Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

From: "treewit"
To: "จานพิด"
askpitch@yahoo.com
Subject: ถามคำถามในคอลัมน์อยากคอบครับ
Date: Sun, 16 Apr 2006 06:07:59 +0000

 


ถามครับ -
หลังจากเหตุการณ์ที่อ.ไชยันต์ฉีกบัตรเลือกตั้ง ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายผ่านบรรดากระทู้ลูกหาบตามบอร์ดสาธารณะต่างๆประเด็นหนึ่งที่อ.ไชยันต์ถูกวิพากษ์อย่างหนักก็คือ เรื่องทรงผมที่แน๊วแนวของท่าน ในฐานะที่ อ.พิชญ์ เป็นอาจารย์คนหนึ่งที่มีทรงผมแตกต่างจากอ.ไชยยันต์เป็นอย่างมาก


อยากตอบ: ผมขอประเดิม "อยากตอบ forever" ด้วยคำถามนี้แล้วกันนะครับ เพราะว่าอาจารย์ไชยันต์ท่านเคยเอาผมไปทำมาหากินในอะเดย์วีคลี่อยู่หลายตอน (ไม่รวมที่เอา "มนุษย์ที่จัดประเภทมิได้" อย่างป๋าตู่ของผมไปหากินในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์จนบรรณาธิการเขาหลุดออกจากตำแหน่ง … เกี่ยวกันไหมนั่น ? )


เรื่องทรงผมแน๊วแนวของอาจารย์ไชยันต์เนี่ยเขามีการถามตอบกับเจ้าตัวแล้วในเว็บไซด์ผู้จัดการเมื่อหลายวันก่อนครับ คนสัมภาษณ์ก็มิใช่ใครที่ไหน เพราะเขาคือคุณตั๊ม อดีตนักข่าวของอะเดย์วีคลี่นั่นเอง ท่านที่สนใจอาจจะไปตามหาอ่านได้จากลิ๊งค์ต่อไปนี้ครับ: http://www.manager.co.th/daily/ViewNews.aspx?NewsID=9490000045515


ส่วนจะเชื่อคำตอบของอาจารย์ไชยันต์แค่ไหนก็แล้วแต่วิจารณญานของผู้อ่านแล้วกันนะครับ (มิใช่ในความหมายที่ว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่ควรจะถามว่าจะเชื่ออย่างไร หรืออาจารย์เขาต้องการบอกกับเราว่าอะไร ไอ้คำอธิบายแค่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่ค่อยได้ทำให้เราเรียนรู้อะไรเท่าไหร่ แต่ดูเหมือนว่าสำคัญในสังคม SMS)


สำหรับผมเองนั้นเรื่องทรงผมแน๊วแนว และ ย๊าวยาว ของอาจารย์ไชยันต์นั้นมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า ระหว่างฉีกบัตรกับตัดผมเนี่ย อาจารย์ไชยันต์คิดว่าอะไรทำได้ยากกว่ากัน และมันจะเกี่ยวกับเรื่องของการเป็นคนดีและการเป็นพลเมืองดีที่อาจารย์ไชยันต์ตั้งคำถามท้าทายสังคมเอาไว้ไหมหนอ (ในความหมายที่ว่า คนดีนั่นหน่ะตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ แต่พลเมืองดีนั้นจะดีได้ต้องอยู่ในรัฐที่ดีด้วย … หุหุ มิใช่บอกว่าพลเมืองดีคือพลเมืองที่เชื่อฟังรัฐ … อันนั้นเรียกว่าพลเมืองเชื่องมากกว่าพลเมืองดี)


กลับที่คำถามของคุณดีกว่า … เรื่อง "ทรงผมแน๊วแนว" ของอาจารย์ไชยันต์เนี่ยถือว่าเป็นเรื่องลึกลับและท้าทายภูมิปัญญาทางรัฐศาสตร์อยู่มิใช่น้อย ด้วยว่าเป็นคำถามที่ผมได้ยินคนสงสัยมากกว่าจุดยืนทางการเมืองของอาจารย์ไชยันต์เสียอีก คือแบบว่าตั้งแต่รู้จักกันมากับอาจารย์ไชยันต์ (หรือ "ไชยันต์ฉีกบัตร" ตามที่ขนานนามกันในสื่อมวล "ซน") ผมก็เห็นมีแต่คนถามผมว่าอาจารย์ไชยันต์ทำไมไว้ผมยาว


