Skip to main content
sharethis

ณรรธราวุธ เมืองสุข
สมศักดิ์ หุ่นงาม

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


thumb_top2.jpg


           สถาบันปอเนาะ หรือโรงเรียนปอเนาะ คือสถาบันสอนศาสนาอิสลามที่อยู่คู่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาช้านาน รองรับเยาวชนมุสลิมเข้ามาอบรมบ่มเพาะตามวิถีอิสลามก่อนจะออกไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีคุณภาพ  แม้ช่วงเวลาหนึ่งสถาบันปอเนาะจะถูกเพ่งเล็งจากภาครัฐและบุคคลภายนอกว่าเป็นแหล่งซ่องสุมของกลุ่มแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  แต่กระนั้น ปอเนาะก็ยังดำเนินบทบาทความเป็นศูนย์กลางของชุมชนไม่เปลี่ยนแปลง


        เรื่องความไม่เข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของปอเนาะ กลายเป็นเรื่องเรื้อรังยากเกินเยียวยา หลายครั้งที่เกิดเหตุความรุนแรงขึ้นในพื้นที่ เจ้าหน้าที่รัฐส่งสายตาแฝงความสงสัยเข้ามาสู่ใจกลางของปอเนาะ นับเป็นสิ่งทำร้ายความรู้สึกของชุมชนและโต๊ะครูอยู่เสมอ 


        เมื่อปอเนาะกลายเป็นภาพในมุมมืด บทบาทที่สำคัญอยู่นอกเหนือความเข้าใจของคนภายนอก จึงถึงเวลาที่ปอเนาะออกมาแสดงบทบาทให้สังคมประจักษ์


      "โครงการส่งเสริมบทบาทปอเนาะและอาสาสมัครเพื่อการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาล่าสุดโดยคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กยต.) มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบคือ คณะทำงานประสานชุมชนเพื่อสนับสนุนภารกิจประธาน กยต. จึงเป็นโครงการแรกและโครงการเดียวในขณะนี้ ที่ใช้ปอเนาะเป็นศูนย์กลางฟื้นฟูจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรง 


         การประชุมครั้งแรกที่โรงแรมซีเอสปัตตานี เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา จึงคลาคล่ำไปด้วย นักวิชาการท้องถิ่น องค์กรพัฒนาท้องถิ่น เจ้าของปอเนาะต่างๆ โต๊ะครู อุสตาซ และผู้นำชุมชนมากมาย ประเด็นหลักของการประชุมคือ ซักซ้อมความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของปอเนาะต่อโครงการนี้ให้กับเจ้าของปอเนาะและโต๊ะครู


thumb_punday.jpg


          นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะทำงานกล่าวว่า จากนี้ไปปอเนาะจะต้องกลายเป็นม้าเร็วที่ออกเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ปอเนาะต้องขับศักยภาพความเป็นศูนย์กลางชุมชนของตนเองให้เด่นออกมา แบ่งหน้าที่ แบ่งเขตความรับผิดชอบ ในระยะเวลาของโครงการ 10 เดือนจะต้องได้รับผลสำเร็จตามเป้าหมาย


        "อาสาสมัครจะเริ่มทำงานตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป รู้อยู่แล้วว่าในพื้นที่ของเขานั้นว่ามีคนที่ต้องดูแลเยียวยาอยู่บ้านไหน ชื่ออะไร รายชื่อบางส่วนให้ไปแล้ว โดยมีกลุมผู้ที่ต้องเยียวยา 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ทางภาครัฐทำการเยียวยาไปแล้ว แต่ทางปอเนาะต้องเข้าไปดูว่าเขายังขาดเหลือสิ่งใด จิตใจถูกฟื้นฟูได้รับผลสำเร็จหรือยัง เชื่อว่าความเป็นชุมชนเดียวกัน ย่อมจะเข้าใจสภาพจิตใจของกันและกันมากกว่าภาครัฐ และกลุ่มที่สองคือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบรายเก่าที่ตกสำรวจ ซึ่งเชื่อว่ายังคงตกหล่นอยู่ในพื้นที่ กลุ่มนี้เราต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือ โดยด่วน และกลุ่มสุดท้ายซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของคณะทำงานจากนี้ไปคือ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบรายใหม่ จากนี้ไป มีความสูญเสียหรือผลกระทบเกิดขึ้นที่ไหน เราต้องเป็นม้าเร็วที่ต้องไปถึงเป็นคนแรก และปฎิบัติการณ์การเยียวยาอย่างเร่งด่วน" นายแพทย์พลเดชกล่าว


