Skip to main content
sharethis



 


ใกล้เดือนธันวาคมเข้าไปทุกที อุณหภูมิกระแสข่าวการค้าโลกก็ร้อนแรงขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะข่าวคราวการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก หรือดับบลิวทีโอ ที่ฮ่องกง (13-18 ธ.ค.48) ซึ่งรอบนี้เป็นที่ลุ้นกันทั่วโลกว่าจะ "จบ" ดังที่คาดหวังกันไว้หรือไม่


 


แม้ชื่อองค์การการค้าโลกและเนื้อหาการประชุมจะดูใหญ่โต ยุ่งยาก ซับซ้อน แต่ยืนยันได้ว่าเรื่องนี้ไม่ได้ห่างไกลจากชีวิตของคนอย่าง "เราๆ" เท่าที่คาดคิดกัน


 


เพราะองค์กรนี้ทำหน้าที่จัดระเบียบการค้าโลก โดยกำหนดให้บรรดารัฐมนตรีประเทศสมาชิก 148 ประเทศ (ครอบคลุมปริมาณการค้าของทั้งโลกราว 97%) มาถกเถียงต่อรองประเด็นต่างๆ กันในที่ประชุมเพื่อเป้าหมายในการ "เปิดเสรี" บนความเชื่อที่ว่า นี่คือระบบเศรษฐกิจที่ดีที่สุดสำหรับมนุษยชาติ


 


ประเด็นต่างๆ ที่ว่านั้นเกี่ยวพันกับแทบทุกอาชีพที่เราท่านทำกันอยู่ และหากสรุปออกมาเป็นข้อตกลง ไม่ว่าจะ "ได้" หรือ "เสีย" ก็เป็นพันธสัญญาที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติตามในทุกข้อมิอาจเลือกได้ หรือที่เรียกว่า Single Undertaking และนี่เองทำให้กว่าจะได้ข้อตกลงร่วมกันสักครั้งเป็นเรื่องยืดเยื้อยาวนาน


 


การต่อรองผลประโยชน์ของ 148 ประเทศเป็นอย่างไร ใครได้เปรียบ เสียเปรียบ มีประเด็นอะไรที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศกำลังพัฒนา-ด้อยพัฒนา ทำไมใครๆ อยากให้รอบนี้จบ ถ้าไม่จบจะเป็นอย่างไร จะส่งผลให้มีการเจรจาเอฟทีเอ (การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคี) เพิ่มขึ้นหรือไม่ ฯลฯ ฯลฯ


 


สารพัดคำถามที่เราจะค่อยๆ ค้นหาคำตอบกับ โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch) ซึ่งเชิญ "จักรชัย โฉมทองดี" เจ้าหน้าที่จากโครงการศึกษาและปฏิบัติการการพัฒนา (โฟกัส) มาบรรยายเรื่อง "จากเจนีวาสู่ฮ่องกอง ทิศทางการเจรจาการค้ารอบโดฮา มุมมองภาคประชาสังคม" (14 พ.ย.ที่ผ่านมา) ในฐานะที่เขาเป็นคนหนึ่งซึ่งไปติดตามความเคลื่อนไหว ณ สำนักงานองค์การการค้าโลก กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์มาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา


 


แต่ก่อนไปถึงคำอธิบายแบบเกาะขอบเวที คงต้องอุ่นเครื่องกันสักเล็กน้อย


 


ทำไมต้องสนใจการประชุมที่ฮ่องกง?


ดับบลิวทีโอก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2538 ดำเนินการเจราจาการค้าพหุภาคีระดับรัฐมนตรีมาแล้ว 5 รอบ (กำหนดให้ต้องจัดการประชุมอย่างน้อยทุกๆ 2 ปี) โดยรอบที่โด่งดังมากคือ รอบ 3 ที่ซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา (2542) ซึ่งมีประชาชนคนรากหญ้ามาชุมนุมประท้วงมหาศาลและการประชุมของบรรดารัฐมนตรีล้มเหลวไม่เป็นท่า, รอบ 5 ที่แคนคูน เม็กซิโก (2544) ล้มเหลวเช่นกัน และมีรอยมลทินสำคัญที่ชาวนาเกาหลีใต้ฆ่าตัวตายเพื่อประท้วงระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ที่ทำให้สังคมเกษตรกรรมล่มสลาย


 


