Skip to main content
sharethis



ภาพจาก www.tjanews.org


 


 


วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2006 14:36น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


รายงานการศึกษา "โครงการศึกษาการปกครองท้องถิ่นของจังหวัดที่มีหลายชาติพันธุ์ : กรณีศึกษาจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส" จัดทำโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี, ผศ.สุกรี หลังปูเต๊ะ วิทยาลัยอิสลาม ยะลา, ดร.ฉันทนา หวันแก้ว บรรพศิริโชค คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เสนอต่อคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เพื่อเป็นต้นธารของแนวคิดรูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะถูกรวบรวมเพื่อประมวลเป็นข้อมูลนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป


 


ศูนย์ข่าวอิศรา เรียบเรียงและนำเสนองานวิจัยฯ ดังกล่าว เป็น 2 ตอน โดยนำเสนอเป็นตอนที่สอง


 


การผสมผสานและบูรณาการพร้อมกับการกระจายอำนาจ


นอกจากข้อมูลผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับรูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนำเสนอไปในตอนแรกแล้วนั้น ในส่วนของข้อมูลการศึกษาด้านลึกก็มีประเด็นที่น่าพิจารณาด้วยเช่นกัน


 


โดยการศึกษาครั้งนี้ได้จัดประชุมพบปะกับกลุ่มผู้นำท้องถิ่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำศาสนาซึ่งประกอบด้วยอิหม่าม โต๊ะครูและอุสต๊าซ รวมทั้งนักธุรกิจรายย่อยในพื้นที่ต่างๆของจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส การประชุมและเสวนาทั้งกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่รวม 8 ครั้ง ได้ผลสรุปประเด็นที่น่าสนใจดังนี้คือ


 


ความคิดเห็นทั่วไปต่อปัญหาการเมืองการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้


1. การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผู้นำศาสนาโดยการเชิญผู้นำศาสนาทุกศาสนา รวมทั้งผู้นำท้องถิ่นและการปกครองท้องที่มาร่วมประชุมทำความเข้าใจซึ่งกันและกันทั้งในเรื่องกฎหมายและข้อบัญญัติทางศาสนาและหาข้อสรุปให้ตรงกัน


 


2. การเสริมสร้างเครือข่ายพันธมิตร โดยการเชิญผู้นำทางศาสนาให้เป็นที่ปรึกษาขององค์การบริหารส่วนตำบลและผู้นำองค์กรต่างๆที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่และก่อนส่งหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้ามาในพื้นที่ต้องให้ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่นรับทราบข้อมูลทุกด้าน


 


3. สร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับชุมชนในทุกรูปแบบ ส่งเสริมและสร้างความเสมอภาค ให้กับองค์กรทุกองค์กร ให้การสนับสนุนศาสนาทุกศาสนาให้กว้างขวาง


 


4.ให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการปกครองตามรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในระดับท้องถิ่น กระจายอำนาจฝ่ายทหารให้กับฝ่ายปกครอง จัดตั้งกลุ่มเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางด้านศาสนา ส่งเสริมการศึกษาตามเจตนารมณ์ของชุมชนและถ้าเป็นไปได้อาจมีการปกครองรูปแบบพิเศษ


 


ในส่วนความคาดหวังที่มีต่อการปกครองท้องถิ่นนั้น มีข้อเสนอจากการระดมความคิดเห็นที่ควรนำมาพิจารณาและวิเคราะห์เพื่อหาข้อสรุปต่อไป ดังนี้


 


1. รัฐบาลควรมีการกระจายอำนาจให้องค์กรการปกครองท้องถิ่นอย่างเต็มรูปตามรัฐธรรมนูญ ทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจให้มีอิสระในการปกครองและการบริหารจัดการให้มากขึ้น


 


2. ให้ท้องถิ่นสามารถออกกฎหมายท้องถิ่นที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้


 


3. รัฐควรสนับสนุนให้องค์กรปกครองท้องถิ่นพึ่งตนเองได้ มีการบูรณาการการจัดการแบบจุดเดียวแบบ one-stop services


 


