Skip to main content
sharethis

 


โดย นิตยสารรายสัปดาห์ "พลเมืองเหนือ"



                                   


หนึ่งในคำสัญญาที่ พ...ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ประกาศที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2549 คือ ถ้าพรรคไทยรักไทยได้จัดตั้งรัฐบาล จะปฏิรูปการเมือง แก้รัฐธรรมนูญ


 


มีการเสนอด้วยว่าจะใช้รูปแบบเหมือนสมัชชาสนามม้าสมัยรัฐบาล "สัญญา ธรรมศักดิ์"


 


กำหนดเวลาไว้เสร็จสรรพว่า 1 ปี บวกลบไม่เกิน 3 เดือนจากนั้นจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่


 


ครรลองประชาธิปไตยที่ พ...ทักษิณกำหนดกติกา ประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 และจนถึงขณะนี้ก็มีเพียงไทยรักไทยเพียงพรรคเดียวเท่านั้นที่เดียวดายอยู่ในสนามแข่ง


 


หากประชาชนงดออกเสียงน้อยกว่าครึ่ง หรือหากเกิดเหตุความรุนแรงบานปลาย ข้อเสนอนี้ต้องพับไป แต่หากเดินหน้าเลือกตั้งใหม่ แน่นอนว่า พรรคไทยรักไทยต้องกลับมาตั้งรัฐบาลและหากมีการปฏิรูปการเมืองภายใต้การนำของพ...ทักษิณ จะเกิดอะไรขึ้น ?


 


จำเป็นที่จะต้องย้อนถึงผลงานการปฏิรูปที่สำคัญในรัฐบาลเขาอย่างน้อย 2 กรณีคือปฏิรูประบบราชการและปฏิรูปการศึกษา


 


ปฏิรูประบบราชการใครได้ประโยชน์ ?


1 ..2545 หรือผ่านมา 3 ปีเศษคือวันที่การปฏิรูประบบราชการมีผลบังคับใช้ พ...ทักษิณมีเหตุผลต่อการปฏิรูปครั้งนี้ว่าเป็นเพราะโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม ที่เป็นอยู่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและความต้องการของประชาชน จึงเป็นที่มาของการรื้อจัดกระทรวงใหม่ให้เป็น 20 กระทรวงว่ากันว่าให้เป็นไปตามภารกิจ


 


คนที่เป็นข้าราชการน่าจะมีคำตอบในใจตัวเองได้ดีที่สุดว่า 3 ปีการปฏิรูปนี้ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการทำงานมากน้อยเพียงใด หายงงกับบทบาทหน้าที่รับผิดชอบของตนเองว่าซ้ำซ้อนกับอีกกรมหนึ่งแล้วหรือไม่ จำได้หรือเปล่าว่า รัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงของตนเองเปลี่ยนแปลงกันกี่คน


 


ประเด็นหนึ่งที่เกิดการวิพากษ์กันมากคือคือกรอบเวลาที่ต้องเดินหน้าตามภาคการเมืองอย่างเร่งรีบ ขณะที่รากลึกของระบบราชการจำเป็นจะต้องใช้เวลาในการปรับทัศนคติอยู่ไม่น้อย ส่งผลให้เนื้องานที่ผ่านมา เป็นไปในลักษณะให้ทันกรอบเวลาแล้วค่อยว่ากันข้างหน้าแทบทั้งนั้น จนถึงบัดนี้จะต้องมานับหนึ่งเริ่มต้นอาจต้องยุบรวมบางกระทรวงอีกต่างหาก


 


ตัวอย่างที่ชัดเจนต่อการปฏิรูปการเมืองของรัฐบาลทักษิณคือความเป็นซีอีโอ นโยบายผู้ว่าซีอีโอที่มอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้บูรณาการการทำงาน แต่จนบัดนี้อำนาจที่ว่านั้นไม่เคยปรากฏผล ตรงกันข้ามซีอีโอหนึ่งเดียวในประเทศนี้ใครก็รู้ว่าอยู่ที่บทบาทของนายกรัฐมนตรีเพียงเท่านั้นซึ่งส่งต่อคำสั่งผ่านมายังรัฐมนตรี ไล่ลงมายัง ส..ในพื้นที่ ผู้ว่าซีอีโอจึงทำเพียงประสานผลงานร่วมกับ ส.. แต่หาได้ประสานการทำงานของหน่วยงานราชการให้บรรลุผลของปัญหาในระดับพื้นที่แต่อย่างใด


 


ผลเชิงบวกของการปฏิรูประบบราชการของนายกทักษิณที่เห็นเด่นชัดนั่นคือโครงสร้างอำนาจทางการเมือง การเพิ่มกระทรวงเป็นการเพิ่มตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ สามารถประสานประโยชน์กลุ่มก๊วนต่างๆ เพิ่มขึ้นได้ และยังเพิ่มตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีขึ้นมาอีกถึง 30 อัตรา มากกว่าจำนวนกระทรวงที่มี เพราะมีผู้ช่วยรัฐมนตรีส่วนกลางที่นายกรัฐมนตรีพิจารณาผลงานโดยตรงอีกต่างหาก ซึ่งเมื่อดูเบื้องหลังของเหล่าผู้ช่วยรัฐมนตรีแล้ว ก็มีที่มาจากสายการเมืองก็ไม่น้อย


 


นี่คือผลงานการปฏิรูประบบราชการของนายกฯทักษิณ


           