ส่วนที่จะจัดที่ฮ่องกงนี้เป็นรอบที่ 6 เรียกว่า รอบโดฮา เริ่มตามปฏิญญาโดฮา (Doha Declaration) ของการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 4 ณ กรุงโดฮา ประเทศการ์ตา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 การเปิดเจรจารอบใหม่นี้ส่วนหนึ่งเนื่องจากมากผลประโยชน์ที่ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาได้รับจากการเจรจารอบอุรุกวัยขาดความสมดุล


 


รอบนี้ตั้งเป้าว่าจะเสร็จในปี 2548 แต่ก็มีอันเลื่อนไปเป็นปีหน้า เพราะการเจรจาเป็นไปด้วยความอืดอาด โดยเนื้อหาที่จะประชุมที่ฮ่องกง มีเป้าหมายขั้นต่ำว่า การเจรจาประเด็นต่างๆ น่าจะลุล่วงไปสักครึ่งหนึ่งของเนื้อหาทั้งหมด แต่หากการเจรจาไม่เป็นไปตามกำหนด องค์กรโลกบาลแห่งนี้ก็จะมีอันหมดความน่าเชื่อถือชนิดยากจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ เพราะเวทีศูนย์กลางการเจรจาพหุภาคีชะงักงัน ไม่ประสบผลสำเร็จมานานเหลือเกินแล้ว


 


คำประกาศของภาคประชาสังคมที่ต่อต้านองค์การการค้าโลก และระบบเสรีนิยมใหม่คงพออธิบายความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ได้อีกทาง


 


"หากดับเบิลยูทีโอล่มสลายเป็นครั้งที่สาม จะกลายเป็นองค์การที่พิการแบบถาวรในฐานะตัวแทนของเป้าหมายแบบเสรีนิยมใหม่ระดับโลกไปเลย ฮ่องกงอาจจะเป็นสมรภูมิหัวเลี้ยวหัวต่อของดับเบิลยูทีโอ เป็นช่วงแห่งความสำเร็จสูงสุดเมื่อแรงต่อต้านได้ทีขึ้นมาถือไพ่เหนือกว่า และรุกคืบขับให้ดับเบิลยูทีโอถอยร่นอย่างไม่มีใครหยุดยั้งได้" (บทความลาทีภาพลวงตา : การปฏิรูปดับบลิวทีโอ ภาคประชาสังคมโลก และเส้นทางสู่ฮ่องกง จาก www.focusweb.org)


 


การเมืองของการเจรจา สารพัดกลุ่มในดับบลิวทีโอ


จักรชัย เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า แม้ในประเทศไทยข่าวคราวของดับบลิวทีโอจะถูกกลบลบหายจากข่าวเอฟทีเอที่ท่านผู้นำกำลังเดินหน้าเต็มสูบก็ตาม แต่ในบรรดาประเทศมหาอำนาจนั้น เรื่องนี้ยังเป็นประเด็นสำคัญลำดับต้นๆ และถูกจับตาจากสื่อมวลชนอย่างใกล้ชิด


 


"ผมอยู่ที่เจนีวา เห็นพวกล็อบบี้ยิสต์ นักกฎหมาย บรรษัทใหญ่ๆ ไปประจำเจนีวากันเยอะ และร่วมเจรจาด้วย พวกเขายังลงทุนลงแรงกดดันกันอย่างไม่ลดละ"


 


จากนั้นเขาได้ท้าวความถึงการล่มสลายของการประชุมครั้งที่แล้วที่แคนคูน เพื่อทำความเข้าใจเส้นสนกลในของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ และจุดยืนของแต่ละกลุ่ม ซึ่งเกิดการปะทะกันสูงจนไม่อาจหาจุดลงตัว ทำให้การเจรจาพหุภาคีชะงักงันไปนาน


 


เช่น กลุ่ม 20 หรือ G-20 เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่รวมกันค่อนข้างแข็ง นำโดยบราซิล อินเดีย มุ่งเน้นผลประโยชน์เรื่องการเกษตรของประเทศกำลังพัฒนาเป็นสำคัญ,  G-33 กลุ่มนี้ใหญ่ขึ้นมาหน่อย มุ่งประเด็นเกษตร แต่เน้นการปกป้องการผลิตภายใน เพราะประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการส่งออกหรือแข่งขัน, G-90 สมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศด้อยพัฒนาในแถบแอฟริกา-แปซิฟิก ส่วน G-10 ปรมาจารย์ด้านการปกป้องตัวเอง ประกอบด้วยประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ญี่ปุ่น เกาหลี แต่กลุ่มนี้ไม่ค่อยเป็นอันตรายกับใคร เป็นต้น