4. ให้องค์กรทุกองค์กรท้องถิ่นอยู่ภายใต้การปกครองท้องถิ่น เช่นสถานีอนามัย มัสยิดโรงเรียน เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาวบ้าน โดยมีการถ่ายโอนด้านการศึกษา สาธารณสุขแก่ท้องถิ่น


 


5. ให้อำนาจแก่ท้องถิ่นดูแลการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่อนุบาลไปจนภาคบังคับ ทั้งในแง่การร่างหลักสูตรและการจ้างบุคลากร มีการจัดสรรงบประมาณให้แก่ท้องถิ่นเพื่อให้ท้องถิ่นสร้างศูนย์การเรียนรู้ของท้องถิ่น


 


6. การจัดสรรงบประมาณแก่ท้องถิ่นควรให้มีความเหมาะสมพอเพียงต่อความต้องการและทันเวลาโดยการสนับสนุนงบประมาณจากส่วนกลางมาสู่ท้องถิ่นโดยตรงและเอารายได้ของท้องถิ่นมาพัฒนาพื้นที่ 100 %


 


7. ควรลดขั้นตอนระบบการปฏิบัติงานจากส่วนท้องถิ่นไปส่วนกลาง และส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นให้สั้นลง


 


8. ควรมีกระทรวงการปกครองท้องถิ่นมีผู้นำการปกครองระดับจังหวัดเพียงผู้เดียวและให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงจากประชาชนเหมือนผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ผู้สมัครรับการเลือกตั้งควรมาจากผู้มีการศึกษาสูงอย่างต่ำที่ระดับปริญญาตรีและหากบริหารงานไม่ดีประชาชนมีสิทธิในการถอดถอนได้


 


9. รัฐบาลควรถ่ายโอนงบประมาณให้ท้องถิ่นให้ครบ 35% ตามสัญญา


 


10. รัฐต้องจริงใจในการจัดสรรงบประมาณ เช่นโครงการ SML ควรที่จะจัดสรรเงินมาทาง อบต. โดยตรงและให้เพียงพอต่อการพัฒนา เพื่อสนองนโยบายต่างๆเนื่องจากในปัจจุบันมีนโยบายแต่ไม่มีงบประมาณให้องค์กรกรปกครองท้องถิ่นอย่างเพียงพอ ผู้บริหารท้องถิ่นรู้ปัญหาของท้องถิ่นมากที่สุดแต่งบประมาณไม่เพียงพอแก่การแก้ปัญหาของท้องถิ่น ส่วนกลางควรส่งงบประมาณจากสำนักงบประมาณมายังท้องถิ่นโดยตรงโดยมีหน่วยตรวจสอบในพื้นที่พร้อมทั้งมีการจัดการระบบการบริหารงบประมาณของท้องถิ่นในระดับตำบลให้ อบต. รับผิดชอบเต็มรูปแบบ


 


ข้อมูลจากการศึกษาด้านลึกดังกล่าวเป็นขั้นตอนเบื้องต้นในการได้ข้อมูลความคิดเห็นจากประชาชนและผู้นำท้องถิ่น เพื่อการวิเคราะห์ในทางวิชาการและการนำเสนอรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ทางการเมืองของประเทศไทย


 


การศึกษาในส่วนนี้ได้ข้อสรุปที่น่าจะนำมาอภิปรายในการเสนอรูปแบบการปกครองท้อง ถิ่นในพื้นที่สามจังหวัดคือ ประเด็นเรื่องโครงสร้างอำนาจ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลักษณะพิเศษก็คือโครงสร้างสถาบันและผู้นำทางศาสนา


 


จุดเด่นของข้อสรุปนี้ก็คือ การเสริมสร้างเครือข่ายพันธมิตร โดยการเชิญผู้นำทางศาสนาให้เป็นที่ปรึกษาขององค์การบริหารส่วนตำบลและผู้นำองค์กรต่างๆที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ กล่าวโดยเฉพาะเรื่องผู้นำศาสนา มีข้อเสนอที่ชัดเจนว่าควรมี "สภาอูลามะ" หรือสภาของผู้รู้ทางศาสนาในระดับท้องถิ่นที่สามารถเข้าร่วมในการปกครองท้องถิ่นได้ อาจจะเป็นในรูปของที่ปรึกษาขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ข้อเสนอที่ได้มาจากการศึกษาก็คือในพื้นที่ซึ่งคนส่วนมากหรือทั้งหมดเป็นมุสลิม


