Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม เวลา 14.00น. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (มีเดียมอนิเตอร์) เสนอรายงานการศึกษาวิเคราะห์เรื่อง "จับตาดูSMSการเมือง: ในรายการข่าว/วิเคราะห์ข่าว วันที่ 21-27 มีนาคม 2549"


 


ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ ทางโครงการได้คัดเลือกรายการข่าว/วิเคราะห์ข่าวจากสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีทุกช่อง แต่มีบางช่องที่ยกเลิกการส่งข้อความเอสเอ็มเอส (sms) เข้ามาในรายการ เช่น รายการ "เรื่องเด่นเย็นนี้" ทางช่อง 3 และบางช่องสถานีก็ไม่มีการให้ผู้ชมส่งข้อความเอสเอ็มเอสเข้ามาในรายการข่าว/วิเคราะห์ข่าวเลย คือ ช่อง 7 ดังนั้น จึงคัดเลือกได้ทั้งหมด 4 รายการจาก 4 ช่องที่เหลือคือ สถานีสนามเป้า ช่อง 5, ข่าวภาคค่ำ ไอทีวี, กรองสถานการณ์ ช่อง 11 และคุยคุ้ยข่าว ช่อง 9


 


ผลการศึกษาพบว่า เอสเอ็มเอสที่ส่งไปในรายการ แบ่งออกเป็น 4 ฝ่าย ได้แก่ 1.ฝ่ายสนับสนุนนายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาสนับสนุนนายกรัฐมนตรีในทุกประเด็น 2.ฝ่ายไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีในทุกประเด็น 3.ฝ่ายเป็นกลาง (ไม่ชัดเจน) จะไม่สนับสนุนฝ่ายใด และไม่มีทางออก หรือข้อเสนอแนะใดๆ ในการแก้ปัญหาในทุกประเด็น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขาดข้อมูลในสาระสำคัญที่เพียงต่อสถานการณ์การเมือง เป็นกลุ่มที่ทำทีว่าเป็นกลาง มักขี้รำคาญ ชอบบ่น ไม่พยายามมองและทำความเข้าใจปัญหาอย่างจริงจัง หรืออาจเรียกว่าพวก "กลางตกขอบ" และ 4.ฝ่ายเป็นกลาง (ชัดเจน) มีเนื้อหาไม่สนับสนุนฝ่ายใด แต่มีทางออก หรือข้อเสนอแนะ ในการแก้ปัญหาในทุกประเด็น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีข้อมูลเพียงพอที่จะเข้าใจสาระสำคัญของปัญหา


 


ส่วนเจตนาของข้อความแบ่งได้ 5 กลุ่มคือ 1.เจตนาเพื่อสั่ง 2.เจตนาเพื่อขู่ ท้าทาย แช่ง ประชด และถาม 3.เจตนาเพื่อแนะนำ ขอร้อง ชักชวน และบอกกล่าว 4.เจตนาเพื่อตำหนิ และบ่น และ 5.เจตนาเพื่อชม และให้กำลังใจ


 


จากการทดสอบส่งเอสเอ็มเอสจากโครงการเข้าไปในแต่ละรายการ พบว่า โอกาสที่เอสเอ็มเอสจากโครงการจะถูกนำเสนอขึ้นหน้าจอโทรทัศน์มากที่สุด คือ รายการข่าวภาคค่ำ ช่อง itv 38.41% ตามด้วยรายการกรองสถานการณ์ ช่อง 11 คิดเป็น 9.18% รายการคุยคุ้ยข่าว ช่อง 9 คิดเป็น 5.70% และน้อยที่สุดคือรายการสถานีสนามเป้า ช่อง 5 เพียง 0.62%


 


สำหรับข้อความที่ถูกนำเสนอในแต่ละรายการข่าว/วิเคราะห์ข่าวมีแนวโน้มที่ใกล้เคียงกันคือมักเป็นข้อความที่อยู่ฝ่ายเป็นกลาง (ไม่ชัดเจน) ตามด้วยฝ่ายที่เป็นกลาง (ชัดเจน) ยกเว้นในช่อง 5 ที่มีข้อความสนับสนุนนายกรัฐมนตรีมากที่สุด และพบว่าข้อความที่อยู่ฝ่ายเป็นกลางน้อยกว่าฝ่ายสนับสนุนนายกฯ ถึงเกือบ 5 เท่า


 