 


นอกจากนี้ยังมีเรื่องฝ้าย ที่เป็นประเด็นใหญ่มากตกค้างมาจากรอบที่แล้ว เนื่องจากเห็นความไม่เท่าเทียมกันชัดเจน หลายประเทศในแถบแอฟริกาปลูกฝ้ายกันเป็นหลัก แต่ในระบบการค้าโลกราคาฝ้ายมีการบิดเบือนสูง เพราะสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐอเมริกามีการอุดหนุนภายในประเทศสูงมาก ทำให้ราคาฝ้ายในตลาดโลกตกต่ำกระทบต่อเกษตรกรยากจนในแอฟริกาอย่างมหาศาล


 


กระทั่งต่อมามีกาปรับกลยุทธ โดยใช้เวทีสำนักงานใหญ่ที่เจนีวาในการพบปะกัน ซึ่งปกติมีแค่บรรดาทูต คราวนี้ดึงระดับรัฐมนตรีมาร่วมด้วย โดยมีการผลักดันกรอบข้อตกลงเดือนกรกฎาคม  (July Framework) ออกมาผ่าทางตันความชะงักงันได้สำเร็จเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว


 


จักรชัยกล่าวถึงจูลายเฟรมเวิร์คว่า ด้านหนึ่งก็ได้สร้างความหวังว่า เวทีดับบลิวทีโอนี้จะเดินต่อได้ มีการกล่าวถึงแง่มุมดีๆ เช่น จะขจัดการอุดหนุนโดยเฉพาะด้านการเกษตรของประเทศพัฒนาแล้วให้หมดไป เพราะถือเป็นการบิดเบือนตลาดที่สำคัญ ทั้งยังมีการระบุชัดเจนว่า สินค้าที่ไม่ใช่เกษตรและอุตสาหกรรม (NAMA/ Non-Agriculture Market Access) จะต้องมีการเปิดตลาดมากขึ้น


 


"แต่ข้อที่น่าห่วงคือ การขจัดการอุดหนุนที่ว่า ไม่มีกำหนดเวลาว่าจะเสร็จชาตินี้หรือชาติหน้า และการบิดเบือนตลาดมันก็ไม่ใช่เฉพาะการอุดหนุนการส่งออกเท่านั้น การอุดหนุนภายในก็มีส่วนบิดเบือนตลาดอย่างสำคัญ"


 


เขากล่าวว่า แม้จะมีมาตรการลดการอุดหนุนภายในตามกรอบขององค์การการค้าโลก ที่แบ่งเป็นกล่องสีต่างๆ >>เขียว  อำพัน ฟ้า โดยมีระดับ-ประเภทสินค้าที่จำกัดการอุดหนุนภายในแตกต่างกันไป แต่บรรดากล่องเหล่านี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไรดีขึ้นนัก เพราะเกิดการย้ายกล่อง หรือ Box Shifting ลดกล่องนี้ไปเพิ่มกล่องนั้น ทำให้มูลค่ารวมของการอุดหนุนไม่ได้ลดลงเลย


 


ใครได้อะไร ถ้าจบรอบโดฮาได้ตามกำหนด


จักรชัยบรรยายสภาพการณ์ในเจนีวาว่า เห็นได้ชัดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาแล้วว่า มีความเคลื่อนไหวที่นำไปสู่ความพยายามจบรอบโดฮาให้ได้ เพราะเงื่อนไขขณะนี้สามารถจบได้ หากไม่ทะเยอทะยานจนเกินไป โดยสหรัฐ-สหภาพยุโรป-บราซิล-อินเดีย ซึ่งเป็น "แกนกลางใหม่" ในการเจรจาดับบลิวทีโอ คือ อียู สหรัฐ บราซิล และอินเดีย จะได้ประโยชน์ไปคนละอย่างสองอย่าง  


 


ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา-ด้อยพัฒนาอื่นๆ นั้น นอกจากจะไม่ได้อะไรแล้ว ยังเสียเปรียบในหลายทาง โดยที่ประเด็นผลประโยชน์สำคัญของประเทศเหล่านี้ที่ค้างคามาจากรอบที่แล้วที่แคนคูน ทั้งสินค้าเกษตร สินค้าที่ไม่ใช่เกษตร เรื่องฝ้าย เหล่านี้ยังคงหาทางลงไม่ได้


 


