Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ภาพนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่เห็นจนเป็นที่ชินดา


 


 


1


หลวงพระบาง, สปป. ลาว


โดย สุทธิดา มะลิแก้ว


 


ดวงสะหวัน บุบผา วัย 60 ต้นๆ เป็นคนหลวงพระบางโดยกำเนิด ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมที่มีอายุนานถึง 72 ปีแล้ว เป็นบ้านที่ตกทอดกันมาจากครอบครัวตั้งแต่รุ่นคุณตาคุณยาย ทุกๆ เช้าป้าดวงสะหวัน ยังคงตื่นขึ้นมาแต่เช้าตรู่ใส่บาตรตามทำธรรมเนียมชาวพุทธและตามประเพณีที่ดีงามของชาวหลวงพระบางที่มีมาตั้งแต่แต่เดิม และด้วยว่าหลวงพระบางนั้นเป็นเมืองที่ยังคงไว้ในเรื่องของความงามทางด้านสถาปัตยกรรม ศิลปะ และจารีตประเพณี นั่นเองหลวงพระบางจึงได้เป็นเมืองที่ทรงคุณค่าและที่สนใจของผู้คน และในที่สุด UNESCO ได้ประกาศให้กลายเป็นเมืองมรดกโลกในปี 1995


 


นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชื่อของหลวงพระบางยิ่งเป็นที่สนใจของโลกมากขึ้น จนถนนหลายหลักที่ป้าดวงสะหวันใส่บาตรอยู่ทุกวันนั้น เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก


 


ป้าดวงสะหวันบอกว่า ใส่บาตรมาตั้งแต่ยังเล็กๆ และในอดีตนั้นมักจะใส่พร้อมๆ กับยายและแม่ ถึงวันนี้กิจกรรมนี้ก็ยังคงทำอยู่เป็นประจำมิได้ขาด และเนื่องจากหลวงพระบางนั้นเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยวัด เอาเฉพาะถนนสายหลักที่บ้านของป้าดวงสะหวันตั้งอยู่ซึ่ง ซึ่งมีความยาวประมาณไม่ถึง 2 กิโลเมตร ปรากฎว่ามีวัดถึง 11 วัด ดังนั้น ทุกๆ วันจะมีพระและสามเณรถึงกว่า 200 รูปมาบิณฑบาตอยู่หน้าบ้าน ภาพพระสงฆ์ในจีวรเหลืองนับร้อยเดินเรียงแถวกันมาบิณฑบาตในยามเช้านั่นเองที่สะดุดตานักท่องเที่ยวยิ่ง


 


วันนี้ก็เป็นเช่นทุกวัน ตอน 6 โมงเช้า ป้าดวงสะหวันเตรียมปูเสื่อและวางกระติ๊บข้าวเหนียวไว้ข้างตัว รอที่จะใส่บาตรเช่นเดิม แต่ว่าวันนี้ มีสิ่งหนึ่งที่เพิ่มเติมมาก็คือ การใส่บาตรในแต่ละเช้าจะมีนักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปเธอเอาไว้ด้วย แต่โดยลักษณะทั้งส่วนตัวและวิถีชีวิตโดยรวมของชาวหลวงพระบางที่มีลักษณะเรียบง่ายมาโดยตลอดแล้ว เธอไม่คิดว่านี่จะเป็นปัญหา พร้อมพูดอย่างใจเย็นและเข้าใจได้ว่า "พวกเขาชื่นชมในวัฒนธรรม"


 


ถึงแม้ป้าดวงสะหวันจะไม่คิดว่ามีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงมาก แต่เธอก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันเนื่องจากเมืองมรดกโลก เพระทุกวันนี้บ้านของเธอก็ได้กลายเป็นเกสต์เฮาส์ไปแล้ว แต่ก็ยังดีที่เธอเองยังอยู่ที่บ้านหลังเดิม ผิดกับเจ้าของบ้านอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้ย้ายออกจากเมืองไป จนเริ่มเป็นที่กังวลว่า ที่สุดแล้วชีวิตจริงๆ ของเมืองนี้จะอยู่ที่ไหน


 


เรื่องดังกล่าวนี้ก็ได้มีการกล่าวถึงไว้ในอารัมภบทของรายงานแผนการติดตามดูแลและทำให้มีคุณค่า (Plan de Sauvegarde et de Mise en Valeur) ของสำนักงานมรดกโลก หลวงพระบางก็ระบุไว้เช่นกันว่า "ปัจจุบันตัวเมืองมีการพัฒนาเศรษฐกิจท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ในพื้นที่เขตตัวเมืองเกือบถูกเปลี่ยนให้เป็นเขตปลูกสร้างโรงแรม และประชาชนก็โยกย้ายออกไปทีละน้อย ซึ่งตรงกันข้ามกับความมุ่งหวังของโครงการ"


 


อ้วน สิริสัก ผู้อำนวยการสำนักงานมรดกโลกก็เห็นเช่นเดียวกัน "ผลกระทบส่วนหนึ่งที่มีต่อวิถีชีวิตของประชาชนก็คือ หลายๆ คนได้เอาบ้านให้คนอื่นเช่าและต้องย้ายออกไปอยู่นอกเมือง"


 


แน่นอนชาวหลวงพระบางเองนั้น อาจมองไม่เห็นสิ่งเป็นกระทบในทางลบ เนื่องจากยินดีกับความเจริญและโอกาสของการทำรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น แต่ผู้ที่เฝ้าจับตามองอยู่หลายๆ ส่วนมองว่า มีบางอย่างกำลังสั่นคลอนวัฒนธรรมหลวงพระบางอยู่


 


บุนเที่ยง สุลีวัน รองผู้อำนวยการอินเตอร์-ลาว ทัวริซึ่ม ประจำหลวงพระบางซึ่งคลุกคลีกับวงการการท่องเที่ยวมากว่า 20 ปี กล่าวว่า หากจะถามว่าวัฒนธรรมของชาวหลวงพระบางสูญหายไปแล้วหรือยังก็ตอบได้ว่า ยัง แต่แน่นอนว่า กำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างช้าๆ เรื่องนี้คงไม่ใช่เป็นเพราะเรื่องที่นักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างเดียว แต่เป็นเพราะคนที่อยู่ในเขตเมืองกำลังค่อยๆ ย้ายกันออกไปอยู่ข้างนอก ดังนั้นภาพของวิถีชีวิตแบบเดิมๆ จึงค่อยๆ หายไป


 


"คนพื้นที่นั้นเนื่องจากในอดีตอาจจะไม่เคยทำรายได้มากนัก และเมื่อมีคนมาติดต่อเช่าที่หรือเช่าบ้านทำธุรกิจก็เลยให้เช่าแล้วก็ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น" บุนเที่ยงกล่าวเห็นพ้องกับสิ่งที่อ้วนเองก็เห็น


 


ดวงเดือน บุนยาวง นักวิชาการ นักเขียนและนักคิดทางวัฒนธรรมจากเวียงจันทน์ก็เฝ้าจับตามองความเปลี่ยนแปลงของหลวงพระบางมาโดยตลอดตั้งข้อสังเกตว่า ไม่รู้ว่าประชาชนเข้าใจในเรื่องของความเป็นมรดกโลกมากน้อยแค่ไหน


 


"ประชาชนไม่ได้ทำอะไรนอกจากรอรับแขกจากต่างประเทศ ตัวเมืองเองก็เห็นมีแต่ร้านอาหาร ร้านอินเตอร์เน็ต การประดับประดาหน้าร้านก็เป็นตะวันตกไปหมด แถมมีป้ายโฆษณาเต็มไปหมดจนบดบังสถาปัตยกรรมที่คนควรจะไปเห็น" ดวงเดือนกล่าว


 


ไม่เพียงภาพของนักท่องเที่ยวที่รอถ่ายรูปพระสงฆ์ออกบิณฑบาตในยามเช้า แต่การทะลักเข้าของนักท่องเที่ยวก็ทำให้เกิดอาชีพขายของใส่บาตรในยามเช้าขึ้นด้วย เพราะมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่อยากจะมีประสบการณ์นี้ รวมทั้งต้องการเก็บภาพขบวนพระสงฆ์ในจีวรเหลืองอร่ามเป็นทิวแถวตามท้องถนน โดยที่แม้ว่าจะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธก็ตาม


 


