Skip to main content
sharethis

หลังจาก "ดีลประวัติศาสตร์" การขายหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่นให้แก่เทมาเส็กจากสิงคโปร์เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 2549 ทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆ มากมายในสังคมไทยที่อาจก้าวไปไกลเกินกว่าที่หลายคนคาดคิด จนผู้คนต้องสาละวนอยู่กับการแก้ "ปม" ทางการเมืองกันอย่างโกลาหลไม่จบสิ้น


 


นอกจากหน่วยงานอย่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นำโดยคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ที่กลับเข้าไปตรวจสอบดีลนี้อีกครั้งจนกลายเป็นข่าวใหญ่น่าจับตามองในช่วงสัปดาห์ก่อนแล้ว


 


เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ก็ได้จัดการระดมความรู้แลกเปลี่ยนความคิดสืบเนื่องจากดีลนี้กันจะๆ อีกครั้งผ่านการสัมมนาวิชาการเรื่อง  "สู่ความชัดเจนในระเบียบธรรมาภิบาล : ประเด็นสืบเนื่องจากกรณีการขายหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น" โดยเน้นการตรวจสอบและนำเสนอในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ กฎระเบียบด้านภาษีอากรและการกำกับดูแลการลงทุนจากต่างประเทศ


 


งานวิจัยของ "เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ - สุณีพร ทวรรณกุล" ว่าด้วยการประกอบกิจการของบริษัทต่างชาติไทยประเทศไทย ช่วยให้เห็นสภาพที่เป็นมาและปัญหาหรือช่องว่างที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันได้อย่างดี


 


ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายการลงทุนของคนต่างด้าวแบบ "ปากว่าตาขยิบ" เพราะแม้จะมีกฎระเบียบตามกฎหมายที่เข้มงวดมากนับตั้งแต่ประกาศคณะปฏิวัติ (ปว.) 281 เป็นต้นมา แต่อีกด้านหนึ่งก็มีการเชิญชวนให้บริษัทต่างชาติถือหุ้นทางอ้อมผ่านนอมินีในตลาดหลักทรัพย์อย่างแพร่หลาย ทำให้คนต่างด้าวเข้ามาครอบครองธุรกิจจำนวนมาก รวมทั้งธุรกิจที่ไม่อนุญาตด้วยโดยผ่านนอมินี


 


ทั้งนี้ จากตัวเลขส่วนแบ่งตลาดของบริษัทต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ในปัจจุบัน สูงที่สุดอยู่ในธุรกิจเทคโนโลยีและการสื่อสาร 65.07% รองลงมาคือ ธุรกิจบริการ 40.86%  ธุรกิจการเกษตร 12.58%  สินค้าอุตสาหกรรม 7.81%  การเงินและประกัน4.95%  ก่อสร้าง 4.38%  พลังงาน  1.45%  โดยส่วนแบ่งตลาดของบริษัทต่างชาติในรายสาขาธุรกิจบริการมีสัดส่วนสูงสุดในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ 82%  ไฮเปอร์มาร์เก็ต 75%  โลจิสติกส์ 44%  บริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ 33%  ซุปเปอร์มาร์เก็ต 13.5%  ตัวแทนออกของ 13%  ร้านสะดวกซื้อ 10%  ธุรกิจบัญชี 4.5%   และธุรกิจกฎหมาย 4%


 


ผลจากการปากว่าตาขยิบนั้นทำให้เกิดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนแก่ผู้ลงทุนต่างชาติ และ "การไม่ยอมรับความจริง" ของรัฐบาลและสังคมไทยยังทำให้มาตรการควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวไม่บรรลุเป้าหมายทางสังคม ไม่เอื้อต่อการสร้างหลักธรรมาภิบาล


 


ดังนั้น ทางออกที่ดร.เดือนเด่นเสนอคือ 1.ควรมีการศึกษาจำนวนบริษัทต่างชาติที่ถือหุ้นทางอ้อมโดยนอมินีในทุกสาขาอุตสาหกรรมรวมทั้งภาคบริการ เพื่อประเมินสภาพความเป็นจริง 2.ควรมีการทบทวนรายชื่อธุรกิจต้องห้ามโดยคำนึงถึงความจำเป็นและสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจสังคม 3.กฎหมายที่ห้ามการประกอบธุรกิจต่างด้าวในรายสาขาควรมีข้อยกเว้นในกรณีที่ตลาดในประเทศมีการผูกขาด 4.ควรมีการบังคับใช้กฎหมายจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวในกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และสังคมไทยอย่างจริงจัง เช่น การถือครองที่ดิน การประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างเร่งด่วน


