Skip to main content
sharethis


ภาพจาก www.manager.co.th


 


ประชาไท - 18 ก.พ. 49     ณ ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 17 ก.พ. ใกล้ๆจุดล่า 50,000 ชื่อ ถอดถอน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ของนักศึกษามีการจัดเวทีวิชาการความรู้คู่กระบวนการเรื่อง "ส.ว.กับกระบวนการถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ" ในช่วงเวลาประมาณ 15.30 น.


 


อาจารย์นิติฯ มธ. ชี้ ศาลรัฐธรรมมนูญ ลบมาตรา 209 ทิ้ง


 


รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุ ส.ว.ไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยคุณสมบัติรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี แต่หากมีข้อสงสัยสามารถทำให้ได้ ตามมาตรา 209 เช่น การที่นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายกฯให้สัมภาษณ์ว่า ผู้ใหญ่บอกให้ขายก็ขายนั้น ไอ้โม่งที่เป็น "ผู้ใหญ่" คือใคร ดังนั้นการที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับพิจารณาเป็นเรื่องถูกหรือไม่


 


"การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยเป็นเรื่องสำคัญ อย่าหลงประเด็นที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบอกว่าดี เพราะเรื่องจะจบ สังคมจะได้ไม่มีความคลางแคลงต่อไป แต่ความจริงคือศาลไม่ได้วินิจฉัย ความสงสัยยังเกิด ในทางกฎหมายการไม่รับพิจารณาเป็นเรื่องถูกหรือไม่ต้องระวัง เพราะศาลไม่ใช่พระเจ้า ศาลก็ผิดได้"


 


รศ.ดร.วรเจตน์ ยังกล่าวอีกว่า จากสรุปคำวินิจฉัยเหตุผลที่ไม่รับพิจารณาคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี 2 ประการหลัก คือคำร้องไม่ชัด และไม่เป็นไปตามข้อกำหนดรัฐธรรมนูญ


จากที่อ่านคำร้องแล้วนั้น ไม่ว่าใครหากไม่อ่านมั่ว หรือเป็นคนมีสติจะอ่านเข้าใจว่าคำร้องดังกล่าวพูดว่าอย่างไร แสดงว่าสู้คดีทางศาลได้ ส่วนศาลเพียงดูว่ามีพฤติการณ์ และไปพิสูจน์ต่อ โดยศาลสามารถเรียกข้อมูลตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานเอกสาร การชี้แจงจากทุกฝ่าย หรืออื่นๆ


 


"ความจริงจะปรากฏในศาล นายกฯก็จะพิสูจน์ความจริงศาลต้องเปิดโอกาสให้พิสูจน์" นักกฎหมายจากรั้ว มธ.กล่าว


 


ส่วนกรณีที่ระบุว่าคำร้องไม่เข้าเกณฑ์ เมื่ออ่านแล้วก็ไม่พบว่าไม่เข้าเกณฑ์ข้อไหน กลายเป็นสรุปคำวินิจฉัยของศาลต่างหากที่ไม่ชัด เพราะไม่ได้ระบุว่าไม่เข้าเกณฑ์ตรงไหนอย่างไร ในคำร้อง มีทั้งชื่อ ข้อกล่าวหา หรือแม้แต่การบรรยายพฤติการณ์


 


อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.วรเจตน์ กล่าวต่อว่า ยังไม่เห็นคำพิจารณาเต็มของศาลรัฐธรรมนูญ และการให้เหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากว่าเขียนอย่างไร คือแค่ข้อสรุปการพิจารณาที่มียังไม่ชัดเจน


 


ทั้งนี้ หากพิจารณาจากคำวินิจฉัยเต็มแล้วศาลระบุว่า เกณฑ์ของคำร้องต้องมีลักษณะอย่างไร หากต้องชี้หลักฐาน เช่น เวลาต่างๆ หรือการกระทำที่ชัดเจนนั้นจะเป็นเรื่องยากเพราะไม่มีมนุษย์หน้าไหนทำได้ หรือบรรยายคำร้องแบบนั้นได้ เพราะเป็นวิธีการพิจารณาแบบอาญาเพื่อเอาคนเข้าคุก


 


"มาตรา 209 จะเป็นหมันทันที และต่อไปจะใช้ไม่ได้ ก็ให้ลบออกไปเสียจากรัฐธรรมนูญ เพราะหากเอาเกณฑ์ที่ใช้กับการพิจารณาเพื่อเอาคนเข้าคุกมาใช้ มาตรานี้ก็ใช้ไม่ได้ และถ้าใช้ไม่ได้ ควรจะมีศาลรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ และมีไปทำไม"


 


ถึงจุดเปลี่ยนสังคม ประชาชนกำลังหมดกลไกตรวจสอบ


 


รศ.ดร.วรเจตน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กลไกตรวจสอบนายกฯแทบไม่มีเหลือแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายทางสภา ซึ่งต้องใช้เสียง ไม่ต่ำกว่า 200 เสียง ฝ่ายค้านถึงรวมทั้งหมดก็ไม่ครบ


 


การฟ้องคดีอาญากับศาลฎีกาก็ต้องมีข้อกล่าวหาที่ชัดเจน หลักฐานต้องชัดมากเพราะเป็นการเอาโทษเพื่อเข้าคุก ทางนี้จึงเป็นไปได้ยากมาก


 


ส่วนกรณีการตรวจสอบบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้ ก็มีการตั้งประเด็นว่าศาลรัฐธรรมนูญบิดเบือนการพิจารณาคดี โดยมีประสบการณ์จากการรอดพ้นความผิดในการซุกหุ้นครั้งแรกของนายกฯ ปกติคดีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปราการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ชี้ว่ามีมูล ทุกคดีมีความผิดทั้งหมด มีคดีของพ.ต.ท.ทักษิณที่ไม่ผิด


