Skip to main content
sharethis

ประชาไท—30 มิ.ย. 2549 ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ผลดีผลเสียของการยุบพรรคการเมืองใหญ่ในสายตาสาธารณชน โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมทั้งสิ้น 1,156 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 27-28 มิถุนายนที่ผ่านมา


 


ผลสำรวจพบประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำ โดยผลการสำรวจพบความเห็นดังนี้


 


กรณีข่าวมติอัยการสูงสุดชี้มูลคดีให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทยว่า จะมีผลดีอะไรบ้าง ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 31.4 ระบุเปิดโอกาสให้คนใหม่ๆ พรรคการเมืองใหม่เข้ามาทำงาน ร้อยละ 26.9 คิดว่านักการเมืองจะไม่กล้าทำผิดกฎหมายเสียเอง ร้อยละ 15.9 คิดว่าการทุจริตคอรัปชั่นจะลดลง ร้อยละ 12.3 คิดว่าปัญหาการเมืองจะหมดไป ร้อยละ 10.2 คิดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น ร้อยละ 5.4 คิดว่าปัญหาความรุนแรงภาคใต้จะลดลง ในขณะที่ผลเสียถ้ามีการยุบพรรคไทยรักไทย พบว่า ร้อยละ 37.0 เศรษฐกิจจะแย่ลง ร้อยละ 19.6 นโยบายรัฐบาลจะขาดความต่อเนื่อง ร้อยละ 15.8 สถานการณ์การเมืองจะวุ่นวาย ร้อยละ 12.8 คิดว่ายาเสพติดจะระบาดเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.3 คิดว่าปัญหาคนจนจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.1 ขาดคนเก่งบริหารประเทศ ร้อยละ 6.6 เสียเวลาและงบประมาณเลือกตั้งใหม่ และร้อยละ 4.7 คิดว่าต่างชาติจะไม่เชื่อมั่นต่อประเทศไทย


 


และเมื่อสอบถามถึงผลดีผลเสียจะเกิดขึ้นถ้ายุบพรรคไทยรักไทย พบว่า ร้อยละ 53.2 คิดว่าผลเสียจะมากกว่า ร้อยละ 22.6 คิดว่า ผลดีจะมากกว่า และที่เหลือร้อยละ 24.2 ไม่มีความเห็น


 


เมื่อสอบถามถึงกรณีข่าวมติอัยการสูงสุดชี้มูลคดีให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะมีผลดีอะไรบ้าง พบว่า ร้อยละ 35.0 คิดว่า สถานการณ์สงบลง ร้อยละ 31.0 คิดว่าจะเกิดการพัฒนาบุคลากรทางการเมืองที่ดีขึ้น ร้อยละ 16.4 คิดว่าจะไม่มีการก่อกวนทางการเมือง ร้อยละ 11.9 คิดว่าพรรคไทยรักไทยจะหมดคู่แข่ง ร้อยละ 6.2 คิดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น เป็นต้น ในขณะที่ผลเสียถ้ายุบพรรคประชาธิปัตย์ พบว่า ร้อยละ 35.0 คิดว่าจะขาดฝ่ายค้านที่ดี ขาดการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่เข้มข้น ร้อยละ 13.2 คิดว่าการเมืองจะไม่มีเสถียรภาพ ร้อยละ 12.6 คิดว่าสถานการณ์การเมืองจะวุ่นวาย ร้อยละ 10.5 คิดว่าไม่มีพรรคใหญ่ให้ประชาชนเลือก ร้อยละ 9.7 ปัญหาภาคใต้จะรุนแรงมากขึ้น ร้อยละ 9.2 คิดว่าปัญหาคอรัปชั่นจะสูงขึ้น ร้อยละ 8.1 คิดว่าสังคมจะแตกแยกและร้อยละ 8.1


เช่นกันคิดว่าคะแนนโนโหวตจะสูงขึ้น


 


เมื่อสอบถามถึงผลดีผลเสียถ้ายุบพรรคประชาธิปัตย์ พบว่า ร้อยละ 35.5 จะเกิดผลเสียมากกว่า ร้อยละ 27.0 คิดว่าจะเกิดผลดีมากกว่า และร้อยละ 37.5 ไม่มีความเห็น