 


นอกจานี้ในงานวิจัยของดร.เดือนเด่น ยังนำเสนอประสบการณ์ในต่างประเทศเกี่ยวกับการควบคุมการลงทุนจากต่างชาติ โดยพบว่า 1.มีการจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติในบางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนโยบายอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม สังคม ความปลอดภัย สิ่งพิมพ์ และความมั่นคงของประเทศ แต่ไม่จำกัดแบบ "ครอบจักรวาล" 2. มีการกำหนดสัญชาติของนิติบุคคลรวมถึงการถือหุ้นทางอ้อม และอำนาจในการบริหารจัดการทั้งทางนิตินัย และทางพฤตินัย ไม่ให้หลบๆ ซ่อนๆ เหมือนในประเทศไทย 3.มีการใช้ดุลยพินิจในการอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาประกอบกิจการได้หากเป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วม


 


และสุดท้าย ต่างประเทศจะเน้นการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ในการควบคุมธุรกิจของคนต่างด้าว เช่น กฎหมายแข่งขันทางการค้า (ซึ่งไทยก็ไม่แต่ไม่ได้บังคับใช้) กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายผังเมือง ฯลฯ แทนการจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติซึ่งในความเป็นจริงทำได้ยาก


 


ขณะที่ "สฤณี อาชวานันทกุล" นำเสนองานวิจัยว่าด้วยการใช้ตัวแทนถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือเข้าใจง่ายๆ ว่าใช้นอมินีนั่นแหละ โดยนำเสนอว่า นอมินี เป็นสิ่งที่นิยมทำกันทั่วโลก มีหลายประเภท หลายวัตถุประสงค์ทั้งสุจริตและทุจริต ดังนั้น ต้องล้างภาพว่ามันเป็นสิ่งไม่ดีเสียก่อน


 


อย่างไรก็ตาม การใช้นิติบุคคลต่างประเทศเป็นนอมินีของผู้ถือหุ้นไทย นอกจากจะเป็นการอำพรางผู้ถือหุ้นที่แท้จริงแล้ว ยังเป็นการบิดเบือนโครงสร้างตลาดหุ้น รวมถึงยังเป็นโครงสร้างที่นิยมใช้ในการฟอกเงินได้ด้วย โดยที่กฎหมายที่จะดูแล ควบคุมนอมินีโดยตรงนั้นยังไม่มีในประเทศไทย ที่จะให้นอมินีเปิดเผยผู้ถือหุ้นที่แท้จริงโดยตรง มีแต่กฎทางอ้อม ทำให้มีการหลบเลี่ยงซิกแซก ตรวจสอบกันได้ยากอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และอาจมีบทบาทสำคัญในการปั่นหุ้นด้วย


 


งานวิจัยชิ้นนี้ได้นำเสนอให้มีกฎหมายเรื่องนอมินีโดยเฉพาะ โดยหลักการของกฎหมายต้องสร้างสมดุลระหว่างการเปิดโปง-ลงโทษนักลงทุนที่ทุจริต กับการปกป้องความลับของนักลงทุนที่สุจริต โดยไม่เพิ่มภาระหรือค่าใช้จ่ายในการรายงานมากเกินไป โดยที่นอมินีที่สุจริตไม่น่าจะคัดค้านกฎหมายนี้ เพราะให้เปิดเผยต่อ ก.ล.ต.เท่านั้น ไม่ใช่ต่อสาธารณชนทั่วไป


 