 


องค์ประกอบของสภาอูลามะก็คือผู้นำศาสนาอิสลาม อิหม่ามโต๊ะครูและอุสต๊าซ ในพื้นที่ที่มีคนพุทธอยู่ด้วยสภาผู้รู้ทางศาสนาอาจจะรวมไปถึงพระและปราชญ์ชาวบ้านอื่นๆด้วย


 


ข้อเสนออีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ รัฐบาลควรมีการกระจายอำนาจให้องค์กรการปกครองท้องถิ่นอย่างเต็มรูปตามรัฐธรรมนูญ การกระจายให้เต็มรูปนี้ ถ้าพิจารณาให้ละเอียดจะหมายความถึงการกระจายอำนาจ "ในทางเนื้อหา" ทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจให้มีอิสระในการปกครองและการบริหารจัดการให้มากขึ้นโดยให้ท้องถิ่นสามารถออกกฎหมายท้องถิ่นที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้


 


นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอรูปแบบการจัดการให้องค์กรปกครองท้องถิ่นพึ่งตนเองได้ มีการ บูรณาการการจัดการแบบจุดเดียวแบบ one-stop services


 


ข้อเสนอนี้สะท้อนแนวคิดที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือ แนวคิดเรื่องการบูรณาการ (integration) ของรูปแบบการปกครองและการบริหารควบคู่กับกระบวนการเดียวกันกับการกระจายอำนาจ (decentralization)


 


ทั้งนี้อาจสรุปได้ในแนวคิดทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ว่า การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีในระดับท้องถิ่นหมายความถึง การจัดการปกครองที่สอดคล้องกับลักษณะพิเศษของการเมืองการบริหารและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งมีการจัดการทรัพยากรหรืองบประมาณของท้องถิ่นให้พอเพียงและมีประสิทธิภาพ


 


ในการนี้การกระจายอำนาจในระดับท้องถิ่นเช่นตำบลก็ยังมีความสำคัญอยู่ในข้อเสนอดังกล่าวโดยให้ อบต. รับผิดชอบเต็มรูปแบบ ส่วนข้อเสนอเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงนั้น แม้จะเป็นข้อเสนอที่ดีมุ่งไปสู่การกระจายอำนาจโดยตรงแต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ยากในระยะสั้น เพราะองค์ประกอบการกระจายอำนาจในเนื้อหาน่าจะมีความเด่นชัดมากกว่าโดยดูจากภาพรวมข้อเสนอทั้งหมด


 


แนวโน้มที่มองเห็นก็คือความต้องการให้มีการกระจายอำนาจในเนื้อหาพร้อมทั้งการบูรณาการการบริหารจัดการให้สมบูรณ์ทั้งในแง่สะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ความพร้อมในองค์ ประกอบทางด้านคุณธรรมจริยธรรม ความพร้อมในด้านทรัพยากร เทคนิคการบริหารจัดการ มีความความรับผิดชอบต่อท้องถิ่นและสังคม


 


โดยเฉพาะประเด็นเรื่องศีลธรรมนี้เด่นชัดมาก เพราะจากการประชุมผู้นำชุมชนหลายกลุ่มต่างก็มีทัศนะว่า ระบบการเลือกตั้งของอบต. และอิหม่ามทำให้เกิดการแข่งขันและแย่งชิงกัน ปัจจัยเรื่องคุณภาพ คุณธรรมและจริยธรรมของผู้นำก็ลดความสำคัญลง


 


ผลที่ตามมาคือเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้นำศาสนาและผู้นำการปกครองท้องถิ่นมากในแทบจะทุกพื้นที่ และฐานะทางคุณธรรมของผู้นำการปกครองท้องถิ่นก็แย่ลง จนกระทั่งมีคำกล่าวว่าในคนมุสลิมบางคนว่า "….. ถ้าต้องการให้คนตกนรกก็ให้เลือกเขาไปเป็นอบต. แต่ถ้าต้องการให้คนขึ้นสวรรค์ก็อย่าไปเลือกเขา …."