ภาพการหาบของและเดินเร่ตามนักท่องเที่ยวให้นำของไปใส่บาตรนั้น ดูแล้วเป็นที่ขัดตาของชาวหลวงพระบางอย่างมาก เพราะขัดกับความเชื่อที่ของการที่คนจะต้องมีจิตศรัทธา และเชื่อมั่นในพุทธศาสนาจึงมีการใส่บาตรเพื่อถวายเป็นภัตตาหารแด่พระสงฆ์ จากการพูดคุยชาวเมืองหลวงพระบางแท้ๆ จำนวนหนึ่ง บอกว่า "คนที่ขายของนั้นเป็นคนที่มาจากชนบท ข้ามมาจากอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ และการกระทำแบบนั้นเป็นการไม่มีมารยาท" บางคนถึงกับบอกว่า "บ่มีศักดิ์ศรี" หลายคนก็เกรงว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจผิดในเรื่องของวัฒนธรรมได้ว่าเป็นยัดเยียดให้คนใส่บาตร


 


ไม่ว่าจะจริงตามที่ชาวบ้านกังวลกันหรือไม่ก็ตาม ทว่าข้อมูลที่นักท่องเที่ยวแบบประหยัดหรือที่เรียกว่า "backpacker" ได้เขียนแนะนำเรืองหลวงพระบางลงไปในเว็บไซด์ต่างๆ นั้น มีหลายๆ คน แนะนำเพื่อนนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ว่าหนึ่งในกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดคือ Wake up early and watch the monk "rice-parade" ซึ่งในภาษาที่ใช้นั้นคล้ายกับว่านี่เป็นหนึ่งในการแสดงโชว์ทางด้านวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ไม่ได้คิดถึงความเคารพที่มีอยู่ในการใส่บาตรนั้นด้วย


 


ธารา กูจาเดอ (Tara Gujadhur) จาก SNV Netherlands Development Organization ซึ่งมาทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวหลวงพระบางในฐานะของที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมาเป็นเวลา 2 ปีนั้นเห็นว่า แม้ว่าเรื่องการปฎิบัติของชาวบ้านยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมาก และวัฒนธรรมก็ยังไม่หายไป แต่ว่าการใส่บาตรก็ดูจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว


 


"การตักบาตรดูเหมือนจะกลายเป็นโชว์มากขึ้น" ธารากล่าว และเพิ่มเติมอีกว่า เนื่องจากความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมหลายๆ ครั้งนักท่องเที่ยวก็ปฎิบัติเป็นที่รบกวนพิธีกรรม อย่างเช่น การถ่ายรูปและ Close-up ไปยังใบหน้าของพระ หรือการใช้แฟลช รวมทั้งบางครั้งก็มีรถท่องเที่ยวมาจอดให้ดูพระ โดยนักท่องเที่ยวนั่งอยู่ในรถซึ่งเท่ากับนั่งสูงกว่าพระ อันเป็นเรื่องที่ขัดประเพณีและไม่ใช้ความเคารพ


 


เช่นกันกับคนอื่นๆ ธาราเองก็ได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในระยะ 2 ปี ในทางรูปธรรมว่า มีการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการพัฒนาการท่องเที่ยว สิ่งที่เห็นอย่างหนึ่งก็คือ มีคนเข้ามาในเมืองหลวงพระบางมากขึ้น มีการค้าขายมากขึ้น มีร้านค้า ร้านอาหาร และ เกสท์เฮาส์มากขึ้น แต่ก็ทำให้โอกาสของการมีงานทำของคนเพิ่มขึ้น



ที่หลวงพระบางก็มีโคมไฟขายแต่คนละสไตล์กับฮอย อาน


 


กระนั้นก็ยังมีอีกภาพหนึ่งที่เรียกได้ว่าใหม่สำหรับวิถีชีวิตของชาวหลวงพระบาง นั่นคือภาพเด็กน้อยที่เดินขายของที่ระลึกให้กับชาวต่างชาติ เหมือนดังที่เห็นได้ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในเอเชีย มีสิ่งที่น่าสนใจก็คือ เด็กๆ พูดภาษาอังกฤษกันได้อย่างแคล่วคล่อง แต่ก็น่ากังวลว่านี่เองจะทำให้เสน่ห์การท่องเที่ยวหลวงพระบางลดลง


 


 "แน่นอน การกลายเป็นเมืองมรดกโลกทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่มีเรื่องที่เป็นข้อด้อยของการพัฒนา ซึ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้และรัฐบาลอาจจะยังไม่ได้คิดมากถึงผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว" ธารากล่าว


 


ดวงเดือนก็ได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้เช่นกัน "แน่นอนว่าผลดีที่เกิดขึ้นก็คือ พวกขายของ แต่ พวกงานฝีมือทั้งหลายที่ เขาขายได้มากขึ้นนั้น กลายเป็นว่าเขาต้องทำในปริมาณมากๆ แล้วลดคุณภาพ ลวดลายก็ทำง่ายๆ เพื่อจะทำได้เร็วๆ ปริมาณมากๆ อย่างนี้จะเป็นการไปทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่นไปหรือไม่" ดวงเดือนตั้งข้อสังเกต


 


ดวงเดือนยังกล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ช่วงบุญสงกรานต์ (ปีใหม่ลาว) นั้น แทนที่จะเป็นไปตามประเพณี ก็กลายเป็นการรับใช้การค้าไป กลายเป็นการประกวดเด็กสวยงาม และทำให้เด็กสาวตั้งแต่มัธยมต้นไปจนถึงมัธยมปลายเสียเวลาเรียนไปมากเพื่อเตรียมประกวดเป็นนางสงกรานต์


 



โปสเตอร์รณรงคืทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวเรื่องตักบาตร


 


"การที่มัวแต่รับใช้การท่องเที่ยว ที่สุดแล้วชาวหลวงพระบางก็จะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป" ดวงเดือนกล่าว


 


ฟรองซิส อองเจลมานน์ (Francis Engelmann) ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานมรดกโลก และที่ปรึกษาโครงการ "Quiet in the land" ก็มองเห็นเช่นกันว่า ไม่ใช่แต่ชีวิตของคนเท่านั้นที่เปลี่ยนไป ภายหลังจากจากเป็นเมืองมรดกโลก ปัญหาอีกส่วนหนึ่งในส่วนของวิถีชีวิตที่เห็นได้ชัดคือ ชีวิตทางศาสนา


 


"การศึกษาของพระสงฆ์และการปฎิบัติกิจของสงฆ์ค่อนข้างถูกรบกวน อย่างที่เราเห็นกันในเรื่องของการตักบาตรที่เริ่มเป็นประเด็น และพระหลายองค์เริ่มรู้สึกอึดอัดกับการฎิบัติของนักท่องเที่ยว ผมจะถอดความที่พระพูดกับผม เขาบอกว่า - เราคิดว่าเขาปฎิบัติกับเราเหมือนทำกับลิงในสวนสัตว์- ."


 


นอกจากนั้น อองเจลมานน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนั้นแล้ว เป็นส่วนของการศึกษาของหลวงพระบางที่เด็กหนุ่มๆ ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงเข้ามาบวชเพื่อมาศึกษาในวัดซึ่งก็เป็นไปตามประเพณีเดิม แต่เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามา สามเณรเหล่านั้นก็ใช้เวลาไปไม่น้อยในการไปพูดคุยกับนักท่องเที่ยว เพราะว่าพวกเขาอยากฝึกภาษาอังกฤษ


 



ฟรองซิส อองเจลมานน์ โชว์หนังสือที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ทำงานร่วมกับช่างภาพชื่อ ฮันส์ เบอร์เกอร์


 


เรื่องนี้ยืนยันได้จากภาพที่เห็นค่อนข้างจะชินตาในปัจจุบัน รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวประเภทราคาประหยัดได้ไปเขียนลงไปในเว็บไซด์ในการแนะนำเคล็ดลับการท่องเที่ยวในหลวงพระบางว่า "หากไม่รู้ทางหรือไม่อยากเดินทางคนเดียว ก็ให้เอาหนังสือท่องเที่ยวให้พระที่อยากรู้อยากเห็นดู (show your guidebook to curious monk)" ซึ่งหมายถึงว่าแล้วพระเหล่านี้ก็จะช่วยเอง


 


อองเกลมานน์ยังกล่าวต่อด้วยว่า ตอนนี้เข้าใจว่าในเมืองคงจะไม่ค่อยเหมาะเสียแล้วสำหรับพระสงฆ์ที่จะศึกษาธรรมะ และมีแนวโน้มว่าอาจจะต้องย้ายสถานที่เรียนธรรมะออกไปนอกเมือง และเมื่อรู้พระธรรมดีแล้วจึงค่อยมาจำวัดในเมือง


 


พระคุณเจ้าคำจันทร์ วีระจิตตะเถระ วัย 86 รองประธานสงฆ์ของลาว เจ้าอาวาแสนสุขาราม แม้ให้ความเห็นว่าชีวิตของสงฆ์ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก แต่ยอมรับว่ากังวลอยู่ไม่น้อยว่า จะมีการนอกรีตกนอกรอยของพระลูกวัด ดังนั้นในยามเย็น หากมีเวลาก็จะอบรมวินัยของพระอยู่เสมอๆ


 


 


0 0 0


 



 


2.