โดยกลุ่มความคิดเห็นที่พบมากที่สุดในรายการสถานีสนามเป้า (ช่อง 5) คือ ฝ่ายสนับสนุนนายกรัฐมนตรี และมักใช้เจตนาเพื่อท้าทาย, ประชด, ขู่, ถาม


 


ส่วนความคิดเห็นที่พบมากที่สุดในรายการคุยคุ้ยข่าว (ช่อง9), รายการกรองสถานการณ์ (ช่อง11) และรายการข่าวภาคค่ำ (ช่องitv) คือ ฝ่ายเป็นกลาง (ไม่ชัดเจน) และมักใช้เจตนาเพื่อแนะนำ, ขอร้อง, ชักชวน, บอกกล่าว


 


ทั้งนี้ พบว่ามีเอสเอ็มเอสที่มีเนื้อหารุนแรง ไม่สุภาพ มีเนื้อหาที่สร้างความเข้าใจผิด การกล่าวหาว่าร้ายมาก


 


ในรายการสถานีสนามเป้า (ช่อง5) และรายการข่าวภาคค่ำ (itv) พบว่า มีเอสเอ็มเอสที่ปรากฏซ้ำใน 2ลักษณะคือ ซ้ำในการออกอากาศครั้งเดียวกัน (วันเดียวกัน) จำนวนหลายครั้งและมาเป็นชุดข้อความ หรือซ้ำในการต่อเนื่องติดต่อกัน 2-3 วันในลักษณะของชุดข้อความ หรือบางข้อความ


 


ภาพการศึกษาโดยรวมพบว่า กลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองฝ่าย "เป็นกลาง (ไม่ชัดเจน)" หรือ "ความคิดเห็นแบบกลางตกขอบ" เป็นกลุ่มความเห็นที่มีมากที่สุด


 


ทั้งนี้ ทางโครงการเสนอแนะว่า ทางรายการควรจะแจ้งให้ผู้ชมในฐานะผู้บริโภคทราบถึงความเป็นไปได้ถึงโอกาสที่ข้อความนั้นจะได้ปรากฏบนหน้าจอโทรทัศน์ รวมถึงแจ้งค่าบริการในการส่งที่สามารถอ่านเห็นได้ชัด


 


แสดงหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ส่งต่อท้ายข้อความทุกครั้ง เพื่อแสดงความโปร่งใสของรายการ โดยอาจปกปิดหมายเลขท้าย 3 หรือ 4 หลัก และเพื่อลดความคึกคะนอง ความระมัดระวังของผู้ส่ง ที่อาจนำไปสู่การคุกคามสิทธิของผู้อื่นผ่านพื้นที่สาธารณะ


 


ควรอธิบายให้ผู้ชมรับทราบว่า การส่งเอสเอ็มเอสเพื่อแสดงความคิดเห็นเป็นเพียงช่องทางการแสดงออก แต่ความคิดเห็นเหล่านั้นไม่ใช่ประชามติ หรือฉันทามติของสังคม และชี้ให้เห็นว่าควรให้ความสนใจกับข้อเท็จจริงในรายการข่าวมากกว่าความคิดเห็น


 


ชี้แจงเปิดเผยส่วนแบ่งรายได้จากการส่งเอสเอ็มเอสทุกครั้งช่วงต้นรายการ ในกรณีที่มีการกำหนดประเด็นเพื่อให้ผู้ชมร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านเอสเอ็มเอส ขอให้รายการพึงให้ความสำคัญและคัดเลือกประเด็นที่ไม่มีลักษณะชี้นำ ยั่วยุ หรือก่อให้เกิดอคติและสร้างความเข้าใจผิดต่อเหตุการณ์หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นๆ


 


ควรตรวจสอบและคัดกรองข้อความที่ใช้คำหยาบคาย รวมถึงข้อความที่ไม่เหมาะสม เช่น ข้อความที่สร้างความแตกแยก ความเข้าใจผิด การกล่าวหาว่าร้ายผู้อื่น ฯลฯ อย่างจริงจัง ควรมีการเปิดเผยกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับระบบเอสเอ็มเอส เช่น ขั้นตอนการรับข้อความเข้า การคัดแยกและคัดเลือกข้อความก่อนถูกส่งขึ้นหน้าจอ


 


ควรมีการแจ้งข้อมูลกลับหรือข้อมูลตอบรับ หากข้อความที่ผู้ส่งเอสเอ็มเอสเพื่อแสดงความคิดเห็นไม่ได้ปรากฏขึ้นบนหน้าจอ หรืออาจจะลงประกาศแจ้งในเว็บไซต์เพื่อแสดงข้อความที่ผู้ส่งได้ส่งไปแล้ว


