Skip to main content
sharethis


เชียงใหม่เตรียมจัดงาน "สานฝันเพื่อสันติและสิทธิมนุษยชน" ณ หอนิทรรศการศิลปะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 10-11 ธันวาคม 2548 นี้ พบนักเขียนหญิงชื่อดังของพม่า นักร้องนักแต่งเพลงชาวไทยใหญ่ พร้อมการแสดงกวีคีตการเรื่อง "อองซาน ซูจี : 60 ปี แห่งดวงตะวันหลังก้อนเมฆ" เพื่อสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจในเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์และประเทศเพื่อนบ้าน โดยเน้นกิจกรรมด้านศิลปะวัฒนธรรมทางวรรณกรรม บทเพลง คีตกวีเป็นสื่อในการเรียกร้องสันติภาพ

 


นางสาววันดี สันติวุฒิเมธี ผู้ประสานงาน "สานฝันเพื่อสันติและสิทธิมนุษยชน" เปิดเผยถึงที่มาที่ไปของกิจกรรมนี้ว่า จริงๆ แล้ว กิจกรรมนี้เคยจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ มาแล้ว ซึ่งมีนักศึกษาประชาชนได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เป็นการนำเสนอมุมมองในเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์และประชาชนชาวพม่าให้คนในสังคมไทยเข้าใจ โดยอาศัยศิลปวัฒนธรรมเป็นตัวสื่อสาร


 


"อย่างเช่น การแสดงกวีคีตการเพื่อสันติประชาธิปไตย เรื่อง อองซาน ซูจี : 60 ปี แห่งดวงตะวันหลังก้อนเมฆ โดยกลุ่มหนุ่มสาวสื่อสันติภาพ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการแสดงเพียงแค่ไม่ถึงชั่วโมง แต่เป็นการสื่อสารให้คนไทยได้รับรู้และเข้าใจประเทศพม่าได้เร็วกว่าสื่อประเภทอื่นๆ ดังนั้น ทางผู้จัดงานจึงได้ปรึกษากันว่า เชียงใหม่ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ต้องการสื่อให้คนเชียงใหม่ได้รับรู้กันด้วย"


 


นางสาววันดี กล่าวต่อว่า งานสานฝันเพื่อสันติและสิทธิมนุษยชน จะจัดขึ้นที่หอนิทรรศการศิลปะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่เลือกจัดในวันที่ 10 ธ.ค. นี้ ก็เพราะว่าตรงกับวันสิทธิมนุษยชน โดยภายในงาน จะมีการเสวนาในหัวข้อ "มองพม่าผ่านสายตานักเขียนไทย-พม่า บทเพลงและงานศิลป์บนลุ่มอิรวดี-สาละวิน" โดยมี ซะ คะ ฮะ นักร้องและนักแต่งเพลงชาวไทยใหญ่ จิตติมา ผลเสวก ศิลปินไทยที่เคยร่วมงานกับศิลปินพม่า สุวิชานนท์ รัตนภิมล ศิลปินไทยที่มีผลงานเกี่ยวกับชนเผ่าบนลุ่มน้ำสาละวิน เข้าร่วมเสวนา


 


และในวันที่ 11ธ.ค. จะมีการฉายวีดีทัศน์ บันทึกภาพเหตุการณ์ 30 พ.ค.2003 : เหตุการณ์ก่อนอองซาน ซูจี ถูกกักขังบริเวณจนถึงปัจจุบัน หลังจากนั้น จะมีการเสวนาในหัวข้อเรื่อง "มองพม่าผ่านสายตานักเขียนไทย-พม่า" โดยมี เหม่ เญง นักเขียนหญิงชื่อดังชาวพม่า ซึ่งชีวิตเธอน่าสนใจอย่างยิ่ง ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาจารย์สอนด้านวรรณกรรมวรรณคดี ในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง แต่สุดท้ายต้องระเห็จเร่ร่อนหนีออกนอกประเทศเพราะการเมืองเข้ามาบีบคั้น


 


ทั้งนี้ ในวงเสวนาดังกล่าวจะมี บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนเรื่องสั้นซีไรต์ ปี 2548 และ อัคนี มูลเมฆ นักเขียนไทยที่มีผลงานเกี่ยวกับพม่า การแลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์และประเทศพม่า นอกจากนั้น มีการดนตรีโดย ศุ บุญเลี้ยง และการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายและงานศิลปะเกี่ยวกับประเทศพม่า พร้อมกับมีเปิดซุ้มจำหน่ายสินค้าจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จากพม่า


 


ผู้ประสานงาน งานสานฝันเพื่อสันติและสิทธิมนุษยชน กล่ายทิ้งท้ายว่า กิจกรรมนี้ต้องการสื่อให้สังคมไทยได้เข้าใจว่า กลุ่มชาติพันธุ์รวมทั้งประชาชนในประเทศพม่า ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านในขณะนี้ ได้รับผลกระทบอย่างหนักกับอำนาจรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ไม่ใช่เป็นปัญหาในเรื่องของการเมืองการทหารเท่านั้น แต่มันได้เข้าไปกดดันควบคุมทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่อย่างเข้มงวด ดังนั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจและเปลี่ยนมุมมองในเรื่องสิทธิมนุษยชนกันให้มากยิ่งขึ้น


 กลับหน้าแรกประชาไท

เอกสารประกอบ

เอกสารประกอบ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net