คำถามประเภทว่าแกทำวิทยานิพนธ์เรื่องอะไร หรืองานเขียนของอาจารย์ไชยันต์นั้นได้รับอิทธิพลจากนักคิดสำนักไหน คำถามแนวนี้จะน้อยมาก


หรือ "การต้อนรับ" จากบรรดาสมาชิกเวบบอร์ดซาดิสม์ทั้งหลายที่ออกมาให้ความเห็นอันชาญฉลาดตลอดเวลา ในทุกครั้งที่มีรูปของผมหรือรูปของอาจารย์ไชยันต์ขึ้นเว็บ พร้อมทั้งข้อความประมาณว่า "โห หน้าตาแบบนี้เป็นอาจารย์ได้อย่างไร"


จะว่าไปแล้วผมเองก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมอาจารย์ไชยันต์ต้องไว้ผมยาว เพราะตัวผมเองก็ไม่เคยสงสัยกับเขาสักที เพราะว่าตั้งแต่เจอแกครั้งแรก ก็เห็นไว้ผมยาวมาโดยตลอด (จำได้ว่าตอนที่คุณแม่ของอาจารย์ไชยันต์เสีย อาจารย์ไชยันต์ตัดผมสั้น แต่เป็นการตัดผมสั้นเพื่อรอให้ผมยาวขึ้นมาใหม่ คือเป็นทรงที่เตรียมไว้ให้ผมยาวในอนาคต แต่จะสลับซับซ้อนกว่านี้ยังไงก็สุดปัญญาคนผมน้อยอย่างผมจะเข้าใจและตอบได้ครับ)


หนักเข้าผมเองก็กลุ้มใจเหมือนกัน ก็เลยโกนหัวมันซะ เพื่อเป็นการหลบหนีคำถามโลกแตก และเป็นการสร้างความหนักใจให้กับอาจารย์ไชยันต์เข้าให้บ้าง ด้วยเชื่อว่าคงต้องมีคนแอบถามอาจารย์ไชยันต์เหมือนกันว่า เฮ้ยทำไมไอ้พิชญ์มันไปโกนหัวมา


… หุหุ มันต้องอย่างนี้ ต้องม๊อบชนม๊อบ เอ็งยาว ข้าต้องสั้น เอ็งขาว ข้าต้องดำ เอ็งสูง ข้าต้องเตี้ย … ประมาณนี้แหละครับ


บาปกรรมในการหนีปัญหาโลกแตกข้อนี้ก็เลยทำให้ผมของผมไม่ขึ้น เลยเป็นคนหัวล้านถาวรไปซะเช่นนั้น คือคำตอบก็ยังไม่ได้ แล้วยังเสียของรักไปเสียอีก … เฮ้อ (ดังนั้นใครไปลือตามเว็บบอร์ดว่าผมหัวล้านเพราะผ้าอ้อมกัดเนี่ย ไม่จริงนะครับ … น้อยใจแย่)


ทีนี้ถามว่าทรงผมกับการเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์เนี่ยมันเกี่ยวกันไหม ? โห เจอคำถามแน๊วแนวแบบนี้ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ยิ่งถ้าไปเจอคำถามแบบนี้ตอนสมัครเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์ผมคงสอบตกแน่ๆ เพราะจนถึงทุกวันนี้ผมก็ยังไม่คิดว่าผมเป็นอาจารย์ทางรัฐศาสตร์อะไรกับเขา


จะพูดให้มันเก๋กู๊ด เพื่อพร้อมเข้าสู่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การประกันคุณภาพการศึกษา และการปฏิรูปการศึกษา คนอย่างผมก็เป็นได้แค่ "พนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการเป็นพลเมือง" น่าจะดีกว่า เรียกตัวเองว่าอาจารย์รัฐศาสตร์ นักปราชญ์ราชบัณฑิตอะไรเนี่ยแหละครับ