ฮอย อาน, เวียดนาม


 


 


 


 



ลักษณะบ้านแบบโบราณแท้ๆ หลังคาต่อกันเป็นพืด


 



 


"ทุกวันนี้มีคนเข้ามาที่ฮอย อาน มาก แต่ว่าฉันกลับขายของได้เงินน้อยลง" คิม จี (Kim Chi) วัย 50 ต้นๆ เจ้าของแกลอรี กล่าวอย่างเบื่อๆ


 


แกลอรีของเธอนั้นเปิดมาได้กว่า 12 ปีแล้ว โดยรับช่วงดูแลจากพ่อของเธอ เธอเองก็พอมีความรู้ด้านศิลปะบ้างเล็กๆ น้อยๆ ส่วนงานศิลปะในร้านเธอนั้น ส่วนหนึ่งเป็นภาพวาดโดยน้องชายที่เป็นจิตรกรที่อยู่ในโอจิมินห์ ซิตี และภาพวาดจากจิตรกรจากทั่วประเทศ


 


เธอบอกว่า ตอนที่ ฮอย อาน เพิ่งจะได้รับการประกาศเป็นเมืองมรดกโลกใหม่ๆ นั้นธุรกิจดีมาก เพราะคู่แข่งไม่มากนัก พอถึงตอนนี้ในเมืองเล็กๆ ขนาดนี้ แต่มีแกลอรีเกือบ 200 ร้าน


 



คิม จี กับแกลอรีของเธอ ที่ตอนนี้แกลอรีแบบนี้มีกว่า 200 ร้าน


 


กระนั้นเธอก็ยินดีที่ได้อยู่ในเมืองมรดกโลก เพราะว่าทำให้ความเป็นอยู่ของเธอดีขึ้น เนื่องจากบ้านหลังนี้เป็นของเธอเอง เธอจึงไม่ต้องเดือดร้อนมากที่จะต้องขายให้ได้มากๆ ในแต่ละเดือน ผิดกับบางคนที่เพิ่งเข้ามาเช่าที่ทำธุรกิจ บางคนอาจจะต้องจ่ายเดือนละประมาณ 1 ล้านด่ง (2,500 บาท)


 


ตวน หญิงสาววัย 30 ต้นๆ ที่มีสามีเป็นจิตรกร ก็ได้เปิดแกลอรีของตนเอง แต่ก็เช่นกันกับคิมที่มีการนำภาพจากจิตรกรจากทั่วประเทศมาขาย และเห็นเช่นเดียวกันว่า เมื่อ 3-4 ปีก่อนนั้นธุรกิจดีกว่านี้มากๆ


 


"ตอนนี้มีคนเข้ามาในร้านเยอะขึ้นจริง แต่พวกเขาก็ไม่ซื้อ ไม่รู้ว่าทำไม" เธอกล่าว


 


เช่นกันที่เธอเห็นโอกาสทางธุรกิจ เธอบอกว่าร้านของเธอเปิดทุกวัน ทุกวันนี้เธอกับสามีไม่เคยได้เดินทางด้วยกันอีกเลยเพราะจะต้องมีคนใดคนหนึ่งอยู่เฝ้าร้าน


 


ฮอยอาน ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกไปเมื่อปี 1999 ดูเหมือนการเป็นเมืองมรดกโลกนั้นจะเป็นที่ถูกใจของชาวฮอย อาน เพราะโดยลักษณะของชาวเวียดนามแล้ว เป็นพวกสนใจในเรื่องของการค้าขาย และ ฮอย อาน เองนั้นในอดีตตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16-17 นั้น เคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่รู้จักในชื่อ ไฟโฟ (Faifo) เป็นศูนย์กลางทางการค้าทางทะเล เป็นที่พกสินค้าที่มาจาก จีน ญี่ปุ่น โปรตุเกส เนเธอแลนด์ และอิตาลี ที่จะเข้ามาค้าขายในเอเชีย อาค์เนย์ ที่ทำให้นอกจากเมืองฮอย อานนั้นนอกจากจะเป็นเมืองที่ผสมผสานกันของหลายวัฒนธรรม อันสะท้อนได้จากสถาปัตยกรรมที่หลงเหลือแล้ว ยังเป็นเมืองค้าขายสำคัญด้วย


 


ดังนั้น การที่ผู้คนกลับเข้าในฮอย อาน มากมายอีกครั้งจึงเป็นที่ถูกกับลักษณะนิสัยของชาวเวียดนามเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นโอกาสทางการค้า มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เปลี่ยนจากอาชีพเดิมมาขายของที่ระลึกแทน ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่จะเห็น แกลอรี ร้านขายโคมไฟ และกระทั่งร้านขายสูท เต็มไปหมด


 


 



ถนนสายนี้ทั้งสายอุทิศให้แก้ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า สูทอย่างดีราคาถูกรับได้ใน 1 วัน


 


นอกจากการเปิดร้านขายของแล้วหลายๆ คน อาชีพที่ได้พลิกฟื้นคืนมาอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งกลายเป็นอาชีพในฝันของหนุ่มสาวหรือแม้กระทั่งคนที่รู้ภาษาต่างประเทศจำนวนไม่น้อย นั้นคือ อาชีพ ไกด์นำเที่ยว


 


จิ๋น (Chinh) ชายวัยปลาย 40 เป็นชาวฮอย อาน โดยกำเนิด ทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมาเกือบค่อนชีวิต ในที่สุดก็ได้ตัดสินใจลาออกจากจากอาชีพครูมาเป็นไกด์นำเที่ยวแทน ภายหลังจากที่ ฮอยอานได้เป็นเมืองมรดกโลกและนักท่องเที่ยวนั้นก็เข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาเที่ยวฮอย อาน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


 


ว่ากันว่าการเป็นครูนั้น เงินเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 1 ด่ง หรือ 2,500 บาท แต่การเป็นไกด์นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละภาษา แต่ภาษาที่แพงที่สุดคือ เยอรมัน จะตกเดือนละ 300 เหรียญ หรือ 12,000 บาท ส่วนภาษาอังกฤษนั้นต่ำสุดคืออยู่ที่ 200 เหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 8,000 บาท ก็นับว่าต่างกับอาชีพครูอยู่โข นี่ยังไม่รวมเงินที่ได้พิเศษจากการทิปของลูกค้าและเปอร์เซ็นต์จากร้านขายของอีกต่างหาก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กหนุ่มสาวที่นั่นหากไม่ได้มีกิจการของตัวเองแล้วก็จะคิดที่จะมีอาชีพไกด์กัน


 


สำหรับ เถ่า (Thao) หญิงสาววัยกลาง 20 ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับของโรงแรมมานาน 6 ปี แล้ว เป็นคนฮอย อาน โดยกำเนิด บอกว่า 3-4 ปีหน้านี้ มีนักท่องเที่ยวเยอะกว่านี้ ซึ่งลดลงเนื่องจาก ซาร์ และไข้หวัดนก


 


เถ่า เห็นว่า เรื่องดีสำหรับการที่ฮอย อาน เป็นเมืองมรดกโลกก็คือ สำหรับหนุ่มสาว เรียนจบแล้วก็ได้กลับมาทำงานที่บ้าน ได้อยู่กับพ่อแม่ เพราะมีธุรกิจบริการมากมายที่เกิดขึ้น เช่น การท่องเที่ยว การโรงแรม หรือร้านอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงแรมนั้นเธอบอกว่ามีเพิ่มขึ้นมากและโรงแรมที่มีอยู่แล้วก็มีการปรับปรุงทุกปี ส่วนรายได้นั้น หากเป็นโรงแรม 4 ดาวก็จะอยู่ประมาณ 200เหรียญ (8,000 บาท ต่อเดือน) สำหรับของเธอนั้นเป็นโรงแรม 3 ดาว รายได้เธอจึงอยู่ที่ 75- 100 เหรียญขึ้นอยู่กับช่วง low หรือ high season แต่เธอก็บอกว่า เพียงพอสำหรับเธอเนื่องจากเธออยู่กับพ่อแม่ ไม่ต้องเช่าบ้าน เป็นการหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเอง


 