ควรจัดเก็บข้อความทั้งหมดที่ถูกส่งเข้ารายการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้ชมในฐานะผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อความย้อนหลังได้


 


นายรุจน์ โกมลบุตร อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า ข้อความสั้นที่ส่งมาเป็นวาทกรรมและเป็นเรื่องอันตรายถ้าคนเชื่อในสิ่งที่เขาส่งขึ้นมา เช่น วาทกรรมที่บอกว่า "เลือกตั้งดีที่สุด" ซึ่งไม่น่าจะใช่ เพราะประชาธิปไตยไม่ได้แปลว่าเลือกตั้ง ประชาธิปไตยแปลว่าการมีส่วนร่วมจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม


 


หรือ "คนไทยรึเปล่า" เป็นการใส่ร้ายป้ายสีกัน แสดงให้เห็นว่า อีกฝ่ายไม่ใช่คนไทย กำลังทรยศต่อแผ่นดิน ซึ่งสงสัยว่าคนไทยหมายถึงใคร


 


"ผู้ชุมนุมไม่ทำมาหากินกันหรือไง" จะสังเกตว่าเวลามีคนมาเคลื่อนไหวบางอย่าง ผู้นำก็จะถามว่าเอาเงินมาจากไหน


 


ผมมองว่าข้อความ "อย่าทะเลาะกัน" เป็นวาทกรรมที่อันตราย อ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ที่คณะรัฐศาสตร์ มธ. เคยบอกว่าไม่เห็นเป็นไรที่จะทะเลาะกัน ขอให้ทะเลาะกันอย่างอารยะก็แล้วกัน เราขัดแย้งกันได้ เราเห็นไม่ตรงกันได้ ก็ทะเลาะกันให้ถึงที่สุดแล้วก็โต ไม่ใช่พอบอกอย่าทะเลาะกัน ก็เลี่ยงการเจอกันไม่ยอมทะเลาะกันจริงๆ


 


"เลิกประท้วงกันซักที บ้านเมืองวุ่นวายไปหมดแล้ว" เป็นเรื่องป้ายสีคนที่กำลังเรียกร้องหาความเป็นธรรม ลองนึกดูว่าใครส่งวาทกรรมนี้ คุณทักษิณทั้งนั้นเลยที่พูดผ่านสื่อมวลชน


 


การที่ข้อความสั้นพวกนี้ถูกส่งมา สงสัยว่า หนึ่ง ถ้าข้อความนี้ถูกส่งมาจากไทยรักไทย หรือเบื้องหลังที่ไทยรักไทยสนับสนุนจะอันตรายอย่างยิ่งเป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมที่ออกมาจากคุณทักษิณ สอง อันตรายยิ่งกว่าถ้าข้อความแบบนี้ขึ้นมาแบบบริสุทธิ์ใจ ถ้าคนคิดแบบนี้แปลว่าแย่แล้วเพราะเขากำลังรับสื่อจากทักษิณและไทยรักไทยอย่างเดียวจนเชื่อตามไปแล้ว ประเทศไทยกำลังแตกแยกโดยไม่จำเป็น


 


ด้านนายกิตติวัฒน์ มโนสุทธิ กรรมการบริษัท สไมล์ อินเทอร์แอคทีฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่วางระบบเอสเอ็มเอส กล่าวว่า เอสเอ็มเอสที่ส่งมาจะไปที่เครื่องรับในห้องส่งของสถานีโทรทัศน์ โดยจะมีคนทำหน้าที่คัดกรองข้อความที่ส่งมาว่า ข้อความใดจะได้ขึ้นหน้าจอโทรทัศน์


 


อย่างไรก็ตาม ข้อความที่ส่งเข้ามาในรายการจากโครงการถือว่าไม่น้อย เพราะจำนวนข้อความที่ส่งมาในแต่ละรายการเยอะมาก อยู่ที่หลักร้อยถึงหลักหมื่น จึงไม่เป็นไปไม่ได้ที่จะขึ้นข้อความได้ทั้งหมด


 


สำหรับการส่งข้อความทีละมากๆ จะทำได้ 2 วิธี ได้แก่ แบบโลว์เทค คือ พิมพ์ข้อความเก็บไว้ก่อนแล้วส่งเข้าไปเรื่อยๆ กับแบบไฮเทคคือ เขียนโปรแกรมขึ้นมาเลย เหมือนพวกระบบเตือน หรือแจ้งข่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net