อย่างไรก็ดีก็จะขอลองตอบว่า ทรงผมกับการเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์คงน่าจะเกี่ยวกันอยู่บ้าง ตรงที่ว่าอย่าไป "คิดมาก" กับทรงผมของอาจารย์เท่ากับ "การคิดมากกับอาการคิดมาก" ของเราเองนั่นแหละครับ


การเมืองเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตร่วมกัน ดังนั้นส่วนหนึ่งเราคงต้องพยายามเข้าใจว่าทำไมอาจารย์ไชยันต์เขาไว้ผมยาว แต่ในขณะเดียวกันอีกส่วนหนึ่งเราคงต้องคิดด้วยว่า … เอ … ทำไมเรารู้สึกว่าอาจารย์เขา "แตกต่างไปจากเรา" สิ่งนั้นมันมีนัยยะสำคัญอะไรขึ้นมา ทำไมเราต้องไปสนใจด้วยว่าอาจารย์เขาไว้ผมยาวหรือไม่ ทำไมความแตกต่างในข้อนี้ถึงมีนัยยะสำคัญมากกว่าเรื่องอื่นๆ 


ในประการถัดมา การสนใจว่าเราคิดอย่างไรกับอาจารย์ไชยันต์และเห็นว่าอาจารย์แตกต่างจากเราจริงไหม ก็ยังไม่ได้ตอบคำถามที่อยากรู้กันนักว่าทำไมอาจารย์ไชยันต์ถึงไว้ผมยาว


ลองพิจารณาคำตอบของอาจารย์ไชยันต์จากคำถามของตั้มสักเล็กน้อย …


"ขอถามเรื่องส่วนตัวบ้าง ทำไมอาจารย์ต้องไว้ผมยาวด้วย


เพราะผมผมมันเส้นหนา แข็ง แล้วตอนเด็กๆ นี่ก็ไม่ได้หวีผมเป็นเรื่องเป็นราว แต่หัวผมนี่ไม่มีทรงสักกะทรง พอเรียนปริญญาตรีสามารถไว้ผมยาวได้ ผมก็ไว้แล้วรู้สึกว่ามันช่วยแก้ปัญหาผมชี้ ผมตั้งได้ และผมรู้สึกว่าไม่ต้องไปยุ่งกับมันมาก เพราะผมเองก็ยังไม่รู้เลยว่าทรงไหนถึงจะเหมาะกับตัวเอง


ไม่โกนล่ะครับ
โห โกนหัวนี่มันร้อนนะคุณ
เกรียนๆ ก็ได้


อันนี้ก็มีประเด็นที่ว่าสมัยก่อนผมเล่นดนตรี ถ้าตัดผมเกรียนเลย มันก็… อีกอย่างผมไม่ได้มีบุคลิกภาพแบบเฮี้ยบ เคร่งครัด คือผมเกรียนบางทีมันก็นำพาไปสู่บุคลิกอะไรบางอย่าง"


ประเด็นที่น่าสนใจจากการตีความของผมก็คือ การที่อาจารย์ไชยันต์กล่าวว่า การไว้ผมยาวช่วยแก้ปัญหาผมชี้ ผมตั้ง รวมไปถึงการไม่โกนเพราะร้อน รวมถึงเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องง่ายๆ พื้นๆ ที่เรามักมองข้ามทั้งที่เป็นเรื่องที่เกิดจากการที่เราเรียนรู้จากสิ่งที่เรากระทำอยู่ หรือจากการใช้ชีวิต (practical wisdom)


ในแง่นี้การเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์หรือสอนรัฐศาสตร์ไม่จำเป็นต้องสอนคนให้เป็นผู้ปกครองเพื่อปกครองคนอื่น แต่เราอาจสอนให้คนปกครองตนเอง ให้เป็นพลเมืองที่มีความสุขในการอยู่ร่วมกับคนอื่น มากกว่าเป็นขี้ข้าหรือทาสที่เชื่อฟังโดยไม่มีความเข้าใจการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ชีวิตที่มีความสุข และชีวิตที่ดี (virtue) ด้วยว่าการใช้ชีวิตที่ดีนั้นเกี่ยวพันกับคนอื่น ดังนั้นการมีชีวิตที่ดีจึงมิใช่กิจกรรมของคนๆเดียว แต่เป็นกิจกรรมที่ผูกกับคนอื่นด้วย และเป็นกิจกรรมที่ผูกกับสังคมอีกต่างหาก