"สำหรับคนทั่วไปก็ธรรมดา แต่ว่าคนรวยก็รวยขึ้น คนจนก็ยังจนอยู่นั่นแหละ" เถ่ากล่าว เมื่อถูกถามว่าฐานะของผู้คนที่นี่ดีขึ้นหรือไม่


 


เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า คนที่รวยก็เป็นนักลงทุนนั่นแหละ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจโรงแรมที่มีอยู่กว่า 70 แห่งนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นคนจากที่อื่น เช่น โฮจิมินห์ ซิตี้ ดานัง หรือจากต่างชาติ


 


สิ่งหนึ่งที่เถ่าบอกว่าเปลี่ยนแปลงไปและเธอก็ไม่ค่อยชอบที่จะเห็นนักก็คือ มีผู้หญิงออกไปกับชาวต่างชาติมากขึ้น หลายคนก็แต่งงานกับชาวต่างชาติไป บางคนถึงขนาดเลิกกับสามีไปแต่งกับชาวต่างชาติ และในส่วนของเมืองนั้นก็กลายเป็นการค้าขายมากขึ้น คนเดินตามขายของนักท่องเที่ยวจนน่าเบื่อ


 


"มีนักท่องเที่ยวบางคนต้องใส่เสื้อที่เขียนว่า No สิ่งนั้น สิ่งนี้เอาไว้ เพื่อบอกว่าไม่ต้องมาตาม เพราะยังไม่ต้องการซื้อ แล้วอีกอย่าง ในเมืองตอนนี้ก็มีแต่ของขายเต็มไปหมด จนบดบังสถาปัตยกรรมที่คนตั้งใจจะมาดู หรืออีกทีก็เรียกว่า การเป็นเมืองตัดเสื้อผ้าไปแล้ว" เถ่ากล่าวด้วยเสียงหนักแน่น


 


แน่นอนสิ่งที่เธอพูด ล้วนเป็นความจริงที่เห็นได้ชัด ใครต่อใครก็คิดกันแต่เรื่องค้าขาย ในขณะที่ลืมไปว่าเสน่ห์อีกส่วนหนึ่งของเมืองนั้นคือความผสมผสานกันอย่างกลมกลืนของวัฒนธรรมหลายชาติที่มีอยู่ที่นี่ที่ยังสะท้อนอยู่ในรูปแบบของสถาปัตยกรรม


 


โชคดีที่ทางฝ่ายรัฐบาลของเมืองฮอย อานเองก็ตระหนักถึงเรื่องนี้อยู่ และได้คิดหาหนทางว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้มีความสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม


 


0 0 0


 


 


 



3.


หลวงพระบาง VS ฮอย อาน


 






ตลาดมืด - หมายถึงขายกันตอนกลางคืนรวมผลิตภัณฑ์พื้นเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากชนเผ่า


 



 


UNESCO ได้ประกาศให้หลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลกด้วยคำจำกัดความของเมืองนี้ว่า หลวงพระบางนั้นเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นมากในเรื่องของการผสมกลมกลืนกันของสถาปัตยกรรมลาวดั้งเดิมและสถาปัตยกรรมสมัยอาณานิคมที่สร้างโดยชาวยุโรป รวมทั้งโดดเด่นในด้านการรักษาโครงสร้างทางด้านผังเมืองที่สามารถผสมกลมกลืนสองวัฒนธรรมนี้ได้อย่างดีเยี่ยม


 


ส่วนฮอย อานนั้น ได้รับการยกย่องในฐานะที่เป็นเมืองที่พิเศษในเรื่องของการรักษาตัวอย่างของเมืองท่าการค้าของเอเชียอาคเนย์สมัยศตวรรษที่ 15 -19 เอาไว้ได้อย่างดี แผนผังบ้านและถนนสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของทั้งคนท้องถิ่นและคนต่างชาติที่ทำให้รวมกันเป็นพื้นที่ที่เป็นมรดกโลกที่โดดเด่น


 


การประกาศเป็นมรดกโลกของหลวงพระบางนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่รับบาลลาวประกาศให้เป็นปีท่องเที่ยวด้วย (ท้ายปี 1995 กับต้นปี 1996) จึงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทะลักเข้าในหลวงพระบางที่มีประชากรในขณะนั้น (ปี 1995) เพียง 365,000 คนอย่างมากมาย โดยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 35,000 คน


 


นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาหลวงพระบางก็มีนักท่องเที่ยวมากขึ้นๆ ทุกวัน ในปี 2001 จากรายงานของสำนักงานมรดกโลกหลวงพระบางประชากรของทั้งจังหวัดหลวงพระบางอยู่ที่ 360,000 คน และเป็นประชากรที่อยู่ในเขตตัวเมือง 30,000 คน แต่ที่อยู่ในเขตอนุรักษ์มรดกโลกนั้นมีจำนวน 12,000 คน ในขณะที่ตัวเลขจากฝ่ายท่องเที่ยวบอกว่า ถึงปี 2005 ประชากรของจังหวัดหลวงพระบางทั้งหมดมี 400,000 คน และที่อยู่ในตัวเมืองมีอยู่จำนวน 80,000 คน ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 250,000 คน และมีนักท่องเที่ยวเป็น 3 เท่าของประชากรที่อยู่ในเขตมรดกโลก


 



วัดเซียงทองยังคงงดงามดังเดิม



ส่วนที่ฮอย อาน เริ่มขึ้นตั้งแต่ที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมรัฐบาลเวียดนามได้ประกาศให้ Hoi An มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ (National Relic) ตั้งแต่ปี 1995 แผนการที่จะบูรณะต่างๆ ก็ได้ทำก่อนหน้านั้นแล้ว และทางรัฐบาลเองก็มีแผนที่จะเสนอทาง UNESCO เพื่อให้ฮอยอานเป็นเมืองมรดกโลก และในที่สุดก็ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกในปี 1999 โดยพื้นที่นั้นมีคือเมืองโบราณที่มีเนื้อที่ 1 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ฮอย อาน นั้นมีพื้นที่สิ้น 16 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 80,000 คน อาศัยอยู่ในมรดกโลก 10,000 คน


 


จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาในฮอย อาน ในปี 1996 ภายหลังจากที่รัฐบาลเริ่มประกาศรับรองให้เป็นมรดกของชาติแล้ว ทำให้มีนักเที่ยวเข้ามาที่ฮอย อาน ถึง 132,946 คน เป็นชาวต่างชาติ 56,280 คน เทียบกับปี 1991 ที่มีนักท่องเที่ยวเพียง 3,410 คนเท่านั้น และภายหลังจากการเป็นเมืองมรดกโลกแล้วนักท่องเที่ยวยิ่งหลั่งไหลกันเข้ามาขึ้น จนถึงปี 2005 เพียงช่วง 4 เดือนแรกของปีก็มีนักท่องเที่ยวถึง 559,500 คน ในนั้นเป็นชาวต่างชาติ 145,615 คน


 


อ้วน สิริสัก ผู้อำนวยการสำนักงานมรดกโลก หลวงพระบาง แม้จะมองเห็นว่า มีผลกระทบบางประการที่เกิดขึ้นอย่างที่มีข้อกังวลกันที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น แต่ก็ยืนยันว่า เรื่องนี้ส่งผลดีให้กับชาวเมืองมากกว่า เพราะอย่างน้อย ที่เห็นได้ชัดก็คือ มีการบูรณะ บ้านเรือน เส้นทาง อาคารและศาสนสถานต่างๆ สิ่งที่ปรากฏก็คือ บ้านเมืองที่สวยงามขึ้น ถนนหนทางที่สวยงาม แม้กระทั่งเวียงจันทน์ก็มาดูเป็นตัวอย่าง นอกจากนั้นประโยชน์ที่ประชาชนในเขตมรดกโลกได้รับคือครอบครัวที่อยู่ตามริมทางก็สามารถเปิดร้านขายสินค้า ขายของที่ระลึก หรือแม้กระทั่งเปิดเกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร หรือโรงแรม และโอกาสของการทำงานของประชาชนก็มีมากขึ้นทำให้ไม่ต้องจากบ้านไปไกล


 


ภาพที่ชาวบ้านเห็นก็คือ หากสอบถามความเห็นชาวบ้านทั่วไปที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นแล้ว ส่วนใหญ่จะยินดีกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แม้กระทั่งคุณยายวัย 80 อย่างแม่เฒ่าผุย วิไลปะเสิด ที่อยู่นั่นมาตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสปกครองก็บอกว่า บ้านเมือง ถนนหนทางสวยขึ้นมาก ทางเข้าบ้านของตนที่เคยเป็นฝุ่น ตอนนี้ก็เป็นคอนกรีตแล้ว แต่กระนั้นก็ยืนยันว่า "เดี๋ยวนี้ไปไหนมาไหนคนก็เยอะ น่าเวียนหัว"