 


ประเด็นจึงมิใช่อยู่ที่การเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงวิธีการได้มาซึ่งผู้นำท้องถิ่นรวมทั้งกระบวนการทางการเมืองและการบริหาร กระบวนการทางสถาบันที่ทำให้ผู้นำได้มาซึ่งคุณธรรมและความสามารถในกรอบการบริหารงานท้องถิ่นที่มีความเหมาะสมและได้มาซึ่งดุลยภาพแห่งอำนาจการปกครองจากทุกฝ่ายในท้องถิ่นเพื่อให้เกิดสังคมการเมืองที่ดีในท้ายที่สุด


 


 


การพัฒนาตัวแบบการกระจายอำนาจในพื้นที่พิเศษ


ส่วนประกอบที่สำคัญของแนวคิดการกระจายอำนาจในพื้นที่ที่มีความหลากหลายชาติพันธุ์จากข้อมูลที่ได้ประมวลข้างต้น อาจจะสรุปได้ว่าเป็นเรื่องของการคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของความคิดเห็นและการยอมรับต่อรูปแบบการปกครองท้องถิ่น


 


ตัวแบบการปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธ์และศาสนา อาจจะไม่ใช่เพียงแค่มองว่า คนส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์อะไรหรือศาสนาอะไร และแต่ละกลุ่มมีทัศนะอย่างไรเท่านั้น หากยังจะต้องพิจารณาลึกไปถึงความหลากหลายและความแปรผันภายในกลุ่มแต่ละกลุ่มด้วย เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งและแตกแยกกันภายหลังจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือรูปแบบการปกครองและการบริหารไปแล้ว


 


การสร้างสถาบันทางการเมืองการปกครองที่มีประสิทธิผล มีความมั่นคงและยั่งยืนมิได้เกิดจากสูตรสำเร็จที่ง่ายเกินไปและมีผลในด้านลบที่ตามมาภายหลังมากจนเกินล้นต้นทุนของการเปลี่ยนแปลง


 


เพื่อให้ได้รูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่เหมาะสมแนวคิดที่ได้มาจากการศึกษาก็คือ การผสมผสานและบูรณาการการเมืองการปกครองท้องถิ่นที่สอดคล้องกับลักษณะพิเศษของการเมืองการบริหารและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งมีการจัดการทรัพยากรหรืองบประมาณของท้องถิ่นให้พอเพียงและมีประสิทธิภาพ มีทั้งองค์ประกอบพร้อมกับการกระจายอำนาจ


 


กล่าวในอีกแง่หนึ่งก็คือ การกระจายอำนาจต้องทำในลักษณะผสมผสานแบบตารางสลับไขว้หรือ matrix forms of decentralization ที่ดึงเอาองค์ประกอบในเนื้อหารูปแบบการปกครองท้องถิ่นในระดับย่อยหรือจุลภาคมาประสานกับการบริหารจัดการที่ดีหรือหลักธรรมรัฐในระดับ มหภาค ดึงเอาองค์ประกอบในด้านเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และหลักคุณธรรมในทางศาสนามาร่วมกับการปกครองท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในระดับย่อยคือระดับตำบล ในขณะที่มีองค์ประกอบในด้านการเงินการคลังและการบริหารงานที่ดีที่เกิดจากการประสานหน่วยย่อยเหล่านี้เข้าเป็นหน่วยใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


รูปแบบการบริหารในระดับภูมิภาคเช่นนี้อาจจะดึงเอาคุณลักษณะที่ดีของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มาใช้ให้เป็นประโยชน์ องค์กรนี้จะประสานหน่วยย่อยของการปกครองท้องถิ่นให้เป็นองค์รวม


 


ผลที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการกระจายและบูรณาการจะทำให้เกิดการปกครองท้องถิ่นซึ่งมีองค์ประกอบเป็นหลายแกนดังนี้


 


1. องค์กรประสานงานการบริหารและการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ องค์กรนี้มีลักษณะคล้ายกับ ศอ.บต. ที่เป็นองค์กรบริหารที่มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการและการแก้ปัญหานโยบายในการบริหารในสามจังหวัดภาคใต้ องค์กรนี้จะเป็นที่รวมขององค์กรปกครองส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น


 