        ประธานคณะทำงานกล่าวต่อไปว่า จากนี้ไปปอเนาะต่างๆต้องแบ่งความรับผิดชอบ ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายปฎิบัติ ชุดหนึ่งประสานงานด้านนโยบายกับทางส่วนกลาง อีกชุดหนึ่งจะเป็นฝ่ายปฎิบัติ ออกไปเยี่ยมบ้านผู้ได้รับผลกระทบเดือนละไม่ต่ำกว่า 1 ครั้ง เมื่อมีครั้งที่หนึ่งก็ต้องมีครั้งที่ 2 และ 3 ต่อเนื่องกัน  คาดว่าตลอดโครงการนี้ จะมีคนที่ได้รับการเยี่ยมบ้าน และทำการเยียวยาไม่ตำกว่า 1,000 คน คน การเข้าไปเยี่ยมคือการเข้าไปพูดคุย สอบถามสารทุกข์สุกดิบ ปลอบขวัญและให้กำลังใจ สร้างความรู้สึกเป็นเพื่อนกับเพื่อนหรือพี่กับน้องเกิดเป็นความรู้สึกผูกพัน ซึ่งความผูกพันเอื้ออาทรเหล่านี้คือ "ทุนสังคม" 


        "คล้ายกับเรากำลังจะฟื้นทุนทางสังคมขึ้นมาอีกครั้ง จากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทำให้ทุนทางสังคมอยู่บนรากฐานของความไม่ไว้วางใจ บางส่วนก็ถูกทำลายไป ที่ผ่านมาเหตุการณ์มันทำให้ความเชื่อถือระหว่างใจห่างกัน เริ่มระแวง ผู้ได้รับการเยียวยาจะถูกชักชวนมาร่วมทำกิจกรรมกลุ่ม พูดคุยกันกับผู้ได้รับการเยียวยาเหมือนกัน จากนี้ไปคนเหล่านี้จะกลายเป็นอีกแรงหนึ่งที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบรายใหม่ๆ กลายเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในที่สุด" นายแพทย์พลเดชกล่าว


      ส่วนเรื่องที่อาจจะสร้างความเข้าใจผิดให้กับกลุ่มแนวร่วมก่อความไม่สงบนั้น นายแพทย์พลเดชกล่าวว่า คงอันนี้ห้ามไม่ได้เลยแต่เราต้องมีกติกา แสดงจุดยืนอันเป็นกลาง คุณจะสู้คุณก็สู้ไป เรื่องความมั่นคงจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว


         "เรามีหลักปฏิบัติ 5 ข้อ ที่ต้องยึดมั่น จะอยู่ด้านหลังบัตรประจำตัวอาสาสมัครทุกคน  เช่น การดำรงความเป็นกลางไม่สนับสนุนความรุนแรง มุ่งมั่นช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและสนับสนุนการเยียวยาจากทุกหน่วยงาน ยึดมั่นการทำงานเพื่อเพื่อนมนุษย์โดยไม่หวังผลตอบแทน และจะขออยู่เบื้องหลัง ไม่มุ่งตรวจสอบหรือช่วงชิงผลงานจากผู้อื่น แค่นี้ก็ชัดเจนแล้วว่าเรามีจุดยืนอย่างไร" 