 


เจ้าของเกสท์เฮาส์อย่างวีระเดชา พิดอนง จิตรกรที่เปิดเกสต์เฮาส์คนแรกๆ ในหลวงพระบางมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว บอกว่า เมื่อก่อนนี้มีอยู่ไม่ถึง 10 แห่ง แต่ตอนนี้มีเกือบ 200 แห่ง การแข่งขันสูงมาก แต่เขาก็มองในภาพดีว่า "การแข่งขันย่อมทำให้เกิดการพัฒนา" ตอนนี้ธุรกิจเขาก็ยังไปได้ด้วยดี เขามีห้องพัก 12 ห้อง และกำลังคิดจะต่อเติม แต่กำลังอยู่ในระหว่างการรอนุมัติจากสำนักงานมรดกโลกอยู่


 


ผู้อำนวยการสำนักงานมรดกโลก ยังเล่าต่อถึงส่วนที่ดีที่เกิดจากการเป็นเมืองมรดกโลกก็คือ ในเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีหลายอย่างก็กลับคืบมา เช่นการแสดงพระลักษมณ์ พระราม (รามเกียรติ์) การแสดงดนตรีพื้นเมือง หรือศิลปะท้องถิ่น ที่เคยรับใช้ราชสำนัก แต่กระทำไม่ได้เมื่อสมัยปลดปล่อย หรือแม้กระทั่ง พิธีบาสี (บายศรี) เมื่อเปิดการท่องเที่ยว การแสดงเหล่านั้นก็กลับมาอีกครั้ง แม้กระทั่งคนที่เป็นนักฟ้อนรำ นักดนตรี หรือ แม้กระทั่งหมอบาสีก็ได้กลับมามีอาชีพอีกครั้งหนึ่ง


 


แม้จะดูดี แต่นั่นก็คงจะไม่ใช่คำตอบต่อข้อกังวล ที่ดวงเดือน บุนยาวง ตั้งคำถามในตอนต้น ถึงเรื่องที่จะเป็นกระทบกับวิถีชีวิตของชาวหลวงพระบาง นักคิดชาวเวียงจันทน์คนเดิมได้เสนอว่า ทางยูเนสโก น่าจะมีโครงการที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุนให้ชาวบ้านรักษางานฝีมือให้เป็นงานคุณภาพ และควรส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เน้นเป็นตัวอย่างสัก 2-3 อย่าง ช่วยให้คนที่นั่นได้ดำรงวิถีชีวิตแบบเดิมไว้ และควรมีหลักสูตรเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐและไกด์นำเที่ยว รวมทั้งปูพื้นให้เด็กได้รักในวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย


 


อ้วน สิริสัก กล่าวถึงประเด็นการจัดการของสำนักงานมรดกต่อเรื่องวัฒนธรรมว่า โดยภารกิจแล้วไม่ได้เป็นงานโดยตรง เนื่องจากที่ทางสำนักงานมรดกโลกต้องดูแลนั้นจะเป็นเรื่องของสถาปัตยกรรม และเรื่องของภูมิทัศน์ มากกว่า


 


แต่ก็ยังดีที่ทางหลวงพระบางเองนั้นก็ได้มีการประชุมส่วนงานที่เกี่ยวข้องกันอยู่เสมอถึงเรื่องการจัดการกับเรื่องของชีวิตและวัฒนธรรม อย่างกรณีของการใส่บาตรนั้น ในที่สุดทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายองค์กร คือแผนกข่าวสารและวัฒนธรรมหลวงพระบาง, องค์กร Lao Bhudhist Fellowship, โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวแม่น้ำโขง- เอดีบี, โครงการพัฒนาจากเนเธอร์แลนด์ SNV,สำนักงานมรดกโลก หลวงพระบาง, โครงการ Quiet in the Land, และ UNESCO ก็ได้ร่วมกันทำโปสเตอร์ เพื่ออธิบายเรื่องความสำคัญของการตักบาตร และหลักการปฎิบัติในการตักบาตรขึ้น มีข้อความด้านหน้าว่า " ช่วยเราเคารพประเพณีตักบาตร" (Help us respect the alms giving ceremony) โดยจัดทำเป็น 6 ภาษา คือ ลาว ไทย จีน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และอังกฤษ แล้วไปติดตามโรงแรม ร้านค้า ต่างๆ รวมทั้งแจกให้บรรดาไกด์นำเที่ยวเพื่อให้ใช้ในการแนะนำนักท่องเที่ยวด้วย


 


นอกจากนั้นทางกลุ่มนี้ก็มีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาว่า ให้พวกขายเครื่องใส่บาตรนั้นนั่งอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ใครที่ตั้งใจจริงจะไปตักบาตรก็ไปซื้อหาเอาเอง ส่วนเรื่องเด็กเดินเร่ขายของนั้น ก็ได้ก็คิดว่าคงจะเริ่มห้ามปรามด้วยเช่นกัน


 



นอกจากศึกษาธรรมะสามเณรยังเลือกที่จะฝึกอาชีพได้ด้วย


 


อองเจลมานน์ ได้อธิบายให้ฟังถึงความเป็นมาและการจัดการเกี่ยวกับเรื่องมรดกโลกของหลวงพระบางว่า ตอนที่สำนักงานมรดกโลกเตรียมเอกสารให้ UNESCO ก็พูดถึงเรื่องการคุ้มครองเฉพาะสถาปัตยกรรม และผังเมือง หรือการจัดการผังเมือง สำหรับเมืองนี้ที่สำคัญจริงๆ นั้น ไม่ใช่แค่เรื่องสถาปัตยกรรม แต่ยังมีเรื่องสิ่งแวดล้อม ดังนั้นที่สำคัญของเมืองนี้ก็คือ จะทำอย่างไรให้สถาปัตยกรรมสมดุลกับธรรมชาติ ซึ่งหมายถึง ต้นไม้ สวน ที่สำคัญมากก็คือ ผู้คน และ พื้นที่ชุ่มน้ำ ดังนั้นการคุ้มครองจึงไม่ใช่แค่ สถาปัตยกรรม แต่หมายถึงพื้นที่ต่างๆ ของเมืองด้วย ที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ UNESCO ไม่ได้รวมเอาสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ สิ่งที่จับต้องไม่ได้ หรือที่เรียกว่า intangible อยู่ในความคุ้มครองด้วย


 


"ดังนั้นบรรดาเพลง พิธีกรรม วัฒนธรรม หรือวรรณคดีต่างๆ อยู่นอกเหนือการตัดสินใจของ UNESCO ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่ายูเนสโกจะไม่สนใจ แต่ในช่วงแรกนั้นมันดูเหมือนว่าจะมากเกินไปที่เอาทุกอย่างทำทั้งหมด" ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานมรดกโลกกล่าว


 


นอกจากนั้นยังได้อธิบายเพิ่มเติม แต่ก็มีความไม่เข้าใจของคนอยู่ว่า มรดก (Heritage) คืออะไร ซึ่งจริงๆ ชื่อเรียกที่ถูกต้องน่าจะเรียกว่า การอนุรักษ์มรดก (the conservation of heritage) หรือ the conservation of the property of Luang Prabang ซึ่งหมายถึงทรัพยากรด้วย และถึงแม้ว่าทางสำนักมรดกโลกจะรู้ว่า เรื่องเพลง หรือวรรณกรรมจะเป็นเรื่องสำคัญ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากคิดว่าไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบ


 


"เรื่องนี้จะต้องไปอยู่ภายใต้แผนกวัฒนธรรมของจังหวัด ทว่ามักจะมีช่องทางในการทำงานที่ค่อนข้างจำกัด สำนักงานมรดกโลกนั้นได้รับเงินสนับสนุนจำนวนมากจากต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ในการบูรณะสิ่งที่เป็นสถาปัตยกรรม หรือโครงสร้าง เมื่อเทียบกับงบประมาณของแผนกวัฒนธรรมที่มีเพียงน้อยนิดในการอนุรักษ์สิ่งที่เป็น intangible แต่ว่าหากเรามีเมืองที่สวยงาม ที่ว่างเปล่า ไม่มีชีวิตแบบเดิมๆ แล้วจะมีความหมายอะไร และนี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งของที่นี่"


 