โดยมีสภาที่ปรึกษาประกอบด้วยผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ผู้รู้ทางการศึกษาและวัฒนธรรม รวมทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้ประสานนโยบายและแผน รวมทั้งบุคคลากรและงบประมาณที่นำลงไปสู่ระดับหน่วยจังหวัด อำเภอโดยเฉพาะหน่วยการปกครองท้องถิ่นในระดับตำบลและเทศบาล คุมแผนยุทธศาสตร์การบริหารงานกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดนไว้ทั้งหมด หน่วยขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี


 


2. องค์กรปกครองท้องถิ่นในระดับตำบลและเทศบาลเหมือนรูปแบบเดิม มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในท้องถิ่น มีอำนาจในการเก็บภาษีและบริหารงบประมาณการคลังส่วนท้องถิ่น มีอำนาจในการออกข้อบัญญัติ


 


รวมทั้งเพิ่มอำนาจในการจัดการท้องถิ่นในเรื่องทางศีลธรรม วัฒนธรรมและประเพณีให้มากขึ้น เช่นการกำหนดเขตปลอดอบายมุข ตำรวจศีลธรรม ประกาศห้ามเยาวชนออกนอกบ้านในยามวิกาลเว้นแต่มีผู้ปกครองอยู่ด้วย ฯลฯ การกำหนดนโยบายระดับท้องถิ่นจะต้องได้รับการรับรองจากสภาผู้รู้ทางศาสนา และประชาชน องค์กรปกครองท้องถิ่นแบบนี้ต้องพึ่งตนเองได้ มีการบูรณาการการและมีการจัดการแบบจุดเดียวเสร็จแบบ one-stop services


 


3. องค์สภาผู้รู้ทางศาสนาในระดับตำบล ได้มาจากการเสนอชื่อและการเลือกสรรจากคณะกรรมการชุมชนผู้นำศาสนาและสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น สภานี้เป็นที่ปรึกษาในกิจการศาสนาและศีลธรรมของสังคมขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีจุดเชื่อมต่อในแกนบริหารแบบ matrix สมาชิกที่มาจากการคัดสรรนี้จะต้องเป็นกรรมการโดยตำแหน่งขององค์กรปกครองท้องถิ่นด้วยจำนวน 1 ในสามของสมาชิกสภาท้องถิ่นเพื่อให้มีอำนาจในการยับยั้งในกรณีที่ผู้นำท้องถิ่นกระทำผิดในทางนโยบายและเกิดการทุจริตประพฤติมิชอบ


 


หลักความรับผิดชอบ (accountability) และความโปร่งใส (transparency)ในการปกครองท้องถิ่นแสดงให้เห็นในผู้นำองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล ซึ่งจะค้องรับผิดชอบรายงานต่อสามฐานก็คือ ฐานประชาชนในเขตเลือกตั้งของตน (เพื่อประโยชน์ทางการเมืองการเลือกตั้งและการเก็บภาษีท้องถิ่น) รับผิดชอบต่อองค์กรประสานงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ในแง่ยุทธศาสตร์ (ในแง่การได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณ เทคโนโลยีสารสนเทศ รายจ่ายเงินอุดหนุน) และอง๕กรสภาผู้รู้ในทางศาสนา (ในเรื่องการออกกฎระเบียบ ข้อบังตับที่เกี่ยวกับศีลธรรมและการศึกษาในเขตอำนาจรับผิดชอบทางกฎหมาย (jurisdiction) ของคนเอง


 


หน่วยการปกครองท้องถิ่นระดับตำบลอาจจะมีหลายรูปแบบก็ได้เช่น เขตชุมชนเล็ก Town ship หรือกรรมการพื้นที่การศึกษา กรรมการสวนสาธารณะซึ่งมีความสำคัญ


 


ตัวแบบเมตริกซ์ผสมผสานระหว่างการบูรณาการและการกระจายอำนาจน่าจะช่วยลดเงื่อน ไขความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รูปแบบใหม่อาจจะต้องมีการออกกฎหมายใหม่หรือแก้ไขกฎหมายเก่าให้สอดคล้องกับรูปแบบบริหารแบบนี้ การแก้ปัญหาในรูปแบบดังกล่าวจะนำมาซึ่งการกระจายอำนาจในเนื้อหาโดยไม่น่าจะมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างและได้รับการต่อต้าน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net