 


การยื่นฟ้องโดยตรงแบบที่ 27 ส.ว. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญก็โดนปิดไปแล้วเช่นกัน จากการไม่รับพิจารณาเมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา


 


อีกทางที่ยังเหลือคือสิ่งที่นักศึกษากำลังทำได้แก่วิธีล่า 50,000 ชื่อเพื่อยื่นถอดถอนนายกฯต่อประธานวุฒิสภา แต่ก็ต้องผ่าน ปปช.ซึ่งยังไม่มีอยู่ดี ส่วนวุฒิสภาเองก็กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่ จึงเป็นวิธีการที่มีเส้นทางขรุขระมากและต้องใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ไม่รู้ว่าสถานการณ์จะสันติถึงตอนนั้นหรือไม่


 


"ไม่รู้ว่าจะฝากความหวังได้หรือไม่ การไม่รับการรักษาระบบสันติโดยปิดทางออกสุดท้ายของประชาชนไปแล้ว ต่อไปถ้าประชาชนได้รับข้อมูลซึ่งตอนนี้กำลังมีมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่รู้ว่าจะทนต่อไปได้หรือไม่"


 


แก้วสรร รับหมดปัญญาร่างคำร้องใหม่


 


นายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กรุงเทพฯและหนึ่งใน 27 ส.ว.ที่เข้าชื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบคุณสมบัตินายกฯ ระบุว่า ข้อกล่าวหาที่ยื่นต่อศาลฯมีความชัดเจน แต่ตัวศาลเองชัดหรือไม่ว่าทำไมไม่รับพิจารณา เพราะมีการระบุชื่อ พยานหลักฐานและพฤติการณ์ในคำร้องแล้ว อีกทั้งเคยมีแบบอย่างของคดีที่คล้ายกันแล้วที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา


 


27 ส.ว.จึงหารือและมีมติว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นถูกต้อง ส่วนการที่ศาลรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ยื่นคำร้องใหม่นั้นเห็นว่าเป็นทางเลือกที่เป็นไปไม่ได้ จึงขอยุติการใช้สิทธินี้


 


นายแก้วสรร ระบุอีกว่า การไม่รับพิจารณาของศาลฯดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่จะสามารถคลายความร้อนของการชุมนุมบนท้องถนนได้ เพราะระบบตรวจสอบได้เริ่มทำงาน หากไม่รับพิจารณาโดยไม่ระบุว่าคำร้องไม่ชัดเจนตรงไหนก็ร่างคำร้องใหม่ไม่ออก ยิ่งจะให้ระบุในคำร้องว่ากระทำอะไรตรงไหนเวลาใดให้ชัดเจนก็หมดปัญญาเพราะไม่ใช่นักสืบ และศาลมีอำนาจตรงนั้นให้กระจ่าง เพราะเรียกทุกฝ่ายมาตรวจสอบได้ นายกรัฐมนตรีจะบอกต่อศาลว่าลูกฉลาดบริหารบริษัทจนรุ่งเรืองก็ว่าไป


 


ฝากนิติศาสตร์ระดมสมองแก้


 


"ในโลกทุนนิยม ปล่อยให้มีนอมินีเต็มไปหมด มีผลประโยชน์ทับซ้อนทุกจังหวัดต่อไปก็ชิบหายกันหมด การถือหุ้นต้องดูอำนาจครอบงำ อย่างบริษัทกุหลาบแก้วจดทะเบียน 400 ล้าน บาท แล้วเอาเงิน 20,000 ล้าน บาท มาจากไหร่ ก็จาก เทมาเซ็กของ ประเทศสิงคโปร์


"หากไม่ดูอำนาจที่แท้จริงเอกราชก็อยู่ไม่ได้ ฝากนิติศาสตร์ช่วยระดมสมอง เสนอกฎหมาย ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ร่างไม่เป็น ก็ล่า 50,000 ชื่อ ยึดกฎหมายไปเลย เป็นด่านการรบทางปัญญาด่านสุดท้าย


 


"ตอนนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ บริษัทประกันภัย ต่างชาติก็มาซื้อหมดแล้ว การขายบิ๊กล็อตครั้งนี้ต้องบอกว่าคือกระบวนการที่ทำให้สิ้นชาติ ทุนนิยม มีทั้งดีทั้งเลว แต่ต้องหมุนเงินเข้าประเทศ การที่ปล่อยให้มีการถือหุ้นโดยต่างประเทศหมด ต่อไปเศรษฐกิจประเทศเราก็จะไม่มีอะไร ยิ่งหากซ้ำด้วยการทำเอฟทีเอ เมื่อธนาคาร บริษัทประกัน โรงงานเป็นของต่างชาติหมด เอสเอ็มอี ก็ตาย สิ่งที่เกิดไม่ใช่การที่ ทักษิณ โกงหรือไม่โกง แต่คนไทยจะหมดตัวตน ทุกคนจะกลายเป็นลูกจ้างหมด คนไทยจะเจอการรับสมัครงานโดยไม่จำกัดวุฒิ ที่ทำตอนนี้คือไม่ใช่คิดเรื่องทุจริต แต่คือการกู้ชาติกู้แผ่นดิน" นายแก้วสรร กล่าวทิ้งท้าย


 


 


หมายเหตุ เวทีเสวนา มีผู้ร่วมการเสวนาได้แก่ นายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กรุงเทพ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net