ส่วนการจัดการปัญหาที่เป็นข้อกังวลนั้นเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเข้ามาสั่นคลอนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมนั้น อองเจลมานน์กล่าวว่า เรื่องการทำโปสเตอร์ก็เป็นส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็คือโครง Quiet in the Land ซึ่งได้รับทุนจากมูลนิธิจากอเมริกาที่รวมรวมเอานักการศึกษาและศิลปิน 35 คนจากกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและจากประเทศอื่นๆ มาทำงานกับคนในชุมชนเพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องของความเกี่ยวข้องกันระหว่างการอนุรักษ์วัฒนธรรม และการปรับตัวทางวัฒนธรรมกับความท้าทายที่เข้ามาในศตวรรษที่ 21


 


"ตอนนี้เราได้ทำงานร่วมกับช่างภาพคนหนึ่งชื่อ ฮันส์ เบอร์เกอร์ ที่ไปเก็บภาพและข้อมูลพวกพิธีกรรม วัฒนธรรม ต่างๆ ในหลวงพระบาง มีด้วยกัน 2 เล่มๆ หนึ่งจะเป็นฉบับง่าย เพื่อใช้สอนเด็กประถม และมัธยมต้น นอกจากนั้นยังมีอีกเล่มหนึ่งที่อยู่ในโครงการที่ใช้สำหรับชาวต่างชาติ"


 


ส่วนที่ฮอย อาน แน่นอนว่าการเป็นเมืองมรดกโลกนั้นสร้างประโยชน์เกิดขึ้นแน่กับประชาชนทั้งที่อยู่ในเขตและนอกเขตเมืองมรดกโลก หมู่บ้านมีการผลิตงานฝีมือต่างๆ ที่นอกเมืองออกไปก็สามารถได้ผลประโยชน์จากเรื่องนี้ เพราะมีตลาดรองรับสินค้า ผู้คนก็มีงานทำ เชื่อว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้นแน่นอน


 


ทั้งนี้จากการสอบถามพูดคุยจากผู้คนที่อยู่หมู่บ้านรอบนอกก็ต่างยืนยันว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แน่นอนประชาชนที่นั่นต่างรู้สึกยินดีที่จะได้ทำมาค้าขายได้มากขึ้น จนออกจะลืมๆ ไปด้วยซ้ำว่า นักท่องเที่ยวนั้นต้องการมาชมความเป็นเอกลักษณ์ของเมืองมรดกโลก ร้านค้ามากมายที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด และสินค้าที่ระลึกที่ซ้ำๆ กันจนลานตาทั้งที่บางครั้งเป็นของดี แต่สุดท้ายก็กลายเป็นของโหลไป


 


ปัญหาเรื่องรับมือเพื่อคงความเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของฮอย อานนั้น จึงเป็นปัญหาที่ทางภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องเองนั้นทำการบ้านหนัก เจิ่น วัน เญิน (Tran Van Nhan) รองผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมและกีฬา ฮอย อาน บอกว่า เราต้องคิดว่าทำอย่างไร เราถึงจะสามารถรักษาวัฒนธรรมแบบเดิมๆ เอาไว้ได้ หรือควรมีกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง


 


ทางฝ่ายวัฒนธรรมนั้นบอกว่า ที่จริงก็เป็นกังวลอยู่เหมือนกันในเรื่องของนักท่องเที่ยว ที่มีความเห็นแย้งกันอยู่ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์กับฝ่ายการท่องเที่ยว


 


"ฝ่ายการท่องเที่ยวและประชาชนนั้นต่างพยายามที่จะให้คนเข้ามามากๆ โดยบอกว่าเราจะได้มีรายได้เข้าประเทศมากๆ และสามารถนำมาใช้พัฒนาบ้านเมืองได้ แต่เรากำลังกังวลว่า น่าจะมีการจำนวนจำนวนนักท่องเที่ยวบ้าง เพราะหากมากเกินไปเกรงจะเป็นการยากที่จะคงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้ได้" รอง ผอ. ศูนย์วัตนธรรมฯกล่าว


 


สำหรับกรณีนี้ บุนเที่ยง แห่งการอินเตอ-ลาว การท่องเที่ยว ที่แม้ว่าจะอยู่ภาคธุรกิจนี้ เห็นต่างกับฝ่ายท่องเที่ยวของฮอย อาน ที่เห็นว่า สำหรับหลวงพระบางอาจจะเป็นการดีถ้ามีการคัดสรรนักท่องเที่ยว ที่แม้ว่าอาจจะจำนวนน้อยลงแต่มีคุณภาพขึ้น ทั้งนี้ รายได้อาจยังคงเดิม แต่ขยะหรือการใช้ทรัพยากรก็จะน้อยลงด้วย


 


"ที่จริงถ้ามีการโปรโมตการท่องเที่ยวที่ลักษณะเฉพาะ ไม่ต้องไปขายทัวร์พร่ำเพรื่อ และจัด package ดี มีการอำนวยความสะดวกดี สมมุตว่าเดิมมีคนมา 500,000 คนแต่เป็นนักท่องเที่ยวแบบประหยัด การการมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียง 200,000 คน แต่มีการใช้จ่ายสูง คิดว่ารายได้น่าจะเท่ากัน แต่ขยะในประเทศจะน้อยลง และการใช้ทรัพยากรก็จะลดลง" รองผู้อำนวยการ อินเตอ-ลาว หลวงพระบางกล่าว


 


ในที่สุดทางฮอย อาน ซึ่งถูกจัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ก็ได้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมขึ้นมามากมาย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็น รวมทั้งเป็นการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1998 บนถนนสายหลักของฮอย อาน ได้จัดให้เป็นถนนคนเดิน และทุกๆ คืนวันขึ้น 15 ค่ำ จะจัดเป็นงาน "ค่ำคืนแห่งตำนาน" (legendary night) ที่ทุกบ้านจะต้องดับไฟแต่ใช้จุดโคมไฟแทนให้เหมือนดังในอดีต และมีเล่นดนตรีพื้นเมือง และห้ามรถทุกชนิดเข้าไปในเขตเมืองโบราณ ทุกๆ วันเสาร์ จะให้เป็นวันที่ท้องถนนปราศจากรถมอเตอร์ไซค์ และจัดเทศกาลตกปลา ในเดือนมีนาคม รวมทั้งยังมีกิจกรรมย่อยๆ อีกมากมาย แต่ละกิจกรรมนั้นล้วนประสบความสำเร็จอย่างดี เพราะทำให้คนเริ่มคิดถึงวัฒนธรรมที่มีอยู่ของชาวฮอย อานมากขึ้น


 



โคมไฟหนึ่งในสินค้าเลื่องชื่อของ ฮอย อาน เป็นวัฒนธรรมที่ตกทอดมาจากจีนและญี่ปุ่น


 


"ตอนที่เราทำ legendary night นั้น ตอนแรกเราขอร้องให้บรรดาเจ้าบ้านที่อยู่ในเขตมรดกโลกนั้นดับไฟแล้วจุดโคมไฟ หรือตะเกียง อย่างที่เคยใช้กันในอดีตแทน ปรากฏบรรดาร้านค้าก็บ่นว่า แล้วจะขายของได้อย่างไร แต่เรายืนยันว่าจะขอทดลองก่อนสัก 2-3 ครั้ง ถ้าทำให้เดือดร้อนจริงๆ ก็จะยกเลิก"


 


แต่แล้วปรากฏว่างานนี้กลับเป็นที่สนใจของผู้คน ทั้งที่อยู่ในประเทศ และนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ แม้กระทั่งเด็กวัยรุ่นที่ไม่เคยสนใจในเรื่องของวัฒนธรรมมาก่อน ก็เริ่มอยากรู้อยากเห็นว่าคนโบราณเขาอยู่กันอย่างไร บรรดาคนค้าขายก็เลยเลิกบ่นไป


 


"คนหนุ่มสาวเริ่มจากการสงสัยใคร่รู้ก่อน ต่อมาเมื่อเขาเห็นเรื่อยๆ เดือนละครั้ง เขาก็เริ่มคุ้นเคย แล้วก็จะเข้าไปยู่ในวิถีชีวิตของเขา แล้วที่สุดแล้วเขาก็จะภูมิใจในบ้านเกิดของเขา จากแค่เป็นผู้สังเกตเขาก็จะกลายเป็นคนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมวัฒนธรรมโดยตรง"


 


 "และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้คนสำนึกรักบ้านเกิด คุ้นเคย และกลายเป็นการผูกพัน ไปอยู่ที่ไหนก็อยากกลับมาบ้านตัวเอง เพราะบ้านตัวเองมีเอกลักษณ์ มีสิ่งที่น่าสนใจที่หาไม่ได้ในที่อื่นๆ" เญินกล่าวในที่สุด


 