 


ดร.นพดล ชี้ถึง ประเด็นที่น่าพิจารณาว่า เมื่อถามถึงผลดีถ้ามีการยุบทั้งไทยรักไทยและประชาธิปัตย์ พบว่า ร้อยละ 58.4 คิดว่าจะเกิดพรรคการเมืองใหม่ๆ ขึ้น ร้อยละ 29.8 คิดว่านักการเมืองจะไม่กล้าทำผิดกฎหมายเสียเอง ร้อยละ12.6 คิดว่าคุณธรรมจริยธรรมของนักการเมืองจะสูงขึ้น ร้อยละ 8.6 คิดว่าจะทำให้การเมืองมีความชัดเจนขึ้น ร้อยละ 6.3 คิดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น ร้อยละ 5.0 คิดว่าปัญหาคอรัปชั่นจะลดลง ตามลำดับ


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงผลเสียถ้ายุบทั้งสองพรรค พบว่า ร้อยละ 27.0 คิดว่าสังคมจะวุ่นวายแตกแยก ร้อยละ 25.2 คิดว่า เศรษฐกิจจะหยุดชะงัก ร้อยละ 18.4 คิดว่าคะแนนโนโหวตไม่เลือกใครจะสูงขึ้น ร้อยละ 15.1 นโยบายรัฐบาลจะขาดความต่อเนื่อง ร้อยละ 12.4 คิดว่าจะเสียเวลาและงบประมาณ ร้อยละ 8.2 คิดว่าการเมืองจะไม่มีเสถียรภาพ ร้อยละ 3.9 พรรคการเมืองใหญ่จะหายไป และร้อยละ 6.2 ปัญหาอื่นๆจะตามมาเช่น ยาเสพติด ความยากจน กลุ่มผู้มีอิทธิพลและปัญหาชายแดนภาคใต้


 


เมื่อสอบถามถึงผลดีผลเสียถ้ายุบทั้งสองพรรค พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.3 คิดว่าผลเสียจะมากกว่า ร้อยละ 14.9 คิดว่าผลดีมากกว่า และที่เหลือร้อยละ 27.8 ไม่มีความเห็น


 


นอกจากนี้ เมื่อถามว่าใครมีความเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป พบว่า ร้อยละ 41.0 ระบุเป็น พ.ต.


ท.ทักษิณ ชินวัตร ร้อยละ 23.5 ระบุเป็น ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ร้อยละ 17.3 ระบุเป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ร้อยละ 15.2 ระบุเป็นนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ร้อยละ 13.1 ระบุเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 4.9 ระบุนายบรรหาร ศิลปอาชา ร้อยละ 4.4 ระบุนายชวน หลีกภัย ร้อยละ 2.9 ระบุนายศุภชัย พานิชภักดิ์ ร้อยละ 5.3 ระบุอื่นๆ เช่น นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นต้น


 


ซึ่งหากไม่นับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พบข้อมูลที่น่าพิจารณาคือ ร้อยละ 38.4 ระบุว่าเป็น ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ร้อยละ 32.9 ระบุเป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ร้อยละ 25.3 ระบุเป็น นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ร้อยละ 19.5 ระบุเป็นนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ร้อยละ15.4 ระบุเป็นนายศุภชัย พานิชภักดิ์ ตามลำดับ


 


ทั้งนี้ ดร.นพดล วิเคราะห์สรุปเกี่ยวกับการยุบพรรคว่า "ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า สาธารณชนที่ถูกศึกษาหวั่นเกรงความวุ่นวายแตกแยกทางสังคมที่อาจเกิดขึ้นตามมาหลังจากการยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ไปพร้อมๆ กัน เพราะที่ผ่านมาสังคมการเมืองได้แบ่งประชาชนออกเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างชัดเจน ประชาชนที่สนับสนุนแต่ละฝ่ายต่างคาดหวังและมีอุดมการณ์ที่แรงกล้าคนละขั้ว การยุบพรรคการเมืองที่ประชาชนแต่ละกลุ่มให้ความหวังไว้อาจไม่ใช่ทางออกของวิกฤตการณ์ทางการเมืองขณะนี้" ดร.นพดล กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net