       การนำปอเนาะมาเป็นหลักในโครงการดังกล่าว เหมือนเป็นการฟื้นฟูความสามัคคีขึ้นในชุมชนอีกครั้ง การช่วยเหลือซึ่งกันและกันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชน เมื่อมีชุมชนเข้มแข็งอยู่รอบปอเนาะปอเนาะก็จะเข็งแรงไปด้วยกัน เท่ากับเป็นการฟื้นคืนศักดิ์ศรีปอเนาะขึ้นมาอีกครั้ง


thumb_pantu.jpg


       "มันคือการเยียวยาทั้งเชิงปัจเจกและสังคม  ที่ผ่านมาภาครัฐมองเชิงปัจเจกอย่างเดียว ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่หากมองในเชิงสังคม ศักยภาพของปัจเจกจะออกมาเอง สร้างความเข้มแข้งให้เกิดขึ้นกับจิตใจผู้สูญเสีย การนำคนในปอเนาะมาเป็นเสาหลักของการทำงาน เพราะคนเหล่านี้คือผู้ที่ตกผลึกทางความคิด ทั้งปอเนาะดั้งเดิมและปอเนาะยุคใหม่ มีความน่าเชื่อถือกับผู้คนในชุมชนทั้งสิ้น ชุมชนเขารู้ว่า ปอเนาะสำคัญต่อเขาอย่างไร ก็เราควรปล่อยให้เขาเยียวยาแก้ปัญหากันเอง" ไพฑูรย์ สมแก้ว หนึ่งในคณะทำงานจากส่วนกลางบอกกับเรา พร้อมกับกล่าวย้ำว่า


         "ต่อไปใครจะมาดูถูกปอเนาะต้องคิดหน้าคิดหลัง เพราะปอเนาะจะร่วมเป็นเครือข่าย  จาก 300 กว่าปอเนาะในพื้นที่ 3 จังหวัด ขณะนี้มาร่วมกับคณะทำงานแล้ว 70 ปอเนาะ และเมื่อโครงการดำเนินไปจะมีเข้ามาเพิ่มอีกอย่างแน่นอน เครือข่ายปอเนาะมันจะมีความหมายกันหลายอย่าง 1.เป็นเครือข่ายของสถาบันสังคมที่เรียกว่าปอเนาะ 2. เป็นเครือข่ายระหว่างผู้บริหาร 3. เครือข่ายระหว่างครูอุสตาส 4. ระหว่างอาสาสมัครกับอาสาสมัคร เข้าก็เป็นเพื่อนกัน เครือข่ายพวกนี้จะมีความเข็งแรงมาก ต่อไปเวลาเรามีโครงการพัฒนาเราก็สามารถพัฒนาโดยใช้คนกลุ่มนี้ได้เลย "


thumb_saute.jpg


        นายสายุตี  หะยีตาเห หัวหน้าฝ่ายวิชาการโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลาม อำเภอปานาเระ จังหวัดปัตตานี หนึ่งในตัวแทนปอเนาะที่เข้าร่วมโครงการเปิดใจว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากโครงการหนึ่ง มีหลักยึดคือการช่วยผู้ที่ประสบกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้  ถึงแม้ว่างบประมาณจะน้อย แต่ความร่วมแรงร่วมใจจากปอเนาะและชุมชนสำคัญกว่า ซึ่งไม่ว่าประชาชนผู้ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ทางปอเนาะก็ต้องช่วยเหลืออยู่แล้ว


       "ตามหลักศาสนาอิสลามก็สอนให้ช่วยเหลือผู้ที่ยากไร้และลำบากกว่าอยู่แล้ว และยิ่งมีโครงการดีๆที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนถือว่าดีมาก" นายสายุตีเปิดใจ


        นายสายุตี ยังบอกอีกว่าการมีโครงการนี้ เหมือนเป็นการเสริมบทบาทของโรงเรียนปอเนาะให้กลายเป็นสวัสดิการสังคม ซึ่งในอดีตโรงเรียนปอเนาะก็เคยมีบทบาทเช่นนี้อีกแล้วเพราะมีความพร้อมหลายอย่าง เช่น ความเป็นศูนย์กลางชุมชน ซึ่งจากนี้ไปก็จะฟื้นคืนบทบาทหน้าที่นั้นขึ้นมาอีกครั้ง และครั้งนี้จะทำให้ดีที่สุด เพื่อความสันติสุขจะได้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งนี้


     ซึ่งเราก็ได้แต่หวังว่า ความฝันของอาจารย์จะเป็นจริงขึ้นมาในสักวันหนึ่ง...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net