"ผมว่านี่อาจเป็นแทกติกของประเทศพัฒนาแล้วที่เตะถ่วงให้ถึงนาทีท้ายๆ แล้วค่อยผลักดันเต็มที่ในประเด็นตัวเอง โดยใช้ประเด็นทางการเมืองเข้าร่วม"


 


ภาพลวงตา "ลดการอุดหนุน" ของ 2 ยักษ์ใหญ่


จนกระทั่งในการประชุมอย่าไม่เป็นทางการที่เมืองซูริค สวิสเซอร์แลนด์ ก่อนการประชุมสภาสามัญที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 20 ตุลาคมที่ผ่านมาเพียงไม่กี่วัน สหรัฐฯก็ได้โยนระเบิดลูกใหญ่ดึงดูดความสนใจทั้งโลก ด้วยการเสนอว่าจะตัดการอุดหนุนภายในประเทศที่ถือว่าบิดเบือนการค้า(กล่องอำพัน) ลง 60%  กล่องฟ้าจะลดการอุดหนุนลง 2.5% ของมูลค่าทั้งหมด ขณะที่อียูก็เกทับ โดยการประกาศลดการอุดหนุนในกล่องอำพันถึง 70% ขณะที่กล่องฟ้าจะปรับลดการอุดหนุน 65%


 


"ทุกคนในดับบลิวทีโอดีใจกันหมด แต่การเจรจามันไปรวดเร็วมากจนประเทศต่างๆ ตามไม่ทัน ประเทศไทยมีเจ้าหน้าที่ 13-14 คนยังไม่ทัน ประเทศอย่างแอฟริกามีเจ้าหน้าที่คนเดียว เขาไม่รู้เรื่องเลย เพราะแยกร่างเข้าประชุมไม่ได้ ประเทศกำลังพัฒนาจึงโวยวายว่าการมีส่วนร่วมอยู่ตรงไหน แต่สำนักงานเลขาธิการไม่สนใจ บอกว่าเรื่องกำลังคืบหน้ามามากแล้ว เราต้องปรบมือให้กับสหรัฐที่นำความห้าวหาญมาสู่ดับบลิวทีโอ"


 


อย่างไรก็ตาม การประกาศลดการอุดหนุนภายในของ 2 ยักษ์ใหญ่นั้นเป็นเพียง "ภาพลวงตา" จักรชัยชี้ว่าในข้อเท็จจริงแล้วยักษ์ทั้ง 2 ตนแทบจะไม่ต้องลดการอุดหนุนเลย ทั้งยังสามารถเพิ่มการอุดหนุนได้ด้วยซ้ำ เพราะการเจรจารอบที่แล้วมีการผลักดันตัวเลขการอุดหนุนจนเฟ้อมาก เช่น ตัวเลขการอุดหนุนในกล่องฟ้าของอียูโป่งถึง 67,000 ล้านบาท ลดลง 70% จะเหลือราว 20,000 ล้าน แต่ในความเป็นจริงอียูใช้เงินในการอุดหนุนภายในเพียง 1.6 หมื่นล้านเท่านั้น


 


กระทั่งมีบางประเทศถึงกับพูดถึงเล่ห์เหลี่ยมครั้งนี้ว่า "You cut your spending that you never spend !"


 


"ฝรั่งเศส" กับบทพระเอกจำเป็น


จักรชัยเล่าว่า ขณะที่ประเทศอื่นๆ กำลังหัวปั่นตามไม่ทันอยู่นั้น ก็เกิดการชะงักที่สำคัญ เพราะสหภาพยุโรป นำโดยฝรั่งเศสเป็นเหตุ ทั้งนี้ เพราะกลางปีที่ผ่านมา ฝรั่งเศสมีการลงประชามติที่สำคัญมากคือ การรับรองรัฐธรรมนูญสหภาพยุโรป ซึ่งดูเหมือนจะมีการนำเรื่องการค้าเสรีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้น ผลการลงมติที่ปรากฏออกมาก็คือ ประชาชนไม่เอา โดยหนึ่งในเหตุผลสำคัญคือ คนยุโรปต้องการให้ยุโรปเข้มแข็ง แต่ไม่ใช่ยุโรปภายใต้เสรีนิยมใหม่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น หากมีการเรียกร้องให้อียูต้องเปิดตลาดเกษตรมากไปกว่านี้ อียูก็พร้อมจะใช้สิทธิ "วีโต้" ล้มการประชุมที่ฮ่องกง


 


และนี่เองทำให้ประเทศต่างๆ มีเวลาหายใจหายคอ เริ่มตามทัน และออกข้อเสนอของตัวเองได้


 