ปฎิรูปการศึกษาในสายตาครู


ภายใต้แนวคิดปฏิรูปการศึกษา รัฐบาลของพ...ทักษิณก็ปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ กระทั่งคนล่าสุด นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตคนเดือนตุลา ที่ประกาศเมื่อรับตำแหน่งใหม่ว่าปี 2549 นจะมีโอกาสได้เห็นผลงานด้านการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นรูปธรรม


 


แต่ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์สำรวจความคิดเห็นของครูทั่วประเทศในหัวข้อ "ความเชื่อมั่นของครูต่อการปฏิรูปการศึกษายุค รมว.จาตุรนต์" โดยสุ่มตัวอย่างครูในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาจากโรงเรียนทั้งหมด 53 แห่ง ทั่วทุกภาคของประเทศ จำนวน 1,061 คน ระหว่างวันที่ 5-12 มกราคม 2549 ผลปรากฏว่า


 


ข้อถามความเห็นต่อการปฏิรูปการศึกษาของไทยในภาพรวมว่าเดินมาถูกทางหรือไม่นั้น ครูร้อยละ 46.4 ระบุว่า ไม่แน่ใจ เนื่องจากยังไม่เห็นผลที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม และนโยบายปฏิรูปการศึกษายังคงมีการเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ ร้อยละ 33.7 เห็นว่า ไม่ถูกทาง เนื่องจากแนวทางการปฏิรูปไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย มีการให้ความความสำคัญกับงานเอกสารมากกว่างานสอน และสร้างปัญหาความขัดแย้งสับสนในหมู่ผู้ปฏิบัติงาน มีครูร้อยละ 19.9 เห็นว่าการปฏิรูปการศึกษาไทยเดินมาถูกทาง โดยให้เหตุผลว่านักเรียนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นมากขึ้น หลักสูตรมีความทันสมัยเหมาะกับโลกยุคปัจจุบัน และมีการจัดการเรียนการสอนที่เป็นระบบชัดเจนขึ้น


 


ข้อถามที่ว่าอุปสรรคสำคัญที่สุดในการปฏิรูประบบการศึกษาของไทยนั้น ครูร้อยละ 26.2 เห็นว่า เกิดจากการที่นโยบายปฏิรูปการศึกษาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รองลงมาร้อยละ 22.0 เห็นว่าเป็นเพราะไม่ได้มีการทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมให้กับครูผู้ปฏิบัติงาน ร้อยละ 17.6 เห็นว่าเป็นเพราะแนวทางการปฏิรูปการศึกษาไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ร้อยละ 14.9 เห็นว่า เป็นเพราะขาดปัจจัยสนับสนุนด้านงบประมาณและอุปกรณ์การศึกษา ร้อยละ 7.7 เห็นว่าเป็นเพราะมีการเมืองเข้ามาแทรกแซงระบบการศึกษา และร้อยละ 3.5 เห็นว่าเป็นเพราะการยึดติดกับแนวคิดและวิธีการแบบเดิมๆ ของครูบางกลุ่ม


 


ประเด็นเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการทำงานเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ครูส่วนใหญ่ คือร้อยละ 61.3 ระบุว่าไม่พอใจ และร้อยละ 38.7 ระบุว่าพอใจ


 


นี่คือผลงานการปฏิรูประบบการศึกษา


 


ปฎิรูปการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญ


...ทักษิณกล่าวที่สนามหลวงว่า ที่ให้อธิการบดีของมหาวิทยาลัยทำการศึกษาเพราะจะได้ศาสตร์แห่งวิชา ไม่ใช่อารมณ์ และพรรคไทยรักไทยก็ประกาศว่าเมื่อเข้ามาแล้วจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที โดยเฉพาะมาตรา 313 โดยให้คณะกรรมการกลางร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งมีหลายแนวทาง โดยแนวทางที่น่าสนใจคือสมัชชาสนามม้า คือบุคคลหลายอาชีพที่เลือกกันเอง แล้วมาเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งแก้กฏหมายลูกด้วย ใช้เวลาประมาณ 1 ปี 3 เดือนแล้วจะยุบสภาทันทีให้มีการเลือกตั้งใหม่


 


แต่การศึกษาวิจัยแก้ไขรัฐธรรมนูญของหลายมหาวิทยาลัยถูกปฏิเสธ เช่นกรณีของคณาจารย์รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกแถลงการณ์เห็นว่าเป็นเกมการเมืองที่เบี่ยงเบนความเคลื่อนไหวของประชาคมทางวิชาการและพลังประชาชนที่ไม่ต้องการนายกรัฐมนตรีที่ขาดความชอบธรรม และมองว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งแม้แต่รัฐบาลเผด็จการในอดีตก็ยังไม่เคยมีการสั่งการให้มหาวิทยาลัยรับใช้การเมืองเช่นนี้


 


และเมื่อจับกระแสหลังการประกาศเช่นนี้ของพ...ทักษิณ เสียงตอบรับต่อการปฏิรูปการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใต้การนำของเขา ก็ยังแผ่วเบา


 


คำประกาศปฏิรูปการเมืองของเขา จะกลายเป็นดังอีกข้อกล่าวหาที่ว่า "แก้รัฐธรรมนูญ เอาหน้ารอด" หรือไม่ ? หรือจะสำเร็จไม่เป็นเหมือนปฏิรูปการศึกษาและปฏิรูประบบราชการ …หรือจะไม่มีโอกาสเป็นผู้นำปฏิรูปการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net