Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 29 มิ.ย. 49     นายอรรถพล ใหญ่สว่าง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดดำเนินการตามความในมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า คณะทำงานร่วมกันร่างคำร้องยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พฤติการณ์ ข้อเท็จจริงที่ทั้ง 3 พรรค การกระทำฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 66 (2) และ (3) ตามสำนวนชี้มูลความผิดของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ได้รับรายงานสอบสวนข้อเท็จจริงจากคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง


 


ส่วนคำร้องพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์อยู่ระหว่างร่างคำร้อง เชื่อว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเสนอคำร้องยุบพรรคการเมืองทั้ง 5 พรรคต่อนายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด พิจารณาและตรวจสอบได้ภายในวันศุกร์ที่ 30 มิ.ย. และคาดว่าอัยการจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างช้าภายในเช้าวันจันทร์ที่ 3 ก.ค.นี้


 


คำร้องระบุพฤติการณ์ผู้บริหารพรรคไทยรักไทยเชื่อมโยงกับการกระทำของพรรค ตามสำนวนของคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องว่าจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย. แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ที่สำนวนชี้มูลความผิดของนายทะเบียนระบุมา 6 ข้อนั้น อัยการได้เห็นว่าบางข้อมูลความผิดนั้นไม่ได้เข้าตามลักษณะความผิดมาตรา 66 พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง


 


เช่น ที่ชี้มูลความผิดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสนอใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 ขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ดังนั้น อัยการจึงมีความเห็นให้ตัดมูลความผิดดังกล่าวทิ้ง มั่นใจว่า หากยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว การวินิจฉัยก็จะทำได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว เพราะอัยการบรรยายพฤติการณ์ ข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน ประกอบกับเรื่องมีความสำคัญต่อบ้านเมืองและการปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญคงจะไม่ทำให้เกิดความล่าช้า


 


วันเดียวกัน นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ทรท.) แถลงข่าวสถานการณ์การเมืองโดยใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง ว่า ในฐานะที่เคยต่อสู้กับการเมืองตั้งแต่นอกสภาจนมาเป็นนักการเมืองถึง 20 ปี เห็นว่าขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติการเมืองอย่างหนักหน่วงรุนแรงมาก เป็นวิกฤติของระบอบประชาธิปไตย


 


เรื่องใหญ่ที่สุดคือการเลือกข้างระหว่างจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็น จนมาถึงการยุบพรรคการเมือง รวมถึงข้อเสนอให้ล้มกระดานแล้วเริ่มกันใหม่ เมื่อนำเหตุการณ์ต่าง ๆ มาวิเคราะห์ เห็นว่าข้อเสนอเหล่านี้นำไปสู่การทำให้ระบอบประชาธิปไตยหยุดชะงักถอยหลัง และมีปัญหาตามมามากจนทำให้การเมืองไทยต้องเริ่มจากศูนย์แล้วนับหนึ่งใหม่


 


"ขณะนี้สังคมกำลังจะมาถึงทางเลือก 2 ทางแล้วคือ หนึ่งเลือกระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีรัฐธรรมนูญ รัฐสภา สองสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติที่จะนำไปสู่การมีคณะบุคคลเข้ามีอำนาจตัดสินความเป็นไปของประเทศโดยไม่ยึดโยงกับรัฐสภา ไม่มีกลไกใดเกี่ยวโยงกับประชาชนและประชาชนควบคุมไม่ได้


 


"ข้อเสนอนี้ไม่แน่ใจว่าจะมีคนยอมรับมากน้อยแค่ไหน เชื่อได้ว่าจะมีคนโจมตีมากหรือไม่เห็นด้วยในวันพรุ่งนี้หรือต่อ ๆ ไป แต่ผมมั่นใจว่าใน 6 เดือนข้างหน้า หรือ 1 ปีจากนี้ไป ต้องมาพูดกันในเรื่องนี้ ผมไม่ได้พูดเพื่อปกป้องบุคคลหรือพรรคการเมือง แต่ผมมั่นใจว่าในอนาคตอีกไม่นานสังคมไทยจะต้องมาพูดกันถึงปัญหานี้ ที่ออกมาพูดต้องการบอกสังคมไทยว่าขณะนี้มีวิกฤติใหญ่แล้ว และเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายน่าจะต้องพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ด้วยเหตุด้วยผล โดยมีหลักประชาธิปไตยเป็นหลักยึดหักล้างความคิดที่ว่าขอให้ได้ผลดี ๆ คนดี ๆ มา ระบอบจะเป็นอย่างไรก็ตาม ใช้ระบอบอะไรก็ได้ ประชาธิปไตยหยุดใช้ชั่วคราวก็ได้ เดี๋ยวก็ตั้งต้นกันใหม่" รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net