มวยหลายคู่บนสังเวียนดับบลิวทีโอ


อียู vs สหรัฐ ==> เป็นคู่ใหญ่ที่งัดข้อกันเรื่องสินค้าเกษตร โดยสหรัฐต้อการเจาะตลาดอียู ขณะที่อียูรุกกลับ โดยการยื่นข้อเรียกร้องให้สหรัฐลดการอุดหนุนด้านต่างๆ ทั้งการส่งออก หรือกระทั่งโครงการความช่วยเหลือด้านอาหาร ซึ่งสหรัฐมักใช้เป็นข้ออ้างในการระบายอุปทานในประเทศ


 


G20 vs US ==> กลุ่ม 20 ต้องการเปิดตลาดเกษตรเหมือนสหรัฐ โดยการบีบอียูให้ยอมเปิดตลาด แต่อียูไม่ยอมที่จะลดภาษีมากไปกว่าที่ได้ยื่นบนโต๊ะเจรจา พร้อมทั้งอ้างว่ามีเรื่องสำคัญอื่นๆ ที่ต้องหารือกันอีกมาก และรุกกลับว่า กลุ่ม20 เองก็ต้องเปิดตลาดสินค้าบริการและอุตสาหกรรมด้วย


 


G90 vs EU ==> ทั้ง 2 กลุ่มประเทศนี้มีการพึ่งพิงกันอยู่มาก โดยอียูได้ช่วยเหลือในเรื่องการให้โควตาสินค้าปลอดภาษีแก่กลุ่ม90 และหากกลุ่ม90 สนับสนุนอียูในเวทีดับบลิวทีโอ พวกเขาอาจได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันอียูถึงกับเรียกร้องกับกลุ่ม 20 ให้เปิดตลาดแก่กลุ่ม 90 ด้วยซ้ำ เพราะกลุ่ม 90 นั้นเป็นกลุ่มประเทศที่ยากจนกว่ามาก


 


นี่คือภาพการงัดข้อคร่าวๆ ที่จักรชัยสรุปให้ฟัง ยังไม่รวมถึงประเด็นการบริการ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่มีความอ่อนไหวเรื่องการเปิดตลาดสินค้าเกษตร พยายามผลักประเด็นการบริการแรงๆ เพื่อลดความสำคัญในประเด็นด้านเกษตรลง รวมทั้งประเด็นสินค้าที่ไม่ใช่เกษตร ก็ยังไม่มีวี่แววจะตกลงกันได้


 


ความล่าช้าของดับบลิวทีโอ เป็นตัวเร่งเอฟทีเอ?


แม้จะมีนักวิชาการหลายคนต้องการเห็นการประชุมดับบลิวทีโอจบลงด้วยดีตามกรอบเวลา ด้วยเกรงว่าความยืดเยื้อที่เกิดขึ้นในเวทีพหุภาคีนี้จะทำให้ประเทศต่างๆ หันไปมุ่งเจรจาแบบทวิภาคี หรือ เอฟทีเอ ซึ่งดูแล้วน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะบรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่ทำเอฟทีเอกับประเทศพัฒนาแล้ว


 


เรื่องนี้จักรชัยกลับมองต่าง เขาเห็นว่า การจบรอบโดฮาไม่ได้รับประกันว่า จะทำให้การเร่งทำเอฟทีเอน้อยลง หรือทำให้มีความเป็นธรรมทางการค้าระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะมีหลายประเทศที่พยายามเจรจารอบโดฮาให้จบ เพื่อไปเร่งทำเอฟทีเอต่อไป


 


"ผมไม่คิดว่าการล่าช้าของดับบลิวทีโอ จะเป็นตัวเร่งเอฟทีเอ มันเป็นกลวิธีที่แยบยลของประเทศพัฒนาแล้ว สหรัฐไปฮ่องกงมีนักเจรจา 350 คน ญี่ปุ่นเตรียมไป 50 คน เขามีศักยภาพเดินได้ทั้ง 2 ทาง"  


 


ขณะที่เนื้อหาที่มีการเจรจากันอยู่บนโต๊ะเจรจาดับบลิวทีโอขณะนี้ ดูจะไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนา ฉะนั้น การจบรอบโดฮา ผลประโยชน์จะตกอยู่กับกลุ่มบริษัทข้ามชาติในประเทศพัฒนาแล้วเป็นสำคัญ 


 


