Skip to main content
sharethis

 


   


 


ตอน ทุนนิยมทำลายระบบจัดการข้าว เสียงสะท้อนจากชาวนา      


 


โดย ศูนย์ข่าวประชาสังคม จ.อุบลฯ


 


ช่วงระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคม 48 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสร่วมกับทีมงานสารคดีบันทึกจากชุมชนของมูลนิธิประชาสังคมจังหวัดอุบลราชธานี ไปร่วมงานบุญคูณลาน ที่ อ.เขมราฐ ซึ่งจัดโดย เครือข่ายคนปลูกข้าว ณ บริเวณโรงสีชุมชนสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง


 


หากพูดตามประสาชาวบ้าน บุญคูณลานก็เป็นหนึ่งในประเพณีทั้ง 12 เดือนของชาวภาคอีสาน หรือเรียกศัพท์ไทบ้านก็ต้องบอกว่า เป็นฮีตหนึ่งใน ฮีตสิบสอง นั่นเอง เนื้อหาที่จะกล่าวในตอนนี้ ผู้เขียนเข้าใจว่า ผู้อ่านคงจะพอเข้าเกี่ยวกับบุญคูนลานกันดี จึงไม่ขอกล่าวในตอนนี้ สิ่งสำคัญที่ได้จากงานดังกล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงที่อันตรายมากต่อวิถีชีวิตของชาวนาเมื่อวิถีของทุนนิยมได้รุกล้ำข้ามคันแทนา (คันนา) ของอีสานบ้านเรา


           


คุณพ่อวิจิตร บุญสูง ปราชญ์ชาวบ้านจากจังหวัดยโสธร ผู้ยืนหยัดต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวนาท่ามกลางทุนนิยมมาหลายสิบปี ได้กล่าวถึงสถานการณ์ข้าวในขณะนี้ว่า


 


"ชาวนาทุกวันนี้แม้จะทำนาได้เองแต่ก็ดูเหมือนว่า ต้องมาซื้อข้าวกินเสียเอง อันเนื่องมาจากการเป็นหนี้ซึ่งเป็นผลพวงของการที่รัฐกระจายหนี้ให้กับคนจน แทนที่จะกระจายความเจริญมาให้ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ การรับจำนำข้าวเปลือก ความจริงนั้น รัฐนำเงินของชาวนาไปซื้อข้าวของตัวเอง ซึ่งการซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดของรัฐบาลนั้น ทำให้การระบายข้าวออกสู่ตลาดโลกเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงส่งผลให้ข้าวค้างสต๊อกเป็นจำนวนมาก โดยปีที่แล้วมาค้างสต๊อกอยู่ถึง 1.2 ล้านตัน เมื่อข้าวขายไม่ออก จำต้องหาวิธีที่จะมาระบายข้าวโดยรัฐเองกำหนดให้มีการประมูลข้าว ผู้ที่ประมูลได้ก็ได้ไปในราคาที่ถูก นักเศรษศาสตร์คำนวณว่า ข้าวจำนวนดังกล่าวรัฐต้องขาดทุน 8 หมื่นล้านบาท แต่ผู้ที่ได้ผลประโยชน์คือคนที่ประมูล ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดกับรัฐบาลนั่นเอง"


           


ผู้เขียนได้ฟังดังนั้นก็รู้สึกหดหู่ใจเป็นอย่างยิ่ง ซ้ำยังเลือดชาวนามันขึ้นหน้าตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ เนื่องจากความจริงเราก็รู้กันว่า เมื่อขายข้าวให้กับ ธกส.แล้ว ก็ต้องนำเงินที่ได้มาชำระหนี้กับ ธกส.เช่นเดิม เหมือนหนึ่งเป็นวงจรที่แสนจะทรมานของชาวนาไทย ต่อการรับใช้นโยบายของรัฐ การกำหนดราคารับจำนำข้าวก็เช่นกัน การรับจำนำในปีการผลิต 2548/2549 นี้ให้ถึง กก.ละ 10 บาทเป็นราคาที่ผิดธรรมชาติ ซึ่งสงผลกระทบต่อโรงสีขนาดเล็กของชุมชน ที่ชาวบ้านร่วมกันทำ ซึ่งไม่สามารถซื้อข้าวมาสีแข่งกับโรงสีที่รัฐให้เงินอุดหนุนได้ ภาระการเสียเปรียบต่อนายทุนยังคงต้องอยู่ที่ชาวนาอย่างเป็นอมตะ(ที่ผ่านมามีข่าวโรงสีชุมชนขาดทุนจนต้องขอคืนโรงสีให้กับรัฐ)