การสอนรัฐศาสตร์จึงมิใช่การ "พร่ำสอน" แต่เรา "ปฏิบัติการทางรัฐศาสตร์" ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่ดี เพื่อเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ การใช้ชีวิตจึงมีความหมายกว้างกว่าความรู้จากตำรา แต่ต้องรวมไปถึงการเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนอื่นที่รวมถึงเรื่องของมิตรภาพ ความสุข เกียรติยศ ความภาคภูมิใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาจากการร่ำเรียนทางทฤษฎีเท่านั้น


แต่อยู่ที่การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข (หมายถึงการผสมกันของ good, virtue, and happiness)


แต่เป็นคนละความหมายกับสุขนิยม ด้วยว่าความสุขที่เราจะมีนั้นนอกเหนือจากจะขึ้นกับตัวเราแล้ว ยังต้องขึ้นกับความสุขของคนอื่น และกับความมุ่งหมายของการปกครอง หรือความมุ่งหมายของสังคมด้วย ว่าการปกครองนั้นๆหวังประโยชน์ของคณะปกครอง หรือของคนทั้งหมด และผลประโยชน์ที่อ้างว่าเป็นของทุกคนนั้นเป็นผลประโยชน์ที่ทำให้ประชาชนมีความสุขที่แท้จริงได้หรือไม่


รัฐศาสตร์ในความหมายแน๊วแนว คงหมายถึงการใช้ชีวิตที่เป็นพลเมืองดีในรัฐที่ดี มากกว่าศาสตร์พญาเหยี่ยว ศาสตร์ที่เหนือกว่าคนอื่น หรือศาสตร์แห่งการเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ที่ยังไม่รู้เลยว่าจะปกครองตัวเอง และอยู่กับคนอื่นอย่างไร


และที่สำคัญจะ "ท้าทาย" และ "ยอมรับกับผลแห่งการท้าทาย" กับสิ่งที่ตนเองเห็นว่าไม่ถูกต้องได้อย่างไรครับผม (ผมว่าการ "ท้าทาย" และ "การถามไถ่" มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากว่าการ "โค่นล้ม" และ "เอาชนะ" ตั้งเยอะ)


หมายเหตุ ๑: มีสองทางเลือกเป็นอย่างน้อยหลังจากการอ่านอยากตอบชิ้นนี้ อย่างแรกคือ ฟังเพลง Me against the World ของ Tupac พร้อมกับอ่านอีกรอบ (เพราะตอนผมเขียนผมเปิดเพลงนี้ซ้ำไปซ้ำมาครับ อาจารย์ผมย๊าวยาวเขาชอบร๊อค ผมชอบแรปครับ) อย่างที่สองก็คือ คลิ๊กตามลิ๊งค์ต่อไปนี้เพื่อผจญภัยต่อครับ:


http://www.constitution.org/ari/ethic_00.htm
http://classics.mit.edu/Aristotle/politics.html
http://plato.stanford.edu/entries/aristotle-politics/


หมายเหตุ ๒: คุณตรีวิ๊ดจะได้รับของรางวัลจาก "อยากตอบ" เป็นครีมบำรุงผมหนึ่งขวด กรุณาส่งชื่อที่อยู่ยืนยันมากับผมอีกทีหนึ่งนะครับ ส่วนอาจารย์ไชยันต์ในฐานะผู้ถูกพาดพิงจะได้รับของรางวัลเป็นบัตรกำนัลจากภัตตาคาร "โนแฮนด์" หนึ่งใบ ครับผม (แต่ต้องรอให้ผมรวยก่อน เดี๋ยวจาพาปายยยย)


 


20060421_02.jpg

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net