จักรชัยสรุปว่า ฉะนั้นการที่ฮ่องกงจะไม่สามารถตกลงกันได้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า ที่จะมีข้อตกลงใดๆ ก็ตามออกจากการประชุมที่ฮ่องกง เนื่องจากโอกาสที่จะได้ข้อตกลงที่ดีนั้น ณ ขณะนี้ไม่มี


 


อีกประการหนึ่ง เอฟทีเอเป็นการเจรจาแบบหนึ่งต่อหนึ่ง ขณะที่การเจรจาพหุภาคีนั้น ประเทศไทยนั่งเจรจาอยู่ไม่กี่เรื่องเพราะตามไม่ทัน นอกเหนือจากนั้นเป็นสิ่งที่ต้องคอยรับวาระในสิ่งที่ประเทศอื่นเจรจาแทน โดยที่ไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่าประเทศกำลังพัฒนาที่ตามทันและมีบทบาทสูงอย่าง  บราซิล หรือ อินเดีย จะพูดแทนผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เพียงใด


 


"แม้กระทั่งประเทศไทย ผมก็ไม่อยากให้สรุปเอาเองว่าท่าทีของไทยสะท้อนผลประโยชน์ของประชาชนไทย ท่าทีของไทยมากจากไหน แท้จริงใครได้ประโยชน์ ตรงนี้ยังไม่ค่อยมีการตั้งคำถามกันเท่าไร แม้แต่นักเจรจาเองก็ตาม"


 


พลังประชาชนจะล้มโต๊ะเจรจาได้หรือไม่?


ส่วนการเคลื่อนไหวของภาคประสังคมที่ต่อต้านการค้าเสรีนั้น จักรชัยกล่าวว่า ตอนนี้เขายังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าจะร้อนแรงเท่าที่แคนคูนหรือไม่ แต่แน่นอนว่า ครั้งนี้คนส่วนใหญ่จะมาจากภูมิภาคเอเชียเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเกาหลี ฟิลิปปินส์  รวมแล้วน่าจะมีหลายหมื่นคน โดยประเทศไทยจะไปร่วมประท้วงกันมากกว่า 50 คน


 


"จุดยืนที่สำคัญร่วมกันก็คือ no deal better than a bad deal หมายความว่าไม่มีข้อตกลงดีกว่าที่จะมีข้อตกลงที่เลว"


 


ที่น่าสนใจก็คือ เขายกตัวอย่าง Economic Partnership Agreement (EPA) ริเริ่มโดยประเทศเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นการวมตัวของประเทศหัวแข็งในแถบลาตินอเมริกาที่ไมได้อยู่ภายใต้กรอบของเสรีนิยมใหม่ ไม่ได้พึ่งพาทุนข้ามชาติในการผลักดันความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการสร้างความเข้มแข็งของประชาชนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ด้วยกัน


 


"ตัวอย่าง ณ ขณะนี้ ประเทศไทยมีมุมมองในการรวมตัวของอาเซียน เป็นเพียงการสร้างความน่าสนใจ หรือเสริมสวยให้อาเซียนสามารถดึงดูดนักลงทุนข้ามชาติให้เข้ามาในภูมิภาคมากขึ้น มากกว่าที่จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งของทุนภายใน โดยเฉพาะทุนระดับกลางและระดับเล็กขึ้นมา ซึ่งของเวเนฯ เสนอในภูมิภาคลาติมอเมริกานี่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เรื่องนี้ถูกเสนอขึ้นมาในการประชุมระดับผู้นำของทวีปอเมริกาที่เพิ่งผ่านไปที่อาร์เจนตินา และได้รับความสนใจมากกว่าที่จอร์จ บุช เสนอเรื่องของการเงินเสรีในลาตินอเมริกาด้วยซ้ำ"


 


ดับบลิวทีโอ vs เอฟทีเอ  อะไรน่ากลัวกว่ากัน?


"ผมขอมองว่าน่ากลัวทั้งคู่ เราไม่ได้โชคดีที่จะอยู่ในจุดที่จะเลือกได้ เราเผชิญกับมันทั้งสองทาง แต่ปัญหาที่สำคัญของเราไม่ใช่เพียงรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วที่มาบีบและสร้างความไม่เป็นธรรม แต่เป็นรัฐบาลของเราเองซึ่งหลายครั้งอยู่ในลักษณะสมยอม มากกว่าที่จะลุกขึ้นแล้วเอาประชาชนเคียงข้างในการต่อรอง"จักรชัยกล่าวทิ้งท้าย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net