ปัญหาร่วมของคนที่อยู่ในเมืองมรดกโลกนั้น จะพบว่าตัวเองมีปัญหาในการต่อเติมหรือตกแต่งบ้านเรือนของตัวเอง เพราะตามกฎแล้ว ต้องขออนุมัติ หลายๆ คนไม่ค่อยพอใจกับจุดนี้ ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนควรจะได้รับการแจ้งแล้วโดยละเอียดก่อนที่จะนำเข้าไปเสนอขอเป็นเมืองมรดกโลกจาก UNESCO ซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของกระบวนการ


 


ดร.เฮเตอร์ ปีเตอร์ ที่ปรึกษาอาวุโสหน่วยงานวัฒนธรรม จาก UNESCO กล่าวว่า ความมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดในการดำเนินกระบวนใดๆ ประชาชนควรมีโอกาสของการได้แสดงความคิดเห็นและรับรู้ว่าสิ่งใดจะเกิดกับเขาบ้าง ทาง UNESCO นั้นให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างมาก


 


ทั้งนี้ ในกระบวนการเตรียมการนั้น ประชาชนชาวหลวงพระบางบอกว่า ได้รับการแจ้งให้ทราบว่า เมืองหลวงพระบางนั้นได้รับการเสนอชื่อให้เป็นเมืองมรดกโลก และต่อมาก็มีการประกาศ ประชาชนก็รู้สึกยินดีสำหรับเงื่อนไขและระเบียบต่างๆ ในการจัดการและบ้านเรือนที่อยู่ในเขตของเมืองมรดกโลกนั้นก็ได้มีการชี้แจงให้ทราบต่อมา


 


"ตอนปีที่ประกาศตรงกับปีท่องเที่ยว ชาวบ้านเห็นโอกาสก็อยากจะต่อเติมบ้านออกมาเป็นร้านอาหารหรือบ้านพักบ้าง แต่ทำไม่ได้ เลยรู้สึกว่าขัดใจอยู่บ้าง แต่ว่าทุกวันนี้ เรามีการทำความเข้าใจให้กับประชาชนแล้ว เขาก็รับได้" ผู้อำนวยการสำนักงานมรดกโลกกล่าว


 


สำหรับที่ฮอย อานนั้นดูเหมือนว่าในการจัดการนั้น ประชาชนค่อนข้างพอใจ แม้จะรู้สึกอึดอัดอยู่บ้างว่า จะต่อเติมบ้านสักทีก็ทำได้ช้า รวมทั้งมีคนจำนวนหนึ่งต้องการที่จะสร้างบ้านใหม่ ก็ออกจะเป็นกังวลอยู่พอสมควร แต่แล้วทางส่วนที่รับผิดชอบที่ฮอย อานก็สามารถจัดการให้เป็นที่พอใจได้ในระดับหนึ่ง และทุกวันนี้ส่วนใหญ่ก็มีความสุขกับการที่ฮอย อาน เป็นเมืองมรดกโลก


 


"เราเริ่มจากแบ่งจัดระดับชั้น (Class) ของบ้านเรือนก่อน โดยแบ่งออกเป็น 5 ชั้น ขึ้นอยู่กับว่ามีความสมบูรณ์อยู่กี่เปอร์เซ็นต์ วางหลักการให้แก่แต่ละบ้านและแจกคู่มือการดูแลรักษาบ้านของตัวเอง และบอกถึงความจำเป็นของการอนุรักษ์" เหงียน จี๋ จุง (Nguyen chi Trung ) ผู้อำนวยการศูนย์การจัดการและอนุรักษ์ปูชนียสถาน (Centre for Monument Management and Preservation) อธิบายให้ฟัง


 


ทั้งนี้ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เอกสารหลักการต่างๆ นั้นได้นำเสนอให้กับประชาชนรับรู้ตั้งแต่ปี 1997 แล้ว คู่มือที่เป็นฉบับสมบูรณ์ที่ทุกวันนี้ทุกบ้านจะได้รับไว้เป็นคู่มือปฎิบัติในดูแลรักษาหรือทำนุบำรุงแล้วเสร็จในปี 2002


 


นอกจากนั้นแล้ว ในการทำนุบำรุงรักษาบ้านนั้น ทุกหลังที่อยู่ในเขต ไม่เฉพาะบ้านที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม ในการซ่อมแซม ทางรัฐก็จะช่วยออกเงินสมทบทุนให้ด้วย โดยคิดตามเปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับสภาพที่ต้องซ่อมแซม เญิน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องการเที่ยวชมเมืองมรดกโลกสำหรับนักท่องเที่ยวทุกคนเข้ามาเที่ยวชมตามปกติ เรามีบูธที่ขายตั่วสำหรับเข้าชมบางสถานที่ในเมืองมรดกโลก แต่ไม่ได้หมายความว่าใครจะเข้าไปในนั้นทุกคนจะต้องจ่าย แต่จ่ายเฉพาะบางสถานที่เท่านั้น


 


 


 


สะพานญี่ปุ่น เอกลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งฮอย อาน เขตเมืองโบราณหมดตรงนี้


 


"เรามีสถานที่และบ้านเก่า 400 หลัง เราเปิดให้นักท่องเที่ยวชม 15 แห่ง เก็บค่าเข้าชม 75,000 ด่ง สามารถเลือกชมได้ 5 แห่ง ในนี้มีของเอกชนด้วย 5 หลัง เงินที่เราเก็บได้นี้ ใช้จ่ายสำหรับกองทุนเพื่อการบูรณะปฎิสังขรณ์เมืองเก่าไป 75 เปอร์เซ็นต์ ส่วน 25 เปอร์เซ็นต์สำหรับเจ้าหน้าที่ ส่วนเจ้าของบ้านที่เปิดให้นักท่องเที่ยวนั้นก็จะได้รับค่าตั๋วไป แล้วสิ้นเดือนก็เอาคูปองไปแลกเงินมา รายได้ของบ้านเหล่านี้อาจจะตกเดือนละประมาณ 2,000 เหรียญสหรัฐ


 


สำหรับภาษีอื่นๆ ที่เก็บมาได้นั้น เญินบอกว่า ไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับฮอย อาน ดังนั้นฮอย อาน ทั้งเมืองดูดีขึ้นไม่ใช่เพียงเฉพาะในเมืองมรดกโลกเท่านั้น


 


จุง ซึ่งรับผิดชอบในตรวจตราเรื่องการอนุรักษ์มรดกโลกยืนยันว่า หากวันใดวันหนึ่งที่เจ้าของบ้านที่เป็นเอกชน เกิดเหนื่อยกับการที่ต้องให้คนเข้าชมบ้าน เพราะรู้สึกว่าขาดความเป็นส่วนตัว ไม่อยากเปิดบ้านอีกต่อไป ก็ถอนตัวได้ไม่มีปัญหาอะไร


 


"แต่เขาคงไม่ถอนตัวเพราะนี่คือรายได้ของเขา" จุงสรุป


 


 


0 0 0


 


 


 4


คนในออก คนนอกเข้า


 


 



สี่ วื่อ ยังคงชอบชีวิตเรียบง่ายขอปลีกตัวมาอยู่ตามลำพัง


 



 


ใต้ร่มไม้ใหญ่ด้านฝั่งตรงข้างโรงแรมพูสี ในเมืองหลวงพระบางห่างจากตลาดสินค้าพื้นเมืองไม่ไกลนัก แม่เฒ่าสี วื่อ (Si Vue) หญิงชราชาวม้งวัย 70 กำลังนั่งก้มหน้าปะชุนเสื้อผ้าเก่าๆ ของเธออย่างไม่ได้แยแสสินค้าที่กำลังวางจำหน่ายอยู่ข้างหน้า


 


เมื่อถามว่าทำไมไม่ไปนั่งขายใกล้คนอื่น เธอตอบว่า "ไม่ชอบคนเยอะ แล้วมันก็ร้อนด้วย นั่งตรงนี้แหละ เย็นๆดี"


 


สี่ วื่อ เป็นหมอยาพื้นเมือง มาจากหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปจากตัวเมืองหลวงพระบางมาก ที่เธอเองคำนวณไม่ถูกว่ากี่กิโลเมตรกว่าจะเข้ามาถึงที่นี่ รู้แต่ว่าจะมาแต่ละครั้งต้องจ่ายค่ารถตั้ง 30,000 กีบ (ประมาณ 120 บาท) ก็นับว่าไกลโขเมื่อเทียบกับที่อยู่ปัจจุบันที่อยู่ในเขตภูว่าว ซึ่งการเข้ามาในเขตมรดกโลกนั้นจ่ายเพียง 2,000 -3,000 กีบเท่านั้น


 


