องที่อยู่ทางหละปูนด้วย"


 


บ้านวังใฝ่ อำแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นเหมือนบ้านของไตยองกับการอพยพเข้ามาในระยะหลังไม่เกิน 20 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลการเมืองภายในของพม่า ที่ยังไม่สามารถสร้างความสงบสุขและสร้างความสมานฉันท์ ความเป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้นกับกลุ่มคนในชาติได้ ยังส่งผลผลักดันให้คนไตยองค่อยเดินทางอพยพเข้ามาเมืองไทยอย่างไม่ขาดระยะ มีหมู่บ้านไตยองอีกหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านสันติสุข บ้านใหม่หมอกจ๋าม บ้านอรุโณทัย บ้านอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก คนไตยองได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยภายใต้ผืนแผ่นดินไทย กลายมาเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศก็มีเป็นจำนวนไม่น้อย


 


ยุคสมัยของคนเมืองยอง ล้วนผ่านพบกับวิกฤตยุคเข็ญอย่างแสนสาหัส ครั้งแล้วครั้งเล่า คราบน้ำตาคนเมืองยองกับรอยยิ้มของไตยองในลำพูน ภายใต้รากรอยความสัมพันธ์ ระหว่างความเหมือนและแตกต่าง สองศตวรรษเครือไตยอง คงจะมีความหมายและความสำคัญอย่างมากมาย


 


เพราะหากคิดใคร่ครวญให้ดี นี่เสมือนการประกาศอิสรภาพให้กับมาตุภูมิของไตยองทั้งสองแผ่นดิน!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net