 


"ข้าวหอมมะลิยิ่งราคาสูงยิ่งจะทำให้ชาวนาตายเร็วขึ้นเพราะราคาปัจจุบันเป็นราคาจอมปลอม ที่พูดเช่นนี้เพราะข้าวหอมมะลิต้องไปแข่งขันกับข้าวหอมปทุม ที่ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าข้าวหอมมะละ และราคารับซื้อของโรงสีก็ถูกกว่า แต่เมื่อส่งออกกลับได้ราคาเดียวกันกับข้าวหอมมะลิ"


 


เป็นอีกคำยืนยันถึงสถานการณ์ข้าวที่นาเป็นห่วง เพาะข้าวหอมมะลิเองที่เรารู้กันดีว่า ผลิตได้เฉพาะภาคเหนือ อีสาน โดยเฉพาะหอมมะลิที่ปลูกด้วยมือของพี่น้องชาวนาจังหวัดอุบลฯ เป็นข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดในโลก เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่าชาวนาโดนหลอกใช้มาโดยตลอด และอาจจะส่งผลกระทบต่อในระยะยาว


 


"ต่อไปโรงสีชุมชน จะอยู่ลำบาก เพราะไม่มีใครมาขายข้าวให้อีก" คุณพ่อวิจิตร กล่าวเพิ่มเติม


 


ต่อประโยคดังกล่าว ผู้เขียนได้สอบถามกับคุณครูทองสวน โสดาภักดิ์ ผู้เป็นทั้งชาวนา ทั้งครู ทั้งผู้จัดการโรงสีชุมชนของกลุ่มผู้ปลูกข้าวลุ่มน้ำโขง ได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า


 


"ขณะนี้สถานการณ์โรงสีข้าวของชุมชนเปรียบได้กับ ทุนใหญ่ไล่กินทุนเล็ก นั่นคือ ระบบทุนนิยมของเศรษฐกิจระดับประเทศมีความได้เปรียบมากกว่าระดับของทุนชุมชน ที่ผ่านมาโรงสีของเราอาจจะมองเป็นภาพที่สวยงาม แต่แท้ที่จริงยังขาดทุน ก็ยังดีที่ได้กำไรมาเป็นพลังของชาวนาซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันนั่นเอง การจำนำข้าวของรัฐบาลทำให้ผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจชุมชนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากเพราะสามารถที่จะเข้าถึงชาวนาทุกคนได้ เห็นได้จากชาวนาส่วนใหญ่นำข้าวไปขายได้โรงสีที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ แม้จะได้ราคาสูงก็จริง แต่ชาวนาก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก ขั้นตอนการปฏิบัติ ที่ค่อนข้างซับซ้อน เรามาถึงวันนี้ ก้าวต่อไปของโรงสีชุมชนคือ ต้องมีสวัสดิการที่ชัดเจนให้กับสมาชิก ทำอย่างไรจะลดต้นทุนการผลิตข้าวได้ ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องซื้อข้าวแข่งกับโรงสี โดยเราเองผู้กำหนดราคา โดยได้เริ่มปฏิบัติไปแล้ว นั่นคือโครงการ เกษตรทฤษฎีใหม่ 5 ไร่ ซึ่งลดต้นทุนได้อย่างมาก"


           


คำที่เราได้ยินจนเจนหูที่ว่า ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาตินั้น วันนี้ผู้เขียนคิดว่าความหมายคงจะลดความสำคัญในสายตาของพ่อค้าต่างๆแล้ว แต่มันอาจจะแสดงพลังอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้เมื่อเราชาวนาด้วยกันต้องหยิ่งในศักดิ์ศรีการเป็นชาวนา กล้าพูด กล้าสอนให้กับคนรุ่นต่อไปว่าเราคือลูกของชาวนา แม้ว่าวันนี้แอกแห่งความยากจนจะไปปลดลงจากบ่าของชาวนาก็ตาม ลองแสดงพลัง หรือคิดกันเล่นๆ เถอะว่า หากวันหนึ่งวันใด ชาวนาทั้งประเทศไม่ขายข้าวให้พ่อค้าเหล่านั้น พวกเขาจะทำอย่างไร


 


   กลับหน้าแรกประชาไท 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net