เธอเล่าว่า อันที่จริงแล้วเธอเองก็ไม่คิดว่าจะขายสมุนไพรอยู่ตรงนี่หรอก แต่ว่าทางนายแพทย์ใหญ่ ที่เธอบอกว่าหัวหน้าหมอแห่งหลวงพระบางนั้นได้สืบหาคนในหมู่บ้านว่า มีใครเป็นหมอยาบ้าง อยากให้มาขายอยู่ในเมืองสักหน่อย มีคนบอกให้ติดต่อกับเธอ


 


"แรกๆ ก็ไม่อยากมาหรอก เพราะว่า เรามีที่ มีวัว มี ควายที่เราเลี้ยงเอาไว้หลายๆ ตัว ไร่นาก็ต้องทำ จึงบอกว่าไม่ไป แต่ตอนหลังเจ้าแขวงก็ส่งคนไปเจรจาอีก เพื่อนบ้านพี่น้องก็เลยบอกให้มา แล้วปรึกษากับสามี และพบว่าสามีกำลังมีเมียใหม่ ก็เลยตัดสินใจมา" แม่เฒ่าสี่ วื่อเล่าให้ฟัง


 


สี่ วื่อ แม้จะไม่ชอบที่คนเยอะๆ แต่ก็ดูจะคุยเก่งพอสมควร พอๆ กับความสามารถแจกแจงเรื่องสรรพคุณของสมุนไพรแต่ละตัวอย่างแคล่วคล่อง รวมทั้งอธิบายถึงวิธีการใช้ได้อย่างละเอียดเมื่อมีคนถาม เธอบอกว่าสมุนไพรที่นำมาขายนี้ เธอเก็บและเตรียมหรือทำยาเองด้วยความรู้ที่ร่ำเรียนสืบต่อกันมาทางครอบครัวโดยเธอได้เรียนรู้เรื่องนี้จากป้าของเธอ


 


"ช่วยป้าเก็บสมุนไพรตั้งแต่ตัวน้อยๆ แล้วก็เรียนเรื่องการใช้มนต์ด้วย"


 


ทุกวันนี้เธอมาอยู่กันสองคนกับลูกสาวคนเล็กที่หลวงพระบางซึ่งยังเรียนหนังสืออยู่ เนื่องจากลูกคนอื่นๆ มีครอบครัวไปหมดแล้ว แม้ในความเป็นจริงแล้ว เธอชอบที่จะอยู่หมู่บ้านมากกว่าที่จะเข้าในเมืองนี้ แต่ชีวิตที่นี่ของเธอก็ไม่เลวร้ายนัก เพราะรายได้ของเธอนั้น แบบที่ขายไม่ดีเลยก็เรียกว่าได้แค่หมื่นกว่า (ประมาณ 40 บาท) แต่ถ้าวันไหนขายดีๆ ก็ได้แสนกว่ากีบ (เกือบ 400 บาท) ซึ่งเป็นรายได้ที่เธอบอกว่า "อยู่ได้"


 


ทุกวันนี้หากใครไปที่หลวงพระบาง คงสังเกตเห็นได้ถึงความคึกคักของธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม หรือบ้านพักผุดขึ้นมามากมาย แต่เจ้าของกิจการนั้น จะเหลือคนที่เป็นชาวเมืองหลวงพระบางอีกสักเท่าไรนั้น ไม่แน่ใจ


 


กระนั้น นี่ก็นับว่าเป็นโอกาสสำหรับคนเล็กๆ อย่างสี่ วื่อ และ บรรดาชาวชนเผ่าต่างๆ ที่มีโอกาสได้นำสินค้ามาวางจำหน่ายในตลาดตอนกลางคืน บางคนเรียกว่า ตลาดมืด ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ขายสินค้าผิดกฎหมายแต่หมายถึงขายตอนมืด


 


ในขณะที่ชาวหลวงพระบางในเขตเมืองจำนวนไม่น้อยยกบ้านให้คนอื่นเช่า แล้วตัวเองก็ออกไปสร้างบ้านหลังใหญ่ๆ นอกเมือง สี่ วื่อ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของคนข้างนอกที่เข้ามาหากินอยู่ในเมือง ผิดแต่ว่า เธอไม่ใช่นักธุรกิจต่างถิ่นที่มาทำธุรกิจใหญ่โต แต่เธอมาเพราะทางภาครัฐเองของให้เธอมา เธอจึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของคนนอกที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกไปด้วยเช่นกัน


 


ส่วนที่เวียดนาม เจิ่น กว็อก เวียต (Tran Quoc Viet) วัย 53 และภรรยา เฮือง วัย 49 ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ฟุค ไห่ (Phouc Hai) ตำบลเกือ ได (Cua Dai) หมู่บ้านชาวประมงที่อยู่ห่างเมืองโบราณฮอย อาน ซึ่งเป็นมรดกโลก 6 กิโลเมตร สุดปลายหมู่บ้านนี้เองที่เขากับภรรยาได้เปิดร้านอาหารขึ้นมาเมื่อ 4 ปีก่อนที่บ้านเขาเองในชื่อร้านอันสะดุดหู "The Restaurant of the World"


 


 



เจิ่น เวียต กำลังสาธิตการกินบั๋นแซ่ว ฝีมือภรรยาของเขาที่ยืนอยู่ข้างๆ


 


แต่เดิมนั้นเขามีอาชีพเป็นชาวประมง เขาเคยทำมาแล้วทั้งประมงชายฝั่งและประมงน้ำลึก ส่วนภรรยาของเขา ขายอาหารพื้นเมือง อย่าง เช่น เฝอ บุ๋น หรืออาหารประจำถิ่นฮอย อาน ที่เรียกว่า เกาเหล่า (คล้ายๆเส้นหมี่แห้งหมูแดง)


 


ทั้งคู่ยอมรับว่านับตั้งแต่ ฮอย อาน ได้เป็นเมืองมรดกโลกนั้นก็ส่งผลให้มีการพัฒนาเข้ามาถึงหมู่บ้านด้วย เพราะว่าถนนหนทางดีขึ้นแล้ว ผู้คนที่เข้ามาเที่ยวที่มรดกโลกแล้วก็อยากจะชมบ้านธรรมชาตินอกเมืองด้วย การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวทำให้เขาได้เห็นลู่ทาง


 


เขาเลือกที่จะเปิดร้านอาหาร เป็นร้านเล็กๆที่บ้านเขาเอง เพราะสุดทางนั้นก็เป็นท่าน้ำ ที่เขาสามารถไปเลือกซื้ออาหารทะเลสอดได้เลย เขาบอกว่า การเปิดร้านอาหารนี้เนื่องจากเดิมทีเดียวนั้นลูกชายทำงานอยู่ที่โรงแรม และได้รู้จักคนเยอะ และพบว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่ต้องการท่องเที่ยวที่เรียกว่าท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์


 


เก๋า ( Khao) ลูกชายวัย 28 ของเขาจึงออกมาเปิดธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ พาผู้คนไปสัมผัสกับชีวิตของชาวประมง  ในขณะที่ลูกชายอีกคนทำงานอยู่โรงแรม 4 ดาว ซึ่งก็มีส่วนช่วยแนะนำแขกให้มาใช้บริการทัวร์ของพี่ชาย เขากับภรรยาจึงได้ช่วยกันทำอาหารป้อนให้กับกรุ๊ปทัวร์ของลูกชาย และเนื่องจากที่เขาเคยเป็นชาวประมงมาก่อน เขาบอกว่าเขาจึงรู้ดีว่า "อาหารทะเลดี จะเลือกอย่างไร" และภรรยาของเขาเองก็มีฝีมือในการปรุงอาหารอยู่แล้ว ดังนั้นที่สุดแล้วจุดขายของร้าน แม้ที่ตั้งจะอยู่ไกล แต่ก็เป็นสิ่งที่คนจะต้องแสวงหา เมื่อเบื่อการท่องเที่ยวในเมือง และได้กินอาหารทะเลสด หรือแม้กระทั่งอาหารพื้นเมืองเวียดนามก็เป็นเลิศ


 


ทุกวันนี้ ธุรกิจครอบครัวเขาไปได้ด้วยดี และเขายืนยันว่า นี่เป็นผลพวงจากการที่ฮอย อาน เป็นมรดกโลกแท้ๆ แม้ว่าเขาไม่จำเป็นจะต้องย้ายเข้าไปทำธุรกิจในเมือง แต่เขายังได้ประโยชน์จากการนี้


 


-----------------------------------------------------


* รายงานชิ้นนี้เขียนขึ้นภายใต้โครงการ Imaging Our Mekong สำนักข่าว Inter Press Service (IPS) สนับสนุนโดยมูลนิธิ Rockefeller


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net