ขณะที่ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการบริษัท หลักทรัพย์ ภัทร จำกัด(มหาชน) เห็นว่า ในแวดวงธุรกิจถือว่ารัฐบาลเป็นผู้ส่งไฟเขียวให้มีนอมินีโดยการแนะนำมาตรการต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งทนายความต่างประเทศก็ได้แนะนำกับลูกค้าเป็นธรรมเนียมต่อๆ กันมาและยิ่งทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อย โดยที่ก่อนหน้านี้เรื่องนอมินีไม่เคยเป็นประเด็น ในความเป็นจริงนอมินีจำนวนมากไม่ต้องการครอบงำธุรกิจใดๆ เพราะทำธุรกิจไม่เป็น เพียงแต่มีความสามารถในการวิเคราะห์หุ้นว่าควรซื้อตัวไหน เมื่อไร ดังนั้นคงต้องมีการนิยามผู้ถือหุ้นแทนหรือนอมินีให้ชัดเจน อย่าเหมารวม และไม่ควรออกกฎหมายควบคุมนอมินีอย่างเข้มงวด


 


ส่วนแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายนั้น ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) เห็นว่า ประเทศไทยมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายแม้จะมีกฎหมายที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งมักมีช่องว่างระหว่างตัวหนังสือกับเจตนารมณ์ในกฎหมายด้วย ขณะเดียวกันหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนก็ขาดความร่วมมือหรือการเชื่อมโยงข้อมูล ทำให้ตามไม่ทันกับดีลในปัจจุบันที่ทวีความสลับซับซ้อน ที่สำคัญ หน่วยงานตรวจสอบเป็นหน่วยงานที่อยู่ใต้บังคับบัญชา ทำให้ขาดอำนาจในการตรวจสอบผู้มีอำนาจ ดังนั้นน่าจะมีหน่วยที่มีการคานอำนาจจากแหล่งอำนาจอื่นเช่น ฝ่ายนิติบัญญัติหรือตุลาการ อย่างไรก็ดี ที่มาขององค์กรอิสระเป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องแก้โจทย์ ส.ว.ที่ไม่มีความเป็นอิสระให้ได้ก่อน


 


ท้ายที่สุด ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณจากทีดีอาร์ไอ ฟันธงชัดๆ ว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องเลือกข้าง ... ไม่ใช่เลือกข้างทางการเมืองแต่เป็นการเลือกข้างในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของไทย เพราะที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าอาการ "ปากว่าตาขยิบ" หรือการพยายามจะอยู่กึ่งกลางระหว่างการจำกัดนักลงทุนต่างชาติอย่างเข้มงวดตามแนวชาตินิยมกับการเปิดกว้างอย่างเสรีต่อทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุดสำหรับสังคมไทย


 


"ถ้าจะให้กฎหมายบังคับใช้ได้อย่างที่ "ปากว่า" มันต้องรื้อระบบใหม่ทั้งหมด ตามประวัติศาสตร์ไทยมันจะเป็นแบบนี้ ทุกครั้งที่มีบางอย่างเกิดขึ้นก็จะจัดระบบให้ตาขยิบได้ โดยการขยายคำจำกัดความ เราควรเมื่อยตาได้แล้ว การประนีประนอมไม่ช่วยอะไร ต้องจัดการใหม่" ดร. อัมมารกล่าว


 


ในส่วนของข้อเสนอแนะนั้น เขากล่าวว่า หากแบ่งการควบคุมตามหลักของนักเศรษฐศาสตร์จะเห็นว่า การออกกฎหมายกำหนดสัดส่วนให้ต่างชาติลงทุนนั้นเป็นเรื่องว่าด้วยstock แต่ทุกครั้งที่เกิดปัญหาจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่อง flow หรือการไหลเข้ามาของเงิน การมุ่งควบคุมที่ stock นั้นตามไม่ทันกับเทคนิคทางธุรกิจที่หลบซ่อนอำพรางกันซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ได้ ดังนั้น ควรพิจารณาเป็นกรณีไปว่าการซื้อทรัพย์สินไทยของนักลงทุนต่างชาตินั้นเหมาะสมหรือไม่ แม้จะน่าเป็นห่วงวิจารณญาณของข้าราชการไทย แต่หากวางกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนก็น่าจะช่วยได้


 


"ถ้าเปลี่ยนแนวคิดการออกกฎหมายในเรื่องนี้จากการที่เน้น structure มาเป็นการพิจารณา conduct เราจะมีกฎหมายที่เริ่มบังคับใช้ได้จริง" ดร.อัมมารกล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net