Skip to main content
sharethis



นายอาริ อะ อายุ 62 ปี อาสาสมัครจากบ้านลูโบะกาเยาะ ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส


 


นับจากนี้ไป ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่ถูกละเลยจากการได้รับการเยียวยารักษาทั้งแผลกายและใจ เมื่อมีอาสาสมัครจากโครงการส่งเสริมบทบาทปอเนาะและอาสาสมัครเพื่อการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามามีบทบาทเยียวยาในแบบชาวบ้านกับชาวบ้าน


 


โครงการนี้เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยคณะทำงานประสานชุมชนเพื่อสนับสนุนภารกิจประธาน คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) หรือ กยต.


 


เป็นการเยียวยาในรูปแบบที่ให้สถาบันปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 71 แห่ง เป็นศูนย์กลางที่เรียกว่า ศูนย์ปฏิบัติงานเยียวยาชุมชน แบ่งออกเป็น 10 เครือข่าย เรียกว่าเครือข่ายฟื้นฟูเยียวยาชุมชน 3 จังหวัด และมีอาสาสมัครประจำปอเนาะละ 3 คน เรียกว่า อาสาสมัครเยียวยาชุมชน รวมอาสาสมัครทั้งหมด 210 คน โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 10 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2549


 


"จากนี้ไปปอเนาะจะต้องกลายเป็นม้าเร็วที่ออกเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและอาสาสมัครจะเริ่มทำงานทันที โดยมี 3 กลุ่มที่ต้องเยียวยา คือกลุ่มที่ภาครัฐทำการเยียวยาไปแล้ว กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบรายเก่าที่ตกสำรวจ และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบรายใหม่" นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะทำงานชุดนี้ กล่าวกับโต๊ะครูและผู้บริหารปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามทั้ง 70 แห่ง และอาสาสมัครที่เข้าร่วมประชุมเพื่อซักซ้อมการทำงานที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2549 ที่ผ่านมา


 


นายอาริ อะ อายุ 62 ปี อาสาสมัครจากบ้านลูโบะกาเยาะ ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส กล่าวอย่างเปิดใจว่า เหตุที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครในโครงการนี้ก็เพราะว่า ได้สังเกตเห็นว่า คนที่เดือดร้อนยังไม่ได้รับการดูแล ไม่ว่าจะเป็นลูกๆ ของคนที่ตายจากเหตุการณ์ไม่สงบหรือเมียของเขา ถ้าไม่เข้าไปช่วยดูแล ก็ไม่มีใครเข้าไปดูแล


 


"พอมีคนชวนเป็นอาสาสมัคร ผมก็ไม่ลังเล เพราะอยากจะช่วยเขา งานนี้มันสอดคล้องกับคำสอนของศาสนาอิสลาม ในเรื่อง "อิกรอมุลมุสลิมีน" หรือ การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร เขานับถือศาสนาอะไร จะเป็นพุทธหรือมุสลิม ถ้าเดือดร้อนก็ต้องช่วย


 


"การช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนตามคำสอนทางศาสนา ยังเป็นการประกอบศาสนกิจด้วย ศาสนาไม่ได้สอนให้ช่วยเฉพาะมุสลิมอย่างเดียวเท่านั้น ในสมัยศาสดาของอิสลามก็มีประวัติศาตร์ว่า แม้แต่คนที่ช่วยหมาบาดเจ็บ ก็ยังได้เข้าสวรรค์เลย


 


ศาสนาอิสลามยังบอกอีกว่า คนที่ช่วยเหลือคนที่เดือนร้อน จะได้รับผลบุญยิ่งกว่าการ "เอียะติกาฟ" (การลุกขึ้นปฏิบัติศาสนกิจในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน) เป็นเวลา 10 ปี" อาริ กล่าวด้วยความเชื่อมั่นในคำสอนของศาสนาอิสลาม


 


อาริ บอกอีกว่า ในการช่วยเหลือเยียวยา แม้ว่าไม่มีเงินมาก เราก็ไปเยี่ยมไปช่วยในทางอื่นได้ ถ้าเกิดมีการสูญเสียรายใหม่เกิดขึ้น สำหรับผมจะไม่เข้าไปทันที เพราะเราะไม่รู้ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร เขาอาจจะมีคู่กรณีหรือศัตรูอยู่แถวนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้นจะให้ญาติหรือตัวแทนมาที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายสอบถามเขาอีกทีหนึ่ง


 


"หลังจากนี้ ผมจะกลับไปเยียวยาคนที่ได้รับควมเดือดร้อนในหมู่บ้านทันที จากเดิมก็ช่วยอยู่แล้ว คือหลานของผมเอง มี 4 คน เพราะพ่อเขา คือลูกเขยของผม เขาถูกยิงตาย มาประมาณ 1 ปีกว่าแล้ว ตอนนี้แม่เขาดูแลอยู่ทั้ง 4 คน จะให้แม่เขาดูแลอยู่คนเดียวก็ไม่ไหว เราต้องไปช่วยด้วย" อาริกล่าว


 


ด้านอาสาสมัครสาวรายหนึ่ง บอกว่า ตนมาจากบ้านตันหยงลีมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เป็นหมู่บ้านที่เกิดเหตุฆ่า 2 นาวิกโยธิน ซึ่งมีคนที่ถูกจับไปหลายคน บ้างก็เป็นผู้หญิง แม่ว่าตอนนี้จะได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่เราก็อยากเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา โดยเฉพาะลูกๆ ของเขา เขาจะรู้สึกอย่างไร ในเมื่อแม่ของเขาถูกตำรวจจับ เราก็อยากจะไปปลอบเขา"


 


นั่นเป็นเพียงเสียงส่วนหนึ่ง จากเหล่าอาสาสมัครเยียวยาชุมชนที่ยอมเสียสละเวลาและความสุขส่วนตัวเพื่อพี่น้องที่ได้รับผลกระทบ ด้วยเหตุที่ต้องการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่นี่คือความหวังที่จะได้เห็นสันติสุขมิใช่หรือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net